วันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทย โดยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ทีมงานสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ได้รับแจ้งข่าวดังกล่าวนี้ จากนาย Yoshihide ENDO ฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตรว่า ข้อเสนอโครงการ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา” ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และนับเป็นพื่้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อช่วงวันที่ 4-8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา 2565 Prof. Zekri Slim ชาวอิสราเอล เป็นผู้แทนคณะกรรมการ SAG เดินทางตรวจสอบพื้นที่จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย และให้ข้อเสนอแนะประเทศไทยปรับแก้ไขเอกสารเพิ่มเติม ก่อนยื่นเอกสารข้อเสนอเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาในช่วงวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2565
นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง เปิดเผยกับ “มติชนออนไลน์” ว่าเพิ่งเห็นเอกสารแจ้งข่าวเรื่องนี้ส่งมาที่สำนักงานในวันนี้ รู้สึกดีใจมาก เพราะที่ผ่านมา พยายามจะผลักดันเรื่องควายน้ำให้เป็นที่รู้จักในสังคมอย่างแพร่หลายตลอดเวลา เพราะควายน้ำถือเป็นเอกลักษณ์แห่งแรก และแห่งเดียวที่ประเทศไทยมีอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ ที่ควายสามารถว่ายน้ำและอยู่ในแหล่งน้ำได้ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมายัง จ.พัทลุง เพื่อดูควายว่ายน้ำ หาดูไม่ได้ในที่อื่นๆ โดยประเทศอินเดีย และปากีสถานนั้นอาจจะมีควายมากก็จริง แต่เป็นควายแห้ง คือ อยู่ในน้ำไม่ได้ แต่ควายน้ำที่พัทลุง จะอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก อีกทั้งมีทักษะในการว่ายน้ำเป็นอย่างดี
“ถึงตอนนี้ ในความดีใจ ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ประกาศให้ ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทย ก็ยังมีความกังวลอยู่นั่นคือ ปริมาณประชากรของควายน้ำนั้นลดลงทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปีไหนที่มีน้ำท่วมใหญ่ ควายน้ำแม้จะมีทักษะในการว่ายน้ำสูงก็จริง แต่ก็จะต้องมีที่ให้ยืนพัก ซึ่งมีลีกษณะเป็นดินนุ่มๆหรือเรียกว่าปลักควายด้วย ช่วงที่น้ำท่วมใหญ่ น้ำสูงจนท่วมปลักมิดเกือบหมด ควายต้องมายืนพักบนถนน ซึ่งควายน้ำจะมีจุดอ่อนคือ หากต้องยืนอยู่บนพื้นถนน ที่เป็นพื้นที่แข็งนานๆจะป่วย อ่อนแรง และมีโอกาสตายสูง” นายนริศกล่าว
นายนริศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ โดยรอบทะเลสาบสงขลา มีปริมาณควายน้ำประมาณ 3,000 ตัว แต่ตอนนี้น่าจะเหลือแค่ 1,000 กว่าตัวเท่านั้น เพราะเมื่อน้ำท่วมแต่ละปีมีควายน้ำตายลงไปจำนวนมาก โดยตนเคยทำเรื่องขออนุญาตไปที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอให้มีการขุดเนินในพื้นที่น้ำท่วมถึงภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง เพื่อให้เป็นที่พักของควายในช่วงน้ำท่วม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยชีวิตไม่ให้ควายจมน้ำตายได้ปีละหลายร้อยตัว
“หลังจากนี้ ทาง จ.พัทลุง เองคงต้องมีงานฉลองรางวัลเกียรติยศ ที่ได้รับในครั้งนี้อย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีการส่งเสริม ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ดูควายน้ำ และการอนุรักษ์ควายในพื้นที่อย่างจริงจัง”นายนริศ กล่าว