การประกวดนางงามจักรวาลหรือ Miss Universe ตามทัศนะของผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดหรือ “แฟนนางงาม” เปรียบเสมือน “โอลิมปิกนางงาม” ที่มีให้ชมและเชียร์กันทุกปี ซึ่งการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่ประเทศอิสราเอลในวันที่ 13 ธ.ค. นับเป็นครั้งที่ 70 ของเวทีนี้
แม้การประกวดมิสยูนิเวิร์สจะเกิดขึ้นมายาวนาน แต่เวทีนี้ก็ไม่ใช่การประกวดนางงามเวทีแรกของโลก เพราะการประกวดนางงามเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 100 ปีที่แล้ว หรือ 30 ปีก่อนที่เวทีประกวดนางงามจักรวาลจะถือกำเนิดขึ้น
เวทีประกวดเก่าแก่แห่งนี้มีสาวไทยเพียง 2 คนเท่านั้นที่สามารถพิชิตมงกุฎมาได้ ถึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “มง” จะ”ลง” แต่แฟนนางงามและคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังลุ้นและส่งใจเชียร์ตัวแทนสาวไทยกันทุกปี
เจ็ดทศวรรษของเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส มีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเวทีประชันความงามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติ การเมือง ธุรกิจ รวมทั้งการขับเคลื่อนทางสังคม
บีบีซีไทยรวบรวม 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประกวดนางงามและประเด็นที่น่าจับตาในเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2021 ซึ่งประเทศไทยส่งแอนชิลี สก็อต-เคมมิส สาวลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียน วัย 22 ปี ผู้ตั้งคำถามกับบรรทัดฐานความงามแบบเดิมผ่านแคมเปญ RealSizeBeauty เป็นตัวแทนขึ้นเวทีประกวด
ก้าวสำคัญของวงการนางงาม
คำว่า “การประกวดนางงาม” มักสร้างความคาดหวังต่อผู้ชมรวมถึงคณะกรรมการตัดสิน คือ ผู้ชนะต้อง “สวยประจักษ์” แต่นิยามดังกล่าวมักจะถูกท้าทายด้วยประโยชน์ที่ว่า “Beauty is in the eye of the beholder” หรือ “สวยหรือไม่อยู่ที่ใครเป็นคนมอง” นอกจากนี้ยังถูกท้าทายจากอิทธิพลความคิดเรื่องสตรีนิยมที่มองว่า การประกวดนางงามเป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ที่เน้นการประกวดประขันด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว
แต่ในระยะหลังผู้จัดการประกวดทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศเริ่มมีการใช้เวทีประกวดในการเฟ้นหานางงามที่เป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมได้เพิ่มมากขึ้น อย่างเมื่อปี 2561 ในการประกวดมิสยูนิเวิรส์ 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่มี “อังเฆลา ปอนเซ” สตรีข้ามเพศคนแรกจากสเปนเข้าร่วมการประกวดในครั้งนั้นด้วย เพื่อสะท้อนความเท่าเทียมกัน
ขณะที่การเปิดกว้างทั้งในเรื่องเพศสภาพและสีผิวเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นผ่านเวทีประกวดนางงามที่นับวันจะเข้าถึงผู้คนได้เพิ่มมากขึ้นผ่านการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์
ปรากฎการณ์ที่สำคัญในปี 2562 อีกอย่างคือ ถือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สาวผิวดำ “มงลง” 5 เวทีการประกวดหลักของโลก ประกอบด้วย โซซีบีนี ทุนซี จากแอฟริกาใต้ผู้คว้ามุงกุฏมิสยูนิเวิร์ส 2019, เนีย แฟรงคลิน ครองตำแหน่งมิสอเมริกา, โทนี-แอนน์ ซิงห์ สาวงามจากจาเมกาคว้ามงกุฎมิสเวิลด์, เคลีห์ แกร์รีสคว้ามงกุฎมิสทีนยูเอสเอ และเชสลี คริสต์ ชนะการประกวดเวทีมิสยูเอสเอ
นอกจากการก้าวข้ามเรื่องเพศสภาพและสีผิวแล้ว ผู้เข้าประกวดนางงามในยุคหลังยังแสดงความคิดเห็นทางสังคม การเมืองและสิทธิมนุษยชนบนเวทีประกวดอย่างเปิดเผยด้วย
นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม ผู้คลุกคลีในวงการการประกวดนางงามมากว่า 40 ปี หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “กูรูนางงาม” เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยหลังการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ว่ามายาคติที่ว่าผู้หญิงสวยย่อมไม่ฉลาดหรือไม่มีสมองเริ่มที่จะหายไป เพราะผู้หญิงสมัยนี้นอกจากสวยแล้วยังเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น และมีความเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้นด้วย
การประกวดในครั้งนั้น หนึ่งในสาวงามผู้เข้าประกวดได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิจารณ์ระบบการศึกษาของไทยบนเวที ทำให้การประกวดและตัวเธอได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก
“ผมมองว่า แนวความคิดเดิม ๆ ถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงมากนัก เพราะในอดีตผู้หญิงอาจจะไม่ค่อยได้รับโอกาสและเวทีในการแสดงความคิดเห็นมากนัก เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน” กูรูนางงามให้ความเห็น
Real Size Beauty คือ มาตรฐานความงามใหม่?
อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นบนเส้นทางความเปลี่ยนแปลงของเวทีประกวดนางงาม คือ อะไรคือมาตรฐานความงาม (beauty standard)
แอนชิลี สก็อต-เคมมิส สาวลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียน วัย 22 ปี ผู้คว้ามุงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาและเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่อิสราเอล ก็ใช้ตำแหน่งเธอเป็นกระบอกเสียงสื่อสารไปยังสาว ๆ คนรุ่นใหม่ให้ภูมิใจในสัดส่วนของตนเองผ่านแคมเปญ RealSizeBeauty เพื่อทลายการตั้งมาตรฐานความงามหรือบรรทัดฐานความงามแบบเดิม ๆ ในสังคม
“ฉันเพิ่งเจอกับตัวเองเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่มีคนบอกว่าฉันเหมือนหมู… ฉันกำลังพูดถึงการชื่นชมยินดีในความเป็นตัวคุณ ในสิ่งที่ทำให้คุณมีเอกลักษณ์ที่มีความหมายมากไปกว่ารูปร่างและขนาด คำวิจารณ์แบบนั้นคือเหตุผลที่ทำให้ฉันมาอยู่ที่นี่ เพื่อทลายมาตรฐานและบรรทัดฐาน (ความงาม) เหล่านั้น” แอนชิลี ให้สัมภาษณ์ในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของกองประกวดมิสยูนิเวิร์สในหัวข้อ “การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
แนวความคิดเรื่อง “ความสวยไม่จำกัดขนาด ด้วยมุมมองเชิงบวกต่อเรือนร่างของตัวเอง” อาจจะเป็นความท้าทายครั้งหนึ่งที่ต้องพิสูจน์บนเวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้
หากแอนชิลีสามารถคว้าชัยชนะในปีนี้ได้จะทำให้เธอกลายเป็นตัวแทนสาวไทยคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของไทย หลังจากที่รอคอยมานานถึง 33 ปี หลังจาก พรทิพย์ นาคหิรัญกนก หรือ ปุ๋ย ที่คว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 2 ในปี 2531 และอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของไทยเมื่อปี 2507
เจ้าภาพกับความขัดแย้งทางการเมือง-ศาสนา
ประเทศเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้คืออิสราเอล ดินแดนที่สื่อต่างชาติมักนำเสนอเรื่องราวของความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเยรูซาเลมตะวันออก กาซา และเขตเวสต์แบงก์ ที่เกิดความตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา โดยความขัดแย้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงจุดยืนทางการเมืองในบางประเทศต่ออิสราเอล รวมทั้งการเป็นรับเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้ด้วย
ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศถอนการสนับสนุนการส่งตัวแทนไปประกวดนางงามจักรวาลในอิสราเอลภายหลังกองประกวดมิสเซาธ์แอฟริกาปฏิเสธข้อเรียกร้องจากองค์กรสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ให้คว่ำบาตรการประกวดครั้งนี้ เพื่อแสดงการสนับสนุนประชาชนชาวปาเลสไตน์และประณามการกระทำของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่ทำให้ชาวผิวสีรำลึกถึงเหตุการณ์อาชญากรรมของการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้
ในขบวนการเรียกร้องดังกล่าว มีพรรคการเมืองหลายพรรครวมอยู่ด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ รัฐบาลอย่างพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสหภาพการค้ารายใหญ่ และหลานชายของเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำแอฟริกาใต้อีกด้วย
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. มันดลา แมนเดลา ผู้ซึ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาติต่าง ๆ แอฟริกาคว่ำบาตรการประกวดครั้งนี้ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ได้กล่าวชื่นชมมาเลเซียและอินโดนีเซียที่กล้าแสดงจุดยืนโดยไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์ของกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส มาเลเซีย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ระบุเพียงว่า ไม่สามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดครั้งที่ 70 นี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีมาตรการคุมเข้มโดยเฉพาะการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถจัดการประกวดในประเทศได้ทัน แต่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดในครั้งต่อไป
ส่วนกองประกวดปูเตอรีอินโดเนซียา ผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิรส์ในอินโดนีเซียก็ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 พ.ย. โดยมีเนื้อหาในลักษณะคล้ายกันกับกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส มาเลเซีย
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวทำให้ แอนเดรอา เมซา มิสยูนิเวิร์สคนปัจจุบันกล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพีในระหว่างการเยี่ยมเมืองเก่าในนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า การประกวดครั้งนี้ไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง
“ทุกคนมีความเชื่อ ภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และเมื่อต้องมาอยู่ด้วยกันที่นี่ คุณควรลืมเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองหรือศาสนา นี่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อการยอมรับและสนับสนุนสตรี” เธอกล่าว
100 ปีเส้นทางเวทีประกวดนางงาม
การประกวดนางงามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวัฒนธรรมความบันเทิงและเหตุผลทางธุรกิจครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 1921 หรือราว 100 ปีที่แล้วโดยกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นในเมืองแอตแลนติกซิตี้ ของรัฐนิวเจอร์ซี ของสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือนระหว่างช่วงวันหยุดแรงงานของสหรัฐฯ โดยใช้ชื่อการประกวดว่า “Inter-City Beauty” เพื่อเฟ้นหาสาวงามที่สุดในชุดอาบน้ำ ในเวลาต่อมางานประจำปีนี้ได้รับความนิยมจึงเพิ่มขนาดของงานและจำนวนผู้ร่วมงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลักในขณะนั้น
แม้ว่าจะผ่านแรงกดดันของสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการประกวดนางงามเวทีมาหลายครั้ง จนต้องยุติลงชั่วคราวในบางช่วง แต่หลังเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การจัดประกวดนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งพร้อมกับใช้ชื่อว่า “มิสอเมริกา” และปรับบริบทการประกวดความงามอย่างเดียวมาสู่การทดสอบความสามารถของผู้ประกวดด้วย โดยผู้ชนะจะได้เงินรางวัลเป็นทุนการศึกษา และยังเป็นเวทีการประกวดนางงามระดับชาติของสหรัฐฯ ที่เก่าแก่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการเกิดขึ้นของเวทีนางงามจักรวาลหรือมิสยูนิเวิร์สนั้น เป็นผลพวงที่เกิดจากการปฏิเสธการสวมชุดว่ายน้ำในที่สาธารณะของโยลันด์ เบตเบซ ผู้ชนะตำแหน่งมิสอเมริกาประจำปี 1951 ทำให้บริษัท แฟซิฟิก มิลส์ ผู้ผลิตและออกแบบชุดว่ายน้ำยี่ห้อ “Catalina Swimwear” จากรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินใจยุติการเป็นสปอนเซอร์ชุดว่ายน้ำให้กับเวทีมิสอเมริกาแล้วมาก่อตั้งเวทีคู่แข่งในประเทศขึ้นก็คือ มิสยูเอสเอ เป็นเวทีประกวดระดับชาติ พร้อมกับมิสยูนิเวิร์สขึ้นในปีนั้นเพื่อเฟ้นหาตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ มาประกวดในระดับนานาชาติ
ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี องค์กรมิสยูนิเวิร์ส เจ้าของเวทีมิสยูเอสเอ มิสยูนิเวิร์สและมิสทีนยูเอสเอ ถูกเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้งด้วยเหตุผลทางธุรกิจ จนกระทั้งถึงปี 1996 โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีของสหรัฐฯ ได้ซื้อกิจการและเข้าบริหารองค์กรนี้จนกระทั่งเขาตัดสินใจเข้าสู่การเมืองด้วยการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2015 เขาจึงขายกิจการนี้ออกไปให้กับบริษัทด้านแฟชัน กีฬาและธุรกิจบันเทิง “วิลเลี่ยม มอร์ริส เอ็นเดฟเวอร์” (William Morris Endeavor: WME) และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดองค์กรมิสยูนิเวิร์ส อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก อีกหนึ่งเวทีประกวดนางงามก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1951 คือ “มิสเวิลด์” โดย เอริค มอร์ลีย์ พิธีกรชื่อดังชาวอังกฤษ
หลังจากมอร์ลีย์เสียชีวิตลง การประกวดนี้ถูกรับช่วงต่อโดยภรรยาของเขาคือ จูเลีย มอร์ลีย์ ซึ่งในวันที่ 17 ธ.ค. นี้จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของการประกวดมิสเวิลด์ที่พอร์โทรีโก หลังจากยุติการประกวดชั่วคราวในปี 2020 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ยังมีการประกวดนางงามสำคัญเวทีอื่น ๆ ด้วย เช่น มิสอินเตอร์เนชั่นแนลของญี่ปุ่น (1960) มิสเอิร์ธของฟิลิปปินส์ (2001) มิสซูปราเนชั่นแนลของโปแลนด์ (2009) และมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนลของไทย (2013) เป็นต้น
ในรอบ 70 ปี ชาติใดครองมงกุฎจักรวาลมากที่สุด
ในช่วงเช้าเวลา 13 ธ.ค. นี้จะทราบกันแล้วว่า มงกุฎนางงามจักรวาลลำดับที่ 70 จะถูกส่งมอบไปยังสาวงามตัวแทนจากประเทศใด แต่หากจะย้อนไปจากการประกวดใน 69 ครั้งที่ผ่านมา ชาติใดถือว่าเป็นมหาอำนาจด้านความงามบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส
- อันดับที่ 1: สหรัฐฯ มีผู้คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลมาแล้วถึง 8 ครั้ง ในปี 1954, 1956, 1960, 1967, 1980, 1995, 1997 ส่วนคนสุดท้ายคือ โอลิเวีย คัลโปในปี 2012
- อันดับที่ 2: เวเนซูเอลา ถือว่าเป็นมหาอำนาจด้านความงามของโลก หากไม่นับรวมเจ้าของเวทีอย่างสหรัฐฯ ด้วยจำนวนมงกุฎที่ได้จากเวทีมิสยูนิเวิร์สมากถึง 7 ครั้ง ในปี 1979, 1981, 1986, 1996 และสามารถสร้างประวัติศาสตร์โดยมีผู้ชนะที่ครอบครองตำแหน่งนางงามจักรวาลถึงสองปีซ้อนในปี 2008 และ 2009 ก่อนที่ปีสุดท้ายที่คว้ามงกุฎจากเวทีนี้ได้ในปี 2013 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ
- อันดับที่ 3: พอร์โทรีโก คว้าไปแล้วมงกุฎนางงามจักรวาลไปถึง 5 ครั้งในปี 1970, 1985, 1993, 2001 และ 2006
- อันดับที่ 4: ฟิลิปปินส์ สามารถพิชิตมงกุฎจักรวาลไปแล้ว 4 มงกุฎ ในปี 1969, 1973, 2015 และคนล่าสุดคือ แคทริโอนา เกรย์ ในปี 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- อันดับที่ 5: สวีเดน, แอฟริกาใต้และเม็กซิโก ที่เก็บไปมงกุฎไปแล้วประเทศละ 3 มงกุฎ
สวีเดนเป็นตัวแทนภาคพื้นยุโรปที่โดดเด่นคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลในปี 1955, 1966 และในปี 1984
แอฟริกาใต้คว้ามงกุฎไปแล้วในปี 1978, 2017 ส่วนผู้ชนะคนล่าสุดคือ โซซิบินี ทุนซี ในปี 2019
เม็กซิโกก็เพิ่งเข้าสู่ทำเนียบนี้หลังจากแอนเดรอา เมซา คว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สคนล่าสุดในการประกวดที่รัฐฟลอริดา ของสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาและกำลังเป็นมิสยูนิเวิร์สที่ครองตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ เม็กซิโกใช้เวลารอคอยกว่า 10 ปีหลังจากมีมงกุฎนางงามจักรวาลไปแล้วในปี 1991 และ 2010
หากตัวแทนสาวไทยในปีนี้ คว้ามงกุฎที่ 3 ได้สำเร็จจะทำให้ไทยขึ้นสู่ทำเนียบอันที่ 5 ของชาติที่ครองมงกุฎนางงามจักรวาลมากที่สุดร่วมกับสวีเดน แอฟริกาใต้และเม็กซิโก