ตัวเรือนนาฬิกาของ GTR 3 Pro มาในลักษณะหน้าปัดทรงคลาสสิก เป็นทรงกลม สายหนังสีน้ำตาล ให้ภาพลักษณ์แบบที่ดูใส่งานเป็นทางการมากกว่าการออกกำลังกายพอสมควร
การสั่งการของ GTR 3 Pro มีด้วยกันสองรูปแบบ อย่างแรกสั่งการดูการทัชสกรีนบนหน้าปัดนาฬิกา อย่างที่สองคือการสั่งการผ่าน Digital crown ซึ่งจะอยู่บริเวณ 2 นาฬิกาและ 4 นาฬิกา ด้านบนเป็นคำสั่งด้านสุขภาพ และปุ่มด้านล่างจะเป็นคำสั่งการออกกำลังกาย ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งค่าได้ใหม่ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ปุ่ม Digital crown บริเวณ 2 นาฬิกา สามารถหมุนเลื่อนขึ้น-ลง สำหรับเลือกเมนูการใช้งานที่ต้องการได้ และสามารถกดค้างเพื่อเป็นทางลัดเรียกคำสั่งต่างๆ ได้อีกด้วย
ตามที่เรียนไว้ข้างต้น GTR 3 Pro มาพร้อมกับสายหนัง ซึ่งการที่มันเป็นสายหนัง นั่นหมายความว่า เราไม่ควรที่จะใช้ GTR 3 Pro พร้อมกับการออกกำลังกายที่โดนน้ำ เช่น การว่ายน้ำ หรือแม้แต่การออกกำลังกายหนักๆ ที่จะทำให้มีเหงื่อออกมาที่ข้อมือ จึงทำให้ความหรูหราจากสายหนัง กลายเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน
ถ้าหากเป็นไปได้ การหาสายสำรอง โดยเลือกสายซิลิโคนมาใช้สำหรับการออกกำลังกายน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ในภาพรวมสายหนังที่ให้มาของ GTR 3 Pro จะไม่ใช่สายหนังที่มีคุณภาพดีสุดๆ ขนาดนั้น แต่ถือว่า เป็นสายหนังที่สวมใส่แล้วสบาย และถอดเปลี่ยนได้ง่ายมากๆ เพราะมีกลไกสำหรับถอดสายเปลี่ยนสายทำให้รอไว้แล้ว
หน้าปัดของ GTR 3 Pro เป็นอะลูมิเนียมอัลลอย หน้าจอแสดงผลเป็นแบบ AMOLED HD สามารถใช้งานในสภาวะกลางแดดได้ การออกแบบโค้งมนสวยงามดี แลดูมีความพรีเมียมพอสมควร น้ำหนักแค่ 32 กรัมเท่านั้น
ขนาดหน้าจออยู่ที่ 1.45 นิ้ว ซึ่งก็ใหญ่พอที่จะสั่งการด้วยนิ้วได้ รองรับฟีเจอร์ Always-on Display แต่ถ้าต้องการยืดอายุแบตเตอรี่ก็จำเป็นต้องปิดฟีเจอร์นี้ แม้ว่า ข้อดีมากๆ ของฟีเจอร์นี้จะทำให้เราเห็นการแจ้งเตือนต่างๆ ได้ง่ายมากก็ตาม
ด้านหลังนาฬิกา ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ด้วย ส่วนนี้น่าผิดหวังนิดหน่อย เพราะมันเป็นพลาสติก ผิดกับด้านหน้าและด้านข้างที่พยายามออกแบบให้ดูหรูหรา จึงถือเป็นส่วนที่น่าผิดหวังเล็กน้อย
เราสามารถอธิบายโดยสรุปว่า GTR 3 Pro เป็นนาฬิกาที่ใส่ความเป็นอัจฉริยะเข้าไป แต่ยังคงไว้ซึ่งการออกแบบตัวเรือนแบบคลาสสิก
การทำงานของ GTR 3 Pro จะเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่มีชื่อว่า Zepp ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งการใช้งาน ฟีเจอร์ หรือการสลับเรียงแอปพลิเคชันของนาฬิกาได้จากบนแอปพลิเคชันได้เลย
หน้าตาของนาฬิกามีให้เลือกกว่า 150 แบบ เพื่อให้ตรงใจกับสไตล์และความต้องการของผู้สวมใสนาฬิกาในเวลานั้น
จุดที่เด่นที่สุดของ GTR 3 Pro เป็นเรื่องของเซนเซอร์ด้านสุขภาพ ทีเด็ดสุดอยู่ตรงที่คำสั่งที่มีชื่อว่า One-tap Measuring ซึ่งเป็นการดูค่าต่างๆ ของร่างกายรวดเดียว 4 อย่าง ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด ระดับความเครียด และอัตราการหายใจ โดยใช้เวลาในการประมวลผลเพียงแค่ 45 วินาทีเท่านั้น ส่วนคำสั่งอื่นๆ ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา ก็มีเรื่องของ BMI และ Brush teeth ช่วยในการแปรงฟัน ซึ่งก็น่าสนใจในระดับหนึ่ง
GTR 3 Pro มีการปรับปรุงเรื่องความเร็วในการประมวลผลของเซนเซอร์ ยกตัวอย่างเช่น การตรวจจับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดจะใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น อย่างไรก็ดี เซนเซอร์ด้านสุขภาพ เราสามารถตั้งค่าให้ตรวจดูการเต้นของหัวใจ ดูเรื่องการหายใจได้ต่อเนื่องสำหรับกลางวันและตอนช่วงก่อนเข้านอน เพื่อดูว่า อัตราการเต้นของหัวใจของคุณสูง หรือต่ำอย่างผิดปกติหรือไม่ ทั้งนี้ หากเราตั้งค่าให้มันตรวจจับถี่ๆ จะกินแบตเตอรี่หนักมาก ซึ่งผู้ใช้ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะใช้งานฟีเจอร์นี้อย่างไร
ด้านการตรวจจับการนอนเป็นสิ่งที่ถูกใช้งานน้อยที่สุด เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ค่อยสะดวกที่จะใส่นาฬิกาตลอดทั้งคืน แต่ถ้าใครสะดวกก็สามารถสวมใส่ในเวลานอน แล้วเมื่อตื่นนอนก็ดูคุณภาพการนอนได้ที่แอปพลิเคชัน Zepp ในส่วนนี้มันจะช่วยบอกเราว่า คุณภาพการนอนของเราเป็นอย่างไร คะแนนการนอนหลับในแต่ละคืนอยู่ในขั้นที่ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งถ้าหากไม่ดีก็จำเป็นต้องการปรับพฤติกรรมการนอน
นอกจากนี้ ถ้าหากที่บ้านของมีใคร Amazon Alexa ก็สามารถสั่งการหรือควบคุมจาก GTR 3 Pro ได้เลย
การออกกำลังกาย อย่างที่ทราบกัน Amazfit จะใช้ระบบที่มีชื่อว่า PAI หรือ Personal Activity Intelligence ซึ่งเป็นระบบให้คะแนนภาพรวมในด้านความฟิตของผู้สวมใส่ในแต่ละสัปดาห์ ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจที่จะทำให้ผู้สวมใส่อยากผลักดันร่างกายให้แข็งแกร่งขึ้น ด้วยการเพิ่มเซสชันการออกกำลังกาย หรือรักษาความถี่ในการออกกำลังกาย
Amazfit GTR 3 Pro รองรับการออกกำลังกายมากถึง 150 โหมด ถ้าใครที่ชื่นชอบในการวิ่งมีระบบที่เรียกว่า Virtual Partner เพื่อยกระดับคุณภาพการออกกำลังกาย และเป็นการผลักดันให้เราเก่งขึ้น
ทางด้านการตั้งค่าการใช้งานของ Amazfit GTR 3 Pro ส่วนใหญ่แล้ว จะตั้งค่าเพื่อให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในแต่ละวันจะมีการใช้งานเซนเซอร์ด้านสุขภาพประมาณ 1-2 ครั้งต่อวัน การตั้งค่าแจ้งเตือนต่างๆ ที่ซิงค์กับสมาร์ทโฟนจะซิงค์เฉพาะบางแอปพลิเคชัน เช่น ทวิตเตอร์, แอปแชต, เว็บไซต์ข่าว และอีเมล เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีการใช้เซนเซอร์ด้านการออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวทเทรนนิงครั้งละ 1 ชั่วโมงครึ่ง และคาร์ดิโออีก 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ถ้าหากต้องการยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การปิดคำสั่ง Always-on Display ก็เป็นอีกทางเลือกที่ควรจะต้องทำ
ภาพรวมถือว่าแบตเตอรี่อึด เพราะใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 10 วันต่อการชาร์จเต็มประจุหนึ่งครั้ง ซึ่งน่าพึงพอใจมากๆ
ด้านการออกแบบ Amazfit GTR 3 Pro ผ่านทุกข้อ การออกแบบเป็นสไตล์คลาสสิก ดูดี สามารถใส่ไปงานสำคัญๆ ได้ เพียงแต่ด้วยสายนาฬิกาที่ใช้เป็นสายหนัง จึงอาจไม่เหมาะกับการออกกำลังกายหนักๆ สักเท่าไร ฟังก์ชันการใช้งานถือว่าครบถ้วนทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาด
เรื่องของแบตเตอรี่ทำได้ดี ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องชาร์จวันต่อวัน เพราะการชาร์จหนึ่งครั้งใช้งานได้เกินสัปดาห์ อาจจะมีปัญหานิดหน่อยตรงที่การแสดงผลภาษาไทยยังไม่สมบูรณ์
สำหรับราคาของ GTR 3 Pro อยู่ที่ 7,390 บาท ซึ่งก็ยังเป็นระดับราคาที่รับได้ ไม่ถือว่าแพงนัก เมื่อเทียบกับงานออกแบบและฟีเจอร์ที่ให้มา ถือเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียวของตลาดนาฬิกาอัจฉริยะ
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.