เซปิเดห์ คอลิยาน , อิหร่าน
นักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง
เธอคือนักศึกษานิติศาสตร์ที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี เพราะแสดงการสนับสนุนสิทธิของแรงงานในจังหวัดคูเซสถานทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เธอถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำถึง 4 แห่ง รวมถึงเรือนจำเอวินซึ่งเป็นสถานที่หลักที่ใช้ควบคุมตัวนักโทษการเมือง โดยเธอถูกส่งตัวไปที่นั่นเมื่อเดือน ต.ค. ของปีที่แล้ว
แม้จะสูญเสียอิสรภาพ เธอยังคงทำงานต่อไปโดยส่งเทปบันทึกเสียงจากในเรือนจำออกมาข้างนอก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการปฏิบัติต่อเธอและเพื่อนนักโทษหญิงอย่างไร้มนุษยธรรม ต่อมาเมื่อเธอได้รับการประกันตัว คอลิยานได้เริ่มเขียนหนังสือว่าด้วยการทำร้ายทรมานและความอยุติธรรมที่ผู้หญิงต้องประสบในเรือนจำของอิหร่าน
ไทเซีย เบ็กบูลาโทวา , รัสเซีย
ผู้สื่อข่าว
เธอคือผู้สื่อข่าวคนดังของรัสเซีย ผู้ก่อตั้งสื่ออิสระ Holod ขึ้นเมื่อปี 2019 สื่อนี้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามรุกรานยูเครนอย่างแข็งขัน รวมทั้งรายงานข่าวต่อสาธารณชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรง และสิทธิสตรีอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Holod ถูกทางการรัสเซียปิดกั้น เนื่องจากรัฐบาลดำเนินปฏิบัติการกวาดล้างสื่ออิสระครั้งใหญ่
แม้จะถูกทางการปราบปราม แต่เบ็กบูลาโทวาและทีมงานของเธอให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าผลิตสื่อออนไลน์ต่อไป โดยยอดจำนวนผู้อ่านนั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้เธอจะลี้ภัยออกจากรัสเซียไปตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังถูกทางการประณามว่าเป็น “สายลับของต่างชาติ” เมื่อรัสเซียเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครน เบ็กบูลาโทวาได้เดินทางไปทำข่าวในสมรภูมิแนวหน้าด้วยตนเอง
ฉันไม่เชื่อว่าความเจริญก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง อารยธรรมสมัยใหม่นั้นดูเปราะบางและถูกทำลายได้ง่ายดายยิ่ง สิทธิสตรีก็เช่นกัน มันมักจะเป็นสิ่งแรกที่สูญสลายหายไปเสมอ
ไทเซีย เบ็กบูลาโทวา
ชาเนล คอนทอส, ออสเตรเลีย
นักรณรงค์เรื่องความยินยอมทางเพศ
ผู้ก่อตั้งขบวนการ “สอนเราเรื่องความยินยอม” (Teach Us Consent) ซึ่งรณรงค์ให้รัฐจัดการศึกษาเรื่องเพศสภาพและความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์ คอนทอสเริ่มเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวเมื่อปี 2021 หลังโพสต์คำถามทางบัญชีอินสตาแกรมของเธอว่า มีใครเคยถูกประทุษร้ายทางเพศที่โรงเรียน หรือมีคนรู้จักเคยประสบเหตุเช่นนี้มาบ้าง ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้ตอบกลับว่าเคยถูกกระทำหรือรู้จักเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถึง 200 ราย ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
หลังจากนั้นคอนทอสได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อทางการ ให้จัดการศึกษาเรื่องความยินยอมทางเพศในชั้นเรียนของเด็กที่อายุน้อยลงกว่าเดิม การทำงานรณรงค์ของเธอประสบผลสำเร็จในที่สุด เมื่อรัฐกำหนดให้มีการสอนเรื่องดังกล่าวเป็นวิชาบังคับ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยเริ่มจากปี 2023 เป็นต้นไป ปัจจุบันคอนทอสยังคงเดินหน้าให้ความรู้แก่คนทั่วไปเรื่องการแอบถอดถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเธอกำลังรณรงค์ให้เป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอาญา
มาเรีย เฟอร์นันดา คาสโตร มายา, เม็กซิโก
นักรณรงค์เพื่อผู้พิการ
ในฐานะผู้หญิงที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เธอยังคงต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาสคนอื่น ๆ ที่เป็นผู้พิการเหมือนกัน เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมทางการเมือง เฟอร์นันดา คาสโตร เป็นสมาชิกของกลุ่มส่งเสริมสิทธิผู้พิการที่สนับสนุนโดยองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอตช์ เธอพยายามรณรงค์ให้ทุกพรรคการเมืองของเม็กซิโก วางนโยบายช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้
งานของเธอมีตั้งแต่การผลิตเอกสารที่ใช้ภาษาสำหรับผู้พิการ เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมือง การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และข้อมูลการเลือกตั้ง เธอยังเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของเม็กซิโกประจำสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิผู้พิการ ทั้งยังเป็นตัวแทนของเครือข่ายระหว่างประเทศ Inclusion International อีกด้วย
ปัก จี-ฮุน, เกาหลีใต้
นักปฏิรูปการเมือง
เมื่อตอนที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เธอได้มีส่วนช่วยอย่างลับ ๆ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทลายแก๊งอาชญากรรมทางเพศออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ มาปีนี้ปัก จี-ฮุนเปิดตัวเข้าสู่เวทีการเมือง โดยใช้ประสบการณ์ของเธอดึงดูดคะแนนเสียงจากกลุ่มหญิงสาวด้วยกัน
หลังจากที่พรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นต้นสังกัดของเธอแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี ทางพรรคได้เสนอชื่อให้เธอร่วมเป็นหนึ่งในรักษาการหัวหน้าพรรค เธอยังมีชื่อในคณะกรรมการสตรีซึ่งตอนนี้มุ่งจัดการกับอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ แต่ในที่สุดเธอต้องลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนมิ.ย. หลังพรรคประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้ตอนนี้เธอจะยังไม่มีบทบาทที่เป็นทางการใด ๆ แต่ก็ยังคงผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงการเมืองอยู่ต่อไป
อาชญากรรมทางเพศผ่านสื่อดิจิทัลกำลังคุกคามสิทธิสตรีไปทั่วโลก เราต้องรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ปัก จี-ฮุน
นาซานิน ซาการี-แรตคลิฟฟ์, สหราชอาณาจักร / อิหร่าน
ผู้ทำงานการกุศล
“ทั้งโลกควรรวมพลังกัน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีใครถูกจับเป็นตัวประกัน หรือถูกจับกุมคุมขังเพราะสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ” นี่เป็นคำพูดของนาซานิน ซาการี-แรตคลิฟฟ์ พลเมืองอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน หลังได้รับการปล่อยตัวจากทางการเตหะรานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้สามีของเธอพยายามต่อสู้ดิ้นรนมาอย่างยาวนาน เพื่อผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษหาหนทางให้ภรรยาของเขาเป็นอิสระ รวมทั้งแก้ไขปัญหากรณีพิพาทเรื่องหนี้สินกับรัฐบาลอิหร่านให้ลุล่วงไปเสียที
นาซานินถูกจับกุมตัวโดยปราศจากความผิด ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดที่อิหร่านกับลูกสาวเมื่อปี 2016 ต่อมาเธอถูกใช้เป็นเบี้ยและตัวประกันในการเจรจาต่อรองทางการทูตเพื่อกดดันรัฐบาลอังกฤษ โดยเธอถูกควบคุมตัวอยู่นานถึง 6 ปี และถูกศาลตัดสินจำคุกฐานพยายามล้มล้างรัฐบาลอิหร่าน เมื่อเธอพ้นโทษจากข้อหาแรกในปี 2021 ศาลกลับมีคำพิพากษาเพิ่มเติมในข้อหาที่สอง ทำให้เธอถูกควบคุมตัวต่อไปจนทั้งสองประเทศสามารถตกลงไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างกันได้ หลังเดินทางกลับอังกฤษนาซานินปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของทางการอิหร่าน และปัจจุบันกำลังเขียนบันทึกความทรงจำร่วมกับสามี
โรซา ซาลีห์, สกอตแลนด์
นักการเมือง
เมื่อเดือน พ.ค.ของปีนี้ ซาลีห์กลายเป็นผู้อพยพคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมืองกลาสโกว์ ครอบครัวของเธอย้ายมาปักหลักในสกอตแลนด์ตั้งแต่ตอนที่เธอยังเด็ก จนปัจจุบันเธอเป็นผู้แทนของเขต Greater Pollok สังกัดพรรค SNP อย่างเป็นทางการแล้ว ซาลีห์รณรงค์เพื่อสิทธิของผู้อพยพมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เธอเคยจัดการประท้วงร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียนเมื่อเพื่อนคนหนึ่งถูกควบคุมตัว
การรวมตัวเรียกร้องของเธอและเพื่อนที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “สาวกลาสโกว์” (Glasgow Girls) ดึงดูดความสนใจจากคนทั้งประเทศในเรื่องการปฏิบัติมิชอบต่อผู้ยื่นขอลี้ภัย ต่อมาเธอได้ร่วมก่อตั้งองค์กร “แนวร่วมชาวสกอตเพื่อเคอร์ดิสถาน” ทั้งยังเดินทางไปเยือนพื้นที่ของชาวเคิร์ดในตุรกี ในฐานะนักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย
อิบิโจเก ฟาโบโรเด, ไนจีเรีย
ผู้ร่วมก่อตั้ง ElectHER
องค์กรของฟาโบโรเดได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับขบวนการทางการเมืองของผู้หญิงไนจีเรีย โดยมุ่งทำให้ช่องว่างระหว่างจำนวนผู้แทนชาย-หญิงในเวทีการเมืองหดแคบลง ทั้งยังมีผู้หญิงในแวดวงการเมืองทั่วทวีปแอฟริกากว่า 2,000 คนเข้าร่วมกับองค์กรของเธอด้วย ล่าสุดฟาโบโรเดได้เปิดการรณรงค์ #Agender35 ผลักดันให้ผู้หญิง 35 คน ได้รับเลือกตั้งทั้งในเวทีท้องถิ่นและเวทีระดับชาติ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2023 โดยมอบเงินและบุคลากรสนับสนุนโดยตรง
เธอยังอยู่เบื้องหลังการสร้างแอปพลิเคชันวิเคราะห์ข้อมูลการเลือกตั้งสำหรับสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแรกของขบวนการสตรีนิยมแอฟริกันอีกด้วย ปัจจุบันฟาโบโรเดเป็นสมาชิกสภาผู้นำของมูลนิธิเพื่อประชาธิปไตยและวัฒนธรรม ซึ่งร่วมกันค้นหาวิถีใหม่ในการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย
มีอา มอตต์ลีย์, บาร์เบโดส
นายกรัฐมนตรี
ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบาร์เบโดส มอตต์ลีย์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม และเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ก่อนหน้านั้นเธอเป็นผู้นำพรรคแรงงานแห่งบาร์เบโดสมาตั้งแต่ปี 2008 และก้าวขึ้นบริหารประเทศในยุคที่มีการตัดสินใจไม่ให้กษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐอีกต่อไป ซึ่งทำให้บาร์เบโดสกลายเป็นสาธารณรัฐแห่งใหม่ล่าสุดของโลก
เป็นที่ทราบกันดีว่ามอตต์ลีย์มักพูดวิจารณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเปิดเผย ที่การประชุม COP27 เธอกล่าวตำหนิชาติที่มั่งคั่งร่ำรวยว่าล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศ และเตือนว่าภายในปี 2050 โลกอาจมีผู้อพยพพลัดถิ่นด้วยสาเหตุทางภูมิอากาศถึงพันล้านคน หากไม่มีการลงมือทำสิ่งใดอย่างจริงจัง
อาเยชา มาลิก, ปากีสถาน
ผู้พิพากษา
เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาในปีนี้ ซึ่งนับเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ก่อนหน้านั้นมาลิกได้ชื่อว่าเป็นตุลาการที่ตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรม โดยมุ่งปกป้องสิทธิสตรีเป็นสำคัญ เมื่อปีที่แล้วเธอมีคำวินิจฉัยครั้งประวัติศาสตร์ โดยให้การทดสอบพรหมจรรย์กับเหยื่อคดีข่มขืนและประทุษร้ายทางเพศที่เรียกว่า “การทดสอบด้วยสองนิ้ว” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
นอกจากบทบาทผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว มาลิกยังจัดฝึกอบรมแก่ผู้พิพากษาทั่วโลกและริเริ่มจัดการประชุมผู้พิพากษาหญิงขึ้นที่ปากีสถาน เพื่อส่งเสริมการอภิปรายแสดงทัศนะเรื่องมุมมองทางเพศในกระบวนการยุติธรรม
ผู้หญิงจะต้องสร้างเรื่องเล่าสำนวนใหม่ โดยเป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นของตน ทั้งเป็นเรื่องที่แบ่งปันประสบการณ์และมีเรื่องราวของพวกเธอเองอยู่ในนั้น
อาเยชา มาลิก
นาโอมิ ลอง, ไอร์แลนด์เหนือ
นักการเมือง
เธอคืออดีตรัฐมนตรียุติธรรมผู้เสนอกฎหมายใหม่หลายฉบับที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ เพื่อมุ่งจัดการกับปัญหาอาชญากรรมทางเพศโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงกฎหมายห้ามการแอบมองและถ่ายภาพลึกลงไปภายในคอเสื้อ, ห้ามการโชว์ภาพลามกอนาจารของตนเองแก่คนแปลกหน้าทางออนไลน์, และห้ามใช้ข้ออ้างเรื่องรสนิยมทางเพศแบบรุนแรงมาเป็นข้อแก้ตัว เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมคู่นอน นอกจากนี้ การที่ลองเคยถูกขู่ฆ่าทำให้เธอต้องการสร้างความตระหนักแก่สังคมในเรื่องการล่วงละเมิดนักการเมืองหญิงด้วย
แต่เดิมนั้นลองยึดอาชีพเป็นวิศวกรโยธา ก่อนจะเข้าร่วมกับ “พรรคพันธมิตร” หรือ Alliance Party ในปี 1995 เธอเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงเบลฟาสต์ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรคนแรกของพรรคต้นสังกัดในปี 2010 โดยสามารถโค่นนายปีเตอร์ โรบินสัน อดีตนายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์เหนือที่ครองเก้าอี้ผู้แทนดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี
เราต้องจัดการกับทัศนคติแบบที่สร้างเงื่อนไขให้การล่วงละเมิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา นั่นหมายความว่าเราทุกคนต้องท้าทายวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การเลือกปฏิบัติทางเพศ และการเกลียดกลัวผู้หญิง ซึ่งเราต้องเผชิญหน้ากับมันโดยตรงอย่างไม่ลดละ
นาโอมิ ลอง
ฟาติมา อามิรี, อัฟกานิสถาน
นักศึกษา
เธอคือวัยรุ่นคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุโจมตีศูนย์กวดวิชาในกรุงคาบูล ซึ่งคร่าชีวิตเพื่อน ๆ ของเธอที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนหญิงไปกว่า 50 คน อามิรีได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง รวมทั้งขากรรไกรและหูยังได้รับความเสียหายหนักด้วย
ระหว่างที่เธอกำลังพักฟื้น อามิรีพยายามอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปด้วย เธอได้เข้าสอบในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และทำคะแนนได้ดีเยี่ยมกว่า 85% เธอฝันจะเข้าศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยคาบูล ทั้งยังบอกว่าการสูญเสียดวงตาทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้นและมีความมุ่งมั่นเพิ่มขึ้น
เอริกา ฮิลตัน, บราซิล
นักการเมือง
เธอคือผู้หญิงข้ามเพศผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติของบราซิล ฮิลตันเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ทั้งยังรณรงค์สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+
ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น ฮิลตันถูกไล่ออกจากบ้านที่มีค่านิยมแบบหัวโบราณ จนต้องออกเร่ร่อนและอาศัยนอนตามข้างถนน ก่อนที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย การที่เธอมีประสบการณ์ในเวทีการเมืองระดับนักศึกษา ทำให้เธอย้ายมาอยู่ที่เมืองเซาเปาลูและได้เข้าร่วมพรรคฝ่ายซ้าย PSOL ในที่สุด เมื่อปี 2020 เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเมืองแห่งนี้ และต่อมาได้ออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนเทศบาลเพื่อผู้อดอยากหิวโหยด้วย
การต่อสู้ของเราเป็นไปเพื่อบรรลุถึงสิทธิเท่าเทียม ความเสมอภาคของรายได้ และยุติความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าเราจะเป็นคนดำ คนขาว คนเชื้อสายลาติน คนจน คนรวย หรือคนข้ามเพศก็ตาม
เอริกา ฮิลตัน
โอเลนา เซเลนสกา, ยูเครน
สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
เธอคือนักเขียนบทรายการโทรทัศน์ ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในงานแบบสนับสนุนเบื้องหลังมาก่อน แต่หลังจากที่นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี สามีของเธอชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนในปี 2019 เธอต้องทำงานออกหน้าในเวทีโลกในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการพัฒนายกระดับสิทธิสตรีและการเผยแพร่ส่งเสริมวัฒนธรรมยูเครน
หลังการรุกรานของกองทัพรัสเซีย เซเลนสกาใช้ตำแหน่งสตรีอันดับหนึ่งของเธอดึงความสนใจจากชาวโลกให้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของชาวยูเครน เธอเป็นภริยาของผู้นำต่างชาติคนแรกที่ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ปัจจุบันเธอมุ่งให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เด็ก ๆ และครอบครัวที่เผชิญบาดแผลทางใจจากสงคราม
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาสันติสุขแล้ว ตอนนี้ผู้หญิงแบกรับภาระและความรับผิดชอบหนักยิ่งขึ้น ผู้หญิงที่ได้ผ่านประสบการณ์สงครามนี้จะไม่มีวันก้าวเดินถอยหลัง และฉันแน่ใจว่าความเชื่อมั่นภายในจิตใจของเรามีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น
โอเลนา เซเลนสกา
ซีโมน เตเบ็ต, บราซิล
สมาชิกวุฒิสภาของรัฐบาลกลางบราซิล
เธอคือวุฒิสมาชิกผู้เดินสายกลางที่หลายคนมองว่า สามารถจะช่วยถ่วงดุลการเมืองของประเทศไม่ให้ถลำลึกลงไปในภาวะแบ่งขั้วแบ่งข้างมากไปกว่านี้ เตเบ็ตเคยได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับสาม ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบล่าสุด แต่ก่อนหน้านั้นเธอเคยได้รับเลือกเป็นผู้แทนของรัฐในปี 2002 และเคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองบ้านเกิด Três Lagoas ถึงสองสมัย ในปี 2004 และ 2008 ต่อมาในปี 2014 เธอชนะการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยได้รับคะแนนเสียงกว่า 52%
เตเบ็ตยังเป็นผู้หญิงคนแรก ที่รั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญและการยุติธรรมของวุฒิสภา ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการชุดที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เธอยังเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยมากว่าสิบปี ทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่วมเพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงอีกด้วย
ทุกคนควรรู้ไว้ว่าอนาคตนั้นเป็นเพศหญิง และตำแหน่งแห่งหนของเธอคือที่ใดก็ได้ที่เธอต้องการ
ซีโมน เตเบ็ต
คิซาเน็ต เทดรอส, เอริเทรีย
นักธุรกิจด้านการศึกษา
Beles Bubu คือชื่อของช่องยูทิวบ์ที่สอนภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเอริเทรียให้กับเด็ก ๆ ก่อตั้งโดยผู้ผลิตคอนเทนต์และนักธุรกิจ คิซาเน็ต เทดรอส เธอเกิดและเติบโตที่ประเทศเอธิโอเปีย โดยตั้งแต่วัยเยาว์เธอเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนภาษาเพื่อเชื่อมต่อกับรากเหง้าของตนเอง
ทีมงานผลิตวิดีโอของเธอประกอบไปด้วยศิลปินเสียงและศิลปินดิจิทัลนานาชาติ จากทั้งเอริเทรีย ยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งพวกเขาล้วนผ่านการฝึกฝนด้วยตนเองจนเชี่ยวชาญ ผู้เข้าชมวิดีโอส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ที่พูดภาษาติกรินยา และบรรดาลูก ๆ ของพวกเขาซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในเอริเทรียและเอธิโอเปีย เทดรอสยังจัดงานเทศกาลเด็ก Beles Bubu Kids ขึ้นเป็นครั้งแรก ให้กับผู้อพยพในกรุงกัมปาลาของยูกันดาด้วย
นาตาลี เบกกาต์, นครรัฐวาติกัน
แม่ชีคาทอลิก
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ทรงแต่งตั้งให้แม่ชีเบกกาต์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาสังฆราช (Synod of Bishops) โดยเธอจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำของวาติกันที่คอยถวายคำแนะนำแก่โป๊ปในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ของศาสนจักรคาทอลิก และยังมีสิทธิออกเสียงในการลงมติต่าง ๆ อีกด้วย เลขาธิการสภาสังฆราชเคยกล่าวไว้เมื่อปี 2021 ว่าการแต่งตั้งแม่ชีเบกกาต์ได้แสดงให้เห็นถึง “ประตูที่เปิดกว้าง” สำหรับผู้หญิงในศาสนจักร
ก่อนหน้านี้เบกกาต์ซึ่งเป็นแม่ชีจากคณะ Congregation of Xavières ของฝรั่งเศส ได้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหญิงคนแรกของสถาบันเผยแผ่ศาสนา National Service for the Evangelisation of Young People and Vocations มาแล้ว
อย่างที่โป๊ปฟรานซิสเคยตรัสเอาไว้ว่า มันเป็นภาระหน้าที่แห่งความยุติธรรมที่เราจะต้องต่อสู้กับความรุนแรงและการกีดกันเลือกปฏิบัติทั้งปวงต่อผู้หญิง เราต้องร่วมกันสนับสนุนผลักดันทุกทาง เพื่อให้ผู้หญิงได้อยู่ในตำแหน่งผู้นำของทุกระดับชั้น
นาตาลี เบกกาต์
คริสตินา เบอร์ดีนสกีห์, ยูเครน
ผู้สื่อข่าว
เธอคือนักข่าวมือรางวัลผู้ท่องไปทั่วยูเครนระหว่างเกิดสงคราม โดยรายงานจากภูมิภาคที่ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยขีปนาวุธของรัสเซีย ผลงานบางชิ้นของเบอร์ดีนสกีห์มุ่งให้ความสำคัญกับรายละเอียดในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเมืองที่มีการสู้รบ
แม้จะเกิดที่เมืองแคร์ซอน แต่เธอมาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวการเมืองที่กรุงเคียฟนานถึง 14 ปี โดยทำงานให้นิตยสาร NV รวมทั้งสถานีโทรทัศน์หลายแห่งและรายการวิทยุ เธอยังเป็นผู้สร้าง e-People โครงการทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับผู้คนซึ่งเข้าร่วมในเหตุการณ์ปฏิวัติยูโรไมดาน (Euromaidan Revolution) ซึ่งต่อมาสื่อนี้ได้จัดทำเป็นหนังสือด้วย
อัวร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน, เยอรมนี
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
เธอคือประธานหญิงคนแรกของคณะกรรมาธิการยุโรป ฟอน เดอร์ เลเยน เคยเป็นนักการเมืองของเยอรมนีและร่วมงานในคณะรัฐมนตรีของอังเกลา แมร์เคิล มาแล้ว โดยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของประเทศด้วย
เธอเกิดที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และการแพทย์ก่อนจะเปลี่ยนมาสนใจด้านรัฐศาสตร์ในภายหลัง ฟอน เดอร์ เลเยน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อปี 2019 และนับแต่นั้นมาเธอพาสหภาพยุโรปฝ่าวิกฤตหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเบร็กซิต, การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19, หรือสงครามรุกรานยูเครน เธอยังเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายของอียูที่กำหนดให้มีสมดุลระหว่างเพศชายและหญิง ในจำนวนคณะกรรมการบริหารของกิจการต่าง ๆ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่งผ่านความเห็นชอบในปีนี้
เสนอชื่อโดย ซันนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ผู้อยู่ในทำเนียบ 100 Women 2020
ในขณะที่ยุโรปเผชิญวิกฤตอย่างต่อเนื่องครั้งแล้วครั้งเล่า อัวร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างเหลือเชื่อ ในการที่จะช่วยให้สหภาพยุโรปผ่านพ้นความท้าทายเหล่านี้ไปด้วยกัน ความเป็นผู้นำของเธอนั้นมั่นคงสม่ำเสมอ แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เธอกลับแข็งแกร่งยิ่งกว่าอุปสรรคนั้นเสียอีก
เจิ้ง เอี๋ยน, ไต้หวัน
แม่ชีในพุทธศาสนา
ธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลสำคัญที่สุดผู้หนึ่ง ในการให้กำเนิดพุทธศาสนายุคใหม่ของไต้หวัน ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิฉือจี้” องค์กรการกุศลที่มีเครือข่ายทั่วโลก ท่านยังได้รับฉายาว่า “แม่ชีเทเรซาแห่งเอเชีย”
ธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้เมื่อปี 1996 โดยเริ่มจากกลุ่มแม่บ้านเพียง 30 คน ที่ช่วยกันเก็บออมเงินเอาไว้ช่วยเหลือครอบครัวในยามฉุกเฉิน นับแต่นั้นมามูลนิธิได้ขยายเครือข่ายไปทั่วโลกจนมีผู้ศรัทธากว่าหลายล้านคน โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และการบรรเทาสาธารณภัยแก่นานาประเทศ ทั้งยังสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง ปัจจุบันธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนมีอายุเกือบ 90 ปีแล้ว แต่บรรดาศิษย์ยังคงดำเนินงานการกุศลของท่านต่อไป โดยล่าสุดได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ แก่ผู้ลี้ภัยจากสงครามในยูเครน
จอย อึนโกซี เอเซอิโล, ไนจีเรีย
ศาสตราจารย์นิติศาสตร์
เอเซอิโลเป็นคณบดีกิตติคุณของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไนจีเรีย และอดีตผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ เธอยังเป็นผู้มีอิทธิพลชั้นนำในวงการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เอเซอิโลเคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งองค์กร Women Aid Collective (WACOL) ซึ่งให้ที่พักพิงและความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้หญิงไนจีเรียมาแล้วถึง 60,000 คน ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เธอยังก่อตั้งศูนย์แรกรับและส่งตัวผู้ถูกประทุษร้ายทางเพศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดได้อย่างรวดเร็วว่องไว
เสนอชื่อโดย ชิมามันดา อึนโกซี อาดิชี นักเขียนในทำเนียบ 100 Women 2021
ศาสตราจารย์เอเซอิโลเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายฟรีแก่คนยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงและเด็กสาวที่สิทธิมนุษยชนของพวกเธอถูกละเมิด
เอวา โกปา, โบลิเวีย
นักการเมือง
เธอคืออดีตผู้นำนักศึกษาเชื้อสายอายมาราผู้สั่นสะเทือนเวทีการเมืองของโบลิเวีย หลังจากที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคต้นสังกัดให้ลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมือง El Alto ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ โกปาลงสนามเองในนามผู้สมัครอิสระ และชนะไปด้วยคะแนนเสียงถึง 69% ล่าสุดเธอเพิ่งประกาศแผนการที่จะออกนโยบายและลงทุนเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีของหญิงชาวเมืองแห่งนี้
โกปาไม่ใช่หน้าใหม่บนเส้นทางการเมือง เธอเคยเป็นวุฒิสมาชิกระหว่างปี 2015-2020 การที่เธอถอนตัวจากพรรครัฐบาลนั้น หลายคนมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น
เราต้องมีผู้นำหญิงให้มากกว่านี้ ผู้หญิงนั้นยืนหยัดบนสองเท้าของเธอเสมอ ไม่เคยคุกเข่าให้ใคร
เอวา โกปา
ซาห์รา โจยา, อัฟกานิสถาน
ผู้สื่อข่าว
ระหว่างที่อยู่ใต้การปกครองของระบอบตาลีบันเป็นเวลา 6 ปี โจยาเปลี่ยนชื่อเป็น “โมฮัมหมัด” และแต่งตัวเลียนแบบเด็กผู้ชายเพื่อที่จะได้ไปโรงเรียน ต่อมาเมื่อกองกำลังสหรัฐฯ โค่นล้มระบอบตาลีบันลงได้ในปี 2001 เธอจึงกลับมาเป็นเด็กนักเรียนหญิงตามเดิม โจยาเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวเมื่อปี 2011 และมักจะได้เป็นสมาชิกผู้หญิงเพียงคนเดียวในห้องข่าว
เธอคือผู้ก่อตั้ง Rukhshana Media สำนักข่าวแนวสตรีนิยมแห่งเดียวของประเทศ ซึ่งตั้งชื่อตามเด็กสาววัย 19 ปี ที่ถูกกลุ่มตาลีบันลงโทษด้วยการปาหินจนเสียชีวิต โจยาต้องลี้ภัยออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว และขณะนี้เธอทำงานบริหารสำนักข่าวของตัวเองทางออนไลน์ที่สหราชอาณาจักร เธอได้รับรางวัล “ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง” (Changemaker Award) จากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ในปีนี้
ฉันเชื่อมั่นในอำนาจอย่างอ่อนของถ้อยคำ และเราต้องพูดเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่ผู้หญิงได้รับ
ซาห์รา โจยา
ซารา โมฮัมมาดี, อิหร่าน
นักการศึกษา
หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมเพื่อสังคม-วัฒนธรรม “โนจิน” (Nojin) เธออุทิศตนนานกว่าหนึ่งทศวรรษสอนภาษาเคิร์ดในบ้านเกิดที่เมืองซานานดาจ
แม้รัฐธรรมนูญของอิหร่านจะระบุไว้ว่า การใช้ภาษาถิ่นและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในสถานศึกษานั้น สามารถจะทำได้อย่างเสรี แต่นักกฎหมายและผู้รณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนแย้งว่า ในความเป็นจริงข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติตาม จนเด็ก ๆ ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาแม่ที่โรงเรียนได้ รัฐบาลอิหร่านยังกล่าวหาโมฮัมมาดีว่า “จัดตั้งกลุ่มและสมาคมที่มุ่งหมายจะรบกวนความสงบและความมั่นคงของชาติ” เธอถูกตัดสินจำคุก 5 ปี และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำไปตั้งแต่เดือนม.ค.ของปีนี้
มาอีน อัล โอไบดี, เยเมน
ทนายความ
ในขณะที่สงครามกลางเมืองของเยเมนทวีความรุนแรงขึ้นมากในปีนี้ อัล-โอไบดี ซึ่งเป็นทนายความ ยังคงมุ่งทำงานสร้างสันติภาพต่อไปในเมืองทาอิซที่ถูกปิดล้อม เธอเข้ารับหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเจรจาแลกเปลี่ยนตัวเชลยศึกระหว่างกองกำลังคู่ขัดแย้ง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการส่งตัวเหล่านักรบกลับคืนสู่ครอบครัวโดยสวัสดิภาพทุกครั้ง แต่อย่างน้อยเธอก็ยังคงพยายามให้ร่างของผู้วายชนม์ถูกส่งคืนกลับมา
อัล-โอไบดียังเป็นทนายความอาสาสมัครของสหภาพสตรีเยเมน ทำหน้าที่ปกป้องผู้หญิงที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่เป็นธรรม เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในสภาทนายความ โดยได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ
ซาราห์ ชาน , ซูดานใต้
แมวมองนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ
ในอดีตเธอเป็นนักบาสเกตบอลมืออาชีพที่มีชื่อเสียง แต่ในปัจจุบันชานทำหน้าที่ฝึกสอนการเล่นกีฬาชนิดนี้ให้กับวัยรุ่นในซูดานใต้และเคนยา ทั้งยังเป็นผู้จัดการหญิงคนแรกของทีมแมวมองในสังกัด Toronto Raptors ที่ออกค้นหาดาวรุ่งหน้าใหม่เข้าวงการบาสเกตบอลเอ็นบีเอไปทั่วทวีปแอฟริกา
หลังอพยพหนีภัยสงครามจากกรุงคาร์ทูมของซูดาน ชานและครอบครัวลงหลักปักฐานในเยเมน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอได้เริ่มต้นเส้นทางนักบาสเกตบอลมืออาชีพ เธอได้รับทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยยูเนียนในสหรัฐฯ และได้เล่นบาสเกตบอลอาชีพทั้งในยุโรปและแอฟริกา ชานก่อตั้งมูลนิธิ Home At Home/Apediet ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มุ่งขจัดปัญหาการแต่งงานในวัยที่เด็กเกินไป ทั้งยังส่งเสริมการศึกษาโดยใช้กีฬาให้ความรู้แก่เยาวชน
คุณจะเป็นในสิ่งที่คุณเชื่อว่าตัวเองเป็นอยู่ ดังนั้นจงเชื่อในอนาคตที่ควรค่ากับความใฝ่ฝันของคุณ
ซาราห์ ชาน
ลอรา แม็กอัลลิสเตอร์ , เวลส์
อาจารย์มหาวิทยาลัยและอดีตนักฟุตบอล
เธอคืออดีตกัปตันทีมฟุตบอลหญิงแห่งแคว้นเวลส์ ปัจจุบันแม็กอัลลิสเตอร์มีบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในงานบริหารกิจการกีฬาหลายตำแหน่ง ทั้งรองประธานคณะกรรมการฟุตบอลหญิง UEFA และเป็นตัวแทนขององค์กรลงสมัครรับเลือกตั้งในสภาฟีฟ่า (FIFA Council) เมื่อปีที่แล้ว เธอยังเป็นคณะกรรมการบริหารของสมาคมฟุตบอลเวลส์ทรัสต์อีกด้วย
ขณะนี้แม็กอัลลิสเตอร์เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ โดยเป็นผู้สอนที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองแคว้นเวลส์ ในปีนี้เธอได้รับเลือกจากทางการแคว้นเวลส์ให้เป็นทูตกีฬาของกลุ่ม LGBT เพื่อเข้าร่วมมหกรรมฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ แต่เธอกลับถูกสั่งให้ถอดหมวก “กำแพงสายรุ้ง” ซึ่งแสดงถึงการสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศออก ขณะเข้าสู่สนามแข่งขันที่กาตาร์
ซาร์ อามีร์-เอบราฮีมี , อิหร่าน
นักแสดง
ในปีนี้เอบราฮีมีซึ่งเป็นนักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์มือรางวัล ได้เป็นชาวอิหร่านคนแรกที่คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โดยบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง “แมงมุมศักดิ์สิทธิ์” (Holy Spider) ส่งให้เธอสามารถพิชิตรางวัลอันทรงเกียรติ ภาพยนตร์นี้สร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องผู้มุ่งเป้าสังหารพนักงานบริการทางเพศ
ก่อนหน้านี้อามีร์-เอบราฮีมี ต้องลี้ภัยออกจากอิหร่านเพื่อหลบเลี่ยงหนีการลงโทษจากรัฐบาล หลังเธอตกเป็นเหยื่อการปล่อยภาพลามกอนาจารเพื่อแก้แค้น ทั้งยังมีการปล่อยข่าวลือเพื่อทำให้ชีวิตรักของเธอมีมลทินอีกด้วย เธอเดินทางมาลงหลักปักฐานในกรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อปี 2008 โดยได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ Alambic Production และยังคงทำงานในเส้นทางอาชีพทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังกล้องได้อย่างน่าทึ่ง
โอนา การ์บอเนลล์, สเปน
นักว่ายน้ำ
เธอคือนักกีฬาระบำใต้น้ำชาวสเปนผู้รณรงค์ให้เกิดการยอมรับว่า นักกีฬาชั้นแนวหน้านั้นสามารถจะทำหน้าที่แม่ไปพร้อมกันได้โดยถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา การ์บอเนลล์เคยคว้าเหรียญเงินและเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งยังคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันรายการสำคัญต่าง ๆ กว่า 30 เหรียญ
เมื่อปี 2020 การ์บอเนลล์ให้กำเนิดลูกคนแรก และเริ่มฝึกซ้อมเพื่อเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว เธอกล่าวแสดงความผิดหวังที่กฎการแข่งขันในครั้งนั้นห้ามเธอให้นมลูกชายในสนามแข่ง มาในปีนี้เธอคลอดลูกคนที่สอง และได้บอกเล่าเรื่องราวของเธอในภาพยนตร์สารคดี เพื่อให้นักกีฬาหญิงคนอื่น ๆ ได้เห็นว่า ความเป็นแม่นั้นสามารถไปกันได้กับการเล่นกีฬาเป็นอย่างดี
ออนส์ จาเบเออร์, ตูนิเซีย
นักเทนนิส
หลังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน 2022 จาเบเออร์ซึ่งเป็นชาวตูนิเซียกลายเป็นนักเทนนิสหญิงเชื้อสายอาหรับ-แอฟริกันคนแรก ในยุคของวงการเทนนิสอาชีพปัจจุบัน ที่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศครบ 4 รายการแข่งขันใหญ่ของโลกหรือ “แกรนด์สแลม” หลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือน เธอยังเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการยูเอสโอเพนอีกด้วย
ปัจจุบันจาเบเออร์อายุ 28 ปี เธอเริ่มหัดเล่นเทนนิสตั้งแต่ 3 ขวบ จนได้ครองตำแหน่งมือวางอันดับสองของโลก ตามการจัดอันดับของสมาคมเทนนิสหญิง WTA ซึ่งถือเป็นอันดับสูงสุดที่นักเทนนิสเชื้อสายอาหรับหรือแอฟริกันทั้งชายและหญิงเคยได้ครอง เธอได้รับรางวัลเกียรติยศในสายอาชีพการกีฬามาแล้ว 3 รางวัล และถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับบรรดานักเทนนิสรุ่นใหม่
รีมา จุฟฟาลี, ซาอุดีอาระเบีย
นักขับรถแข่ง
เมื่อปี 2018 จุฟฟาลีสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการลงสนามเป็นนักขับรถแข่งหญิงมืออาชีพคนแรกของประเทศ ในปีนี้เธอก่อตั้งทีมของตนเองโดยใช้ชื่อว่า Theeba Motorsport เพื่อลงแข่งในรายการ International GT Open ซึ่งจะยกระดับการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในกีฬาแข่งรถของชาวซาอุดีอาระเบีย เธอต้องการจะใช้ทีมนักขับรถแข่งของตนเองสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะเพิ่มความหลากหลายทางเพศให้กับวงการกีฬาประเภทนี้
จุฟฟาลีเป็นแบบอย่างอันโดดเด่นให้กับนักขับรถแข่งหญิงทั่วโลก เธอหวังว่าทีมของตนเองจะประสบความสำเร็จ ในการลงแข่งครั้งแรกในรายการ Le Mans อันเลื่องชื่อ ซึ่งทำการแข่งขันตลอด 24 ชั่วโมง
การเหมารวมดูถูกผู้หญิงยังคงมีอยู่ทั่วไปในสังคม การสนับสนุนผู้หญิงจะต้องเริ่มจากที่บ้าน และก็ต้องมาจากสังคมเช่นเดียวกัน เพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงที่ถาวรและเปี่ยมด้วยความหมายเกิดขึ้น
รีมา จุฟฟาลี
อัลลา ปูกาเชวา, รัสเซีย
นักดนตรี
เธอคือเจ้าของฉายา “จักรพรรดินีแห่งเพลงป๊อปรัสเซีย” ปูกาเชวาเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงที่มียอดจำหน่ายซีดีและแผ่นเสียงสูงกว่า 250 ล้านชิ้น เธอมีผลงานมาแล้วกว่า 500 เพลง และอีก 100 อัลบั้ม เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมผู้มีเสียงสูงที่กระจ่างใสแบบเมซโซ-โซปราโน แม้ปัจจุบันเธอจะเลิกทำการแสดงไปแล้ว
ถึงปูกาเชวาจะได้รับการยกย่องอย่างสูงจากผลงานเพลง แต่การที่เธอแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส ทำให้มีทั้งเสียงชื่นชมและตำหนิจากชาวรัสเซีย โดยล่าสุดเธอโพสต์ข้อความลงบัญชีอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตาม 3.6 ล้านคน เพื่อคัดค้านและประณามรัฐบาลรัสเซียที่ทำสงครามรุกรานยูเครน ทำให้มีบางคนกล่าวหาว่าเธอเป็นพวกทรยศต่อชาติบ้านเมือง
โลกได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในการต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาและอิสระทางการเงิน อย่างไรก็ดี ความรุนแรงภายในครอบครัวยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ
อัลลา ปูกาเชวา
ริตา มอเรโน, เปอร์โตริโก / สหรัฐอเมริกา
นักแสดง
มีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ได้เป็นเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรติ EGOT ซึ่งหมายถึงการประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่หลังกวาดรางวัลสำคัญ 4 รายการ อันได้แก่รางวัลเอ็มมี, แกรมมี, ออสการ์, และโทนี มาครองได้สำเร็จ โดยมอเรโนก็เป็นหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้น นักร้อง นักเต้น และนักแสดงชาวเปอร์โตริกันผู้นี้ เปิดตัวบนเวทีละครบรอดเวย์เมื่ออายุเพียง 13 ปี และมีเส้นทางอาชีพที่รุ่งโรจน์ยาวนานถึงกว่า 70 ปี
มอเรโนยังรับบทสำคัญใน Singin’ in the Rain และ The King and I แต่บทบาทของ “อนิตา” จากภาพยนตร์เพลง West Side Story ที่สร้างขึ้นครั้งแรก กลับเป็นบทบาทที่ส่งให้เธอก้าวขึ้นเป็นนักแสดงหญิงเชื้อสายลาตินอเมริกันคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้นำภาพยนตร์เพลงเรื่องนี้มาสร้างใหม่ ถึงกับเขียนบทของตัวละครใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มอรีโนได้เล่นโดยเฉพาะ ปัจจุบันเธอมีอายุกว่า 90 ปีแล้ว
มิลลิ, ไทย
ศิลปินเพลงแร็ป
ดนุภา คณาธีรกุล หรือ “มิลลิ” นักร้องและนักแต่งเพลง ใช้ผลงานของเธอกล่าวถึงประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสังคมไทยหลายเรื่อง เช่นการตั้งมาตรฐานความงามที่เกินจริง และการยินยอมพร้อมใจมีเพศสัมพันธ์ มิลลิแต่งเพลงแร็ปเป็นภาษาต่างประเทศและภาษาถิ่นหลายภาษา รวมทั้งใช้ศัพท์สแลงจากชุมชนคนข้ามเพศของไทยอีกด้วย โดยเพิ่งออกผลงานเปิดตัวอัลบั้มแรก “แบบ เบิ้ม เบิ้ม” (BABB BUM BUM) ไปเมื่อไม่นานมานี้
ผลงานของมิลลิยังดังระเบิดจนเป็นไวรัล ในงานเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ 2022 ที่สหรัฐฯ หลังเธอกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที ทั้งยังท้าทายภาพลักษณ์เหมารวมแบบไทย ๆ ในสายตาชาวโลก และการเมืองการปกครองของไทย โดยเมื่อปีที่แล้วเธอถูกตำรวจตั้งข้อหาหมิ่นประมาท หลังวิจารณ์เรื่องการรับมือโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ส่งผลให้แฮชแท็ก #SaveMilli ได้รับความนิยมอย่างสูงในโลกออนไลน์ทันที
ซาลิมา ราเดีย มูคันซานกา, รวันดา
ผู้ตัดสินฟุตบอล
เธอคือหนึ่งในสตรีสามคนที่ได้รับการคัดเลือกจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้ทำหน้าที่ผู้ตัดสินในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นการเปิดบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการฟุตบอลนานาชาติ โดยจะมีผู้ตัดสินหญิงในการแข่งขันฟุตบอลโลกของชายล้วนเป็นครั้งแรกในรอบ 92 ปี
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มูคันซานกาเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำหน้าที่ผู้ตัดสินในการแข่งขัน Africa Cup of Nations ของนักฟุตบอลชายล้วน เธอยังเป็นผู้ตัดสินในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียว และเป็นผู้ตัดสินระดับสูงในการแข่งขันรอบสำคัญของกีฬาฟุตบอลหญิงนานาชาติอีกด้วย ยากที่จะเชื่อว่าก่อนหันมาเอาดีในวงการฟุตบอล เธอเคยเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นผดุงครรภ์มาก่อน
เสน่หา ยวาเล, อินเดีย
นักสังคมสงเคราะห์
เมื่อช่วงสิ้นปี 2000 พ่อแม่ของยาวาเลไม่สามารถหาสินสอดมาจ่ายเพิ่มให้กับสามีของเธอได้ ทำให้เขาตัดสินใจจับตัวเธอราดด้วยน้ำมันก๊าดแล้วจุดไฟเผา ครอบครัวของเธอไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว แต่หลังจากที่สามีทิ้งเธอไปโดยพาลูกชายไปด้วย ยาวาเลเกิดความมุ่งมั่นที่จะพลิกฟื้นชีวิตของเธอขึ้นมาใหม่ เธอยึดอาชีพทำนายดวงชะตาด้วยไพ่ทาโรต์และเขียนบทละคร ซึ่งทำให้เลี้ยงตนเองได้โดยผู้คนไม่ต้องเห็นใบหน้าเธอ
ปัจจุบันยาวาเลเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และได้รับการทาบทามให้แสดงในละครเวทีเรื่อง “นิรภัย” ซึ่งดัดแปลงจากเหตุการณ์รุมโทรมเหยื่อสาวในกรุงนิวเดลีเมื่อปี 2012 และประสบการณ์ของผู้รอดชีวิตที่ผ่านพ้นเหตุความรุนแรงมาได้ คาดว่าการออกแสดงต่อหน้าผู้ชมทั่วโลกจะช่วยให้เธอก้าวข้ามความหวาดกลัวในใจได้สำเร็จ
ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้ประสบเหตุราดน้ำกรดและจุดไฟเผาได้เปลี่ยนไป ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองอัปลักษณ์ยิ่งกว่านางงามโลกหรือนางงามจักรวาลแม้แต่น้อย ในเมื่อฉันบอกว่าตัวเองสวย ฉันก็สวยตามนั้นจริง ๆ
เสน่หา ยวาเล
มี คยอง (มิกี) ลี, เกาหลีใต้
โปรดิวเซอร์
เธอคือผู้สนับสนุนงานศิลป์หลายแขนงที่หลงใหลในศิลปะอย่างแท้จริง “มิกี” นั้นถือเป็นผู้นำของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีลูกล่าสุด โดยเป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังความสำเร็จระดับโลกของดนตรีเค-ป๊อป เป็นผู้ออกแบบเทศกาลดนตรี KCON และยังเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ “ชนชั้นปรสิต” (Parasite) ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ปัจจุบัน “มิกี” ดำรงตำแหน่งรองประธานเครือกิจการบันเทิงยักษ์ใหญ่ CJ ENM ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีทั้งโรงถ่ายภาพยนตร์ สตูดิโอผลิตรายการโทรทัศน์ ค่ายเพลง และช่องเคเบิลทีวี
เสนอชื่อโดย เรเบล วิลสัน นักแสดงในทำเนียบ 100 Women 2021
เธอคือพลังหญิงขนานแท้และเป็นแบบอย่างที่ดีคนหนึ่งสำหรับฉัน เธอเป็นตัวแทนให้กับวัฒนธรรมของตนเอง และส่งเสริมวัฒนธรรมนั้นให้แพร่หลายไปทั่วโลกสู่ทุกชนชั้น – เรเบล วิลสัน
เอสรา วาร์ดา, แอลจีเรีย / สหรัฐอเมริกา
นักเต้น
เธอเป็นลูกสาวของครอบครัวชาวแอลจีเรียโพ้นทะเล วาร์ดาคือนักรบทางวัฒนธรรมผู้นำการเต้นรำแบบดั้งเดิมของแอลจีเรียจากห้องนั่งเล่นของครอบครัวมาสู่ห้องเรียน โดยอุทิศตนให้กับการอนุรักษ์ขนบทางนาฏศิลป์ของผู้หญิงแอฟริกาเหนือ เธอมุ่งเน้นการสอนวิธีเต้นรำที่เรียกว่า Raï ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการประท้วงของชนชั้นรากหญ้าในประวัติศาสตร์
วาร์ดาเป็นลูกศิษย์ของ เชคา ราเบีย ปรมาจารย์สตรีเพียงไม่กี่คนในหมู่ชาวแอลจีเรียโพ้นทะเลที่เชี่ยวชาญนาฏศิลป์แบบ Raï ปัจจุบันเธอเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเปิดการแสดงและจัดการสอนเต้นรำ รวมทั้งที่กรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ และที่กรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักรด้วย
เวเลีย วิดาล, โคลอมเบีย
นักเขียน
นักเล่าเรื่องและผู้ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูมิภาค El Chocó ของโคลอมเบีย วิดาลคือผู้รักกิจกรรมการอ่านร่วมกัน (shared reading) อย่างแท้จริง เธอก่อตั้งองค์กร Motete ซึ่งมุ่งส่งเสริมการอ่านและการรู้หนังสือ รวมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้วิดาลยังจัดเทศกาลการอ่านและการเขียน เพื่อให้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการขจัดความเหลื่อมล้ำและการเหยียดเชื้อชาติในภูมิภาคยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
หนังสือเล่มล่าสุดของเธอชื่อ Aguas de Estuario เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดชิงทุนจัดพิมพ์สำหรับนักเขียนเชื้อสายแอโฟร-โคลอมเบียน ของกระทรวงวัฒนธรรมโคลอมเบีย วิดาลยังเป็นนักวิจัยในโครงการ Afluentes ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นร่วมกับพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม
ปัจจุบันเราตระหนักถึงการกดขี่ทางประวัติศาสตร์ที่กระทำต่อผู้หญิงมากขึ้น และจำเป็นที่จะต้องแก้ไขมัน แต่เรากลับพลาดที่จะมองเห็นว่า การเหยียดเชื้อชาติทำให้การกดขี่คนเชื้อสายแอฟริกันและชนพื้นเมืองรุนแรงขึ้นได้อย่างไร
เวเลีย วิดาล
คีตาญชลี ศรี, อินเดีย
นักเขียน
เธอคือผู้ประพันธ์นวนิยายและนักเขียนชาวอินเดียผู้สร้างประวัติศาสตร์ หลังสามารถคว้ารางวัลระดับโลก International Booker Prize จากผลงานเรื่อง “สุสานทราย” (Tomb of the Sand) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษจากผลงานต้นฉบับภาษาฮินดีของเธอ นอกจากนี้ ผลงานชิ้นเดียวกันที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ยังได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัล Emile Guimet Prize อีกด้วย
ศรีแต่งนวนิยายด้วยภาษาฮินดีเป็นหลัก แต่ใช้ทั้งภาษาฮินดีและอังกฤษเขียนงานเชิงสารคดี ผลงานของเธอซึ่งมีความโดดเด่นในการใช้ภาษาและการเรียบเรียงโครงสร้างแบบใหม่ ๆ ทำให้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศและภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ของอินเดียจำนวนมาก เธอยังร่วมเขียนบทละครเวทีให้กับคณะละคร “วิวาที” (Vivadi) ซึ่งเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วย
ผู้หญิงมักต้องเจรจาต่อรองเกี่ยวกับพื้นที่ของพวกเธอเสมอ แต่ในยุคสมัยของเรา มีความก้าวหน้าของผู้หญิงปรากฏขึ้นในทุกแง่มุมของชีวิต ในทุกชนชั้นและในทุกวัฒนธรรม แม้มันจะมีไม่มากเท่าเทียมกันก็ตาม
คีตาญชลี ศรี
แซลลี สเกลส์, ออสเตรเลีย
ศิลปิน
ในปีนี้เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อจัดเตรียมการลงประชามติครั้งสำคัญที่เรียกว่า “เสียงสู่รัฐสภา” โดยศิลปินผู้นี้จะเป็นหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากการรับฟังเสียงจากประชาชนก่อนลงประชามติเป็นไปด้วยดี เราอาจได้เห็นชนพื้นเมืองมีเก้าอี้ผู้แทนถาวรในรัฐสภาออสเตรเลีย
สเกลส์เป็นทั้งศิลปินและผู้นำทางวัฒนธรรม โดยเธอเป็นชนพื้นเมืองเผ่า Pitjantjatjara จากดินแดน APY อันห่างไกลในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เธอยังเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานของ APY และเป็นโฆษกให้กับกลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปะ APY ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักธุรกิจด้านวัฒนธรรมที่เป็นชนพื้นเมืองด้วย
เสนอชื่อโดย จูเลีย กิลลาร์ด อดีตนักการเมืองในทำเนียบ 100 Women 2018
แซลลีเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันน่าอัศจรรย์ และผู้สร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การที่เธอเปิดโลกและสร้างความกระตือรือร้นสนใจให้แก่ผู้อื่น เท่ากับเธอได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งจำเป็นต่อการหยุดยั้งแนวคิดอันตรายอย่างการเหยียดเชื้อชาติและเพศ
อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก, รัสเซีย
ศิลปิน
เธอคือศิลปินชาวนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งถูกทางการควบคุมตัวหลังเปลี่ยนป้ายราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นข้อความเกี่ยวกับสงครามในยูเครน โดยข้อความนี้รวมถึงจำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นไปได้ จากเหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงละครเมืองมาริอูโปลด้วย ทำให้ต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐาน “เผยแพร่ข่าวเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย” ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ล่าสุด
ปัจจุบันเธออยู่ในศูนย์ควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีเพื่อรอคำตัดสินของศาล สโกชิเลนโกถือว่าตัวเองเป็น “นักโทษของมโนสำนึก” และอาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
ก่อนหน้านี้เธอเขียนหนังสือการ์ตูนที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการ์ตูนเรื่อง “บันทึกโรคซึมเศร้า” และ “ภาวะเมเนียคืออะไร” แฟนสาวของสโกชิเลนโกแจ้งว่ารู้สึกเป็นกังวลกับสุขภาพของเธอขณะที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่
ดิมา อักตา, ซีเรีย
นักวิ่ง
เมื่อปี 2012 บ้านของอักตาที่ซีเรียถูกระเบิดทำลายจนพังพินาศ เธอต้องเสียขาและไม่อาจทำสิ่งที่รักอย่างหนึ่งคือการวิ่งได้อีก มีชาวซีเรียราว 28% ที่ต้องกลายเป็นผู้พิการ ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าของสถิติโดยเฉลี่ยทั่วโลกที่รวบรวมโดยองค์การสหประชาชาติ สิบปีให้หลังอักตาได้ย้ายมาพำนักในสหราชอาณาจักร และกำลังฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกครั้งต่อไป
หลังจากช่วยระดมทุนเพื่อผู้ลี้ภัยระหว่างช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 อักตาผ่านการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกทีมฟุตบอลทางเลือกของอังกฤษ Lionhearts เรื่องราวของเธอถูกนำไปสร้างเป็นมิวสิกวิดีโอประกอบเพลง Beautiful ของนักร้องเพลงป๊อป Anne-Marie ปัจจุบันเธอยังคงทำงานเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความแข็งแกร่งของเหล่าผู้พิการ
เคดรี เคิง, ฮ่องกง
นักออกแบบแฟชั่น
การออกแบบเสื้อผ้าที่สวยงามน่าสวมใส่สำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ ถือเป็นงานที่เคิงหลงใหลและรักที่จะทำอย่างมุ่งมั่น เธอกับแม่เริ่มต้นธุรกิจแฟชั่นที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายได้ ภายใต้ชื่อแบรนด์ RHYS เมื่อปี 2018 โดยได้รับแรงบันดาลใจการดูแลคุณยายของเธอ จนทำให้ตระหนักว่า เสื้อผ้าของผู้สูงอายุนั้นยังขาดการออกแบบให้สวยงามมีสไตล์และมีประโยชน์ใช้สอยได้หลายอย่างขึ้น
เคิงสำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบเสื้อผ้ามาโดยตรง เธอจึงผสมผสานความรู้ที่มีเข้ากับความต้องการของลูกค้า เช่นการใช้แถบเวลโครที่ติดและลอกถอดออกง่ายแทนเชือกผูก แบรนด์ของเธอจ้างงานและฝึกทักษะให้กับสตรีผู้ด้อยโอกาสถึง 90 คน ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีความพิการด้วย ในปีนี้เธอเปิดตัว Boundless แบรนด์ใหม่สำหรับของใช้แฟชั่นต่าง ๆ ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย
นานา ดาร์โคอา เซเคียมาห์, กานา
นักเขียน
หนังสือของเซเคียมาห์ที่ชื่อว่า “ชีวิตทางเพศของหญิงแอฟริกัน” (The Sex Lives of African Women) ได้รับเสียงชื่นชมจากนิตยสาร Publishers Weekly ว่าเป็น “รายงานอันน่าทึ่งว่าด้วยภารกิจแสวงหาการปลดปล่อยทางเพศ” ทั้งยังติดอันดับในรายชื่อหนังสือดีที่สุดแห่งปีของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์อีกด้วย โดยเนื้อหาสะท้อนความคิดเห็นของสตรีทั่วทวีปแอฟริกาและชุมชนแอฟริกันโพ้นทะเลทั่วโลก
เซเคียมาห์เป็นทั้งนักเขียนและนักสตรีนิยม เธอร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ “การผจญภัยจากห้องนอนของหญิงแอฟริกัน” ที่มีเนื้อหาหลากหลายรูปแบบรวมทั้งพอดคาสต์ และจัดงานเทศกาลชื่อเดียวกัน เพื่อบันทึกประสบการณ์ของหญิงแอฟริกันเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพศสภาพ และความสุขสำราญทางเพศ
เฟมินิสต์ประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่ให้หญิงทุกกลุ่มได้เป็นตัวของตัวเอง แต่เรากำลังเผชิญกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่มาจากความสำเร็จของตัวเอง ซึ่งผลสะท้อนกลับในแง่ลบนี้กระทบต่อความหลากหลายทางเพศและกลุ่มคนที่เพศสภาพไม่ตรงกับกลุ่มใดทั้งสิ้น
นานา ดาร์โคอา เซเคียมาห์
เอลนาซ เรคาบี, อิหร่าน
นักปีนเขา
ในการแข่งขันกีฬาปีนเขาชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งจัดขึ้นที่เกาหลีใต้เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เรคาบีลงสนามโดยไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการบังคับให้สตรีอิหร่านสวมฮิญาบในขณะนั้น เธอได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 4 ในการแข่งขัน แต่สามารถชนะใจผู้ประท้วงชาวอิหร่านและได้รับเสียงชื่นชมทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก หลายคนมารอต้อนรับเธอที่สนามบินหลังเดินทางกลับถึงบ้าน
อย่างไรก็ตาม เรคาบีโพสต์ข้อความทางบัญชีอินสตาแกรมในภายหลังว่า ผ้าคลุมศีรษะของเธอหลุดออกโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างการแข่งขัน เธอให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล โดยกล่าวขออภัยต่อประชาชนสำหรับความสับสนและเป็นกังวลที่เกิดขึ้น แต่แหล่งข่าวของบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซียบอกว่า เธอถูกบังคับให้พูดเช่นนั้น
เซลมา แบลร์, สหรัฐอเมริกา
นักแสดง
เธอคือนักแสดงรุ่นใหญ่ของฮอลลีวูดและวงการละครโทรทัศน์อเมริกัน มีผลงานยอดนิยมตลอดกาลแนววัฒนธรรมป๊อปหลายเรื่อง เช่น Cruel Intentions, Legally Blonde และ Hellboy
แพทย์วินิจฉัยว่าแบลร์ป่วยด้วยโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) หรือเอ็มเอสตั้งแต่ปี 2018 เธอได้รับการชื่นชมยกย่องอย่างสูงในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคดังกล่าวแก่ประชาชนทั่วไป โดยพูดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและประสบการณ์การรักษาของตนเอง ในปีนี้เธอออกหนังสือบันทึกความทรงจำ Mean Baby และทำงานร่วมกับแบรนด์เครื่องสำอางที่ส่งเสริมการยอมรับผู้พิการ โดยมุ่งผลิตและออกแบบเครื่องสำอางที่ใช้ง่ายเหมาะต่อสรีระของทุกคน
ฉันเป็นผู้หญิงที่มีอดีตอันแสนยากลำบาก ซึ่งคุณอาจตำหนิหรือตัดสินมันได้ในหลายแง่มุม อดีตเช่นนี้สามารถทำให้พลังอำนาจของฉันพังทลายลงอย่างง่ายดาย แต่ฉันยังคงมายืนอยู่ตรงนี้ได้ ก็ด้วยการสนับสนุนของผู้หญิงคนอื่น ๆ ทั้งสิ้น
เซลมา แบลร์
ปริยังกา โจปรา โจนาส, อินเดีย
นักแสดงและโปรดิวเซอร์
ปริยังกา โจปรา โจนาส ดาราบอลลีวูดชื่อดัง มีผลงานแสดงนำในภาพยนตร์มาแล้วกว่า 60 เรื่อง หลังเปิดตัวในวงการบันเทิงครั้งแรกเมื่อปี 2002 อดีตนางงามโลกผู้นี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียใต้คนแรกที่ได้บทนำในซีรีส์ทางโทรทัศน์ของอเมริกา (Quantico, 2015)
ส่วนผลงานภาพยนตร์ฮอลลีวูดของเธอนั้น เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่อง Isn’t It Romantic และ The Matrix Resurrections โจปราได้ก่อตั้งบริษัทโปรดักชันของตัวเองโดยมุ่งผลิตภาพยนตร์ภายในประเทศอินเดีย นอกจากนี้เธอยังเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ ช่วยงานรณรงค์เพื่อสิทธิเด็กและการศึกษาของเด็กผู้หญิง
ขบวนการมีทู (MeToo) และเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวกันหลังจากนั้น มีขึ้นเพื่อปกป้องกันและกัน และเพื่อยืนหยัดเคียงข้างกัน มีบางสิ่งที่ทรงพลังอย่างยิ่งในความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
ปริยังกา โจปรา โจนาส
ยูลิมาร์ โรฮาส, เวเนซุเอลา
นักกรีฑา
เธอคือเจ้าของเหรียญทองและเหรียญเงินโอลิมปิก แชมป์โลกสามสมัย และผู้สร้างสถิติโลกใหม่ในกีฬาเขย่งก้าวกระโดดที่ 15.74 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาในร่มชิงแชมป์โลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันโรฮาสตั้งเป้าหมายใหม่ โดยหวังจะทำลายสถิติตนเองด้วยการกระโดดให้ไกลถึง 16 เมตร
โรฮาสเกิดที่กรุงการากัสของเวเนซุเอลา และเติบโตมาในย่านคนยากจนริมฝั่งทะเลแคริบเบียน เธอมองว่าชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็กมีส่วนช่วยให้เธอประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ปัจจุบันเธอเป็นสมาชิกของทีมนักกรีฑา Barcelona FC และมีฐานะเสมือนวีรสตรีคนหนึ่งของประเทศบ้านเกิด เธอเปิดเผยตัวว่าเป็นเลสเบียน และพูดสนับสนุนประเด็นของกลุ่ม LGBTQ+ อยู่เสมอ
ผู้หญิงเราจะต้องไม่ถูกข่มขู่ให้กลัว ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับเรา มันชัดเจนว่าเราอาจโดนดูถูกดูแคลน แต่เราก็แสดงให้เห็นด้วยความภาคภูมิใจแล้วว่า เราทำได้
ยูลิมาร์ โรฮาส
บิลลี ไอลิช, สหรัฐอเมริกา
นักร้อง-นักแต่งเพลง
ซูเปอร์สตาร์เจ้าของรางวัลแกรมมีผู้นี้ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเธอใช้ดนตรีผลักดันให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลง “อำนาจของคุณ” (Your Power) ซึ่งกล่าวโจมตีพวกล่วงละเมิดหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กสาวอายุต่ำกว่าเกณฑ์ รวมทั้งเพลง “กุลสตรีล้วนตกนรก” (All The Good Girls Go To Hell) ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ในปีนี้ไอลิชสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นดาวเด่นในเทศกาลดนตรีกลาสตันเบอรี โดยใช้เวทีแสดงของตนเองประท้วงต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลฎีกาสหรัฐฯ ที่ให้ยกเลิกสิทธิในการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญ เธอยังกล่าววิจารณ์อย่างเปิดเผยในเรื่องของรูปลักษณ์ร่างกาย รวมทั้งช่วงเวลาที่เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและกลุ่มอาการทูเร็ตต์
ฉันรู้สึกทึ่งกับยุคสมัยที่พวกเราดำรงอยู่ในขณะนี้ เพราะผู้หญิงได้เป็นชนชั้นนำแล้ว ก่อนหน้านี้มีบางเวลาที่ฉันตกอยู่ในห้วงของความสิ้นหวัง เพราะหญิงสาวอย่างฉันนั้นไม่มีใครให้การยอมรับนับถือเลย
บิลลี ไอลิช
ฮาดีซาโต มานี , ไนเจอร์
นักรณรงค์ต่อต้านการค้าทาส
เมื่ออายุเพียง 12 ปี มานีถูกขายให้กับชายผู้หนึ่งเพื่อนำเธอไปเป็น “ภรรยาคนที่ 5” ของเขา นี่คือธรรมเนียมการค้าทาสแบบวาฮายาซึ่งชายผู้มั่งคั่งทรงอิทธิพลจะซื้อภรรยาน้อย เพื่อนำตัวไปรับใช้ภรรยาหลวงที่ถูกต้องตามกฎหมายจารีตท้องถิ่น 4 คน หลังจากที่มานีหลุดพ้นจากความเป็นทาสตามกฎหมายในปี 2005 เธอแต่งงานใหม่อีกครั้ง แต่อดีตสามีและนายทาสของเธอกลับยื่นฟ้องต่อศาลว่าเธอสมรสซ้อน เธอถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม มานียื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวอย่างไม่ลดละ จนศาลฎีกาของไนเจอร์กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นในปี 2019 และสั่งห้ามการค้าทาสตามธรรมเนียมวาฮายาไปโดยปริยาย ปัจจุบันมานีเป็นนักรณรงค์ต่อต้านการค้าทาสและคอยช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่น ๆ ให้รอดพ้นจากความเป็นทาสด้วย
โรยา ปีเรอี , อิหร่าน
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ภาพของปีเรอีกลายเป็นไวรัลทางสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่แม่ของเธอคือนางมินู มาจิดี วัย 62 ปี ถูกกองกำลังรักษาความปลอดภัยยิงจนเสียชีวิต ในการชุมนุมประท้วงที่เมืองเคอร์มานชาห์ เมืองใหญ่ที่สุดของชุมชนคนพูดภาษาเคิร์ดในอิหร่าน ในภาพเธอยืนข้างหลุมศพแม่โดยโกนศีรษะทั้งหมด ถือเส้นผมของตนเองไว้ในมือ และจ้องมองอย่างท้าทายมาที่กล้อง
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ เริ่มต้นในพื้นที่ของชาวเคิร์ด หลังมรณกรรมของมาห์ซา อามินี หญิงชาวเคิร์ดวัย 22 ปี ส่วนปีเรอีนั้นต่อมาได้มีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เพื่อขอการสนับสนุนจากนานาชาติให้การประท้วงดำเนินต่อไปได้
เจอรัลดีนา เกร์รา การ์เซส, เอกวาดอร์
นักรณรงค์ต่อต้านการฆาตกรรมสตรี
เธอคือนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่ทำงานมายาวนานกว่า 17 ปี การ์เซสรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในเอกวาดอร์ โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรวบรวมข้อมูล เพื่อชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาการฆาตกรรมสตรี ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนมากถูกสังหารไปเพียงเพราะเพศกำเนิดของตนเอง
การ์เซสคือผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ “สร้างแผนที่แห่งความทรงจำ” (Cartographies of Memory) ซึ่งมีการจัดทำและรวบรวม “แผนที่ชีวิต” ของหญิงเหยื่อฆาตกรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและทัศนคติของผู้คน โดยการ์เซสติดตามแกะรอยกรณีฆาตกรรมหญิงเหล่านี้ให้กับองค์กรพันธมิตรสตรีและเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงทางเพศแห่งลาตินอเมริกา เธอยังเป็นผู้แทนของมูลนิธิอัลเดียและเครือข่ายบ้านพักฉุกเฉินเพื่อผู้หญิงของเอกวาดอร์ด้วย
หากไม่ลงมือทำอะไรเพื่อป้องกันการฆาตกรรมสตรีอย่างจริงจัง จะไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ บังเกิดขึ้นกับคนกลุ่มไหนเลย แม้กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่เราก็ยังคงถูกเข่นฆ่า มันจะต้องไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป
เจอรัลดีนา เกร์รา การ์เซส
ยููเลีย ซาชุก, ยูเครน
ผู้นำกลุ่มคนพิการ
เธอคือผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนจากประเทศยูเครน ซาชุกเป็นผู้นำองค์กร “สู้เพื่อสิทธิ” (Fight for Right) ซึ่งผู้หญิงที่มีความบกพร่องทางร่างกายด้านต่าง ๆ เป็นสมาชิกอยู่ส่วนใหญ่ เมื่อเกิดสงครามที่รัสเซียยกทัพรุกรานยูเครน เธอเร่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อวางแผนและประสานงานอพยพผู้คนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อรักษาชีวิตผู้พิการหลายพันคนในยูเครนเอาไว้ให้ได้
เธอมีความกระตือรือร้นอย่างสูงในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเด็กหญิงและสตรีผู้พิการ เพื่อที่พวกเธอจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง เธอยังเข้าร่วมในโครงการผู้นำภาคพื้นยุโรปของมูลนิธิโอบามา เคยได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปี 2020 ทั้งเป็นผู้สมัครเป็นตัวแทนประเทศยูเครน เพื่อเข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของผู้พิการ
เอฟรัต ติลมา, อิสราเอล
อาสาสมัคร
เอฟรัตเป็นอาสาสมัครหญิงข้ามเพศคนแรกที่เข้ามาช่วยงานของตำรวจอิสราเอล เธอมักเป็นผู้ประสานงานเมื่อมีการแจ้งเหตุฉุกเฉินจากชุมชน LGBTQ+ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีความเป็นมิตรกันมากขึ้น ตอนเป็นวัยรุ่นเอฟรัตเคยหนีสังคมยิวไปอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากครอบครัวไม่ยอมรับเพศสภาพของเธอและยังถูกตำรวจล่วงละเมิดทำร้ายอีกด้วย ต่อมาเธอเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศที่คาซาบลังกาในปี 1969 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังห้ามการผ่าตัดแบบนี้อยู่
ต่อมาเอฟรัตได้เข้าพิธีสมรสและทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เธอกลับมาที่อิสราเอลในปี 2005 หลังหย่าขาดจากสามีและพบว่าประเทศบ้านเกิดเปิดกว้างต้อนรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจเป็นอาสาสมัครช่วยงานตำรวจในที่สุด
เฟลมาริริ บัมบารี, อินโดนีเซีย
นักรณรงค์ต้านความรุนแรงทางเพศ
เธอคือผู้ที่ต่อสู้เพื่อช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศในแถบสุลาเวสีกลาง ดินแดนที่ห่างไกลความเจริญของอินโดนีเซีย บัมบารีพยายามชักจูงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นเลิกใช้กฎหมายจารีต และไม่สั่งลงโทษปรับกับผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย
ตามธรรมเนียมดั้งเดิมเรื่องการ “ชำระล้างหมู่บ้าน” มีกฎตามจารีตที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำผิดประเวณีและเหยื่อผู้เสียหายต้องเสียค่าปรับทั้งคู่ เพื่อชำระล้างมลทินที่ก่อขึ้น คราวใดก็ตามที่มีการแจ้งเหตุความรุนแรงทางเพศ ตำรวจมักจะติดต่อบัมบารีก่อน เนื่องจากเธอมีประสบการณ์ทำงานรณรงค์และช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจำนวนหลายรายต่อปี
แม้ฉันจะพิการทางกาย แต่ก็ต้องการอุทิศกำลังที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้หญิงรอบตัว โดยจะสร้างโอกาสที่เปิดให้พวกเธอได้มีอิสระทางการเงิน
เฟลมาริริ บัมบารี
อลิซ ปาตาโช, บราซิล
นักรณรงค์ชาวพื้นเมือง
ในฐานะนักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อประเด็นด้านภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวและอินฟลูเอนเซอร์ ปาตาโชมุ่งสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงปัญหาจากนโยบายล่าสุดด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมของรัฐบาลบราซิล ซึ่งคุกคามสิทธิในการครอบครองที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง ที่ผ่านมาเธอเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวปาตาโช โดยท้าทายแนวคิดแบบอาณานิคมที่กดขี่ชุมชนพื้นเมือง เธอยังต้องการให้คดีฆาตกรรมบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นที่สนใจกันมากขึ้น
ปาตาโชยังเป็นผู้สื่อข่าวให้กับเว็บไซต์ Colabora และมีช่องยูทิวบ์ของตนเองชื่อว่า Nuhé ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่หมายถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนและฟื้นตัวของชนเผ่าพื้นเมืองในบราซิล
เสนอชื่อโดย มาลาลา ยูซาฟไซ นักต่อสู้เพื่อการศึกษาในทำเนียบ 100 Women 2021
ฉันภูมิใจมากที่ได้เสนอชื่อ อลิซ ปาตาโช เข้าสู่ทำเนียบ 100 Women ของบีบีซีในปีนี้ ความมุ่งมั่นของเธอที่จะต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาภูมิอากาศ, ความไม่เท่าเทียมทางเพศ, และสิทธิของชนพื้นเมืองอย่างแน่วแน่ ทำให้ฉันมีความหวังว่าโลกที่เท่าเทียมและยั่งยืนยิ่งขึ้นคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ทามานา ซาร์ยับ ปาร์ยานี, อัฟกานิสถาน
นักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี
หลังจากเข้าร่วมเดินขบวนเรียกร้องสิทธิในการทำงานและการศึกษาให้กับสตรีอัฟกานิสถาน มีผู้พบเห็นปาร์ยานีและบรรดาพี่น้องผู้หญิงของเธอ ถูกกลุ่มชายติดอาวุธบังคับพาตัวออกจากบ้าน สังคมโลกต่างประณามการกระทำดังกล่าว แต่กลุ่มตาลีบันปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด
ปาร์ยานีสามารถถ่ายคลิปเหตุการณ์ที่เธอถูกจับกุมตัวเอาไว้ได้ และนำลงโพสต์เผยแพร่ทางออนไลน์ ซึ่งคลิปดังกล่าวถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางจนกลายเป็นไวรัล ดึงดูดความสนใจของคนจำนวนมากให้หันมามองกลุ่มนักกิจกรรมหญิงที่ถูกบังคับสูญหาย อย่างไรก็ตาม ปาร์ยานีถูกคุมขังอยู่สามสัปดาห์ก่อนได้รับการปล่อยตัว ขณะนี้เธอลี้ภัยอยู่ในเยอรมนี และล่าสุดได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับหญิงอิหร่าน ด้วยการเผาผ้าคลุมศีรษะทิ้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ในหมู่สตรีชาวอัฟกันจำนวนมาก
ในขณะที่ผู้หญิงทั่วโลกก้าวไปข้างหน้า สตรีชาวอัฟกานิสถานกลับถูกผลักให้ถอยหลังไปถึง 20 ปี ช่วงเวลาสองทศวรรษแห่งความสำเร็จที่ควรเป็นของผู้หญิงถูกปล้นชิงไปจากพวกเธอ
ทามานา ซาร์ยับ ปาร์ยานี
เซซี ฟลอเรส, เม็กซิโก
นักรณรงค์ต่อต้านการบังคับสูญหาย
เมื่อปี 2015 กลุ่มชายติดอาวุธได้ลักพาตัวอะเลฮันโดร ลูกชายวัย 21 ปีของฟลอเรสไป สี่ปีต่อมาแก๊งอาชญากรรมกลุ่มเดิมได้พรากอันโตนิโอ ลูกชายวัย 31 ปีของเธอไปด้วยอีกคน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฟลอเรสเริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพราะไม่ต้องการจะตายไปโดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกของเธอกันแน่
ในปีนี้สถิติบุคคลสูญหายของเม็กซิโกพุ่งแตะระดับเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมียอดผู้สูญหายสะสมแล้วถึง 100,000 คน ในขณะที่องค์การสหประชาชาติเรียกวิกฤตครั้งนี้ของเม็กซิโกว่าเป็น “โศกนาฏกรรมขนาดมหึมา” อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานอย่างแข็งขันของฟลอเรส องค์กร “แม่ผู้ตามหาลูกแห่งโซโนรา” ของเธอ สามารถค้นพบร่างของผู้สูญหายที่ถูกซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แล้วกว่าหนึ่งพันราย
โอเล็กซานดรา มัตวีชุก, ยูเครน
นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
เป็นเวลา 15 ปีแล้วที่มัตวีชุกรั้งตำแหน่งผู้นำศูนย์เพื่อเสรีภาพพลเมือง (CCL) ซึ่งในปีนี้ทางศูนย์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับบุคคลและองค์กรอื่น ด้วยผลงานการสืบสวนและติดตามบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม ซึ่งกองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายก่อขึ้นหลังรุกรานยูเครน
ศูนย์ CCL เป็นองค์กรที่สืบทอดเจตนารมณ์ของผู้เห็นต่างทางการเมือง ในยุคที่ระบอบคอมมิวนิสต์ครองอำนาจในยูเครนช่วงทศวรรษ 1960 ต่อมาเมื่อปี 2014 ทางศูนย์เป็นองค์กรแห่งแรกที่ลงปฏิบัติงานในสมรภูมิไครเมีย ลูฮานสก์ และโดเนตสก์ เพื่อเก็บข้อมูลอาชญากรรมสงคราม ขณะนี้ทางศูนย์กำลังเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดการไต่สวนรัสเซียด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่กระทำในยูเครน เชชเนีย มอลโดวา จอร์เจีย ซีเรีย และมาลี
ความกล้าหาญไม่มีเพศ
โอเล็กซานดรา มัตวีชุก
หญิงผู้ตัดผมของตนเอง, อิหร่าน
ผู้ประท้วง
เกิดเหตุประท้วงลุกลามไปเป็นวงกว้างทั่วประเทศอิหร่านในปีนี้ หลังการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี หญิงชาวเคิร์ดวัย 22 ปีที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังเธอถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎเหล็กทางจารีตของอิหร่าน โดยไม่ยอมสวมผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบ
ในปีนี้บีบีซีต้องการจะเชิดชูบทบาทของผู้หญิง ที่แสดงออกมาอย่างกล้าหาญท่ามกลางการชุมนุมประท้วง โดยพวกเธอต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเพื่อต่อต้านการบังคับให้ผู้หญิงคลุมศีรษะ
การตัดผมของตนเอง ได้กลายมาเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของขบวนการหญิงในครั้งนี้ โดยมีสตรีจำนวนมากทั่วโลกเห็นอกเห็นใจและพากันเข้าร่วมด้วย ตั้งแต่คนดังในวงการบันเทิง ไปจนถึงนักการเมือง และนักรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม ชุมชนบางแห่งในอิหร่านมองว่า การตัดผมนั้นเท่ากับการไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมโบราณ
ลีนา อาบู อาเคลห์, ดินแดนปาเลสไตน์
นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์เชื้อสายอาร์เมเนียผู้นี้เป็นหลานอาของ ชีรีน อาบู อาเคลห์ นักข่าวอัลจาซีราที่ถูกสังหาร ระหว่างกองทัพอิสราเอลบุกโจมตีเขตเวสต์แบงก์เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ด้านกองทัพอิสราเอลแถลงว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ชีรีนจะถูกทหารของตนยิงด้วยความเข้าใจผิด
ปัจจุบันลีนาเป็นตัวแทนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในคดีฆาตกรรมอาหญิงของเธอ ก่อนหน้านี้ลีนาสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตในสาขาการระหว่างประเทศ โดยมุ่งศึกษาประเด็นทางสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ ในปีนี้เธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งใน 100 ผู้นำรุ่นใหม่ของนิตยสารไทม์อีกด้วย
เราต้องสืบสานสิ่งที่อาของฉันได้ทิ้งเป็นมรดกเอาไว้ และเดินหน้านำเสนอทัศนะของผู้หญิงให้โดดเด่นยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเรื่องราวที่บอกเล่าออกไป รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่เรารวบรวมมา มีความเป็นกลาง แม่นยำเที่ยงตรง และครบถ้วน หากปราศจากผู้หญิงเสียแล้วสิ่งนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย
ลีนา อาบู อาเคลห์
เจบีนา ยัสมิน อิสลาม, สหราชอาณาจักร
นักรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของสตรี
เธอคือน้องสาวของซาบีนา เนสซา ครูโรงเรียนประถมที่ถูกฆาตกรรมในสวนสาธารณะกรุงลอนดอนเมื่อเดือน ก.ย.ของปีที่แล้ว นับแต่นั้นเป็นต้นมา เจบีนาได้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงเรียกร้องความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้หญิงในสหราชอาณาจักร เธอยังรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้จำเลยต้องมาปรากฏตัวในศาลขณะมีการอ่านคำพิพากษาด้วย
เจบีนากล่าววิจารณ์รัฐบาลอังกฤษว่า ไม่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือต่อการสืบสวนคดีฆาตกรรมพี่สาวของเธอเท่าที่ควร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแทบจะไม่มีการให้ความสำคัญต่อปัญหาความรุนแรงที่กระทำโดยเพศชาย เธอยังกล่าวตำหนิเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ โดยบอกว่าพวกเธอจะได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป หากมาจากครอบครัวคนผิวขาวชาวอังกฤษ เธอยังบอกว่าพี่สาวของเธอนั้นเป็นแบบอย่างของบุคคลที่น่าอัศจรรย์ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง กล้าหาญ และชาญฉลาด
จงรักตัวเองให้มากกว่าใครในโลกนี้
ซาบีนา เนสซา
ข้อความจากบันทึกของซาบีนาที่น้องสาวของเธอนำออกเผยแพร่
จีฮาด ฮัมดี, อียิปต์
ทันตแพทย์และนักมนุษยธรรม
เธอคือผู้ก่อตั้งและผู้จัดการของ Speak Up ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์จากความริเริ่มของบรรดานักสตรีนิยมชาวอียิปต์ ที่มุ่งดึงความสนใจของสังคมมายังผู้กระทำผิดในกรณีความรุนแรงทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากในปีนี้มีคดีอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ
องค์กรของฮัมดีสนับสนุนให้ผู้หญิงพูดออกมาอย่างเปิดเผยหากประสบกับการถูกล่วงละเมิด ทั้งยังให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจและอารมณ์ รวมทั้งกดดันทางการให้ลงมือแก้ไขปัญหา การทำงานรณรงค์ของเธอได้รับการยกย่องในหลายโอกาส ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลด้านสิทธิเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ จากการประชุมเวทียุติธรรมโลก World Justice Forum 2022
หนทางยังอีกไกล และเรายังอยู่ห่างจุดหมายปลายทางมาก อันที่จริงแล้วเราเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง
จีฮาด ฮัมดี
จูดิธ ฮิวมานน์, สหรัฐอเมริกา
นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ
เธออุทิศชีวิตของตนเองต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ฮิวมานน์ติดเชื้อโปลิโอตอนที่ยังเป็นเด็ก แต่เติบโตขึ้นมาเป็นครูคนแรกในนครนิวยอร์กที่นั่งรถเข็นไปสอนหนังสือ
เธอเป็นผู้นำกลุ่มเรียกร้องสิทธิคนพิการที่มีการยอมรับในระดับนานาชาติ มีผลงานเข้าร่วมปักหลักประท้วงที่หน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ยาวนานที่สุด จนมีการออกกฎหมายฉบับสำคัญเพื่อผู้พิการ เธอทำงานให้รัฐบาลในยุคของประธานาธิบดีคลินตันและโอบามา รวมทั้งมีประสบการณ์ในการทำงานองค์กรไม่แสวงผลกำไรนานถึง 20 ปี
เสนอชื่อโดย ชานี ทัณฑา นักรณรงค์เพื่อผู้พิการในทำเนียบ 100 Women 2020
ฉันได้รับแรงบันดาลใจขนานแท้จากจูดิธ ผู้ทุ่มเททำงานมากว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้พิการทั่วโลก ปัจจุบันเธอยังคงเดินหน้าทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย และเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาสำคัญสำหรับขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้พิการ
โจว เฉี่ยวฉวน, จีน
นักรณรงค์สตรีนิยม
เธอเป็นตัวแทนของขบวนการมีทู (MeToo)ในจีน ที่ผู้คนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เนื่องจากคดีที่เธอฟ้องร้องต่อศาลได้รับความสนใจติดตามจากกลุ่มเฟมินิสต์หรือนักสตรีนิยมทั่วโลก โดยเมื่อปี 2018 เธอได้ยื่นฟ้องจู จุ้น พิธีกรดาวรุ่งของสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี โดยกล่าวหาว่าเขาจับต้องตัวเธอและพยายามบังคับจูบ ระหว่างที่เธอเป็นนักศึกษาฝึกงานเมื่อปี 2014 แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาท
ศาลได้ตัดสินยกคำร้องของโจว เนื่องจากข้อกล่าวหาของเธอมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ ในปีนี้ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยเดิม ทำให้สื่อต่างประเทศเรียกคดีของเธอว่าเป็นความพ่ายแพ้ของขบวนการมีทู อย่างไรก็ตามโจวยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเข้าร่วมในกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจของสังคมจีนมาสู่ประเด็นสตรีนิยม
ซูวาดา เซลีโมวิช, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
นักรณรงค์เพื่อสันติภาพ
หลังสงครามในบอสเนียและเฮอร์เซโกวินาสิ้นสุดลงเมื่อ 30 ปีก่อน ขณะนี้เซลีโมวิชอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เธอช่วยบูรณะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้หญิงพลัดถิ่นคนอื่น ๆ เดินทางกลับมาอยู่ที่นี่ด้วยหลายคน แม้เธอจะเป็นม่ายและยังมีลูกเล็กที่ต้องดูแล แต่ก็ยังอุทิศตนก่อตั้งองค์กร Anima ซึ่งรณรงค์เพื่อสันติภาพและเสริมพลังความแข็งแกร่งให้กลุ่มสตรี
หลังมีการพบร่างสามีของเธอในหลุมฝังศพหมู่เมื่อปี 2008 เซลีโมวิชได้ขึ้นให้ปากคำต่อศาลไต่สวนคดีอาชญากรรมสงคราม และสนับสนุนให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ทำเช่นเดียวกัน ปัจจุบันองค์กรของเธอจัดอบรมให้ผู้หญิงรู้จักวิธีจัดการกับบาดแผลทางใจจากสงคราม ทั้งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเธอได้มีช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำเองด้วย
ทารานา เบิร์ก, สหรัฐอเมริกา
นักรณรงค์ต้านการล่วงละเมิดทางเพศ
แม้กระแสของแฮชแท็ก “มีทู” #MeToo จะมาแรงอย่างยิ่งเมื่อ 5 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่คนนับล้านทั่วโลกออกมาร่วมกันเปิดเผยประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่อันที่จริงแล้วขบวนการนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2006 โดยทารานา เบิร์ก นักรณรงค์เคลื่อนไหวผู้เคยประสบกับฝันร้ายและฝ่าฟันผ่านพ้นมาได้ด้วยตนเอง เธอเลือกใช้คำว่า “มีทู” เพื่อสร้างความตระหนักในปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง
ต่อมาในปี 2017 ข้อความทวิตเตอร์ของดาราสาว อลิสซา มิลาโน ได้เน้นย้ำการใช้แฮชแท็ก #MeToo และจุดประกายให้เกิดการอภิปรายระดับโลกเรื่องวิธีการปฏิบัติต่อผู้หญิง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกล่วงละเมิดได้เปล่งเสียงเผยความในใจออกมาอย่างทรงพลัง ปัจจุบันเบิร์กยังคงมุ่งมั่นอุทิศตนแก่ผู้หญิงที่ผ่านพ้นเหตุร้ายในอดีตมาได้ เธอยังคงต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่อไป
เลย์ลี, อิหร่าน
ผู้ประท้วง
ภาพถ่ายภาพหนึ่งได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงระลอกล่าสุดในอิหร่าน นั่นก็คือภาพด้านหลังของหญิงสาวที่กำลังรวบผมเป็นหางม้า และทำท่าขึงขังเตรียมพร้อมจะเดินหน้าประท้วงบนท้องถนนต่อไป ภาพนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญในหมู่ผู้ประท้วง แต่คนส่วนใหญ่กลับเข้าใจผิดคิดว่านี่คือภาพของฮาดิส นาจาฟี วัย 22 ปี ผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในการประท้วงครั้งนี้
บีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซียได้พูดคุยกับหญิงในภาพคนดังกล่าวซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เธอบอกว่าตนเองจะต่อสู้เพื่อคนอย่างฮาดิส นาจาฟี และมาห์ซา อามินี อย่างแน่นอน ส่วนรัฐบาลอิหร่านนั้น “ไม่อาจทำให้พวกเรากลัวโดยเอาความตายมาขู่ได้ พวกเรามีความหวังต่อเสรีภาพของอิหร่าน”
สันทยา เอกนาลิโกทา, ศรีลังกา
นักสิทธิมนุษยชน
ในฐานะนักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เอกนาลิโกทาพยายามช่วยเหลือแม่ที่สูญเสียลูกและภรรยาที่สูญเสียสามีจำนวนหลายพันคนในสงครามกลางเมืองของศรีลังกา ซึ่งก็รวมถึงปรากีต เอกนาลิโกทา สามีของเธอผู้เป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนและนักเขียนการ์ตูนด้วย เขาหายตัวไปตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2010 หลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง รวมทั้งตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่าทางการทรมานนักโทษกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ
นับตั้งแต่สามีหายตัวไป คุณแม่ลูกสองผู้นี้ได้พยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเขาอย่างเต็มที่ เธอกล่าวหาว่าพวกพ้องของอดีตนายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา เป็นผู้ลงมือลักพาตัวสามีของเธอ แม้ที่ผ่านมาตำรวจสามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้ แต่ศาลมีคำตัดสินให้พวกเขาพ้นผิดไปทั้งหมด
ฉันคือผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้แทนผู้อื่นในทุกโอกาส ฉันเข้าร่วมในการต่อสู้ที่สร้างสรรค์ ก้าวข้ามอุปสรรคท่ามกลางเสียงเย้ยหยันและการใส่ร้ายป้ายสี ด้วยใจมุ่งมั่นอุทิศตนและการเสียสละ
สันทยา เอกนาลิโกทา
โกฮาร์ เอชกี, อิหร่่าน
นักต่อสู้เพื่อพลเมือง
เธอคือสัญลักษณ์ของความอดทนและความพยายามไม่ลดละของแม่ชาวอิหร่านอย่างแท้จริง หลังจากที่สัตตาร์ เบเฮชติ ลูกชายของเอชกีที่เป็นบล็อกเกอร์เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อสิบปีก่อน เธอได้เริ่มเดินหน้าทวงคืนความยุติธรรมให้กับเขามาจนถึงปัจจุบัน โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นผู้ลงมือทรมานและสังหารลูกของเธอ
เอชกีเป็นหนึ่งในสมาชิกขบวนการ “แม่ผู้ร้องทุกข์” ซึ่งรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีฆาตกรรมลูก ๆ ของพวกเธอ เอชกีถือว่าอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน คือตัวผู้บงการที่ต้องรับผิดชอบต่อการตายของลูกชายเธอโดยตรง และเมื่อปี 2019 เธอได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้เขาลาออก สำหรับการชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุดของกลุ่มสตรีอิหร่าน เอชกีได้ร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยการถอดผ้าคลุมศีรษะออก
โมด โกบา, สหราชอาณาจักร
นักรณรงค์เพื่อกลุ่ม LGBTQI+
เนื่องจากตัวเธอเองก็เคยเป็นผู้ลี้ภัยมาก่อน โกบาจึงทุ่มเททำงานกับองค์กรระดับรากหญ้าหลายแห่งมานานถึง 20 ปี เพื่อส่งเสริมการยอมรับผู้ลี้ภัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอังกฤษ ปัจจุบันเธอเป็นผู้จัดการประจำสาขาสหราชอาณาจักรขององค์กรไมโครเรนโบว์ (Micro Rainbow) ซึ่งให้ที่พักพิงชั่วคราวที่ปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัยกลุ่ม LGBTQI+ นอกจากนี้โกบายังบริหารโครงการจัดสรรที่พักแก่คนไร้บ้าน โดยสามารถทำให้คนกลุ่มนี้มีที่หลับนอนได้ถึง 25,000 เตียงต่อคืนในแต่ละปี ทั้งช่วยสนับสนุนให้มีโอกาสได้รับการจ้างงานด้วย
ไม่นานมานี้เธอได้เข้าไปดูแลกระบวนการปรับตัวของผู้ลี้ภัยกลุ่ม LGBTQI+ จากอัฟกานิสถาน โกบายังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการผู้ดูแลองค์กร UK Black Pride ซึ่งทำงานเพื่อคนผิวดำในสหราชอาณาจักร
ไฮดี โครว์เทอร์, สหราชอาณาจักร
นักรณรงค์เพื่อผู้พิการ
เธอคือผู้ที่ต่อสู้เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ป่วยกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม โครว์เทอร์ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหราชอาณาจักรต่อศาล กรณีออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งตัวอ่อนที่เป็นดาวน์ซินโดรมได้ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ไปจนกระทั่งก่อนคลอด ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง แต่ศาลสูงได้ยกคำร้องดังกล่าว โดยอ้างว่ากฎหมายได้พยายามถ่วงดุลระหว่างสิทธิของแม่และเด็กในครรภ์แล้ว ส่วนศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องของโครว์เทอร์ด้วยเช่นกันเมื่อเดือนพ.ย.ของปีก่อน แต่เธอบอกว่าจะยังสู้ต่อไปในชั้นศาลฎีกา
เธอยังเป็นผู้อุปถัมภ์ขององค์กร “มองดาวน์ซินโดรมในแง่บวก” (Positive About Down) และผู้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อการวางนโยบายดาวน์ซินโดรมระดับชาติ เธอตีพิมพ์หนังสือ “ฉันก็แค่ไฮดี” เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ฉันอยากให้หญิงมีครรภ์ได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับดาวน์ซินโดรม ฉันอยากให้ผู้คนทำตัวให้ทันยุคทันสมัย และมองเห็นเราอย่างที่เราเป็นอยู่จริง ๆ
ไฮดี โครว์เทอร์
สาญจิดา อิสลาม โชยา, บังกลาเทศ
นักเรียน
บังกลาเทศมีอัตราการแต่งงานในวัยเด็กสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่โชดาในตอนที่ยังเป็นเพียงนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง ได้พยายามจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ แม่ของเธอแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน ทว่าหลังจากได้ชมการนำเสนอถึงผลกระทบทางลบของการแต่งงานวัยเด็กที่โรงเรียน โชยาตัดสินใจที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง
เธอร่วมกับเพื่อนและครูรวมทั้งทีมงานผู้ให้การสนับสนุนที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มตั๊กแตน” ช่วยกันรายงานกรณีผู้ใหญ่บังคับจัดการแต่งงานให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรุ่นเยาว์ต่อตำรวจ แม้ปัจจุบันโชยาจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว แต่เธอและเพื่อน ๆ กลุ่มตั๊กแตนยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป โดยเธอคอยทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้สมาชิกใหม่ ปัจจุบันพวกเธอสามารถระงับการแต่งงานวัยเด็กได้เป็นผลสำเร็จแล้วกว่า 50 กรณี
นาร์เกซ โมฮัมมาดี, อิหร่าน
นาร์เกซ โมฮัมมาดี
เธอคือผู้สื่อข่าวที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปัจจุบันเธอเป็นรองประธานศูนย์ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่อิหร่าน และยังคงรณรงค์อย่างไม่ลดละเพื่อการยกเลิกโทษประหาร ระหว่างการชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุด เธอส่งจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติมาจากในเรือนจำ เรียกร้องให้ยูเอ็นขัดขวางรัฐบาลอิหร่าน เพื่อไม่ให้ใช้โทษประหารกับบรรดาผู้ประท้วงอีกต่อไป
เมื่อปี 2010 ศาลมีคำตัดสินให้ลงโทษจำคุกโมฮัมมาดีเป็นเวลา 11 ปี ต่อมามีการเพิ่มโทษเป็น 16 ปี เพราะระหว่างการประกันตัวเธอได้กล่าววิจารณ์การปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อนักโทษในเรือนจำเอวิน สารคดีเรื่อง “การทรมานสีขาว” ของเธอ เผยถึงรายละเอียดการขังเดี่ยวจากปากคำของอดีตนักโทษ 16 คน ปัจจุบันสามีของเธอซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองเช่นกัน รวมทั้งลูกของเธออีกสองคนต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ
เอริกา ลิเรียโน , สาธารณรัฐโดมินิกัน
นักธุรกิจโกโก้
ด้วยความต้องการที่จะออกแบบห่วงโซ่อุปทานของการผลิตและจำหน่ายโกโก้เสียใหม่ ลิเรียโนและน้องสาวของเธอได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ INARU ซึ่งส่งออกโกโก้โดยแบ่งปันผลกำไรกับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ในปีนี้บริษัทของเธอได้เงินทุนสำหรับดำเนินกิจการขั้นต้นมาแล้วจากการระดมทุนสาธารณะ
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการผลิตโกโก้นั้นเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยเป็นอย่างมาก แต่ INARU จะดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและจ่ายค่าแรงอย่างเหมาะสม แม้สองพี่น้องจะเกิดที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ แต่ครอบครัวของพวกเธอเป็นเกษตรกรและนักธุรกิจชาวโดมินิกันอยู่แต่เดิม ขณะนี้พวกเธอยังเป็นหุ้นส่วนกับฟาร์มที่บริหารโดยผู้หญิง รวมทั้งสหกรณ์และผู้ผลิตโกโก้ทั่วประเทศด้วย
พลังที่จะกำหนดเส้นทางของคุณเอง เป็นบางสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิครอบครอง และนั่นรวมถึงพลังอำนาจของผู้หญิงในการตัดสินใจเลือกรูปแบบชีวิตที่เธอต้องการ
เอริกา ลิเรียโน
ยูลิเอีย พาเอฟสกา , ยูเครน
เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลและกู้ชีพ
ชาวยูเครนต่างรู้จักเธอดีในชื่อ “ไทรา” เธอเป็นพลเมืองผู้ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เชิดชูเกียรติ จากการเป็นอาสาสมัครกู้ชีพที่ช่วยเหลือประชาชนและทหารผู้ได้รับบาดเจ็บมาแล้วหลายร้อยคน ผ่านการทำงานของหน่วยปฐมพยาบาลและกู้ชีพ Taira’s Angels ที่เธอก่อตั้งขึ้น เธอเคยถูกกองกำลังรัสเซียจับกุมตัวไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ขณะช่วยอพยพพลเรือนออกจากเมืองมาริอูโปล
พาเอฟสกาใช้กล้องที่ติดตั้งไว้กับตัวเธอบันทึกการทำงานในเมืองมาริอูโปลที่ถูกปิดล้อมโจมตี ซึ่งภาพจากกล้องดังกล่าวถูกนำออกเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน เมื่อกองทัพรัสเซียปล่อยตัวเธอในสามเดือนต่อมา เธอได้เผยถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายและการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างโหดเหี้ยม พาเอฟสกาบอกว่าสิ่งที่เธอได้ประสบมาในตอนนั้นไม่ต่างจากขุมนรก
อิฟีโอมา โอโซมา , สหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนโยบายสาธารณะและเทคโนโลยี
หลังจากเธอละเมิดข้อตกลงที่จะไม่เปิดเผยข้อมูล (NDA) โอโซมาได้กล่าวหาอดีตนายจ้างซึ่งก็คือสื่อสังคมออนไลน์พินเทอเรสต์ (Pinterest) ว่ากีดกันและเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุทางเพศและเชื้อชาติ เธอมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือบรรดาลูกจ้างให้ต่อสู้กับการปฏิบัติมิชอบในที่ทำงาน โดยเป็นผู้ร่วมเสนอร่างกฎหมาย “ไม่ถูกปิดปากอีกต่อไป” (Silenced No More Act) ซึ่งจะยินยอมให้ลูกจ้างทุกคนในรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถเปิดเผยข้อมูลเรื่องการถูกเหยียดหยามกีดกันหรือล่วงละเมิดในที่ทำงานได้ แม้จะลงนามในสัญญา NDA ไปแล้วก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้พินเทอเรสต์ต้องทำการตรวจสอบภายใน และออกมาแถลงว่าเห็นด้วยกับร่างกฎหมายข้างต้น
โอโซมายังจัดทำ “คู่มือคนทำงานด้านเทคโนโลยี” ซึ่งรวบรวมแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้ลูกจ้างสามารถพูดแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย เธอยังก่อตั้งบริษัท Earthseed ซึ่งให้คำปรึกษากับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เรื่องการปฏิบัติที่เป็นธรรมของกิจการในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ไอนูรา ซากีน , คีร์กีซสถาน
วิศวกร
เธอคือวิศวกรคอมพิวเตอร์ นักสตรีนิยมผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทสตาร์ทอัพ ซากีนใช้ทักษะอันหลากหลายของเธอวางระบบแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี เธอสร้างแอปพลิเคชัน Tazar ซึ่งเชื่อมต่อผู้ผลิตขยะและของเสียในระบบทั้งหมดเข้ากับกระบวนการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครัวเรือน ไปจนถึงร้านอาหาร โรงงาน และสถานที่ก่อสร้าง แอปพลิเคชันนี้มุ่งสร้างความยั่งยืน และช่วยลดขยะที่กองทับถมกันเป็นภูเขาในหลายประเทศแถบเอเชียกลาง
ซากีนยังเป็นผู้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการเขียนโค้ด รวมทั้งทักษะอื่น ๆ ในสาขาวิชากลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) ให้กับนักเรียนหญิงกว่า 2,000 คนในหลายภูมิภาคของคีร์กีซสถาน
หากปราศจากการนำของผู้หญิง และการมีส่วนร่วมตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเช่นในทุกวันนี้ ทางออกที่จะทำให้โลกยั่งยืนและนำไปสู่อนาคตที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ก็คงไม่อาจจะเกิดขึ้นจริงได้
ไอนูรา ซากีน
แซนดี กาเบรรา อาร์เตียกา , ฮอนดูรัส
นักรณรงค์เพื่อสิทธิในการเจริญพันธุ์
นอกจากจะเป็นนักศึกษาปรัชญา นักเขียน และนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิสตรีแล้ว อาร์เตียกายังเป็นผู้ปกป้องสิทธิทางเพศและการเจริญพันธุ์อีกด้วย เธอสอนและจัดอบรมเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ทั้งเป็นโฆษกของโครงการให้ความรู้เพศศึกษาทางออนไลน์ Hablemos lo que es หรือ “มาคุยกันว่ามันคืออะไร” อีกด้วย
อาร์เตียกาเป็นลูกคนเดียวของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พิการทางการได้ยิน เธอรู้สึกภาคภูมิใจที่เติบโตมาท่ามกลางความห่วงใยและเปิดกว้างยอมรับผู้ด้อยโอกาส ประสบการณ์นี้ทำให้เธอเชี่ยวชาญภาษามือของฮอนดูรัส และยังทุ่มเททำงานให้กับองค์กรเยาวชน Acción Joven เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ และสิทธิในการเจริญพันธุ์ของคนหนุ่มสาว
อิรีนา คอนดราโทวา, ยูเครน
กุมารแพทย์
แม้จะถูกถล่มโจมตีด้วยขีปนาวุธอย่างหนัก แต่แพทย์หญิงคอนดราโทวาและทีมงานของเธอยังคงเดินหน้าดูแลหญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด และบรรดาแม่ที่เพิ่งคลอดลูกน้อยต่อไป โดยไม่ยอมหนีภัยออกจากโรงพยาบาลศูนย์แม่และเด็กประจำภูมิภาคคาร์คิฟ พวกเขาจัดตั้งห้องคลอดชั่วคราวขึ้นมาใหม่ที่ชั้นใต้ดิน และเสี่ยงชีวิตคอยเฝ้าคนไข้ในแผนกทารกป่วยหนักซึ่งไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายไปไหนได้
ในฐานะหัวหน้าศูนย์แม่และเด็กแห่งนี้ แพทย์หญิงคอนดราโทวาเคยมีโอกาสใช้บัญชีอินสตาแกรมของเดวิด เบ็กแฮม บอกเล่าให้โลกรู้ถึงความยากลำบากที่พวกเธอต้องเผชิญ ก่อนหน้านี้ทีมงานของเธอได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์และจิตวิทยาต่อผู้หญิงกว่า 3,000 คน จากภูมิภาคลูฮานสก์และโดเนตสก์มาตั้งแต่ปี 2014
บ้านเรือนของเรา…รวมทั้งถนน, โรงไฟฟ้า, โรงพยาบาล, และหลายชีวิตต้องถูกทำลายไป แต่ความหวังและความฝัน รวมทั้งความเชื่อมั่นศรัทธาของเรายังคงอยู่ แถมยังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม
อิรีนา คอนดราโทวา
จูดี คิฮุมบา, เคนยา
ล่ามภาษามือ
ในฐานะที่เป็นผู้อุทิศตนเพื่อสุขภาพกายใจที่ดีของหญิงหูหนวกที่กำลังมีลูกอ่อน คิฮุมบาได้เข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงทั่วไปได้รับ เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งในเคนยาไม่มีล่ามภาษามือประจำอยู่
เธอได้ก่อตั้งองค์กร “มือพูดได้ ตาฟังเสียง เพื่อปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด” (THLEP) ซึ่งช่วยหญิงผู้พิการทางการได้ยินให้ข้ามผ่านอุปสรรคของการเป็นแม่ไปได้ หลังเผชิญปัญหาทางใจแบบเดียวกันเมื่อปี 2019 ในปีนี้ทางองค์กรได้จัดงานมอบของขวัญแก่ทารกที่กำลังจะลืมตาดูโลก โดยมีคุณแม่หูหนวก 78 คน รวมทั้งแพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ และผู้ให้คำปรึกษาเข้าร่วมด้วย
ยานา ซินเควิช, ยูเครน
นักการเมือง-อาสาสมัครกู้ชีพในแนวหน้า
องค์กรอาสาสมัครกู้ชีพ Hospitallers ของยูเครน ทำหน้าที่อพยพและช่วยชีวิตผู้คนทั้งทหารและพลเรือนจากการสู้รบในแนวหน้า องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 ภายใต้การนำของยานา ซินเควิช หลังเธอจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมได้ไม่นาน และเป็นช่วงที่เริ่มเกิดสงครามในดินแดนไครเมีย
ซินเควิชในวัย 27 ปี เป็นผู้เคลื่อนย้ายทหารบาดเจ็บออกจากสมรภูมิด้วยตนเองมาแล้วกว่า 200 ราย ทีมงานของเธอยังให้การปฐมพยาบาลและกู้ชีพเบื้องต้น รวมทั้งจัดอบรมทางการแพทย์และจัดการอพยพเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บไปยังที่ปลอดภัยแล้วกว่า 6,000 ครั้ง เธอยังเป็นสมาชิกรัฐสภายูเครนที่อายุน้อยที่สุด และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกิจการแพทย์ทหารอีกด้วย
โมนิกา ซิมป์สัน, สหรัฐอเมริกา
นักรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมในการเจริญพันธุ์
เธอคือผู้อำนวยการบริหารขององค์กร SisterSong ซึ่งเป็นการรวมตัวของบรรดาผู้หญิงผิวสี ที่มุ่งทำงานเพื่อความเป็นธรรมด้านการเจริญพันธุ์ในรัฐทางตอนใต้ของประเทศ ซิมป์สันเน้นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางเพศและในการคุมกำเนิด ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในปีนี้ หลังศาลฎีกาของสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกสิทธิในการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากจะเป็นนักกิจกรรมแล้ว ซิมป์สันยังเป็นนักร้องและศิลปินผู้ร่ายบทกวี โดยผสมผสานการรณรงค์ต่อสู้ของเธอเข้ากับศิลปะ เธอยังเป็นหมอตำแยที่มีใบประกาศนียบัตรรับรอง และกรรมการบริหารผู้ก่อตั้งองค์กร Black Mamas Matter Alliance ซึ่งมุ่งส่งเสริมสุขภาพของคนผิวดำที่เป็นแม่ลูกอ่อน
ศิริชา บัณฑลา, อินเดีย
วิศวกรการบินอวกาศ
เธอคือหนึ่งในผู้เดินทางสู่ขอบอวกาศ ในภารกิจประวัติศาสตร์ Unity 22 เมื่อปีที่แล้ว ภารกิจดังกล่าวเป็นการเดินทางที่ใช้นักบินอวกาศเต็มทีม เพื่อไปยังความสูงระดับต่ำกว่าวงโคจรโลกครั้งแรกของบริษัทเวอร์จินกาแล็กติก ทำให้เธอกลายผู้หญิงอินเดียคนที่สองที่ได้ไปถึงห้วงอวกาศ
บัณฑลามีความสนใจในเทคโนโลยีอวกาศมาตั้งแต่เด็ก และต่อมาได้เข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาการบินอวกาศที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ปัจจุบันเธอคือรองประธานฝ่ายกิจการของรัฐและปฏิบัติการวิจัยแห่งบริษัทเวอร์จินกาแล็กติก ซึ่งต้องจัดเตรียมยานขนส่งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อทำการทดลองในห้วงอวกาศให้กับลูกค้าด้วย
เสนอชื่อโดย ซันนี ลีโอน นักแสดงในทำเนียบ 100 Women 2016
ในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายครองความเป็นใหญ่ การที่ศิริชาก้าวข้ามอุปสรรคทุกสิ่ง และฝ่าฟันไปข้างหน้าได้ด้วยการทำงานหนักและทุ่มเทอุทิศตน ทำให้เธอเป็นแรงบันดาลใจของฉัน และที่สำคัญ…ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสาวอีกหลายคนที่มีความฝันแบบเดียวกัน
นิลูฟาร์ บายานี, อิหร่าน
นักนิเวศวิทยา
เธอคือหนึ่งในบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกรัฐบาลอิหร่านจับกุมคุมขังในปี 2018 หลังใช้กล้องติดตามแกะรอยสัตว์ที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าพวกเขาพยายามล้วงความลับทางทหาร ในเขตพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์ โดยบายานีนั้นถูกศาลตัดสินจำคุกถึง 10 ปี
ก่อนหน้านั้นบายานีเป็นผู้จัดการโครงการของมูลนิธิมรดกสัตว์ป่าเปอร์เซีย (PWHF) ซึ่งทำงานเพื่อการอนุรักษ์เสือชีตาห์เอเชียและสัตว์ชนิดพันธุ์อื่น ๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะ เธอระบุในเอกสารฉบับหนึ่งที่บีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซียได้มาว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ได้ทำร้ายทรมานร่างกายและจิตใจของเธออย่างรุนแรง รวมทั้งใช้วิธีข่มขู่ทางเพศกับเธอเป็นเวลาอย่างน้อย 1,200 ชั่วโมง แต่ทางการอิหร่านได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
ซัมราวิต ฟิครู, เอธิโอเปีย
นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี
แม้เธอจะไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนเลยในชีวิต จนกระทั่งได้สัมผัสกับมันครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปี ฟิครูยังสามารถพัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพได้สำเร็จ เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Hybrid Designs หนึ่งในกิจการที่อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ RIDE ของเอธิโอเปีย
การที่ฟิครูเคยมีประสบการณ์ว่า ตนเองรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องเรียกใช้บริการแท็กซี่ทั่วไปหลังเลิกงาน แถมยังต้องต่อล้อต่อเถียงกับคนขับที่มักจะคอยเรียกค่าโดยสารเพิ่มอยู่ร่ำไป ทำให้เธอสร้างแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาด้วยเงินลงทุนเพียง 71,000 บาทเท่านั้น ปัจจุบันบริษัทของเธอจ้างพนักงานหญิงเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีผู้หญิงทำงานในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศไม่มากนักก็ตาม แต่ฟิครูยังคงต้องการจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจสาวรุ่นต่อ ๆ ไป
ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเราต้องการให้หญิงสาวเข้าถึงแหล่งเงินทุนกันได้มากรายขึ้น เพื่อทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเธอกลายเป็นความจริงขึ้นมา
ซัมราวิต ฟิครู
นิการ์ มาร์ฟ, อิรัก
พยาบาล
ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพยาบาลของหน่วยดูแลแผลไหม้ ประจำโรงพยาบาลในเขตเคอร์ดิสถานของอิรัก มาร์ฟให้การรักษาหญิงสาวที่เผาตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากการทำร้ายตนเองเช่นนี้ ถือเป็นการประท้วงรูปแบบหนึ่งตามธรรมเนียมนิยมของสตรีในท้องถิ่น
มาร์ฟทำงานในโรงพยาบาลมานานถึง 25 ปีแล้ว ผ่านการรักษาคนไข้ทั้งที่เป็นเด็กและคนไข้อาการสาหัสในแผนกไอซียู รวมทั้งผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้จากอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม คนไข้หญิงหลายคนของเธอมักถูกกระทำทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจมาก่อนที่จะก่อเหตุเผาตัวเอง บางคนอายุน้อยเพียง 16 ปีเท่านั้น
โมนิกา มูซอนดา, แซมเบีย
นักธุรกิจหญิง
จากนิติกรขององค์กรธุรกิจสู่ผู้ประกอบการเต็มตัว ปัจจุบันมูซอนดาเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Java Foods บริษัทแปรรูปอาหารในแซมเบียและผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ วิสัยทัศน์ของเธอคือการผลิตอาหารราคาถูก โดยใช้ประโยชน์จากผลผลิตข้าวสาลีปริมาณมหาศาลของแซมเบีย นอกจากนี้รูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป และความต้องการอาหารที่พร้อมรับประทานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ยังทำให้เธอวางแผนการผลิตและจำหน่ายดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย
มูซอนดาคือหนึ่งในผู้ส่งเสริมการมีโภชนาการที่ดี เธอเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่นักธุรกิจหญิงอีกหลายคน และมักพูดวิจารณ์อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อผู้หญิงในการทำธุรกิจ เธอได้รับรางวัลเกียรติยศมาแล้วไม่น้อย และเป็นที่ยอมรับในเรื่องการทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเกษตรและระบบอาหารของแอฟริกา
เจน ริกบี, สหรัฐอเมริกา
นักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์
ดร. ริกบี เป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ขององค์การนาซา ผู้มุ่งศึกษาวิวัฒนาการของกาแล็กซีต่าง ๆ นับแต่ห้วงจักรวาลได้ถือกำเนิดขึ้นมา เธอเป็นหนึ่งในเหล่านักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของทีมนานาชาติที่นำส่งและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์นอกวงโคจรโลก โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตัวนี้ ได้บันทึกภาพสีชุดแรกที่ให้รายละเอียดของห้วงจักรวาลคมชัดที่สุด เท่าที่เคยมีมาในย่านรังสีอินฟราเรด
เธอตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการมาแล้วกว่า 100 ชิ้น ทั้งได้รับรางวัลจำนวนมากจากผลงานวิทยาศาสตร์ เธอยังเป็นผู้รณรงค์สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมและเปิดกว้างต่อการศึกษาวิชากลุ่ม STEM หรือวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์, และคณิตศาสตร์
ตอนที่ยังเป็นนักศึกษา ฉันไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อนเลยว่า มีบุคคลผู้เป็นแบบอย่างของสังคมที่มาจากกลุ่ม LGBTQ ฉันหวังว่าตนเองจะเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นสุดท้าย ที่โตขึ้นมาโดยไม่มีแบบอย่างของเพศทางเลือกให้เดินตาม
เจน ริกบี
มารีนา วีอาซอฟสกา, ยูเครน
นักคณิตศาสตร์
เธอคือผู้หญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเหรียญรางวัล Fields Medal อันทรงเกียรติ ซึ่งคนในวงการมองว่าเทียบเท่ากับรางวัลโนเบลสาขาคณิตศาสตร์เลยทีเดียว วีอาซอฟสกาได้รับรางวัลนี้จากผลงานแก้โจทย์อายุเก่าแก่ 400 ปี ซึ่งถามว่าจะบรรจุลูกกลมลงไปในพื้นที่รูปทรง 8 มิติ ให้ได้จำนวนมากที่สุดได้อย่างไร
ปัจจุบันวีอาซอฟสกาเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสมาพันธรัฐสวิส (EPFL) ที่เมืองโลซานน์ของสวิตเซอร์แลนด์ และยังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มศึกษาทฤษฎีจำนวน (Number Theory) ที่สถาบันคณิตศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
คิมิโกะ ฮิราตะ, ญี่ปุ่น
นักรณรงค์ด้านภูมิอากาศ
ฮิราตะเป็นผู้เคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานจากถ่านหินอย่างจริงจัง เธอใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตรณรงค์ให้ญี่ปุ่นเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน โครงการรณรงค์ระดับรากหญ้าของเธอส่งผลให้แผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน 17 แห่ง ต้องถูกยกเลิกไป เธอยังเป็นสตรีญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนอีกด้วย
ฮิราตะลาออกจากงานในสำนักพิมพ์ เพื่อมาเป็นนักรณรงค์ด้านภูมิอากาศตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เธอตัดสินใจเช่นนี้หลังได้อ่านหนังสือ “โลกในภาวะสมดุล” (Earth in the Balance) ของอัล กอร์ ปัจจุบันเธอเป็นผู้อำนวยการบริหารขององค์กรอิสระ Climate Integrate ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2022 เพื่อมุ่งตัดลดการปล่อยคาร์บอนเป็นหลัก
ดีเลก เกอร์ซอย, เยอรมนี
ศัลยแพทย์หัวใจ
แพทย์หญิงเกอร์ซอยเป็นบุตรของชาวตุรกีที่ย้ายถิ่นฐานมายังเยอรมนี เธอเป็นศัลยแพทย์ชั้นนำผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดใส่หัวใจเทียม จนได้ขึ้นปกนิตยสารฟอร์บส์ฉบับของเยอรมนี หลังเป็นศัลยแพทย์หญิงคนแรกของยุโรปที่ลงมือผ่าตัดฝังหัวใจเทียมได้สำเร็จ
นับเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษแล้วที่งานวิจัยทางการแพทย์ของเธออยู่ในระดับแนวหน้าของวงการพัฒนาหัวใจเทียม โดยทีมของเธอพยายามมองหาทางเลือกที่นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เนื่องจากอัตราการบริจาคนั้นมีต่ำมาก งานวิจัยของเธอมุ่งให้ความสำคัญกับสรีรวิทยาของผู้หญิงเป็นหลัก ปัจจุบันเธอกำลังก่อตั้งคลินิกหัวใจของตนเองและได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติออกมาแล้วเล่มหนึ่ง
เวกาห์ทา เกเบรโยฮันเนส อาเบรา, ภูมิภาคทิเกรย์ของเอธิโอเปีย
ผู้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
อาเบราคือผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร Hdrina ซึ่งมุ่งขจัดภาวะทุพโภชนาการที่เกิดจากการสู้รบยาวนานในภูมิภาคทิเกรย์ องค์กรแห่งนี้มีหลายโครงการที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กซึ่งได้รับผลกระทบจากสงคราม รวมถึงโครงการส่งมอบอาหารยามฉุกเฉินเร่งด่วนแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ที่อาศัยในค่ายพักชั่วคราว และยังมีโครงการทำสวนปลูกพืชในเมืองใหญ่อีกด้วย
องค์กร Hdrina ยังทำงานเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งแก่ผู้ประสบเหตุความรุนแรงทางเพศอันเนื่องจากสงคราม และให้ความช่วยเหลือแก่หญิงที่ถูกความยากจนบีบบังคับจนต้องหันมาค้าประเวณีด้วย
เอ เนน ทู, เมียนมา
แพทย์หญิง
เธอคืออาสาสมัครแนวหน้าในพื้นที่วิกฤตของเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่ห่างไกลและยากจนของรัฐชิน แพทย์หญิงเอ เนน ทู สร้างโรงพยาบาลสนามที่มีห้องผ่าตัดขนาดเล็กขึ้นที่นั่นเมื่อเดือนพ.ย.ของปีที่แล้ว โดยได้ให้การรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในพื้นที่มานับแต่นั้น
ในยามว่างเธอมักเดินทางไปยังพื้นที่ทุรกันดารอื่น ๆ ซึ่งขาดแคลนแพทย์พยาบาล เพื่อช่วยรักษาชาวบ้านและผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เธอกลับถูกกองทัพเมียนมากล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF)
วิกตอเรีย แบ็ปทิสต์, สหรัฐอเมริกา
พยาบาลและผู้ให้ความรู้เรื่องวัคซีน
เธอมาจากรัฐแมริแลนด์และมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เหตุใดชุมชนคนผิวดำอเมริกันมีความหวาดระแวงต่อวิธีป้องกันรักษาโรคบางอย่าง แบ็ปทิสต์เป็นทายาทของเฮ็นเรียตตา แล็กซ์ หญิงผิวดำที่เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเมื่อปี 1951 ซึ่งเธอเป็นคนแรกที่เซลล์มะเร็งถูกนำไปเพาะต่อในห้องปฏิบัติการ โดยไม่ได้รับความยินยอมเสียก่อน
เซลล์ดังกล่าวมีชื่อเรียกกันว่า “เฮลาเซลล์” (HeLa cells) ถูกนำไปใช้ในการวิจัยทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง โดยที่ครอบครัวของเธอไม่ได้รับรู้เป็นเวลานานหลายสิบปี ปัจจุบันแบ็ปทิสต์เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเฮ็นเรียตตา แล็กซ์ และทูตสันถวไมตรีขององค์การอนามัยโลกเพื่อการขจัดมะเร็งปากมดลูก
อาโซเนเล โคตู, แอฟริกาใต้
นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี
แนวคิดในการทำธุรกิจของโคตู มาจากตอนที่เธอต้องการนำยาคุมกำเนิดแบบฝังใต้ผิวหนังออก แต่กลับไม่มีใครช่วยเธอได้เลย เธอจึงริเริ่มก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ FemConnect ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้หญิงพบทางออกของปัญหาสุขภาวะทางเพศต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอุปกรณ์อนามัยสำหรับหญิงมีประจำเดือนที่มีรายได้น้อย หรือความช่วยเหลือเพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
แพลตฟอร์มออนไลน์นี้เปิดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้หญิงผ่านการสื่อสารทางไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปัญหาทางเพศและการเจริญพันธุ์ โดยมุ่งให้บริการแบบไม่เลือกปฏิบัติและไม่ทำให้คนไข้ต้องอับอาย ผู้ใช้บริการสามารถสั่งซื้อยาคุมกำเนิดและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นของผู้หญิงไปใช้ได้ เหมือนกับการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน โคตูยังมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดความยากจนซึ่งเป็นสาเหตุให้สุขภาวะของผู้หญิงมีประจำเดือนย่ำแย่ รวมทั้งต้องการให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเยาวชนที่มีความเสี่ยงในชุมชนด้อยโอกาส ซึ่งขาดการดูแลจากภาครัฐ
มันเป็นสิ่งงดงามที่ได้เห็นคนหนุ่มสาวค้นพบทางออกของปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราอุ่นใจได้ว่า คนรุ่นต่อไปจะไม่ต้องประสบกับความยากลำบากแบบเดียวกับคนรุ่นพ่อแม่แล้ว
อาโซเนเล โคตู
มารี คริสตินา โคโล, มาดากัสการ์
นักธุรกิจด้านภูมิอากาศ
เธอคือนักธุรกิจเพื่อสังคมสีเขียวและนักสตรีนิยมเพื่อสิ่งแวดล้อม โคโลเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนทางการของมาดากัสการ์เข้าร่วมการประชุม COP27 เธอพยายามให้ผู้คนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมที่มีเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่ผ่านมาประเทศของเธอประสบภัยแล้งต่อเนื่องจนกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของผู้คนนับล้าน ทำให้สหประชาชาติต้องประกาศว่า นี่คือทุพภิกขภัยครั้งแรกของโลกที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
โคโลดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคขององค์กรเอกชน People Power Inclusion ซึ่งมุ่งขจัดความยากจนด้วยระบบเศรษฐกิจสีเขียว เธอยังประกอบกิจการเพื่อสังคม Green’N’Kool ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ และด้วยเหตุที่เธอเป็นผู้รอดชีวิตจากการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิงมาก่อน เธอจึงก่อตั้งขบวนการ “ผู้หญิงทำลายความเงียบ” (Women Break the Silence) ซึ่งต่อต้านวัฒนธรรมการข่มขืนด้วย
เราไม่ต้องการจะถูกมองว่า เราเป็นเพียงเหยื่อผู้น่าสงสารที่ถูกการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ, แนวคิดชายเป็นใหญ่, และความรุนแรงกดขี่ทำร้าย ฉันยังคงมองโลกในแง่ดีและรู้สึกภูมิใจ เมื่อได้เห็นว่าผู้หญิงอย่างเราสามารถปรับตัวฟื้นฟูตนเองได้ดี แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งหลายก็ตาม
มารี คริสตินา โคโล
นายา ไลเปิร์ต, กรีนแลนด์
นักจิตวิทยา
นักบำบัดบาดแผลทางใจผู้นี้มีอายุเพียง 13 ปี เมื่อเธอถูกบังคับให้ใส่ห่วงคุมกำเนิด (IUD) เข้าไปในร่างกาย ตามโครงการควบคุมจำนวนประชากรชาวอินูอิตบนเกาะกรีนแลนด์ของรัฐบาลเดนมาร์ก ซึ่งมีขึ้นระหว่างช่วงทศวรรษ 1960-1970 มาในปีนี้รัฐบาลของทั้งสองประเทศเห็นพ้องอย่างเป็นทางการให้สืบสวนกรณีดังกล่าวในอดีต ซึ่งคาดว่าส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กสาวถึง 4,500 คน
ไลเปิร์ตได้รณรงค์ต่อสู้เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ ซึ่งรวมไปถึงคนที่สงสัยว่าห่วงคุมกำเนิดที่ถูกบังคับให้ใส่ในวัยเด็ก อาจเป็นสาเหตุทำให้พวกเธอมีบุตรยาก โดยในการนี้ไลเปิร์ตได้จัดตั้งกลุ่มทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาได้ติดต่อกันและช่วยสนับสนุนกันและกัน
มีผู้หญิงที่ผ่านพ้นประสบการณ์เลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สามารถเป็นแบบอย่างอันน่าชื่นชมให้กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ได้ การพูดเปิดเผยความจริงมักทำให้ความกลัวจางหายไป เพราะคุณจะพบว่าตัวเองไม่ถูกสังคมตัดสิน คนเราไม่อาจจะถูกควบคุมไว้ด้วยความกลัวตลอดไป
นายา ไลเปิร์ต
โซเฟีย ไฮโนเน็น, อาร์เจนตินา
นักอนุรักษ์
ด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ไฮโนเน็นซึ่งเป็นนักชีววิทยาได้ริเริ่มความพยายามครั้งแรก เพื่อทำให้วิกฤตการณ์ที่สิ่งมีชีวิตในอเมริกาใต้ใกล้สูญพันธุ์หวนกลับคืนสู่ภาวะปกติตามเดิม โดยเธอได้ฟื้นฟูระบบนิเวศของ Esteros del Iberá พื้นที่ชุ่มน้ำของอาร์เจนตินาซึ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เธอยังใช้เวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปี สร้างพื้นที่อนุรักษ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ
ภายใต้การนำของไฮโนเน็น มีการดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าอาร์เจนตินาใน 4 พื้นที่นิเวศหลัก ซึ่งรวมถึงทุ่งหญ้าพาตาโกเนีย โดยใช้แผนเปลี่ยนที่ดินส่วนบุคคลให้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งนำพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์พื้นเมืองกลับเข้ามาในท้องถิ่นใหม่อีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสร้างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน