Thailand Sport Magazine Sponsored

5 บทเรียนจากโลกแห่งการ “กีฬา” สำหรับ “ผู้นำธุรกิจ” – Positioning Magazine

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

โตเกียว โอลิมปิกเพิ่งจบลงไป พาราลิมปิก เกมส์กำลังจะเริ่มขึ้น มหกรรมกีฬาระดับโลกนี้ทำให้เราได้เห็นการแข่งขันของบรรดานักกีฬาที่เคี่ยวกรำตนเองมาอย่างหนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามไม่ได้ให้บทเรียนเฉพาะกับนักกีฬาด้วยกันเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลสนับสนุนในการทำธุรกิจด้วย

การไปสู่จุดสูงสุดของกีฬา ต้องการทั้งทาเลนต์ วินัย ความมั่นใจ การฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยม และโชคอีกนิดหน่อย หรือมองอีกมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็คือปัจจัยเดียวกันที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่สาขาวิชาด้านธุรกิจของมหาวิทยาลัยมักจะเก็บดาต้าและแรงบันดาลใจจากในสนามกีฬา เพื่อนำมาปรับใช้กับการบริหารองค์กร

บทความจาก Kellogg Insight ได้รวบรวม 5 บทเรียนของการกีฬาที่ “ผู้นำธุรกิจ” ควรนำมาใช้ ดังนี้

1.ยิ่งเป็น “ดาวเด่น” ยิ่งได้โอกาส

ในวงการกีฬา ซูเปอร์สตาร์มักจะได้เป็นตัวเก็งของรายการ แต่ชื่อเสียงของซูเปอร์สตาร์กลายเป็นความสำเร็จจริงๆ มากน้อยแค่ไหน?

Breyden King ศาสตราจารย์ด้านการบริหารองค์กรที่ Kellogg ศึกษาดาต้าจากกีฬาเบสบอล และพบว่า พิชเชอร์ที่เป็นดาวเด่นมักจะได้เปรียบ โดยพิชเชอร์ที่เคยติดทีมออลสตาร์มาแล้ว 5 ครั้ง มีโอกาสสูงกว่าถึง 25% ที่อัมไพร์ (กรรมการ) จะขานลูกสไตรค์ เมื่อเทียบกับพิชเชอร์ที่ไม่เคยติดออลสตาร์เลย และจะได้เปรียบมากที่สุดเมื่อลูกนั้นหมิ่นเหม่ในเส้นขอบของสไตรค์โซน ซึ่งเป็นจุดที่การตัดสินใจของกรรมการมีความไม่แน่นอนสูงยิ่งขึ้น

อคติเอนเอียงไปทางบุคคลที่มีชื่อเสียงมากกว่านั้นเกิดขึ้นในจุดอื่นนอกสนามเบสบอลด้วย

“เมื่อคุณเป็นดาวเด่น ความสำเร็จของคุณจะถูกรับรู้ได้มากกว่า” King อธิบาย “นั่นหมายความว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า มักจะต่อยอดความสำเร็จขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ง่ายกว่า” อคติเพราะการรับรู้ชื่อเสียงเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจด้วย เช่น เมื่อเกิดคดีความแบ่งแยกกีดกันในการเลือกจ้างงาน บริษัทที่มีชื่อเสียงดีมักจะได้รับการยกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อนมากกว่า

บทเรียนสำหรับผู้นำธุรกิจในเรื่องนี้คือ ประโยชน์ที่จับต้องได้ชัดเจนในการหมั่นสร้างชื่อเสียงที่ยอดเยี่ยมของบริษัท

ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับการบริหารคนในองค์กรด้วยว่า ผู้นำได้ให้ความยุติธรรมกับพนักงานอย่างเท่าเทียมหรือไม่ เพราะคนในองค์กรที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าหรือไม่ใช่ดาวเด่น มักจะต้องใช้ความพยายามสูงกว่ามากในการทำงาน

2. “ความประทับใจแรก” สำคัญกับทั้งกลุ่ม

เมื่อพูดถึงเรื่องชื่อเสียง ความประทับใจแรกมีบทบาทสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่เฉพาะบุคคลคนเดียวที่ได้ประโยชน์ งานวิจัยพบว่าทั้งกลุ่มจะได้ประโยชน์ร่วมไปด้วย

Rime Toure-Tillery ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาด และทีมวิจัยของเธอ ให้ผู้เข้าร่วมงานวิจัยอ่านบทความเกี่ยวกับนักยิมนาสติก 7 คนในทีมเดียวกันที่จะแข่งขันบนฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ โดยผู้เข้าร่วมจะได้อ่านข้อมูลว่า Emma นักยิมนาสติกคนหนึ่งในทีมนี้มีความสามารถยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ และทั้ง 7 คนจะออกทำการแข่งขันเรียงลำดับแบบสุ่ม

นักวิจัยพบความแตกต่างของการเรียงลำดับสองแบบ แบบที่ 1 เมื่อเรียงลำดับให้ Emma ออกแข่งขันเป็นคนแรก ผู้เข้าร่วมมักจะคาดการณ์ว่านักยิมนาสติกที่เหลือจะทำคะแนนได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับแบบที่ 2 เมื่อให้ Emma ออกแข่งขันเป็นคนที่ 4 หรือว่าคนสุดท้ายของกลุ่ม นักยิมนาสติกคนอื่นๆ จะถูกคาดการณ์ว่าได้คะแนนต่ำกว่าแบบแรก

“การให้เครื่องหมายว่าบางสิ่งหรือบางคนเป็น ‘อันดับ 1’ จะมีผลกระทบไม่เพียงแต่กับคนคนนั้น แต่จะมีผลกับการตัดสินของคุณต่อคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นด้วย” Toure-Tillery กล่าว “แค่บอกว่าบางสิ่งเป็น ‘ที่หนึ่ง’ จะทำให้เกิดความแตกต่างใหญ่หลวง”

สำหรับธุรกิจ การสำนึกรู้ถึงเรื่อง “ลำดับที่หนึ่ง” จะช่วยการดำเนินธุรกิจได้ชัดเจน โดยคุณควรทำให้แน่ใจว่าอะไรก็ตามที่คุณเรียกว่าเป็น “ลำดับที่หนึ่ง” คือจุดที่ดีที่สุดด้วย เช่น แคชเชียร์หมายเลข 1 ควรจะใช้พนักงานที่ดีที่สุดประจำแท่น หรือเมนูที่อยู่ในรายการแรก ก็ควรจะเป็นเมนูที่อร่อยที่สุดของร้าน เพราะเมื่อลูกค้าสัมผัสความประทับใจแรก รู้สึกดีกับสิ่งที่มาเป็นลำดับแรกแล้ว มักจะสร้างความคาดหวังในทางบวกกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่จะติดตามมา

3.อย่าประเมินคุณค่า “ผู้ชำนาญเฉพาะทาง” ต่ำเกินไป

Steve Kerr ไอคอนแห่งวงการบาสเกตบอล มีเส้นทางอาชีพอันโชติช่วงจากความแพรวพราวของฝีมือ ‘ยิง 3 แต้ม’ แต่ก่อนหน้านั้นหลายปี Kerr เคยถูกมองข้ามมาก่อน เพราะความเร็วและความสูงในการกระโดดของเขาสู้คนอื่นไม่ได้

เป็นไปได้อย่างไร? ผู้ชำนาญเรื่องเฉพาะทางแบบ Kerr นั้นแม้ว่าจะเก่งกาจเป็นพิเศษในบางเรื่อง แต่มักจะถูกตัดสินด้วยมาตรฐานเดียวกันกับคนทั่วไป ซึ่งทำให้เขาเสียเปรียบ

Keith Murninghan ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการองค์กรที่ Kellogg ร่วมกับทีมวิจัย ศึกษาดาต้าความสามารถในการแข่งขันและเงินเดือนของนักกีฬาบาสเกตบอล NBA มากกว่า 300 คน และพบว่า กลุ่มนักกีฬาที่เก่งเรื่องยิง 3 แต้ม ไม่ได้รับเงินเดือนจากการประเมินฝีมือยิง 3 แต้มของพวกเขา แต่ถูกประเมินจากความสามารถชู้ต 2 แต้มเหมือนกับคนอื่นๆ ทั้งที่การชู้ต 3 แต้มได้แม่นยำคือความสามารถหลักที่ช่วยทีมได้

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ Murninghan กล่าวว่า เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบคนคนหนึ่งกับคนอื่นเสมอ “คุณอยากจะมีทีมนักกีฬาที่เก่งกาจ 5 คน หรือทีมที่มีมือชู้ต 3 แต้มแต่กระโดดไม่ค่อยเก่งและเชื่องช้า 1 คน กับนักกีฬาที่ยอดเยี่ยม 4 คนล่ะ ถ้าเปรียบเทียบกันตัวต่อตัวระหว่างนักกีฬาเก่งกาจ 5 คนนั้นกับมือชู้ต 3 แต้มคนนี้ คนอื่นๆ ก็คงเก่งกว่า แต่เมื่อเล่นเป็นทีม ทีมจะทำได้ดีกว่าเมื่อมีนักกีฬาคนหนึ่งที่สามารถทำสิ่งพิเศษได้”

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับที่ทำงานเช่นกัน มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาโฆษณารับสมัครงานในเว็บ Monster และ Careerbuilder และพบว่า แม้แต่ตำแหน่งงานที่ระบุว่าต้องการ “ผู้ชำนาญการ” ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ก็ยังระบุว่าต้องการผู้สมัครที่มีทักษะรอบด้านอีกหลายอย่าง แถมยิ่งบริษัทใหญ่เท่าใดก็ยิ่งมีอาการแบบนี้มากเท่านั้น ทั้งที่ควรจะเป็นองค์กรที่สามารถใช้ประโยชน์จากผู้ชำนาญเฉพาะทางเหล่านี้ได้ดีกว่า

4.“ทาเลนต์” จำเป็นกับทีม แต่ต้องมี “ทีมเวิร์ก” ด้วย

บางครั้ง แม้แต่ทีมที่เต็มไปด้วยดาวดังก็ยังแพ้ให้กับไก่รองบ่อนได้ ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญายอดนิยมที่รู้กัน คือ ทั้งการมีทาเลนต์และการทำงานเป็นทีมได้คือเส้นทางสู่ความสำเร็จ แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครไขออกว่าปัจจัยไหนสำคัญในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน

Brian Uzzi และ Noshir Contractor ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการองค์กรที่ Kellogg ศึกษาดาต้าทั้งความสามารถส่วนบุคคลและความสำเร็จของทีมที่พวกเขาอยู่ โดยเก็บข้อมูลทั้งจากกีฬาบาสเกตบอล NBA เบสบอล MLB ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และคริกเก็ตอินเดียนพรีเมียร์ลีก จนถึงนักกีฬาอีสปอร์ตเกม Defense of the Ancients 2 โดยใช้โมเดลบนคอมพิวเตอร์ประมวลผลเพื่อทำนายว่าใครจะชนะ

และผลจากการประเมินพบว่า การมี “ทาเลนต์” เก่งๆ ในทีมมักจะทำให้ทีมมีแนวโน้มได้ชัยชนะมากกว่า แต่ว่าทีมนั้นจะต้องมี “ทีมเวิร์ก” ด้วย

Uzzi สรุปผลว่า การมีทาเลนต์ระดับท็อปอย่างเดียวไม่ช่วยให้ทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ จะเห็นได้ว่าบางครั้งบริษัทมีปัญหาเมื่อ “เฟ้นหาแต่ทาเลนต์มาร่วมงาน แต่สุดยอดทาเลนต์นั้นทำงานร่วมกับทีมไม่ได้”

5.จะใช้ “ดาต้า” เพื่อตัดสินใจอย่างไร?

ทุกวันนี้ ผู้นำที่เก่งที่สุดต่างใช้ดาต้าทำงาน ส่วนใหญ่ก็เพื่อจะตัดสินใจครั้งสำคัญ

Daryl Morey ผู้จัดการทีมบาสเกตบอล Houston Rockets ซึ่งใช้ดาต้าบริหารทีม กล่าวว่า “คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เผชิญอยู่เป็นเทรนด์ของจริงหรือแค่ฉาบฉวย? คู่ต่อสู้คนหนึ่งฟอร์มดีมากช่วงครึ่งแรก เขาฟอร์มดีเพราะยิงได้ดีจริงๆ และเราต้องเปลี่ยนมาไล่บล็อกเขาหรือยัง หรือเราก็ทำเกมได้ดีอยู่แล้วตามแผน แค่เราไม่มีโชคในช่วงครึ่งแรกก็เท่านั้น และเราควรจะทำตามแผนเดิมต่อไปไหม?” Morey มองว่าคำตอบอยู่ในดาต้า

การเช็กข้อมูลเหล่านี้จะง่ายขึ้นเมื่อผลออกมาเป็นไปตามที่คุณคาดการณ์ไว้หรือเชื่อมั่นว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าดาต้าไม่ตรงกับความเชื่อเดิมจะทำอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่อง “2 for 1” ซึ่งหมายถึงการค้นพบกลยุทธ์ในช่วงท้ายควอเตอร์เมื่อเวลาเหลือน้อย หากเร่งทำแต้มให้เร็ว 2 ครั้ง มีโอกาสได้แต้มมากกว่าหาทางชู้ตครั้งเดียวแบบเน้นๆ

“ในอดีต โค้ชมักจะต้องการชู้ตครั้งเดียวเน้นๆ มากกว่า” Morey กล่าว แต่เขาเคยนำดาต้ากลยุทธ์ที่ว่านี้ไปคุยกับ Jeff Van Gundy หัวหน้าโค้ชของ Houston Rockets ตอนแรก Van Gundy รู้สึกคลางแคลงใจ แต่สุดท้ายก็เห็นด้วยกับ Morey

แล้วเขากระตุ้นให้ผู้เล่นทำแบบนี้ทุกครั้งหรือไม่? Morey บอกว่าไม่ใช่ เพราะว่าความแตกต่างของโอกาสแพ้หรือชนะไม่ได้แตกต่างกันอย่างมากขนาดนั้น

แปลว่าอะไร? เรื่องราวของ 2 for 1 จาก Morey บอกให้เรารู้ว่า คุณไม่ต้องใช้ดาต้าชี้ทิศการตัดสินใจตลอดเวลา แต่คุณควรจะคอยมองหาช่องตลอดเวลาว่าจะใช้ดาต้าตัดสินใจได้ไหม

Source

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.