โดย PPTV Online
เผยแพร่
มีนัยะสำคัญ! การนัดรวมตัวเชียร์ฟุตบอลโลกที่จัตุรัสควางฮวามุน กรุงโซล ของชาวเกาหลีใต้ ในศึกบอลโลก 2022 เจออุรุกวัย และเมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไป เกาหลีใต้คือหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับ “เรื่องของกีฬา”
ศึกฟุตบอลโลก 2022 คืนนี้ (24 พ.ย.65) กลุ่มเอช อุรุกวัย พบ เกาหลีใต้ ชาวเกาหลีใต้นัดรวมตัวกันที่จัตุรัสควางฮวามุน เพื่อส่งเสียงเชียร์ร่วมกัน ซึ่งจตุรัสแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงโซล เขตจงโร เป็นเหมือนศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ 600 ปีของเกาหลีใต้
การรวมตัวกันเพื่อไปเชียร์ฟุตบอลโลก 2022 ในครั้งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับ ทีมข่าว พีพีทีวี เอชดี 36 ว่า “มีนัยสำคัญ”
ซน รับ Blue Dragon เหรียญชั้นสูงสุดด้านกีฬาเกาหลีใต้
วิเคราะห์บอล !! ฟุตบอลโลก 2022 อุรุกวัย พบ เกาหลีใต้ 24 พ.ย.65
ภาพ : จัตุรัสควางฮวามุน กรุงโซล เกาหลีใต้
ที่จัตุรัสแห่งนี้จะมีอนุสาวรีย์กษัตริย์และบุคคลสำคัญของเกาหลี เช่น พระเจ้าเซจงมหาราช กษัตริย์ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรเกาหลี อนุสาวรีย์อีซุนชิน แม่ทัพเรือที่เอาชนะกองทัพญี่ปุ่นด้วยเรือเต่า (คอบุกซอน) เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันวันนี้จึงเป็นเหมือนการรวมพลังเพื่อส่งเสียงเชียร์และประกาศศักดิ์ศรีความเป็นเกาหลีใต้ไปยังนักเตะทีมชาติทุกคน
ภาพ : แฟนบอลเกาหลีใต้ที่จัตุรัสกวางฮวามุน รวมตัวกันเชียร์บอลในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 ระหว่างเกาหลีใต้พบกับสวีเดน
ทำไมเกาหลีใต้ถึงคลั่งไคล้ “ฟุตบอล”
ตอนนี้ในเกาหลีใต้ไม่มีใครไม่รู้จัก ซนฮึงมิน นักเตะทีมชาติที่ได้รับการยอมรับและกำลังโด่งดังมากที่สุด ซึ่งค้าแข้งที่ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ และก่อนหน้านี้ชื่อของ ปาร์ค จีซอง อาจจะเคยคุ้นหูกันบ้าง เพราะเคยอยู่สโมสร แมนฯยูไนเต็ด
หากย้อนกลับไปในอดีตเกาหลีใต้มีการละเล่นพื้นบ้านหลากหลายมาก แต่ชนิดกีฬาที่เรียกได้ว่าเป็นกีฬาประจำชาติ มี 2 ประเภท คือ เทคควันโด กับ มวยปล้ำ
ภาพ : ซนฮึงมิน นักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ที่กำลังโด่งดัง
ต่อมาช่วงปลายปี 1980 -90 ช่วงสมัยประธานาธิบดี โน แท อู และ คิม ยอง ซัม เริ่มมีการเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า เกาหลีใต้เริ่มมีลีกส์เบสบอลในช่วงปี 1982 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน สินค้าหลากหลายแบรนด์เกี่ยวกับเบสบอลได้รับความนิยมเช่นกัน เช่น MLB
ต่อมาในปี 1988 เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีใต้เปิดรับชาวต่างชาติมากขึ้นและเริ่มผลักดันส่งเสริมกีฬาปสู่ระดับโลก
แต่ที่ทำให้ภาพลักษณ์กีฬาของเกาหลีใต้เป็นที่รู้จัก และเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ทำให้ต่างประเทศเริ่มหันมาสนใจ คือ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 (2002 FIFA World Cup Korea/Japan) จัดขึ้นร่วมกับญี่ปุ่น เรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเกิดดาวรุ่ง ณ ขณะนั้นหลายคน
ภาพ : อิทธิพลของ Soft-Power เกาหลีใต้ที่แพร่กระจายไปทุกมุมโลก รวมถึง K-sport ที่กำลังจะเกิดขึ้น
เกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณพัฒนากีฬาปีละ “เฉียดแสนล้าน” และพบว่ายิ่งเพิ่มงบประมาณส่วนนี้มากเท่าใด งบประมาณเพื่อการสาธารณสุขกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ คนป่วยหรือบาดเจ็บน้อยลง
อาจารย์ไพบูลย์ เปิดตัวเลขงบประมาณจาก กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ของเกาหลีใต้ ให้ดูว่า ในปีงบประมาณปี 2021 อยู่ที่ราวๆ 6.86 ล้านล้านวอน หรือ 2 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรให้เป็นด้านกีฬา 25% หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านวอน (52,500 ล้านบาท)
เมื่อรวมกับงบประมาณทางอ้อมที่อัดฉีดผ่านองค์กรต่างๆ ของรัฐ หากคิดเป็นโดยรวมงบประมาณอัดฉีดวงการกีฬาจะอยู่ราว 2.87 ล้านล้านวอน (86,100 ล้านบาท) คิดเป็น 0.315% ของงบประมาณแผ่นดิน
แต่เกาหลีใต้มีเป้าหมายยกระดับงบประมาณให้เท่ากับโซนยุโรป (เฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% ของงบประมาณแผ่นดิน)
สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพล Soft-Power ในส่วนของ K-sport กำลังจะถูกผลักดันและพัฒนาให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และศึกฟุตบอลโลก 2022 วันนี้ ที่ อุรุกวัย พบ เกาหลีใต้ ก็อาจเป็นหนึ่งในคำตอบที่ชัดเจนขึ้น
ภาพ : AFP
ไม่พลาดทุกเหตุการณ์ติดตามข่าวจาก PPTV ได้ที่ Subscribe
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.