กรุงเก่าอ่วม! เจ้าพระยาเริ่มเอ่อ จ่อทะลักท่วมเกาะเมือง ผู้ว่าฯ ทำหนังสือด่วนถึงกรมชลฯ เร่งผันน้ำ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
วันที่ 3 ต.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังคงเร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนที่ 2,643 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ของสาขาแม่น้ำน้อย มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 10-20 ซม. รวมถึงเขื่อนพระราม 6 ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำป่าสัก เร่งระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน 840 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซม.
โดยพบว่าที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่งติดกับแม่น้ำป่าสักและเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมารวมกัน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเหลืออีกประมาณ 20 ซม.จะเสมอแนวตลิ่งของวัดพนัญเชิงวรวิหาร ทางวัดได้ติดตั้งแนวป้องกันน้ำท่วมระบบน็อคดาวน์ ความสูง 2.50 เมตร ระยะทาง 700 เมตร
และเปิดช่องทาง เพื่อให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวได้ลงไปที่แพให้อาหารปลา พบว่าถึงแม้กระแสน้ำที่ไหลแรงบริเวณหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร ยังคงมีปลาตะเพียนทอง ปากกระแหทอง มาแหวกว่ายน้ำเล่นกับคน ที่เดินลุยน้ำไปให้อาหารปลาอย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่ต่างๆ ของวัด ยังสามารถเดินทางมากราบไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ตามปกติทำบุญ ได้ตามปกติ
ส่วนที่บริเวณพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ฝั่งเกาะเมือง ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พบว่าระดับน้ำเสมอแนวตลิ่งของถนนอู่ทองบางจุดไหลขึ้นมาอยู่บนพื้นผิวถนน มีการตั้งแนวป้องกันน้ำท่วมระบบน็อคดาวน์ไว้บางส่วนเนื่องจาก ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้เร่งทำแนวคันดิน สูง 1.50 เมตร เพื่อเสริมความแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งไหลเข้าพื้นที่เกาะเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีสถานที่ราชการ โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียน และมีบ้านพักประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายอำเภอเสนา นายอำเภอผักไห่ นายอำเภอบางบาล ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมชลประทานให้เปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอผักไห่ อ.บางบาล และ อ.เสนา โดยการระบายน้ำเข้าทุ่ง ทั้ง 7 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบ้านแพน บางบาล ผักไห่ เจ้าเจ็ด บางกุ้ง บางกุ่ม และทุ่งเขตติดต่อป่าโมก รวมพื้นที่เกือบ 600,000 ไร่ รวมปริมาณ 1,026 ล้าน ลบ.ม.