ข่าวร้อนการเมือง แทรกปมบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19
คือ การประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐทุกตำแหน่ง ของ “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ให้เหตุผลว่า
“เนื่องจากพิจารณาเรื่องคดีความที่จะต่อสู้นั้นต้องใช้เวลานานจึงต้องการสู้คดี โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของภาระหน้าที่ ซึ่งในส่วนของตนเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาล”
“ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้กัน ไม่ว่าผมจะอยู่ในฐานะแกนนำ รัฐมนตรี นักโทษ หรืออะไรก็ตามแต่ ผมไม่เคยเสียใจในสิ่งที่ได้ทำไป เพราะผมได้ทำทุกอย่างสุดความสามารถ เต็มความสามารถในทุกบทบาทที่ได้รับ ในข้อมูลและตามสถานการณ์ ตามความเหมาะสม ณ เวลานั้น อาจจะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง และก็ขอน้อมรับคำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม
“ขอขอบคุณเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ข้าราชการ เพื่อน ส.ส. หัวหน้าพรรค ทั้งพรรคเดียวกันและต่างพรรค รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ทุกท่าน ที่ถึงแม้อาจมีแนวคิดทางการเมืองต่างกัน แต่ก็ยังมีมิตรภาพร่วมกันได้ ที่สำคัญขอบคุณคนไทยหัวใจรักชาติทุกคนครับ”
ก่อนที่ “เสี่ยตั้น” ปิดฉากเส้นทางอำนาจในพลังประชารัฐ เพราะเหตุจากถูกหมายขัง-ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557 ในนามแกนนำ กปปส. เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2554 และต่อมาก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว
“เสี่ยตั้น” เคยเป็นผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งซ่อมปี 2552 และเป็น ส.ส.ปี 2554 ก่อนจะลงถนน ร่วมกับ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ในนาม กปปส. ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่ง กปปส.เป็นคีย์แมนการเมืองสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่อำนาจ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และลากยาวตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 7 ปี
อีกด้านหนึ่ง เขาเป็นนักธุรกิจอยู่ในสังคมชั้นสูง วงการกีฬาเทควันโด และวงการการศึกษา ภรรยาชื่อทยา ทีปสุวรรณ เป็นบุตรสาวของนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตรมช.อุตสาหกรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีวิกรม์
ก่อนจะกระโดดมาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ถูกจัดไว้ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ในฐานะแกนนำกลุ่ม กทม. ที่จัดการย้ายขุนพลประชาธิปัตย์ มาซบพลังประชารัฐจนทำให้มี ส.ส.กทม.ในมือกว่า 12 คน ช่วงแรกหลังจบศึกเลือกตั้ง
อยู่เหนือบัญชีรายชื่อลำดับ 2 คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นลำดับ 3 ทั้งที่ 2 แกนนำสามมิตร ทั้ง สุริยะ-สมศักดิ์ เก๋าบารมีกว่า
“เสี่ยตั้น” นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการครั้งแรกในชีวิต ด้วยตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ
อาจเป็นเพราะความที่เป็น นายทุน – เงินหนา เพราะบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2562
มีทรัพย์สินรวมกับนางทยา (ภรรยา) 2,115,587,449.03 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนตามกองทุน, บมจ. และ บจ. ต่าง ๆ รวม 51 แห่ง มูลค่ารวม 1,450,638,984 บาท ขณะเดียวกันเขาและคู่สมรสมีหนี้สิน 130,629,792 บาท จากเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 1,984,957,656.33 บาท
ในยามที่ ทุกกลุ่มในพลังประชารัฐ หันหน้าเข้าบ้านป่ารอยต่อ เพื่อวางแผนปฏิบัติการลับเขี่ย กลุ่ม 4 กุมาร ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” พ้นทางอำนาจ ก็มี “เสี่ยตั้น” ประกบข้าง “หัวหน้าป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในภาพฉากอำนาจ
ผลงานที่ถูกกล่าวถึง ในตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ “เสี่ยตั้น” ที่รับบท “ครูตั้น” ก็คือการเปิดกระทรวง นั่งกลางวงล้อมของม็อบนักเรียนเลว รับข้อเสนอ “ปฏิรูปการศึกษา” ในช่วงตุลาคม 2563
ข้ามศักราชมาปี 2564 “เสี่ยตั้น” ก็ถูกพรรคฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ท่ามกลางข่าวว่าสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไม่ค่อยพอใจ จนต้องปิดห้องเคลียร์ใจกันระหว่างการติวก่อนศึกซักฟอก
พ่วงกับข่าวที่ว่า “เสี้ยตั้น” ไปดักเจอ “พล.อ.ประวิตร” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 เพื่อขอให้ภรรยาได้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งสวนทางกับ พล.อ.ประวิตร ที่สนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ลงสมัครชิงตำแหน่งนี้
แต่แล้วเขาลงจากเก้าอี้ไม่สวยนัก เพราะ “เสี่ยตั้น” เป็นรัฐมนตรีที่ได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด ในบรรดา 10 คนที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ
อีกทั้งต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะถูกหมายขังของศาลชั้นต้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) บัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยไม่คำนึงว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่
ปิดฉากเป็นรัฐมนตรี ปิดฉากการเป็น ส.ส. ปล่อยมือให้ “ยุทธนา โพธสุธน” บัญชีรายชื่อลำดับที่ 21 พลังประชารัฐ และอดีต ส.ส.ชาติไทยพัฒนา แต่ที่มาสวมหัวโขนพลังประชารัฐ
ด้วยความจำเป็นทางการเมือง เพราะหลีกทางให้ “ตระกูลเที่ยงธรรม” เพื่อสงบศึกความขัดแย้งระหว่างตระกูล “โพธสุธน-เที่ยงธรรม” ในชาติไทยพัฒนา
แล้วยุทธนา ก็ได้เป็น ส.ส.ส้มหล่น แทน “เสี่ยตั้น” ในที่สุด
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.