ทุกความสำเร็จย่อมมีเบื้องหลังเสมอ ซึ่งเบื้องหลังที่สำคัญของ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ สู่การก้าวมาเป็น “อีโร่” ของคนไทยคือ ครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนอยู่เสมอนั่นเอง…
เรียกว่าครอบครัว “วงศ์พัฒนกิจ” นั้นเป็นครอบครัวนักกีฬาของจริง ตั้งแต่คุณพ่อ สิริชัย วงศ์พัฒนกิจ เป็นอดีตนักกีฬารวมถึงครูสอนว่ายน้ำ เช่นเดียวกับคุณแม่วันทนา ที่เป็นผู้นำเต้นแอโรบิก และอดีตนักกีฬาว่ายน้ำเช่นกัน
คุณพ่อสิริชัย เล่าว่า ด้วยความที่ทั้งพ่อ-แม่ เป็นอดีตนักกีฬาทั้งคู่ จึงมีความคิดว่าถ้าหากมีลูกนั้นจะต้องให้เล่นกีฬาในระดับอำเภอ, จังหวัด หรือระดับชาติ ดังนั้นจึงตั้งชื่อลูกเป็นกีฬาหมดทั้ง 3 คน ไล่ตั้งแต่พี่สาวคนโต “โบว์ลิ่ง” นาวาอากาศโทหญิง กรวิกา วงศ์พัฒนกิจ พี่ชายคนรอง “เบสบอล” ศราวิน วงศ์พัฒนกิจ จนถึง “เทนนิส” พาณิภัค ทั้งสามคนก็ผ่านชีวิตการเป็นนักกีฬามาหมด ทั้งว่ายน้ำและเทควันโด
“พ่อพยายามปลูกฝังลูกให้เป็นนักกีฬา ฝึกหลายๆ ชนิด ทั้งกรีฑา, วอลเลย์บอล, ฟุตบอล, จักรยาน จนถึงว่ายน้ำ ให้เลือกเอาว่าจะเล่นอะไร พยายามฟูมฟักทำให้เขาสนใจกีฬา เน้นทั้งการฝึกและการกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ ให้ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อทุกส่วนมีความแข็งแรง จะเห็นได้ว่าเทนนิสมีโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรงทุกส่วน กล้ามเนื้อทุกกล้ามเราฝึกมาอย่างดีตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เริ่มขยับตัวได้เลย”
คุณพ่อสิริชัย เล่าต่อว่า ตอนแรกเทนนิสก็ชอบหลายกีฬาเลยจนสุดท้ายก็มาเลือกเทควันโด เพราะเป็นกีฬาต่อสู้ ซึ่งพ่อก็บอกว่ากีฬานี้ดี นอกจากช่วยเหลือตัวเองยามคับขันแล้ว ยังช่วยคนอื่้นได้ด้วย แล้วเทนนิสก็เห็นพี่ชายเล่น แต่ของพี่ชายจะเป็นแบบบู๊หนักๆ อาจจะมีกลัวบ้าง แต่ผู้หญิงเล่นกันไม่แรงเท่าไหร่ บาดเจ็บน้อยกว่า
“ตอนแรกที่นิสไปดูพี่ๆ แข่ง เห็นพี่เจ็บขา เจ็บแขนบ้าง เขาก็หัวเราะคิกคัก แต่พอหลังๆ ไปหลายๆ สนาม ก็เริ่มรู้สึกชอบเอง ส่วนพ่อก็พยายามใช้วิธีหลอกล่อต่างๆ เช่นถ้าไปแข่งขันจะพาไปเที่ยวบ้าง ไปภูเก็ตบ้าง ไปดูหาดสวยๆ กินของอร่อย ก็ทำให้เทนนิสหันมาสนใจกีฬามากขึ้น ทีแรกก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแชมป์ แค่อยากให้ร่างกายเติบโตขึ้นมาตามความเหมาะสมเท่านั้น”
จุดที่ทำให้เทนนิสหันมาเล่นเทควันโดแบบจริงจังคือ คำท้าทายของผู้เป็นพ่อ ที่ท้าเดิมพันกับลูกสาวว่าถ้าลงแข่งขันแล้วได้เหรียญทองจะให้ 3,000 บาท, เหรียญเงิน 2,000 บาท และทองแดง 1,000 บาท แต่กลับแพ้ราบคาบแถมโดนเพื่อนล้อ ทำให้เป็นแรงผลักดันเล่นเทควันโดขึ้นมา
เมื่อถึงจุดที่เทนนิสเริ่มเป็นแชมป์ในภาคใต้ เริ่มหาคู่แข่งได้ยาก ก็เป็นครอบครัวนี่แหละที่ให้การสนับสนุน ในการเดินทางมาแข่งขันในกรุงเทพฯ
ด้านพี่สาว “โบว์ลิ่ง” นาวาอากาศโทหญิง กรวิกา เล่าว่า ด้วยความที่บ้านอยู่จังหวัดสุราษฎร์ เวลาจะแข่งขัน พ่อพยายามส่งน้องมาแข่งขันที่กรุงเทพฯ บางครั้งฝากรถทัวร์มา ฝากคนรู้จักมา หรือเครื่องบินมา แล้วก็เป็นตนกับพี่ชายไปรับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพ จากนั้นพี่ชายก็จะเป็นคนพาไปซ้อม เพราะตอนนั้นเองเบสบอลก็เริ่มผันตัวไปเป็นโค้ชแล้ว
ส่วน “เบสบอล” ศราวิน พี่ชายของเทนนิส เล่าว่า เนื่องจากในโซนต่างจังหวัดจะหาการแข่งขันได้ยากถ้าไม่ใช่ช่วงปิดเทอม มันไม่เพียงพอ จะเห็นว่าเมื่อก่อนเด็กต่างจังหวัดเอาชนะเด็กกรุงเทพฯได้ยากมาก จากนั้นพอแข่งขันเรื่อยๆ ก็ ได้ไปแข่งกีฬาแห่งชาติ จนได้ติดทีมชาติในที่สุด
แน่นอนว่ากีฬาเทควันโด ไม่ใช่กีฬาที่เสียเหงื่ออย่างเดียว แต่ต้องเอาร่างกายเข้าแลกเพราะเป็นกีฬาต่อสู้ ที่จะต้องพบกับความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ตอนแข่งขัน แต่ยังรวมถึงตอนฝึกซ้อมอีกด้วย เราเคยได้ยินเทนนิสเล่าว่า เคยท้อจนเกือบเลิกเล่นหลายครั้ง เพียงเพราะโดนเตะในการซ้อม เมื่อสมัยเริ่มเข้าแคมป์ทีมชาติใหม่ๆ
เรื่องนี้ พี่เบสบอล เป็นคนเล่าว่า ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้าไปซ้อมทีมชาติ ก็เริ่มไม่ไหวเลย ตอนแรกเข้าไปเจอตัวจริงเก่งๆ โดนเตะกลับมา เจ็บตัว แต่ครอบครัวก็พยายามบอกให้อดทน เพราะมีอีกหลายคนที่อยากมาจุดนี้ ถ้าหากปล่อยโอกาสไปมันจะไม่กลับมาหาอีกแล้ว
“ต้องชื่นชมหัวใจของเทนนิสเลย เพราะผมเองแค่ซ้อมก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แต่นี่ไปซ้อมทีมชาติเหนื่อยกว่าร้อยเท่าได้ แล้วการไปอยู่แคมป์ทีมชาติเยาวชนเป็นร้อย บางคนทนไม่ไหวเลิกเล่นกลับบ้านไปก็เยอะ แต่เทนนิสมีหัวใจที่อดทน พ่อพยายามบอกว่าทีมชาติไม่ได้มาง่ายๆ ทุกอย่างเกิดจากการหล่อหลอมมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ, วินัย และมีเป้าหมายในชีวิตที่อยากทำให้ได้ แม้จะต้องขาดเวลาส่วนตัวไปก็ตาม”
เบสบอล ยังเล่าด้วยว่า พอได้เริ่มออกไปแข่งขันยังไม่ประสบความสำเร็จ คนอื่นได้เหรียญ แต่เทนนิสไปตกรอบแรกตลอด น้องก็บอกว่าอยากไปยืนข้างหน้าเวลาถ่ายรูปบ้าง สิ่งที่สอนคือ “ถ้าวันนี้ยังไม่ใช่ของเรา วันหน้าก็ต้องทำให้ได้” กลายเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เทนนิสด้วย
“ตอนจะไปรีโอเกมส์ เมื่อ 5 ปีก่อน จำได้เลยว่าน้องหวังเอาไว้มาก ตอนนั้นเพิ่งขึ้นมาจากเยาวชน เหมือนกับนักกีฬาสเปนที่ชิงกับเทนนิสเลย และก็เข้าใจความรู้สึกของน้องคนนั้นดี เพราะน้องสาวตัวเองเคยผ่านมาแล้ว มันเป็นจังหวะสำคัญแบบเสี้ยววินาทีสุดท้าย หลังจากนั้นมา นิสก็พยายามซ้อม ตั้งใจเล่นเอาชนะคู่แข่งให้ขาด และมีความคิดว่าจะต้องกลับมาคว้าทองให้ได้” พี่ชายเล่าความประทับใจถึงน้องสาวคนเล็ก
เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้ก็คือนางวันทนา คุณแม่ของน้องเทนนิสนั้นเสียชีวิตตั้งแต่ขึ้นชั้น ป.1 ด้วยโรคมะเร็งปอด เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นกันว่าไม่ว่าจะไปสนามแข่งขันไหน เรามักจะเห็นคุณพ่อตามไปดูแลแบบเงาตามตัว
“เราอยากไปให้กำลังใจลูก ด้วยความที่นิสขาดแม่ด้วยพ่อก็อยากดูแลให้ดีที่สุด เลยเดินทางตามไปทุกสนามที่ไป บางสนามเจอความลำบาก ต้องเดินเท้าเป็น 10 กม.ก็ตามอย่างเช่นที่เกาหลีใต้หรือเดินกลับโรงแรมบ้าง แต่ก็ไปเพราะอยากจะให้กำลังใจลูกสาว ส่วนตัวพ่อไม่เคยย่อท้อเลย เพราะเป็นนักสู้ เป็นนักกีฬามาโดยตลอด ท้อไม่ได้ด้วยเพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องแข็งแกร่งตลอด” คุณพ่อฮีโร่สาวกล่าวเสริม
การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ถึงคุณพ่อและครอบครัวจะไม่ได้เดินทางตามไปให้กำลังใจ แต่เรียกได้ว่าครอบครัวนี้ไม่ห่างกันเลย เพราะคุณพ่อเองก็ไปอยู่กับลูกๆ ที่กรุงเทพ และให้กำลังใจร่วมกัน รวมถึงก่อนแข่งขันทุกครั้งจะมีการวิดีโอคอลคุยกันเพื่อให้กำลังใจอีกด้วย
นอกจากนี้ เทนนิส ก็มีอีกกำลังใจสำคัญคือ “น้องมิว” มนัสวิน มานพ หลานชายวัย 7 ขวบ และ “มิน” รินรดา มานพ หลานสาววัย 5 ขวบ ลูกของพี่สาวโบว์ลิ่ง ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเล่นเทควันโดแล้วเช่นกัน
โบว์ลิ่ง พี่สาวคนโต เล่าว่า ตอนจะแข่งขันเด็กๆ ก็ตื่นเต้น คอยมาอยู่หน้ากล้องตอนเทนนิสโทรกลับมาขอกำลังใจก่อนแข่งขัน ที่บ้านนั้นจะรอเวลา สัก 20-30 นาทีก่อนแข่งก็จะโทรเข้ามา แล้วก็ต้องมาช่วยกันให้กำลังใจ ทำให้เทนนิสรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีคนให้กำลังใจกันอยู่
ถึงแม้ว่าตอนนี้เทนนิสจะประสบความสำเร็จแล้ว คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์มาฝากคนไทยได้แล้ว แต่จากคำสอนของคุณพ่อสิริชัย ก็พร้อมจะผลักดันให้ลูกสาวคนเก่งสู้ต่อไป
“พ่อบอกลูกว่า เราเป็นนักกีฬารับใช้ชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับแผ่นดิน ครอบครัว ไปถึงคนไทยทั้งในและต่างประเทศ ถ้าหากยังมีแรง โอลิมปิกเกมส์คราวหน้าก็ไปหยิบเหรียญให้ได้อีกครั้ง ไป 3 ครั้งได้ 3 เหรียญเลยมันก็เป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ยังมีแชมป์โลกก็อยากให้ได้แชมป์ 3 ครั้ง จากที่ตอนนี้ได้ไป 2 ครั้งแล้ว จะได้สร้างความภูมิใจให้กับคนไทยทั่วโลกได้”
ตราบเท่าที่กำลังใจจากหลังบ้านยังดีอยู่แบบนี้ เราคงได้เห็นพาณิภัค เดินหน้าคว้าเหรียญรางวัลมาฝากคนไทยเพิ่มเติมอีกแน่นอน…
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.