Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: ว่ายน้ำ

ออกกำลังกายยิ่งเยอะยิ่งดี จริงไหม? มีอันตรายกับร่างกายหรือไม่  | Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี หากทำได้เป็นประจำจะดีต่อสุขภาพร่างกาย อีกทั้งมีเทรนด์การดูแลสุขภาพมากมายเกิดขึ้น แต่การออกกำลังกายมาก ๆ นั้นดีจริงหรือไม่ 

แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน เห็นได้จากกรณีอันตรายที่เกิดขึ้นกับการยกน้ำหนักที่มากเกินไป ข่าวการสูญเสียของนักวิ่งมาราธอน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่หนักเกินพอดี จนร่างกายรับไม่ไหว โดยข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ที่ชอบออกกำลังกายควรประเมินร่างกายตนเองและคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายอยู่เสมอ และให้ยึดหลัก FITT เพื่อสร้างสุขภาพดีประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1. F-Frequency ความถี่ในการออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ 2. I-Intensity ความหนักในระดับที่ร่างกายรับได้ ในระดับที่เหนื่อยยังพอพูดได้ หรือการยกน้ำหนัก บอดี้เวท ควรออกในระดับที่รู้สึกตึง ไม่ควรกลั้นหายใจขณะออกแรง และเพิ่มระดับความท้าทายอย่างค่อยเป็นค่อยไป 3. T-Time ระยะเวลาที่ใช้ในคาร์ดิโอ ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป ได้จนถึง 30 นาที เพิ่มระยะเวลาเมื่อคุ้นชินแล้ว และ 4. T-Type ชนิดของการออกกำลังกาย แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ แบบต่อเนื่อง หรือ คาร์ดิโอ เช่น การเดิน การวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แบบแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก บอดี้เวท และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนต่าง ๆ เพื่อความยืดหยุ่น ลดอาการตึงรั้ง บรรเทาอาการปวดเมื่อย      

สำหรับคำแนะนำของผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกาย นางกานต์ณัชชา สร้อยเพชร นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวกับ Hfocus ว่า การออกกำลังกายอย่างพอดีเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดดี ควรออกกำลังกายทุกวันให้ได้วันละ 60 นาที คนที่ไม่ค่อยมีเวลาอาจแบ่งช่วงเวลาออกกำลังกายให้สะสมได้ 60 นาทีต่อวัน หรือนับก้าวให้ได้ 8,000-10,000 ก้าว ในช่วงแรก ๆ ของการออกกำลังกาย หากหนักเกินไปอาจส่งผลต่อเส้นเอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อได้ โดยต้องหมั่นตรวจเช็คร่างกายและประเมินตนเอง เช่น เมื่อวิ่งแล้วเกิดการบาดเจ็บควรพักก่อน หรือออกกำลังกายอย่างหนักบ่อย ๆ ต้องตรวจสมรรถภาพร่างกาย เช็คกระดูก ยิ่งกิจกรรมที่ใช้กำลังอย่างหนักต้องตรวจดูถึงความแข็งแรง พยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ นอกจากนี้ การเลือกเสื้อผ้าต้องระบายเหงื่อได้ดี รองเท้าต้องซัพพอร์ตอย่างเหมาะสมกับกิจกรรมด้วย

“การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี ไม่อยากให้กลัวการบาดเจ็บจนไม่กล้าออกกำลัง แต่ต้องดูแลสุขภาพ หมั่นประเมินตนเอง เช่น การสร้างกล้ามเนื้อมากเกินไปจะทำให้ความสูงลดลงในช่วงวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต อย่างการกระโดดตบหรือการกระโดดเชือกอย่างหนัก เพราะเป็นการกระแทกของข้อต่อ วัยเด็กไม่ควรยกน้ำหนักมากไป ยกเวทเยอะเกินก็มีผลต่อความสูงได้  จึงต้องอยู่ในคำแนะนำของเทรนเนอร์ หรือผู้ที่อยู่ในวิชาชีพ” นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ ย้ำ

นางกานต์ณัชชา เพิ่มเติมด้วยว่า ส่วนผู้ที่ตั้งใจอยากเป็นนักกีฬา อยากเล่นไตรกีฬา หรือชื่นชอบการวิ่งมาราธอน วิ่งเทรล จะต้องมีวินัยในการสร้างกล้ามเนื้อ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของเทรนเนอร์ มีโค้ชให้คำปรึกษา หรือเริ่มเรียนรู้จากกลุ่มที่ให้คำแนะนำก่อนก็ได้ อีกทั้งการนอนหลับพักผ่อนต้องเพียงพอ โภชนาการสำหรับนักกีฬายิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เลือกกินอาหารแปรรูปน้อย เน้นโปรตีนให้เพียงพอต่อการสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมร่างกาย อย่างปลาหรืออกไก่ที่โปรตีนสูงไขมันต่ำ หมั่นรับประทานไข่ไก่เป็นประจำ แต่โปรตีนก็เหมือนอาหารชนิดอื่นกินมากไปก็ไม่ดี ไตทำงานหนักต้องขับออก แนะนำให้กินโปรตีนจากธรรมชาติก่อน ไม่เพียงพอค่อยรับประทานโปรตีนเสริม ส่วนคาร์โบไฮเดรตเน้นเลือกข้าวไม่ขัดสี ได้ใยอาหารและมีวิตามิน ผักผลไม้ อย่างน้อย 5 สี ทุกวัน จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.