เกมการแข่งขัน “โตเกียว ชาเลนจ์ 2021” หรือ เกมเทสต์ โอลิมปิก ที่ญี่ปุ่น ได้จัดการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นนิมิตหมายที่สวยงามของการแข่งขันวอลเลย์บอลในเอเชีย
นับตั้งแต่จบการแข่งขันวอลเลย์บอลโอลิมปิกเกมส์ 2020 รอบคัดเลือก เมื่อเดือนมกราคม 2563 ทั้งที่ประเทศไทย และประเทศจีน จนถึงเวลานี้ การแข่งขันนัดอย่างเป็นทางการของวอลเลย์บอลในทวีปเอเชียก็ไม่มีแข่งเลย เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19
แมตช์นานาชาติที่ดูแลโดย สหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชีย (AVC) ต่างก็ทยอยยกเลิก หรือเลื่อนการแข่งขันออกไปแทบจะทั้งหมด เพราะการเดินทางไปมาหาสู่กันของแต่ละประเทศ ทำได้ลำบากมาก
จนเข้าสู่ปี 2021 ประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ เลื่อนมาจากปี 2020 ได้ยืนยันว่าจะต้องจัดการแข่งขันในปีนี้ให้ได้ ซึ่งกีฬาวอลเลย์บอลเองก็เป็นสิ่งหลาย ๆ คนให้ความสนใจ
ญี่ปุ่น วางแผนงานมาเป็นอย่างดีกับการแข่งขันวอลเลย์บอลในโอลิมปิกเกมส์ 2020 เนื่องด้วยเป็นครั้งแรกในรอบ 56 ปี ที่แดนอาทิตย์อุทัย จะกลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ (1964) และในครั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่วอลเลย์บอล ได้บรรจุในการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอีกด้วย
โปรเจกต์ สนามอารีอาเกะ อารีนา เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 21 เมษายน 2017 (2560) ใช้งบประมาณในการสร้าง 3.5 พันล้านเยน (1.05 พันล้านบาท) และใช้เวลาทั้งหมด 2 ปีเศษ ในการก่อสร้าง ก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ 9 ธันวาคม 2019 (2562)
เจ้าภาพอย่าง กรุงโตเกียว ได้ฤกษ์ทำพิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 (2563) โดยกำหนดจะใช้ อารีอาเกะ อารีนา เป็นสนามแข่งขันของวอลเลย์บอล ในโอลิมปิกเกมส์ และ วีลแชร์บาสเกตบอล ใน พาราลิมปิกเกมส์
อีกทั้งก่อนที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ จะเริ่มขึ้น ญี่ปุ่น ยังได้วางแผนในการจัดงาน เทสต์ อีเวนท์ส ฟอร์ม โอลิมปิกเกมส์ (Test events for Olympis Games) เพื่อทดสอบเรื่องของการแข่งขันทั้งหมด ทั้งเรื่องสนาม การถ่ายทอดสด และการรับมือกับการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ก่อนที่โอลิมปิกเกมส์ จริง ๆ จะเริ่มขึ้น
ซึ่งในรายการนั้น ญี่ปุ่น ได้เชิญ จีน, ไทย และ ไต้หวัน ในประเภททีมหญิง มาร่วมแข่งขัน ส่วนทีมชาย ก็มีทั้ง ออสเตรเลีย, จีน และ เกาหลีใต้
แต่สุดท้าย เทสต์ โอลิมปิก ที่กำหนดจะจัดในเดือนเมษายน 2563 ก็มีอันต้องล้มเลิก เพราะโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรง รวมถึงสุดท้าย โอลิมปิกเกมส์ ในปี 2020 ก็มีอันต้องเลื่อนมาแข่งในปี 2021 แทน
และเมื่อเข้าสู่ปี 2021 โควิด ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดการระบาดลง แต่ทุกอย่างยังต้องดำเนินต่อ ญี่ปุ่น ยังกำหนดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ในช่วงเวลาเดิมคือ ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2564
ส่วนการแข่งขันเทสต์ โอลิมปิก ทางสมาคมวอลเลย์บอลญี่ปุ่น (JVA) ได้ปรับชื่อการแข่งขันมาเป็น Tokyo Challenge 2021 และกำหนดแข่งขันในวันที่ 1-2 พฤษคม 2564 โดยมีเพียงแค่ทีมชาติจีน ทั้งชาย และหญิง มาร่วมแข่งขัน
ซึ่งทีมชาติจีน ทั้งชาย และหญิง ยังได้ตอบรับในการเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ รวมถึงทางญี่ปุ่นเอง ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าการแข่งขันมีโอกาสจะเลื่อน หรือยกเลิกได้ หากโควิด-19 นั้นยังระบาดหนัก
ทั้งทีมชาติญี่ปุ่น รวมถึงทีมชาติจีน ในประเภททีมหญิง ต่างก็ลงสนามฝึกซ้อมกันมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ญี่ปุ่น เมื่อจบการแข่งขันลีกสูงสุด นากาดะ คูมิ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ก็ได้เรียกนักกีฬาเข้ามาฝึกซ้อมตั้งแต่เดือนมีนาคม
ส่วนทัพอาหมวยของ หลางผิง ก็เริ่มซ้อมกันอย่างเต็มตัว นับตั้งแต่จบไชน่า วอลเลย์บอลลีก มาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว
และการแข่งขัน “โตเกียว ชาเลนจ์” ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สามารถแข่งขันกันได้ตามปกติ จะขาดแต่เพียงผู้ชมที่ไม่สามารถเข้าชมเกมในสนามได้ เนื่องจากโควิดระลอกใหม่ระบาดที่โตเกียว จนทำให้ JVA ต้องคืนตั๋วให้กับผู้ชมได้จับจองบัตรกันไปก่อนแล้ว
ทีมชาติจีน เดินทางไปญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 เพื่อเตรียมตัวไปแข่งขัน และได้ประกาศรายชื่อนักกฬาตัวหลักไปทั้งหมด 15 คน ที่นำโดยทั้ง จูถิง, จาง ฉางหนิง, กง เซียงหยู
แน่นอนว่า การแข่งขันเกมนานาชาติ ในช่วงของการระบาดโควิด-19 ย่อมจำเป็นที่จะต้องเป็นการแข่งขันในรูปแบบ Bubble เพื่อป้องกันการระบาดของโรคให้ดีที่สุด
ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการแข่งขันที่อยู่ในแบบ Bubble ที่จะสะดวกสบายเหมือนการแข่งขันทั่ว ๆ ไป ในปีที่ผ่านมา ๆ
นักกีฬาทั้งสองทีม โดยเฉพาะทีมชาติจีน จะต้องทำการฝึกซ้อมด้วย Bubble มาก่อนแล้วในสนามซ้อมของตนเอง และจะต้องดูแลความปลอดภัยในเรื่องของโรคระบาดให้ดีก่อนที่จะเดินทางเข้าญี่ปุ่น
Sina Sports สำนักข่าวกีฬาชื่อดังของจีน รายงานว่า นักตบสาวจีน เดินทางถึงกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 25 เมษายน ในเวลาประมาณ 17.00 น. และใช้เวลาอยู่ที่สนามบินนานพอสมควร เนื่องด้วยมีการตรวจโควิด กับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดอีกครั้ง ก่อนที่ทุกคนจะเดินทางเข้าโรงแรมที่พัก ตอนเวลา 22.30 น.
และทางโรงแรมที่นักกีฬาจีนเข้าพัก เป็นโรงแรมที่มาตรการดูแลโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในโรงแรม หรือมีลูกค้าจากที่อื่นเข้าพักเลย
ผู้สื่อข่าว Sina Sports ยังรายงานเพิ่มเติมว่า นักกีฬาทีมชาติจีนจำเป็นที่จะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งเวลาในการรับประทานอาหาร และการฝึกซ้อม เมื่อถึงเวลาตามกำหนด จะมีการจัดเตรียมลิฟท์ พร้อมทั้งพนักงานเปิด-ปิดลิฟท์ เพื่อให้บริการกับนักกีฬาทีมชาติจีนโดยเฉพาะ
นักกีฬาจะไม่สามารถออกจากบริเวณตึกได้ นอกเหนือจากเวลารับประทานอาหาร และฝึกซ้อม และนักกีฬาก็ไม่สามารถต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมได้เช่นกัน อีกทั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้มีการย้ำเตือนเรื่องนี้ไว้เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกเข้ามาปะปนมากับนักกีฬาที่อยู่ภายในตึก ซึ่งหากเกิดขึ้นมีโอกาสที่จะเกมการแข่งขันถูกยกเลิกได้
นักกีฬาชาย-หญิง จะถูกจัดให้เข้าพักอยู่คนละชั้น ตามข้อกำหนดแล้ว ก่อนจะเข้าร่วมการแข่งขัน นักกีฬาชาย-หญิง จากทั้งสองทีม ไม่สามารถเข้าพบปะกันกันได้ โดยนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่น ก็จะเข้าพักในโรงแรมแห่งนี้เช่นเดียวกัน
ส่วนเรื่องของอาหาร ในโรงแรม ทางเจ้าหน้าที่จะมีห้องอาหารที่จัดไว้ให้กับนักกีฬาโดยเฉพาะ ทั้งทีมชาย และทีมหญิง ของจีน จะต้องแยกห้องกินข้าวกันอีกด้วย
ซึ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงมาตรการบางส่วนของการจัดแข่งขัน ที่ผู้เข้าร่วมใน Bubble จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การแข่งขันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี โดยที่ไม่มีการชะงักหรือหยุดการแข่งขันไป
และสุดท้ายทุกอย่างก็ดำเนินการไปอย่างไม่มีปัญหา เกมการแข่งขันทั้ง 2 วัน ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทีมชาติญี่ปุ่น ในประเภททีมชาย เอาชนะ ทีมชาติจีน ไปได้ทั้ง 2 เกม (3-2 เซต และ 3-1 เซต)
ส่วนทีมหญิง เป็น จีน ที่เอาชนะ ญี่ปุ่น ไปได้ 3-0 เซต ในเกมแข่งขันจริง และยังมีเกมอุ่นแบบปิด ที่ จีน เอาชนะ ญี่ปุ่น 5-0 เซต
เป็นการทดสอบการแข่งขันที่ได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายจัด คงจะได้ทราบถึงจุดบกพร่องบางอย่าง ที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนที่โอลิมปิกเกมส์ จะแข่งขันกันจริง
รวมถึงทั้ง 4 ทีม ที่เข้าร่วมแข่งขัน คงได้เห็นบางอย่างที่ทีมจำเป็นที่จะต้องเอาไปแก้ไข ก่อนที่จะได้ลงแข่งขันกันในรายการต่อ ๆ ไป เพราะทั้งทีมจีน และ ญี่ปุ่น (ยกเว้น จีน ทีมชาย) จะต้องไปแข่งขันกันต่อในวอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก 2021 (VNL) ที่ประเทศอิตาลี ในช่วงเดือนพฤษภาคม
ซึ่งนับว่าการแข่งขัน “โตเกียว ชาเลนจ์” เป็นแบบอย่างชั้นดีอย่างมากให้กับการแข่งขันของทวีปเอชีย ที่ตอนนี้ยังไม่มีรายการไหนที่จะยืนยันว่าจะจัดแข่งขันได้เลยแม้แต่เกมเดียว
ผิดกับทางทวีปยุโรป ที่เดินทางไปทางไปมาหาสู่กันนั้นทำได้ง่ายมากกว่า เราจึงได้เห็นเกมนานาชาติของฝั่งนั้น ตบกันอย่างสนั่นหวั่นไหวเลยทีเดียว
และเมื่อการแข่งขันห็นตัวอย่างที่ชัดเจน เชื่อว่า AVC น่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ในการจัดแข่งขันวอลเลย์บอล 4 รายการ ทั้งสโมสรเอเชีย (ชาย-หญิง) และ ชิงแชมป์เอเชีย (ชาย-หญิง) ออกมาโดยเร็วที่สุด