เสรีภาพต้องมาก่อน! นิสิตจุฬาฯ โวยลั่น มาตรการล็อกหอ 14 วัน หลังพบติดโควิด 10 ราย ปลุกม็อบเขียนป้าย นิสิตไม่ใช่สัตว์ในฟาร์ม ไม่เอาคุกหอใน ขณะที่รองอธิการบดีแจง ชาวหอ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะห้องน้ำรวมและนอนหลายคนต่อห้อง จุฬาฯ จึงขอตรวจเพื่อให้ชัวร์ว่าปลอดภัย อึ้ง! “ปิยบุตร” ชื่นชม flash mob ที่ปารีส ประท้วงมาตรการโควิด
เมื่อวันที่ 14 เมษายน ทวิตเตอร์ @farmphuphat ของนายภูภัชร พัฒนธารธาดา นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์วิดีโอคลิป มีเนื้อหาระบุว่า “นิสิตหอตะโกนปราศรัยประท้วงมาตรการกักตัวของหอพักนิสิตจุฬาฯ พร้อมโต้ตอบด้วยเสียงเคาะกะละมังและสิ่งของ นัดหมายรวมตัว 18.00 น. ข้างตึกพุดซ้อน #หอในจุฬาฯ” เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะเดียวกัน ยังมีการเผยแพร่ภาพแผ่นกระดาษประท้วง ระบุข้อความว่า “นิสิต ไม่ใช่สัตว์ในฟาร์ม”, “ห้ามนิสิตเข้าออก โควิดติดเฉพาะนิสิต?”, “กักตัวเป็นจิตสำนึก ไม่ใช่ข้อบังคับ”, “หอในอำนาจเหนือรัฐ สามารถสั่งล็อกดาวน์ได้” และคำว่า “ไม่เอาคุกหอใน” เป็นต้น”
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกประกาศเรื่อง แนวทางนิสิตหอพักในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ระบุว่า ตามที่หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่ามีนิสิตหอพักได้รับการตรวจเชื้อโรค COVID-19 มีผลเป็นบวก จำนวน 10 คน เพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด หอพักนิสิตจึงขอแจ้งมาตรการดำเนินการของหอพักโดยปิดการเข้า-ออกหอพัก เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 หอพักนิสิตจึงขอประกาศแนวปฏิบัติเพื่อดูแลนิสิตหอพัก ดังนี้
1 การพักอาศัยในพื้นที่หอพัก
1.1 นิสิตที่พำนักในหอพักช่วง วันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 นิสิตสามารถดำเนินชีวิตปกติภายในพื้นที่รั้วหอพักเท่านั้น โดยหอพักขอปิดพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ ห้องคอมมอนในตึกพัก ห้องชมรม โรงยิม และสนามบาสเกตบอล
1.2 นิสิตสามารถซื้ออาหารในโรงอาหารและสามารถนั่งรับประทานในโรงอาหารได้ โดยเว้นระยะห่างตามที่หอพักจัดไว้หรือนำกลับไปรับประทานที่หอพักของตนเอง กรณีสั่งอาหารจากแหล่งอื่น หรือสิ่งของออนไลน์ หอพักกำหนดจุดรับ-ส่งเฉพาะบริเวณหน้าประตูทางเข้าหอพัก ฝั่งถนนพญาไทเท่านั้น โดยนิสิตต้องไปรับของที่สั่งด้วยตนเอง
1.3 นิสิตสแกนนิ้วเข้า-ออกตึกพักให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากห้องพัก หมั่นล้างมือด้วยน้ำและฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
1.4 หากนิสิตมีข้อสงสัย หรือมีอาการไข้ อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ตัวร้อนปวดเนื้อปวดตัว หนาวสั่น มีอาการไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-3649 ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. หรือทางเพจของคณะกรรมการนิสิตหอพัก
2.กรณีนิสิตที่จะเดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาเอาของ ระหว่างวันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564
ขอความร่วมมือนิสิตงดเว้นการเดินทางมายังหอพักในช่วงดังกล่าว หากนิสิตมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะกลับมาเอาของที่หอพัก ให้แจ้งในเพจคณะกรรมการนิสิตหอพักล่วงหน้า 3 วัน และให้เพื่อนร่วมห้องเก็บของให้ หรือหากเพื่อนไม่อยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ไปเอาของให้ (ทั้งนี้ ในช่วงวันดังกล่าวอาจมีเจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการนิสิตไม่เพียงพอ) จึงขอพิจารณาเป็นรายๆ ไป
3.ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้า-ออกหอพักทุกกรณี ยกเว้นเจ้าหน้าที่บุคลากร หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหอพักที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขอบคุณนิสิตหอพักทุกคนที่เข้าใจสถานการณ์และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อความปลอดภัยของทุกคน ประกาศ ณ วันที่ 12 เมษายน 2564 ลงชื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดี”
ต่อมา ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ชี้แจงว่า เรื่องเด็กหอตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น จุฬาฯ ดำเนินการด้วยหลักการห่วงใยนิสิต สังคมปลอดภัย ไม่ได้บังคับ ไม่ใช่คุก เราให้สิทธินิสิตที่จะอยู่ที่หอหรือจะกลับบ้านก็ได้ หากจะกลับบ้าน เนื่องจากชาวหอ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะห้องน้ำรวมและนอนหลายคนต่อห้อง จุฬาฯ จึงขอตรวจเพื่อให้ชัวร์ว่าปลอดภัย เราห่วงใยอยากให้นิสิตปลอดภัยไม่ต้องการสร้างภาระความเสี่ยงกับสังคม
ทั้งนี้ การตรวจนั้น จุฬาฯ ดำเนินการให้นิสิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากจะอยู่ที่หอก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น การซื้ออาหารเข้าไปรับประทานในห้อง การไม่ไปในที่สาธารณะ ทั้งนี้เพราะหอพักนิสิตมีคนจำนวนมากกว่า 1,000 คน ต้องรับผิดชอบต่อชาวหอคนอื่นๆ
นอกจากนี้ ทางจุฬาฯ ยังให้การช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น การประกันโควิด สัญญาณอินเทอร์เน็ตและซิม เพื่อให้นิสิตยังเรียนรู้ได้มากที่สุด อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาด บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ที่พักแยกผู้มีความเสี่ยงสูง และการรักษาพยาบาลหากติดเชื้อ จึงขอให้มั่นใจในความดูแลของจุฬาฯ ขอเป็นกำลังใจ และอยากให้นิสิตทุกคนอดทนในช่วงวิกฤติโควิดนี้ เพื่อให้ตนและคนรอบข้างปลอดภัยไปด้วยกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ Piyabutr Saengkanokkul @Piyabutr_FWP ว่า คนทำงานดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ประชาชน รวมตัวกันทำ flash mob ที่ปารีส ประท้วงมาตรการโควิด ด้วยการออกไปเล่นดนตรี เต้นรำในที่สาธารณะกันตามสถานีรถไฟ เหมือนชีวิตปกติ
นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนกลุ่มนี้กำลังอ้างเสรีภาพแบบตะวันตก ไม่ต้องการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดที่ออกโดยภาครัฐ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ทำให้การระบาดโควิดในยุโรปยังลุกลามอย่างหนัก โดยเฉพาะในฝรั่งเศส.
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.