ดิฉันไม่เคยสนใจเรื่องราวความฉลาดทางอารมณ์หรือ E.Q. จนกระทั่งเข้าสู่วงการที่ปรึกษางานวิจัย หรือ คอนซัลแตนท์ทางสุขภาพ พบเห็นการประเมินทดสอบบุคลิกภาพและแบบทดสอบสมรรถนะอารมณ์ 360 degree survey ทั้งยังเป็นผู้ถูกประเมิน learning curve ราบเรียบไม่พุ่งทะยานในสายตาฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตัวชี้วัดเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามผุดพลุ่งขึ้นมา พวกเราเป็นผู้ “บกพร่อง” หรืออย่างไร ความฉลาดลักษณะใดจึงจะผ่านเกณฑ์ประเมินขององค์กร
ขณะที่ทั่วโลกล็อคดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อนที่เป็นอาจารย์หลายคนทำงานที่บ้านต้องต่อสู้กับแบบประเมิน ก.พ.อ. ตอบอีเมล สอนการบ้านลูก ดูแลสามี ทำความสะอาดบ้านและเช็ดอ้วกหมาระหว่างรอประชุม Zoom หัวร้อนจนแทบกรี๊ด รู้สึกผิดกับสถานการณ์ที่คุมไม่ได้ และละอายใจในศีลธรรมบกพร่องของตัวเอง ดิฉันเองแทบไม่แตกต่าง ขณะใช้เวลาอ่านพาดหัวข่าวนิวยอร์ก ไทม์ทุกเช้า ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ปีนี้เป็นวาระเฉลิมฉลองครบรอบอายุ 25 ปี ของหนังสือที่ตีพิมพ์ห้าล้านเล่มใน 50 ภาษาทั่วโลก ชื่อ “Emotional Intelligence”1 ในฐานะวรรณกรรมอารมณ์ความรู้สึกที่ทรงอิทธิพลในแวดวงการศึกษา โรงเรียนธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้หนังสือเล่มนี้สำหรับเรียนการสอน ในฐานะศาสตร์ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต และขายดีเทน้ำเทท่าในแวดวงจิตวิทยา จนตีพิมพ์แตกแขนงเป็นไลฟ์โค้ชของกลุ่มประชากร ความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้หญิง ความฉลาดทางอารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมาย ความฉลาดทางอารมณ์ของการศึกษา ความฉลาดทางอารมณ์ผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ของนักไตรกีฬาและนักกีฬาว่ายน้ำ ความฉลาดทางอารมณ์ของนินจา (เด็กอายุ 3-7ขวบ) การปรับใช้ในจิตวิยาองค์กร แวดวงสื่อสารมวลชนและธุรกิจโฆษณา
หลังการการอ่านหนังสือไปครึ่งเล่ม ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีฉลาดทางอารมณ์เอาเสียเลย ทั้งยังกังขาในจุดยืนของหนังสือที่โน้มน้าวให้คนแสดงตัวเยี่ยงผู้เท่าทันอารมณ์ ชี้ให้เห็นความบกพร่องในตัวตน เราจึงควรปรับพฤติกรรมหรือชดเชยข้อบกพร่อง เพื่อบรรลุความสำเร็จในการทำงานความสัมพันธ์ และความสุขในชีวิต ดิฉันอยากชวนผู้อ่านร่วมขุดคุ้ยถึงอุดมการณ์ความฉลาดทางอารมณ์ว่าประกอบสร้างมาจากอะไร ดิฉันจะเริ่มต้นปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านจากจุดนี้
Emotional Intelligence2 เปิดตัวครั้งแรกในบทความของนักจิตวิทยา ปีเตอร์ สโลวี่และ จอร์น ดี เมเยอร์ ศาสตรจารย์รุ่นจูเนียร์แห่งเยล ต่อมาเลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์จิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1990 เป็นผลงานริเริ่มสำรวจวรรณกรรมความฉลาดอารมณ์บนพื้นฐานกลไกสมองและจิตวิทยาพฤติกรรม การติดตามคุณภาพของอารมณ์ในครอบครัว สถานที่ทำงาน และการให้คำปรึกษาของจิตแพทย์ ที่สัมพันธ์กับทักษะแรงงาน (emotion-related skills) การแสดงความสามารถทางอารมณ์ลักษณะต่างๆ ที่บริษัทฉวยใช้เพื่อสร้างกำไร เช่น ยิ้มแย้มแจ่มใสของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แม่บ้านดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องใส่ใจคนทั้งบ้าน เป็นต้น เป็นภาพสะท้อนสังคมอเมริกาช่วงการจัดระเบียบโลกในทศวรรษ 1990 ที่เศรษฐกิจเรืองรองตลอดทศวรรษ ส่งผลภาคบริการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สังคมต้องการทักษะการสื่อสารของแรงงานภาคบริการ กล่าวได้ว่าฉากหลังของหนังสือความฉลาดทางอารมณ์เป็นปรากฏกาณ์หลังสงครามอิรักและล่มสลายของสหภาพโซเวียต แรงงานในภาคบริการพยายามพลิกฟื้นชีวิต ยืนหยัดภายใต้ความสัมพันธ์จ้างงานแบบใหม่ และการเคลื่อนย้ายทุนเสรีอันซับซ้อนที่ต้องการอารมณ์ร่วมดังวลีทอง America great again
ที่มาแนวคิดความฉลาดทางอารมณ์ที่แยกตัวออกจากแนวคิดแรงงานอารมณ์ในปี 1990 เหตุใดจึงออกฤทธิ์ออกเดชต่อโลกธุรกิจและการศึกษายาวนานถึงหนึ่งในสี่ของศตวรรษ ขณะที่มโนทัศน์ “แรงงานอารมณ์” ที่เกิดขึ้นในทศวรรษเดียวกัน กลับมีเส้นทางเติบโตในกลุ่มนักวิชาการสตรีศึกษาซีกโลกใต้ การเคลื่อนย้ายแรงงานโลกาภิวัตน์มีมิติทางเพศภาวะที่วาทกรรมกระแสหลักมักมองข้ามไป ความแยบยลของการแพร่ขยายแนวคิดความฉลาดทางอารมณ์จับมือกับบริษัทหรือองค์กรในการควบคุมอารมณ์ของแรงงาน และคำถามสำคัญ แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมั่งคั่งขึ้นหรือไม่
แรงงานอารมณ์ : การปะทะทางความคิดยาวนานระหว่าง นักจิตวิทยา และ นักสังคมวิทยา
แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) จบจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ผันเส้นทางชีวิตสู่การเป็นนักเขียนสายพฤติกรรมศาสตร์ของนิวยอร์ก ไทม์ เกริ่นถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังหนังสือความฉลาดทางอารมณ์ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1995 มาจากมโนทัศน์ที่มีชื่อเสียงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าศิลปะการแสดงออกผ่านการ “ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” ของนักสังคมวิทยา เออร์วิง กอฟฟ์แมน3 บริบทของหนังสือสองเล่มต่างสะท้อนอารมณ์หลังสงคราม ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนชั้นกลางที่เสี่ยงต่อการสูญเสียงาน และความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากร ค่าแรงตกต่ำ คนจนขาดแคลนทนายช่วยเหลือคดีความทางกฎหมาย ปัญหาสุขภาพจิตซึมเศร้า และการศึกษา นักการเมืองฝักใฝ่ธุรกิจเครือข่ายชนชั้นสูง แต่ทอดทิ้งชนชั้นแรงงาน คนผิวสี แรงงานอพยพและผู้หญิง เรื่องเล่าความป่วยไข้ของสังคมผ่านนาฎกรรมชีวิตนายชาวตี้ร์ ปัจเจกชนที่พลุ่งพล่าน การติดยาเป็นเหตุของการฆาตรกรรมลูกสาวและสร้างความรุนแรง ชาวตี้ร์ผู้น่าสงสารเหมือนเป็ดง่อยในระบอบเสรีนิยม แก่นของหนังสือส่งสารว่าปัจเจกบุคคลควรควบคุมและจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร
ต่อมาภายหลังหนังสือได้ตีพิมพ์ในลักษณะซีรีส์ 14 เรื่อง อาทิ ความเห็นอกเห็นใจ สติ การพลิกฟื้น ผู้นำแท้จริง พลังการคิดบวก การชื่นชมความหลากหลายทางวัฒนธรรม (และตลาด) หนังสือได้ดัดแปลงเป็นตำราเด็กก่อนวัยเรียน และกลายเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยราวกับเป็นอุดมการณ์ของชีวิต
การแสดงอารมณ์อันความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ที่นักวิชาการกระแสหลักมักมองข้าม แต่เป็นพื้นที่ที่นักสตรีนิยมมาร์กซิสต์ให้ความสนใจ อาร์ลี ฮอคส์ไชลด์ (Arlie Hochschild) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันเขียนหนังสือชื่อ “The Managed Heart”4 (1983) ได้วิเคราะห์สังคมอเมริกันสมัยใหม่ ที่ตลาดเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางสังคม รวมไปถึงในพื้นที่ของความสัมพันธ์ใกล้ชิด ฮอคส์ไชลด์อธิบายว่าในขณะที่ผู้หญิงอเมริกันเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และรัฐบาลไม่ได้ให้สวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ผู้คนจำนวนมากหันไปพึ่งระบบตลาดในการตอบสนองความต้องการด้านร่างกายและอารมณ์ในพื้นที่ของความสัมพันธ์ใกล้ชิด
ฮอคส์ไชลด์ยังได้กล่าวถึงแรงงานแบบใหม่ที่เรียกว่า “แรงงานอารมณ์” (emotional labor) ที่หมายถึงงานที่คนงานต้องจัดการอารมณ์ของตนเองให้เหมาะสมตามความต้องการของลักษณะงาน โดยมักหมายถึงงานบริการที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น พนักงานต้อนรับในร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งการยิ้มแย้มแจ่มใส ความเป็นมิตรและปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้าเป็นส่วนสำคัญของงาน แรงงานอารมณ์มีความสำคัญมากขึ้นในบริบทที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดถูกนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนแบบตลาด หรือเรียกอีกอย่าง “แรงงานใกล้ชิด” (intimate labor) เพื่ออธิบายงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งทางร่างกายและอารมณ์ หรือการทำงาน กับข้อมูลหรือเรื่องราวส่วนตัวของคนอื่น ได้เข้าไปผูกพันกับการแลกเปลี่ยนทางการตลาดมากขึ้น5 (Hochschild 2003; 2013) การรับตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ บริษัทหาคู่ ศูนย์เลี้ยงเด็ก พยาบาลประจำบ้าน โรงพยาบาล สนามบิน พนักงานส่งอาหาร ศูนย์โทรศัพท์ ห้องเรียน สำนักงานสังคมสงเคราะห์และคลินิกหมอฟัน
แนวคิดความฉลาดทางอารมณ์ และ แรงงานอารมณ์ มีเส้นทางแตกต่างกันในการอธิบายปรากฎกาณ์สังคม แต่มีจุดร่วมกันคือ การปะทะระหว่าง “ปัจเจกชน” กับ “โครงสร้าง” อันเป็นจารีตการศึกษาสังคมของนักสังคมวิทยามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ข้อถกเถียงของฮอคส์ไชลด์ย่อมแปลกแยกจากเรื่องราวของโกลแมน แรงงานอารมณ์เป็นโครงสร้างที่อยู่ในตัวปัจเจกบุคคลในพื้นที่ปฏิสัมพันธ์กับตลาด แรงงานละเล่นกับอารมณ์จนจริง การอดกลั้นเพื่อเป็นผู้เล่นที่ดีในเกมส์และยอมรับการลงโทษในลักษณะ no gain , no pain ภายใต้การเลื่อนไหลของตลาด หากแต่โกลแมนจินตนาการถึงความฉลาดทางอารมณ์แยกขาดจากแนวคิดเสรีภาพของปัจเจกและขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิของพลเรือน กลับจำลองรูปแรงงานภาคบริการย่นย่อเหลือเพียงความสัมพันธ์ระหว่าง “แรงงาน” กับ “นายจ้าง” สามีและภรรยา เพื่อนร่วมงานและเพื่อนบ้าน อีกทั้งช่องโหว่ข้อมูลขาดหายไปคือ ภาพรวมมหภาคการเปลี่ยนแปลงภาคบริการและจ้างงาน ขาดหลักฐานหรือสถิติของความรุนแรงสังคมที่ให้ผู้อ่านรับรู้ ความฉลาดทางอารมณ์ของโกลแมนมีความหมายเพียงสปิริตแรงกล้า ที่เป็นเครื่องมือบำบัดอาการของสังคมป่วยไข้เท่านั้น
กลไกการทำงานในโลกเสรีนิยม “ ความฉลาดทางอารมณ์ต้องการคาริสม่า VS แรงงานอารมณ์ต้องการทักษะของการกำหนดตัวเอง
แนวคิดความฉลาดทางอารมณ์ขับเคลื่อนโลกทางธุรกิจสมัยใหม่ สำนักพิมพ์ Harvard Business Review ตีพิมพ์หลักสูตรที่มี CEO กว่า 500 บริษัทชั้นนำทั่วโลกมาเรียนรู้และพัฒนาต้นแบบผู้นำทางธุรกิจ แผ่ขยายไปสู่โลกการศึกษากระแสหลัก สื่อสารมวลชน การเล่าข่าว ล้วนต้องการภาษาลึกซึ้งและเครื่องมือที่จะขยายความคิดความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมปัจเจกบุคคลและสังคม ผลิตถ้อยคำลึกซึ้ง อาทิ พลังของการคิดบวก สภาวะการทำงานลื่นไหล (Flow State) ซึ่งตรงข้ามกับความหมกมุ่น ซึมเศร้า และละอายใจ ปัจเจกชนควรอดกลั้นกับเงื่อนไขของงาน การธำรงจิตใจ และเห็นอกเห็นใจตัวเองเพียงเพื่อถูกฉวยใช้ไปสร้างกำไร ดิฉันคงไม่พูดว่า โลกคงดีกว่านี้แน่ ถ้าผู้คนไม่แสดงอารมณ์ในระดับต่างๆ เพราะในชีวิตจริงของการทำงาน เราไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างความรู้สึกมั่นคงในการทำงานและการสร้างกำไรจากงาน ดิฉันอยากจะทำความเข้าใจว่าลูกจ้างได้รับการตอบแทนจากความฉลาดทางอารมณ์อย่างไร
คาริสม่าอยู่คู่กับสังคมลำดับชั้น
จอร์น แอนธอนาคิส ได้เขียนหนังสือชื่อ Learning Charisma4 จำแนกเทคนิค 12 ประการของผู้นำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ฟัง เพื่อตอบสนองการบริหารธุรกิจและจิตวิทยาองค์กร การพิจารณาตัดสินภาวะความเป็นผู้นำในนิยามผู้มีอำนาจ สุขุม และพึ่งพาได้ เรียกว่าคาริสม่า (บุคลิกภาพโดดเด่น) ของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคกล่าวซ้ำ พูดจาติดตลก อุทิศตัว สายตาสื่อสัมผัส โทนน้ำเสียง และการแสดงภาษากาย เหล่านี้โรงเรียนธุรกิจพัฒนาหลักสูตร หรือ การอบรมการสอนพูดอย่างไรให้น่าประทับใจ รวมไปถึงโชว์แบบ TED Talks และการแสดงที่มีผู้ประเมินหรือโค้ช คาริสม่าเย้ายวนใจยิ่งขึ้นด้วยศิลปะ และตัวบทของวรรณกรรมระดับโลกอันเป็นเทคนิคทรงพลังให้คล้อยตาม การสร้างผู้นำให้มีสไตล์ดังวีรบุรุษในวรรณกรรมตะวันตก และ นำเอาคาริสม่าผู้นำมาใส่ในงานวรรณกรรมสมัยใหม่ พูดอย่างไรให้สร้างแรงบันดาลใจ การรำพึงดังๆ กับตัวเอง ล้วนเป็นการแสดงความสามารถควบคุมตัวเองอย่างเยือกเย็นลงเป็นสไตลน์ของผู้นำยามวิกฤติ เหล่านี้ เป็นคุณภาพความพยายามที่เพิ่งสร้างมิใช่เหรอ ซึ่งทางจิตวิทยาได้โต้แย้งเสมอว่า คาริสม่าหนึ่งในทักษะของความฉลาดทางอารมณ์นั้น เป็นธรรมชาติเสียจนไม่ต้องพยายามอะไร
ข้อโต้แย้งนักสังคมวิทยาแรงงานบริการและนักวรรณกรรมวิเคราะห์ ชี้ว่าไม่ควรมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาและความเป็นการเมืองของชนชั้นสูง CEO ใช้วรรณกรรมโลกขับเน้นความเป็นผู้นำ สไลด์นำเสนอและบทพูดของผู้นำบรรจุเรื่องราวของนักคิดสร้างแรงบันดาลใจในโลกสมัยใหม่ สตีฟ จ็อบส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และท่องคำคมราวกับอาขยาน การซักซ้อมจนคล่องเหมือนธรรมชาติเสียจนไม่ต้องพยายาม กล่าวโดยสรุป สังคมใดๆ ที่พยายามสร้างผู้นำให้มีคาริสม่ามากเท่าไหร่ ย่อมแสดงถึงสังคมลำดับชั้น (Social Hierarchy) และอีลิทที่ผูกขาดครอบครองทรัพยากรนั่นเอง
แรงงานอารมณ์ต้องการทักษะกำหนดตัวเอง
ในการรับรู้ทั่วไป แรงงานอารมณ์สัมพันธ์กับทักษะ ทักษะเป็นคุณค่าที่แรงงานต้องการพัฒนาต่อยอด และทักษะหล่านี้ยังสร้างผลิตภาพให้กับองค์กร และสร้างความเป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ฉันไม่แน่ใจว่าความฉลาดทำให้เราได้ทักษะในการกำหนดตัวเองหรือไม่ เมื่อเราคิดเกี่ยวกับ “แรงงาน” แรงงานไม่เพียงเป็นความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างดังกล่าวมาแล้ว แต่เป็นตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แรงงานได้ยึดครอง (occupied) และเป็นเหตุผลที่พวกเขาต้องแสดงอารมณ์ กล่าวคือ ความฉลาดควรให้น้ำหนักความคิดอัตตาณัติ (autonomy) กล่าวคือ การที่แรงงานสามารถกำหนดตัวเอง
สำหรับแรงงานที่ห่างเหินจากการแสดงอารมณ์ ไม่แสดงตัวตนให้เห็นชัดเจนทำเพื่อสร้างกำไรให้บริษัทและสังคม ทำให้เกิดคำถามว่า คนสามารถแสดงความรู้สึกรู้สมและปฏิสัมพันธ์กับสถาบันหรือตลาดได้โดยธรรมชาติหรือไม่ หรือ คนสามารถแย้มยิ้มด้วยความรู้สึกจริงแท้ให้กับงานโฆษณา โปรแกรมอบรม และตัวบทที่ต้องแสดงอารมณ์หรือไม่ ดิฉันอยากเน้นย้ำข้อเสนอของฮอคส์ไชลด์ แรงงานละเล่นกับอารมณ์ซ้ำๆ จนเป็นจริง อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เขาหรือเธอมีเหตุผลที่จะเชื่อในตัวบทแสดงที่เธอท่อง ย่อมแสดงว่าเธอได้ชัยชนะและไม่ต้องเสี่ยงต่อการตกงาน เท่ากับเธอเป็นอิสระจากมัน
เหตุผลที่แนวคิดความฉลาดทางอารมณ์ หรือ บุคลิกภาพโดดเด่นได้รับความนิยมมากเพราะใกล้ชิดกับ “ตัวตน” ทุกคน ด้วยภาษาที่แสดงความเข้าใจตัวเอง จากตำแหน่งแห่งที่ของปัจเจกและโครงสร้าง บทความนี้เริ่มต้นเสนอกระบวนการขุดค้นด้านอุดมการณ์ และอีกด้านเป็นสังคมอุดมคติด้วย กระนั้นก็ตาม การที่คนสามารถเท่าทันอารมณ์ได้ดีกว่าผู้อื่นย่อมสร้างสิ่งดีแก่สังคม และเราอาจจะเรียนรู้จากกันและกันได้ ปัญหาจะอยู่ที่การที่ผู้คนถูกตัดสินด้วยความฉลาดที่เพิ่งสร้างมิใช่หรือ
หนังสือของโกลแมนจะจบในย่อหน้านี้ อีกบทหนึ่งของหนังสือเล่าเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จของแรงงานคอปกขาว ผู้จัดการ วิศวกร ผู้ปรึกษา แพทย์ ทนายความและครู ตำแหน่งแห่งที่ของคนเหล่านี้เป็นผู้ห่วงโซ่ชั้นบนสุดของโลกการทำงาน คู่ต่อสู้ที่มีชาญฉลาดในการปฏิสัมพันธ์ คุมกติกาในเกมการทำงาน ผู้ซึ่งแสดงการโอบกอดลูกจ้างด้วยหัวใจแสดงความห่วงใยเล็กๆ น้อยๆ ความฉลาดทางอารมณ์ในโลกของโกลแมน ไม่ได้คำนึงถึงกติกาอันเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เขาไปไม่ถึงทั้งอุดมการณ์และโลกอุดมคติ
ส่งท้าย: แด่ไรเดอร์ แม่บ้าน ผู้ดูแล และแรงงานภาคบริการ
คงไม่ยุติธรรมนักสำหรับโกลแมนเพราะผลงานเขียนของเขาไม่ใช่งานวิจัย แต่โกลแมนนั้นทำงานได้ดีกว่านักสังคมวิทยา ในแง่เล่าละครให้ผู้ชมผิวขาวฟังแล้วบรรลุนิพานได้ด้วยการจัดการกับอารมณ์ให้เหมาะสมเมื่อม่านการแสดงจบลง ผู้ชมจะกลับไปบ้านพร้อมคิดว่าสอนลูกหลานยังไง เราจะอยู่ให้โลกที่ไม่ได้ดั่งใจและมีความรุนแรง อย่างมีความสุขได้อย่างไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราต้องจ่ายให้กับชีวิตสมัยใหม่ ทุกข์ทนกับศีลธรรมพร่องของตัวเองที่กลายเป็นการผลิตซ้ำโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ดำเนินต่อไป
หากช่วงการระบาดครั้งใหญ่อุปมาอุปไมยการทำสงคราม การเผชิญโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนในทุกอณู เราจะพบเห็นกลุ่มเปราะบางใหม่ๆ รูปแบบการจ้างงานใหม่ๆ ไรเดอร์ส่งอาหารเดลิเวอรี่ แรงงานแพลตฟอร์ม แม่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงงานด่านหน้าและเป็นแรงงานที่สัมพันธ์ใกล้ชิด ออกมาประท้วงการจัดสรรทรัพยากรจากบริษัทและรัฐบาล ไม่ว่าการประกันความปลอดภัยจากการทำงาน ความเป็นธรรมในการจ้างงาน การชดเชยเยียวยาและการเข้าถึงวัคซีน แรงงานภาคบริการรู้สึกว่าบริษัทบริหารคนงานได้ไม่เป็นธรรม และรู้สึกตนไม่ใช่ผู้เล่นที่ดีในเกมส์ของบริษัท ดิฉันหวังว่าพวกเราที่ตกอยู่ในชะตากรรมใกล้เคียงกันจะส่งเสริมการเคลื่อนไหวของพวกเขา เหล่านี้เป็นบทเรียนที่ดิฉันได้รับ จากวิธีการอ่านความฉลาดทางอารมณ์ของโกลแมนผ่านแนวคิดแรงงานอารมณ์ของแรงงานบริการ.
อ้างอิง
1. Peter Salovey, John Mayer, “Emotional Intelligence.” Imagination ,Cognition and Personality 9 (1990).: 185 SA
2. Goleman, D. (1995). Emotional intelligence. Bantam Books, Inc.
3. Goffman, Erving (1959). “The Presentation of Self in Everyday Life”. p. 17-25. From The Presentation of Self in Everyday Life (New York: The Overlook Press, 1959)
4. Hochschild, Arlie Russell. (1983). The Managed Heart : Commercialization of Human Feeling, Berkeley , University of California Press.
5.Hochschild, Arlie Russell. 2003. The Commercialization of Intimate Life: Notes from
home and work. Los Angeles and London: University of California Press.
6.John Antonakis , Marika Fenley, Sue Liechti .Learning Charisma Harvard Business Review ,2012 Jun;90(6):127-30, 147
เกี่ยวกับผู้เขียน: สุมนมาลย์ สิงหะ เป็นนักวิชาการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.