“..บ้านหิมพานต์หรือป๊ากสามเสนเปิดเป็นสวนสาธารณะได้ไม่นานก็เป็นอันต้องถูกปิดตัวลง เนื่องจากพระสรรพการหิรัญกิจได้ดำเนินกิจการธนาคารเสียหายจนถูกฟ้องล้มละลาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับประชาชน ในชื่อ ‘วชิรพยาบาล’ และใช้ตัวคฤหาสน์เป็นที่ทำการโรงพยาบาล..”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัด ‘งาน 110 ปี วชิรพยาบาล แห่งทุ่งสามเสน’ และกิจกรรม Soft opening อาคารวชิรานุสรณ์ และวชิรปาร์ค เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ
วชิรพยาบาลเดิมเป็นบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) เป็นหนึ่งในผลงานความผสมผสานระหว่างตึกอันโอ่อ่าสไตล์ยุโรปและลวดลายไทยอันวิจิตร คือคฤหาสน์ของพระสรรพการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บ้านหิมพานต์’ ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีการจัดสวนสวยงามอยู่ด้านหน้า ประกอบด้วยตึกใหญ่ 2 ตึก คือ ตึกพระสรรพการหิรัญกิจ (ตึกเหลือง) และ ตึกคุณทรัพย์ (ตึกชมพู) เรียกชื่อตามชื่อเจ้าของบ้านและภรรยา อีกทั้งด้านข้างยังมีโรงละคร กรงเลี้ยงสัตว์ สระว่ายน้ำ มีถ้ำจำลอง มีเขาก่อด้วยหินเป็นเนินเขา รวมเวลาก่อสร้างเกือบ 4 ปีระหว่าง พ.ศ. 2448 – 2451
นอกเหนือจากตัวบ้านหิมพานต์ ซึ่งใช้เป็นบ้านพักของพระสรรพการหิรัญกิจแล้ว บริเวณด้านหลังของบ้าน ยังได้สร้างเขาดินขนาดใหญ่ และเรียกว่า ป๊ากสามเสน สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจพบประสังสรรค์ของชาวพระนคร ในการเปิดป๊ากสามเสนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 โดยป๊ากสามเสนนี้มีการเก็บค่าเข้าชมเป็นรายครั้งและรายปี
สำหรับที่มาของชื่อ ‘บ้านหิมพานต์’ มาจากบรรยากาศที่มีสวนขนาดใหญ่มีต้นไม้นานาพันธุ์ มีเนินเขา มีถ้ำ มีสัตว์ต่างๆ มีบ่อน้ำ สระน้ำเหมือนจำลองความงดงามของป่าหิมพานต์ลงมาไว้กลางกรุง
ที่ดินในป๊ากหรือบ้านหิมพานต์มีขนาด 16,000 ตารางวา มีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้านมีประตูทางเข้าทางถนนสามเสน 2 ประตู มีประตูทางแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ประตู เรียกว่า ประตูนาค ภายในกำแพงมีคลองกว้าง 4 วา ลึก 6 ศอก ล้อมรอบ กลางป๊ากมีตึก 2 หลังทำอย่างประเพณีงดงาม ภายในมีกำแพงอีกชั้นหนึ่ง
ภายนอกหรือตอนหน้าตึก มีโรงละครใหญ่ 1 โรง กระโจมแตร 1 กระโจม มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีสระว่ายน้ำและสนามหญ้า มีเขาก่อด้วยหินขนานใหญ่ มีถ้ำสำหรับเข้าไปเที่ยวภายในได้ เข้าถ้ำมีน้ำกระโจนออกซ่า ๆ เมื่อต้องการดู และมีสระหน้าเขาประดับประดาด้วยเครื่องทะเล ภายในถ้ำมีทางขึ้นยอดเขาได้ และมีพระพุทธรูปไว้สำหรับบูชาหรือนมัสการในถ้ำ มีเขาก่อด้วยหินเป็นเนินเขา มีกระโจมตั้งกระถางต้นไม้ลายคราม และมีต้นไม้ดอกไม้ ต้นไม้ใบปลูกตามริมคลองและข้างถนนต่างๆ กับมีสระน้ำพุหน้าตึกใหญ่
ภายในหลังบ้านมีเขาดิน ถนนบนเขาทำด้วยปูนซีเมนต์ ภายในอุโมงค์กว้างขวางและมีทางออกจากอุโมงค์ลงสระน้ำขนาดใหญ่ได้ บนเขามีที่พักทำด้วยศิลาและปลูกแต่ไม้หอมมีกระโจมบนยอดเขา และมีที่พักหลายแห่ง เป็นกระโจมข้าง เป็นเรือนบ้าง มีเครื่องดื่มต่าง ๆ มีโรงกาแฟ และหมากพลูบุหรี่พร้อม มีเก้าอี้สำหรับนั่งกลางสนาม มีเรือสำหรับพายในคลองและในสระ
พระสรรพการหิรัญกิจได้อันเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เสด็จมาเปิดประตูบ้านหิมพานต์และป๊ากสามเสนเป็นฤกษ์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 รวบงบประมาณก่อสร้างราว 800,000 บาท เก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท หรือจะจ่ายแบบรายปีมีก็มีให้เลือกแบบเหรียญทองปีละ 200 บาท และเหรียญเงินปีละ 100 บาท โดยเพิ่มสิทธิ์พิเศษให้ผู้ติดตามสามารถเข้าได้ครั้งละ 2 คน ส่วนโรงละครนั้นก็ไม่ธรรมดาด้วยงานก่อสร้างแบบยุโรป มีการเก็บค่าเข้าชมตามลำดับชั้น ตั้งแต่ 1 บาท ถึง 60 บาท ส่วนมหรสพก็หลากหลาย ได้แก่ งิ้ว หนังฉาย เพลงฉ่อย ลิเกทรงเครื่อง เครื่องสาย ละครพูด ไปจนถึงการนำหนังจากยุโรปเข้ามาฉาย
บ้านหิมพานต์หรือป๊ากสามเสนเปิดเป็นสวนสาธารณะได้ไม่นานก็เป็นอันต้องถูกปิดตัวลง เนื่องจากพระสรรพการหิรัญกิจได้ดำเนินกิจการธนาคารเสียหายจนถูกฟ้องล้มละลายกระทั่งวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2453 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ถอดยศพระสรรพการหิรัญกิจ โดยบ้านและที่ดินก็ถูกยึดตกเป็นทรัพย์สินของแบงก์สยามกัมมาจล แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ข้างก็ว่าพระสรรพการหิรัญกิจทำกิจการผิดพลาดจนธนาคารเสียหายแล้วลาออก บ้างก็ว่ากระทำการสุจริต บ้างก็ว่ากู้เงินจากแบงก์ไปสร้างบ้านใหญ่โตตามาสามารถใช้เงินเดือนคือแบงก็ได้ จนต้องยกบ้านและที่ดินให้เป็นการชดเชยหนี้สิน
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 240,000 บาท จัดซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับประชาชน ในชื่อ ‘วชิรพยาบาล’ และใช้ตัวคฤหาสน์เป็นที่ทำการโรงพยาบาล
ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้บูรณะอาคารวชิรนุสรณ์ ให้กลับคืนความสวยงามทั้งภายนอกและภายใน ตามแบบคฤหาสน์ของชาวตะวันตกในสมัยนั้น เพื่ออนุรักษ์อาคารแห่งประวัติศาสตร์นี้ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่แห่งทุ่งสามเสนจากอดีตในสมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันผ่านการสืบคันจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ครบถ้วน โดยมีจุดเด่น คือ ห้องโถงต่างๆ มากถึง 37 โถง ไม่รวมลายดอกไม้ พฤกษาบนเพดานที่ไม่ซ้ำกัน
ทั้งนี้ ‘ตึกเหลือง’ หรืออาคารวชิรานุสรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีการบูรณะซ่อมแซม และเตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปที่จะบอกเล่าถึงความเป็นมาปฐมภูมิของดินแดนสามเสน บ้านหิมพานต์ ห้องจำลองเสมือนจริงของพระสรรพการหิรัญกิจ ภาพถ่ายลำดับเหตุการณ์เล่าเรื่องตึกเหลือง กำเนิดวชิรพยาบาล จัดแสดงวัตถุเก่า เอกสารเก่า ภาพถ่ายบุคคล ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล บุคคลสำคัญของวชิรพยาบาล โดยใช้เทคนิค Interactive Multimedia, Interactive Board, Animation, LED TV Transparent Video Mapping รวมทั้งใช้อาคารเป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญ และจัดกิจกรรมขนาดเล็ก