ทว่าด้วยการแทรกแซงของรัฐบาลอังกฤษ จดหมายฉบับดังกล่าวกลับไปไม่ถึงมือฮิตเลอร์ กระทั่งอีกหนึ่งเดือนถัดมา โลกก็กลายเป็นหนังสยองขวัญเมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์
แม้จดหมายฉบับนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ และสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็เห็นความสำคัญของการเขียนจดหมายเปิดผนึก และยังคงเขียนมันอยู่ตลอดรายทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ก็เช่น จดหมายเปิดผนึกถึงลูกสาวของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนปัจจุบัน โดยเพื่อนร่วมรุ่นจากคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หลังล้มเหลวจากการบริหารงานในช่วงวิฤติโรคระบาดโควิด-19
พจนานุกรมภาษาอังกฤษชื่อดังอย่าง Merriam-Webster ให้ความหมายของจดหมายเปิดผนึกไว้ว่า ‘จดหมายแห่งการประท้วงหรือการร้องขอ’ ที่จั่วหัวถึงใครสักคน แต่ต้องการให้ถูกอ่านโดยสาธารณชน
ส่วนจุดประสงค์ของจดหมายชนิดนี้ก็มีหลากหลายขึ้นอยู่กับวาระที่ผู้เขียนต้องการจะแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคม หรือตัวบุคคลที่ถูกจั่วหัวถึง แสดงเจตจำนงบางอย่าง สื่อสารประเด็นที่สำคัญต่อมวลชน เรียกร้องให้เห็นปัญหา หรือกระทั่งอยากให้มันเป็นข้อความสร้างแรงบันดาลใจ
ในโลกนี้มีจดหมายเปิดผนึกที่ทรงพลังจับหัวใจผู้อ่าน หรือกระทั่งมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอยู่มากมาย ดังตัวอย่างบางส่วนที่ becommon ได้รวบรวมมาให้ได้อ่านในบทความนี้
“เพื่อนที่รัก,
มีมิตรสหายหลายคนที่ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนถึงคุณเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธคำร้องของพวกเขามาตลอด เพราะความรู้สึกที่ว่าจดหมายจากข้าพเจ้าจะกลายเป็นการแสดงความโอหัง ทว่าบางอย่างบอกว่าข้าพต้องไม่คิดคำนวณและจำเป็นต้องยื่นคำอ้อนวอนเพื่ออะไรก็ตามที่จะก่อให้เกิดคุณค่า
มันค่อนข้างชัดเจนว่า ณ วันนี้ คุณคือบุคคลเดียวที่จะปกป้องโลกจากสงครามที่จะลดความเป็นมนุษย์ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์อันโหดเหี้ยม คุณต้องยอมแลกเพื่อจะได้มาซึ่งบางสิ่งไม่ว่าสิ่งที่จ่ายไปจะมีคุณค่ากับคุณขนาดไหนกระนั้นหรือ คุณจะรับฟังคำอ้อนวอนจากคนที่พยายามหลีกเหลี่ยงวิธีการก่อสงครามซึ่งไม่เคยถูกนับว่าเป็นสำเร็จได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าคาดหวังการอภัยจากคุณ หากการเขียนจดหมายฉบับนี้เป็นเรื่องผิดพลาด
จากมิตรที่จริงใจของคุณ
เอ็ม.เค. คานธี”
ปี 2015 นักบาสเกตบอลระดับตำนานผู้ล่วงลับ โคบี ไบรอันต์ (Kobe Bryant) บอกลาเกมกีฬาที่เขารักที่สุดอย่างบาสเกตบอล เขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสิ่งที่บาสเกตบอลได้มอบให้แก่เขาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีเผยแพร่ จดหมายฉบับนั้นต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นในปี 2017 และคว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 ไปครอง
มันมีเนื้อหาสั้นๆ ว่า
“บาสเก็ตบอลที่รัก,
ตั้งแต่วินาทีที่ผมม้วนถุงเท้าคู่ยาวของพ่อลง
และชู้ตลูกปิดเกมส์ในจินตนาการ
ในสนามเกรตเวสเทิร์นฟอรั่ม
ผมรู้ว่ามีหนึ่งสิ่งที่เป็นเรื่องจริง
นั่นคือผมตกหลุมรักคุณ
ความรักนั้นช่างลึกซึ้งจนผมมอบทุกอย่างให้แก่คุณ
ทั้งหัวใจและร่างกาย
ทั้งจิตและวิญญาณ
ในฐานะเด็กชายหกขวบ
ผู้รักคุณอย่างสุดจิตสุดใจ
ผมไม่เคยมองเห็นจุดจบที่ปลายอุโมงค์
ผมเพียงเห็นตัวเอง
วิ่งออกจากอุโมงค์แห่งนั้น
ดังนั้นผมจึงทะยานไป
วิ่งขึ้นและลงในทุกสนาม
ไล่ตามบอลที่กระเด้งกระดอนเพื่อคุณ
คุณร้องขอให้ผมทุ่มเท
ผมให้คุณหมดทั้งใจของผม
เพราะสิ่งที่คืนกลับมามีมากกว่านั้น
ผมลงเล่นท่ามกลางความเจ็บปวดและหงาดเหงื่อ
ไม่ใช่เพราะแค่ความท้าทายตะโกนเรียก
แต่เพราะคุณกำลังเพรียกหาผม
ผมทำทุกอย่างเพื่อคุณ
นั่นก็เพราะมันคือสิ่งที่คุณจะทำ
เมื่อใครสักคนทำให้คุณรู้สึกว่า
ตัวเองมีชีวิต เหมือนที่คุณทำให้ผมรู้สึก
คุณมอบความฝันถึงเลเกอร์แก่เด็กหกขวบคนนั้น
และผมจะรักคุณไปตลอดกาล
แต่ผมไม่สามารถรักคุณอย่างหัวปักหัวปำได้อีกต่อไปแล้ว
ฤดูกาลที่เหลือคือทั้งหมดที่ผมจะมอบให้ได้
หัวใจของผมสามารถรองรับแรงสั่นไหว
จิตใจของผมสามารถต่อกรกับการบดขยี้
แต่ร่างกายของผมรู้ดีว่ามันถึงเวลาต้องบอกลา
และนั่นก็โอเค
ผมพร้อมแล้วที่จะปล่อยคุณไป
ผมอยากให้คุณรู้ตอนนี้
เพื่อที่เราทั้งคู่จะสนุกสุดเหวี่ยงไปกับทุกๆ ห้วงเวลาที่พวกเรามีเหลือร่วมกัน
ทั้งสุขและทุกข์
เราต่างมอบให้กันและกัน
ทั้งหมดที่พวกเรามี
และเราทั้งคู่ต่างรู้ว่าไม่ว่าผมจะทำอะไรต่อจากนี้
ผมจะเป็นเด็กน้อยคนนั้นเสมอ
เด็กน้อยผู้สวมถุงเท้ายาวๆ ม้วนๆ
มีถังขยะอยู่ตรงหัวมุม
เหลืออีก 5 วินาทีจะหมดเวลา
ลูกบาสเกตบอลอยู่ในมือของผม
5 … 4 … 3 … 2 … 1
ผมจะรักคุณตลอดไป
โคบี้”
หลังจากถูกจับขังจากการประท้วงอย่างสันติต่อการแบ่งแยกสีผิวในปี 1963 วันที่ 16 เมษายน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) เขียนจดหมายเปิดผนึกขึ้นมาฉบับหนึ่งจากในคุก โดยเขามุ่งเน้นที่จะตำหนิผู้นำศาสนาผิวขาวต่อความนิ่งเฉย และเรียกร้องให้พวกเขาทำอะไรบางอย่างต่อเรื่องความไม่เท่าเทียมทางสีผิว จดหมายของเขาค่อนข้างมีขนาดยาว (อ่านจดหมายฉบับเต็มที่ได้: https://www.opnlttr.com/letter/martin-l-king-jrs-letter-birmingham-jail) โดยท่อนที่ติดตรึงผู้ที่ได้อ่านจดหมายฉบับนี้มากที่สุดน่าจะเป็นท่อนที่ว่า
“ความอยุติธรรมไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด มันคือภยันตรายของความยุติธรรมในทุกๆ ที่ เราถูกจับรวมอยู่ในเครือข่ายของสิ่งที่เรามีร่วมกันซึ่งไม่อาจหลบหนี ถูกผูกมัดอยู่กับอาภรณ์แห่งชะตากรรม สิ่งใดก็ตามที่กระทบต่อสิ่งหนึ่งในทางตรง ย่อมส่งผลต่ออีกสิ่งในทางอ้อม”
ทั้งนี้ becommon ขอคัดข้อความส่วนอื่นๆ จากหลายๆ ส่วนที่เต็มไปด้วยพลังงานและความมุ่งมั่นจากจดหมายของคิงมาแปลให้อ่าน…
“…ข้าพเจ้าถูกขังอยู่ในคุกเบอร์มิงแฮมเพราะมีความอยุติธรรมอยู่ที่นี่ เหมือนกับเหล่าศาสดาพยากรณ์ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงแปดศตวรรษก่อนคริสตกาล ซึ่งออกเดินทางจากหมู่บ้านของตนพร้อม ‘ดำรัสของพระเป็นเจ้า’ ไกลออกไปจากพรมแดนของตน เช่นเดียวกับอัครสาวกพอล ผู้ละทิ้งหมู่บ้านทาซัสของเขาและนำคำสอนของพระเยซูคริสต์สู่อาณาจักรกรีก-โรมันในอีกมุมหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าก็เช่นกัน ข้าพเจ้าต้องการผลักดันคำสั่งสอนถึงเสรีภาพสู่แห่งหนอื่นที่ไกลจากบ้านเกิด เหมือนกับนักบุญพอล ที่จำต้องร้องขอความช่วยเหลือจากชาวมาซิโนเนียนอย่างสัตย์ซื่อ
“…เรารับรู้ผ่านประสบการณ์อันแสนเจ็บปวด ว่าผู้กดขี่ไม่เคยมอบเสรีภาพให้อย่างเต็มใจ เสรีภาพนั้นมาจากการเรียกร้องโดยผู้ถูกกดขี่เสมอ พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ข้าพเจ้ายังไม่ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ใน ‘เวลาที่เหมาะสม’ ในมุมมองของผู้คนที่ยังไม่เคยทนทุกข์อย่างสาหัสจากโรคร้ายของการแบ่งแยกสีผิวนี้ นับเป็นระยะเวลาหลายปีจนถึงตอนนี้ที่ข้าพเจ้าได้ยินคำพูดที่ว่า ‘รอก่อน!’ ซึ่งมันดังก้องอยู่ในหูของนิโกรทุกคนด้วยการทิ่มแทงอันแสนคุ้นเคย คำพูดว่า “รอก่อน!” นี้โดยมากแล้วมักมีความหมายว่า ‘ไม่มีทาง’ เราจึงต้องมองให้เห็นผ่านมุมมองของหนึ่งในขณะลูกขุนที่ว่า ‘ความยุติธรรมที่มาช้าเกินไปคือความยุติธรรมที่ใช้ไม่ได้’”
นี่คือจดหมายที่ทำให้วลีในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า ‘J’accuse’ หรือแปลว่า ‘ข้าพเจ้าขอกล่าวโทษ’ เป็นคำพูดติดปากสามัญในหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลก จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นโดย เอมิล โซลา (Émile Zola) จั่วหัวถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น โดยมันลงตีพิมพ์กินพื้นที่เกือบสองหน้าในหนังสือพิมพ์ L’Aurore
แม้ตัวจดหมายเปิดผนึกที่ถูกรู้จักมากที่สุดในโลกฉบับนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของผู้เขียนในช่วงเวลาของมัน แต่ในทศวรรษต่อๆ มา มันก็ได้กลายเป็นจดหมายที่สร้างแรงบันดาลใจต่อประเด็นการต่อสู้ในเรื่องการแบ่งแยกชาติพันธุ์และการต่อต้านชาวยิว หรือการใส่ความต่อผู้บริสุทธิ์อย่างไร้เหตุผลของผู้มีอำนาจ
ตัวเนื้อหาของจดหมายกล่าวถึงกรณี อัลเฟรด เดรย์ฟุส (Alfred Dreyfus) ทหารเชื้อสายยิวผู้ถูกปรักปรำด้วยหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือว่าเขาขายชาติ แม้ต่อมาหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่าจะแสดงให้เห็นว่าผู้อื่นคือผู้กระทำความผิดตัวจริง กระนั้นการร้องขอความเป็นธรรมให้แก่เดรย์ฟุสก็ยังถูกปฏิเสธจากศาล
เอมิล โซลาตั้งชื่อจดหมายของเขาว่า J’accuse’ จั่วหัวถึง เฟลิกซ์ ฟัวร์ (Felix Faure) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (อ่านจบหมายฉบับเต็มได้ที่: https://www.opnlttr.com/letter/jaccuse-letter-émile-zola-president-republic) โดยมีข้อความบางส่วนว่า
“…ดังนั้น ท่านประธานาธิบดี เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่จะอธิบายได้ถึงวิธีการที่ความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมสามารถเกิดขึ้น และหลักฐานทางจริยธรรม สถานการณ์ทางการเงินของเดรย์ฟุส การปลาสนาการของเหตุผล เสียงร่ำไห้อย่างต่อเนื่องของความบริสุทธิ์ ได้แสดงให้เห็นอย่างสมบูรณ์แบบถึงตัวอย่างของเหยื่อจากจินตนการที่ไม่ธรรมดาของ พันตรี ดูว์ ปาตี เดอ กล็อง (Du Paty de Clam) ของการทำงานแบบเช้าชาวเย็นชามที่เราต่างมองเห็น ของการไล่ล่า ‘ชาวยิวสปรก’ ซึ่งทำให้ช่วงเวลาของพวกเราเสื่อมเกียรติ
“…นี่คืออาชญากรรมที่วางยาพิษใส่คนตัวเล็กผู้แสนถ่อมตน ปลุกเร้าเหล่าปฏิกริยานิยมและเหล่าผู้ไร้ความอดทนอดกลั้น โดยการกระตุ้นกลุ่มต่อต้านชาวยิวที่น่ารังเกียจ ซึ่งหากมันไม่ได้รับการตรวจสอบ มันจะทำลายสิทธิของมนุษย์ฝรั่งเศสผู้รักในเสรีภาพ
“…ข้าพเจ้ามีเพียงความปรารถนาเดียว นั่นคือการส่องแสงแห่งปัญญาให้แก่ผู้คนซึ่งยังคงอยู่ในความมืดมิด ในนามของมนุษยชาติผู้ผ่านความทุกข์ทรมานอย่างหนักหนาสาหัส ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความสุข การประท้วงที่รุนแรงนี้แสนเรียบง่าย มันคือเสียงร่ำไห้จากจิตวิญญาณของข้าพเจ้า”
อ้างอิง
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.