จริงๆ แล้วการบูลลี่โดยการใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามทางวัฒนธรรมเป็นปัญหาเรื้อรังมานานทั่วโลก แต่ในยุคที่มีโซเชียลมีเดียใช้กันอย่างกว้างขวาง เราจะเห็นได้ชัดว่าการบูลลี่เริ่มหนักข้อขึ้น เริ่มเห็นกันเยอะขึ้น ไม่ว่าจะในวัยเรียนหรือวัยทำงานใครก็โดนบูลลี่ได้ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาเซเลบเมืองไทยที่ขึ้นชื่อว่าเพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อไปอยู่ต่างแดนก็ยังเคยโดนบูลลี่ บางคนโดนมากับตัว บ้างก็เห็นคนใกล้ตัวโดน แต่ทุกคนจะมีวิธีรับมือกับการโดนบูลลี่อย่างไร ไปฟังกันเลย
เริ่มที่เจ้าพ่อของเล่นเมืองไทย “จีฟ-พงศธร ธรรมวัฒนะ” เล่าประสบการณ์ที่เคยโดนเพื่อนชาวต่างชาติบูลลี่เมื่อครั้งที่เป็นตัวแทนนักเรียนไทยไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศออสเตรเลียว่า ตอนนั้นเขากำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และต้องไปเรียนที่ออสเตรเลีย 1 ปี ตลอด 1 ปีเขาก็มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติที่มาจากทั้งเอเชียและยุโรป แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเหมือนตัวเองโดนดูถูกทางวัฒนธรรมคือ การโดนเพื่อนชาวยุโรปถามว่า “ประเทศของคุณยังขี่ควายมาเรียนหนังสือกันอยู่ไหม?”
“ผมยอมรับว่าวินาทีที่ได้ยินประโยคคำถามนี้จากเพื่อนชาวต่างชาติคนนั้นรู้สึกโมโหและเจ็บแค้นมาก อยากจะตอบกลับด้วยประโยคที่เจ็บแสบมากเช่นกัน แต่เราต้องมีสติและนึกถึงชื่อเสียงของประเทศชาติ เพราะเราเป็นตัวแทนของนักเรียนไทยที่มาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นผมจึงทำได้เพียงยิ้มและอธิบายให้เพื่อนคนนั้นเข้าใจว่า ตอนนี้ประเทศของเรามีรถไฟฟ้าแล้ว และมีความเจริญต่างๆ มากมาย”
ยิ่งอธิบายไปก็อาจไร้ประโยชน์สำหรับบางคนที่ไม่พร้อมเปิดใจรับฟัง ดังนั้น จีฟจึงตั้งสติและใช้ความสามารถทั้งหมดที่มี ทั้งด้านคณิตศาสตร์ และกีฬา มาเอาชนะคำสบประมาทเพื่อนชาวต่างชาติคนนั้นอย่างราบคาบ
“ด้วยความที่ผมเป็นคนเก่งคณิตศาสตร์อยู่แล้ว จึงอาสาเป็นติวเตอร์และสอนการเล่นกีฬาให้แก่เพื่อนๆ ทุกคน รวมถึงเพื่อนชาวยุโรปคนนั้นที่เคยดูถูกเรา จากนั้นเขาก็ค่อยๆ ยอมรับเราและไม่เคยถามถึงประโยคที่ว่า “ประเทศของคุณยังขี่ควายมาเรียนหนังสือกันอยู่ไหม” อีกต่อไปเลย” จีฟเล่าถึงวิธีการรับมือกับคำสบประมาทนั้นด้วยน้ำเสียงสดใส
ด้าน “โตโต้-อภิชาต สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ดีกรีหนุ่มนักเรียนนอกสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์และการเงินจาก University of Colorado สหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าระหว่างที่ไปศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้นตนไม่เคยโดนเพื่อนชาวต่างชาติบูลลี่ แต่เขามักเห็นเพื่อนชาวจีนที่ไปเรียนอยู่ด้วยกันถูกเพื่อนๆ ที่เป็นชาวยุโรปต่อต้านด้วยการไม่คบค้าสมาคมด้วย
“ตัวผมไม่เคยเจอบูลลี่เวลาไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา แต่เราจะเห็นเพื่อนชาวจีนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียนคณะเดียวกับเรา เขาจะโดนเพื่อนๆ ที่เป็นอเมริกันกีดกันไม่ยอมคุยด้วย แต่เพื่อนๆ ชาวจีนกลุ่มนั้นเขาเก่งมากไม่สนใจกับพฤติกรรมการโดนต่อต้าน แต่พวกเขากลับเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ตั้งใจเรียนหนังสือจนทำคะแนนดีที่สุดในชั้นเรียน สุดท้ายเพื่อนต่างชาติที่เคยต่อต้านพวกเขาก็ต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาชาวจีนกลุ่มนั้นเองเพื่อให้เขาช่วยติวให้ ดังนั้น ผมคิดว่าการที่เราถูกคนอื่นดูถูก ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ การใช้ความสามารถในทางสร้างสรรค์ทั้งหมดที่เรามีเพื่อเอาชนะสิ่งไม่ดีเหล่านั้น ย่อมดีกว่าการไปตอบโต้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องครับ” โตโต้เล่าด้วยน้ำเสียงสดใส
ถัดมาที่คุณแม่สุดสตรอง “ติ๊ก-อภิภาวดี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” แม้เคยไปเรียนไกลถึงต่างแดนแต่ก็ไม่เคยเจอปัญหาโดนเพื่อนต่างชาติกลั่นแกล้ง แม้จะเป็นชาวเอเชียคนเดียวในชั้นเรียนก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะด้วยสาขาวิชาเรียนเกี่ยวกับการศึกษา ทุกคนในชั้นเรียนจึงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ใช่ว่าไม่เคยประสบกับเหตุการณ์โดนชาวต่างชาติบูลลี่กลั่นแกล้ง เพราะเมื่อหลายปีก่อนเธอพาลูกสาวสุดที่รัก “น้องเพลง” ไปเข้าแคมป์บาสเกตบอลระยะสั้นประมาณครึ่งเดือน ที่แฟรงก์เฟิร์ต สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นเองที่เธอเข้าใจว่าการโดนเพื่อนชาวต่างชาติที่เห็นว่าคนเอเชียตัวเล็กกว่า จึงโดนกลั่นแกล้งนั้นเป็นอย่างไร?
“ตอนนั้นพี่พาน้องเพลงไปเข้าแคมป์บาสเกตบอลที่สแตมฟอร์ด เราก็สงสัยว่าทำไมเวลาลูกกลับมาบ้านต้องร้องไห้ทุกวัน เราจึงถามว่ามีอะไรเกิดขึ้น น้องจึงบอกว่าเล่นบาสเกตบอลแล้วโดนเพื่อนชาวต่างชาติ ซึ่งตัวใหญ่กว่าเอามือมาปัดโดนหน้าแล้วไม่ขอโทษ และเพื่อนคนนั้นก็พยายามตามเอาลูกบาสเกตบอลตบใส่ตลอดเวลา”
หัวอกคนเป็นแม่เมื่อได้ฟังดังนั้น จึงแนะนำให้ลูกตั้งสติและหาวิธีรับมือด้วยการพยายามมองไปให้ทั่วทิศทางระหว่างที่อยู่ในสนาม ถ้าเพื่อนคนเดิมพยายามจะเข้ามาตบลูกบอลอัดใบหน้าอีกก็พยายามหลบให้พ้นจากตรงนั้น ดังสุภาษิตที่ว่า “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง”
“ก่อนอื่นพี่ให้คำแนะนำลูกไปก่อนว่า จะย้ายคลาสเรียนแล้วไปเรียนกับคนในช่วงอายุเดียวกันไหม จะได้เจอคนขนาดตัวเท่ากันไม่มีใครวิ่งมาชนได้อีก เพราะคลาสที่น้องเพลงเรียนมีแต่คนตัวใหญ่ แต่สุดท้ายน้องเพลงก็บอกว่า ไม่ย้ายคลาสเรียน ขั้นตอนต่อไปคือ การสอนให้ลูกตั้งสติทุกครั้งเวลาที่ลงเล่นบาสเกตบอล พยายามมองให้รอบด้านว่าใครอยู่ตรงไหน และถ้าสังเกตเห็นว่าเพื่อนคนเดิมพยายามจะมาอัดบอลใส่เราอีก ก็หลบไปทางอื่นจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิม หลังจากที่แนะนำไปน้องเพลงก็ไม่เคยกลับบ้านมาร้องไห้อีกเลยจนจบคลาสเรียน”
ขณะที่คุณแม่ยังสาวพราวเสน่ห์ “น้อยหน่า-เพ็ญสุภา คชเสนี” บอกว่า แม้จะผ่านเหตุการณ์เคยโดนชาวต่างชาติบูลลี่มานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกแย่ๆ นั้นยังจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้
“ตอนที่เราอายุเพียง 12 ขวบ ครอบครัวทั้งคุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้า ได้พากันไปทัวร์ยุโรป เริ่มตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี มีอยู่วันหนึ่งเราเข้าไปที่ฝรั่งเศส ด้วยความที่เราเป็นคนผิวสองสี ชาวฝรั่งเศสแทบทุกคนที่เห็นเราเขาจะมองด้วยสายตาเหยียดๆ ดูถูกมาก เพราะช่วงที่เราไปเที่ยวนั้น ประจวบกับชาวกัมพูชาอพยพหนีภัยสงครามมาแย่งงานคนฝรั่งเศสทำเยอะมาก คนที่นั่นจึงไม่ค่อยชอบชาวกัมพูชา และเขาคงคิดว่าเรามาจากกัมพูชา จึงใช้สายตาเหยียดเราเป็นอย่างมาก แม้แต่เวลาไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารหรูๆ ในฝรั่งเศส เราเดินไปนั่งโต๊ะดินเนอร์ที่ทางสถานทูตจองไว้ให้ แต่พอเดินเข้าไปเท่านั้นล่ะ พนักงานบอกว่าตรงนี้มันแพงนะคะ ที่ของคุณอยู่ด้านนอกค่ะ”
วินาทีที่พนักงานบริการใช้ประโยคนั้น หัวใจของเด็ก 12 ขวบเต็มไปด้วยความโกรธและโมโห แต่คุณป้าของเธอกลับนิ่งสยบทุกความเคลื่อนไหว พร้อมนั่งลงที่เก้าอี้ตัวนั้นอย่างมั่นคง
“เรารู้ว่าในใจของคุณป้าท่านโกรธมาก แต่ท่านก็ระงับความโกรธด้วยการตอบพนักงานไปว่าเราได้จองไว้แล้ว และสั่งเมนูอาหารที่แพงที่สุดของร้านมากิน รวมทั้งสั่งไวน์ที่แพงที่สุดของร้านมาวางประดับไว้ที่โต๊ะ เพราะท่านเป็นคนไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากที่พนักงานเห็นเราสั่งของในราคาที่สูงทุกเมนู ปฏิกิริยาของทุกคนเปลี่ยนไปราวหน้ามือกับหลังมือเลย” น้อยหน่าเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส
ปิดท้ายที่อดีตนางฟ้าสาวถอดปีกจากสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส “โม-ม.ล.รังษิอาภา ภาณุพันธุ์” บอกว่า ด้วยอาชีพการเป็นพนักงานต้อนรับบนสายการบินใหญ่ มีเพื่อนร่วมอาชีพมาจากหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม เป็นธรรมดาที่ต้องเคยเจอเรื่องล้อเลียนกัน แต่วิธีการรับมือของเธอคือตั้งสติอธิบายในสิ่งที่ถูกต้อง และละเว้นการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่กระทบต่อวัฒนธรรมของชาติอื่น
“ระหว่างที่พักจากการบิน โมเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว วันนั้นเราจึงทำแกงเขียวหวานและปรุงรสด้วยน้ำปลา ระหว่างที่เรากำลังทำอาหาร เพื่อนร่วมห้องที่เป็นชาวยุโรปและได้กลิ่นอาหารของเรา เขาแสดงอาการไม่พอใจและถามว่า แกงใส่น้ำอะไรทำไมถึงเหม็นแบบนี้ แต่โมก็อธิบายว่าเป็นน้ำปลาปรุงรสที่คนเอเชียจะใช้แทนเกลือให้มีรสกลมกล่อมขึ้น ซึ่งตอนแรกเขาก็ไม่พอใจกับกลิ่นของน้ำปลา แต่พอเขาได้ชิมแกงเขียวหวานของเราเขาก็ชมว่าอร่อย โมคิดว่าของแบบนี้เราต้องพยายามเข้าใจวัฒนธรรมของทุกฝ่าย ต้องไม่คิดว่าของเราดีหรือของคนอื่นไม่ดี เพราะกฎของการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากคือความเคารพในความแตกต่างของแต่ละสังคมวัฒนธรรม” อดีตนางฟ้าสาวอธิบายปิดท้าย
Cr. jeep_tumwattana, tikapiphawadee, Noinapensupa,
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.