อย่าชินคำทักที่ไม่ดีต่อใจ’ หมอแนะ ไซเบอร์บูลลี่ หยุดที่ใคร
ลองสำรวจตัวเองว่าในหนึ่งวัน เราถูก “ไซเบอร์บูลลี่” (Cyberbullying) หรือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ บ้างหรือไม่ ไม่คำด่า หรือคำทักทายบนโลกออนไลน์ เช่น ดำ อ้วน เตี้ย บ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีคำเหล่านี้ ถือว่าอยู่ในสังคมสีขาว
แต่หากมี จะนิ่งเฉยหรือจัดการ รู้ผ่านการเสวนาในงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound มุ่งสร้างสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อใจทุกคน จัดโดย กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัวบอร์ดเกม “The.Net Threat เกมกลโลกไซเบอร์” มุ่งหวังให้เยาวชนและครอบครัว มีความรู้คู่ความเพลิดเพลิน แก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมร่วมกัน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ไซเบอร์บูลลี่ ไม่ใช่เพียงเรื่องหลอกลวง ทำร้ายกันบนอินเตอร์เน็ต แต่นำไปสู่การทำร้ายตัวเอง และการฆ่าตัวตาย จึงยอมให้เกิดเรื่องนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่อาจอ่อนด้อยเรื่องการใช้วิจารณญาณ
“อยากให้ทุกคนยึดหลักการ 3 ป.คือ เปิดใจ ทั้งเด็กและผู้ปกครองเปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากนั้นเปลี่ยนแปลง เข้าหากันเรื่อยๆ และปิดจอ สามารถปฏิเสธการรับรู้สิ่งที่เป็นปัญหาได้” พญ.อัมพรกล่าว
ในงานมีการเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์ โดยมีอดีตเน็ตไอดอลชื่อดังยุค 90 อย่าง “เบเบ้-ธันย์ชนก ฤทธินาคา” ที่ตอนนี้ทั้งสวยทั้งเฟิร์ม ปรากฏว่าเธอก็ถูกไซเบอร์บูลลี่อยู่ดี ย้อนไปยังถูกบูลลี่ตั้งแต่อายุ 12 ปี ที่เริ่มเข้าวงการบันเทิงแล้วด้วยซ้ำ
“เวลาไปแคสเป็นนักแสดง ที่ต้องยืนแนะนำตัวให้คนที่จะจ้าง บางทีเขาก็มีคำพูดว่า สวยไม่พอ เตี้ยไปบ้าง ส่วนตอนนี้ที่เป็นผู้หญิงมีกล้าม ก็ถูกคนวิจารณ์ว่าไม่ชอบ ชอบให้เป็นผู้หญิงแบ๊วๆ เหมือนเมื่อก่อน ทั้งนี้ แต่ก่อนการไซเบอร์บูลลี่ทำได้ตามเว็บบล็อกต่างๆ เราก็เลือกไม่เข้าไปดู แต่เดี๋ยวนี้เข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัวเลย ก็ต้องบล็อกไป ไม่เอามาคิดใส่ใจ เอาเวลาไปออกกำลังกาย” เบเบ้-ธันย์ชนกกล่าว
ในวงการเกมออนไลน์ก็มีไซเบอร์บูลลี่ อย่างเกมมาสเตอร์ “อาร์ตโตะ-วิศรุตต์ ปองธนพิสิฐ” ยอมรับว่า ตัวเองก็โดนสารพัดคำด่า อย่างหลายคนเวลาเล่นเกมแล้วแพ้ จะถูกด่าว่าเล่นไม่ดีด้วยคำพูดต่างๆ รวมถึงมีการนำภาพไปตัดต่อทำให้เสียหาย เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้ก็มียูทูบเบอร์ นักบาสเกตบอลเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายจากการถูกไซเบอร์บูลลี่ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องนี้
ปิดท้ายด้วย นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวแนะนำคนที่ถูกบูลลี่ว่า ให้เริ่มบอกว่าไม่ชอบนะ ขอให้หยุด หากหยุดไม่ได้ ต้องเก็บข้อมูล หรือหนีไป ตรงนี้อาจมีคนบอกให้ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ก็ให้ระวังว่าจากผู้ถูกกระทำ เราจะเป็นผู้กระทำเสียเอง หรือกลายเป็นคนที่บูลลี่กลับเสียเอง และอยากบอกว่ากำลังใจของตัวเอง กำลังใจจากคนรอบข้าง จะทำให้เราก้าวข้ามตรงนี้ไปได้
“ต้องสอนตั้งแต่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ต เริ่มเล่นเกมว่า ในประโยชน์ก็มีโทษแฝง อย่างสอนว่าอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างไร ใช้อย่างไรได้บ้าง เช่น อ่านเนื้อหาข่าวสาร ซึ่งจะต้องสอนต่ออีกว่ามีข่าวสารปลอม หรือเฟคนิวส์ด้วย อินเตอร์เน็ตยังเอาไว้พูดคุยติดต่อกับเพื่อน หาเพื่อนใหม่ แต่อินเตอร์เน็ตก็สามารถตัดเพื่อนได้เช่นกัน หากสื่อสารไม่ดี นี่เป็นการบอกประโยชน์และโทษ”
นพ.วรตม์มองว่าการแก้ปัญหาบูลลี่ต้องใช้เวลา เพราะเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่มีรากของปัญหาคือ การไม่สามารถยอมรับความแตกต่างของคนได้ เช่น เตี้ย ดำ ผอม อ้วน ที่ถูกบอกสมัยเด็กๆ การที่เราทักกันอย่างนี้ เราไม่เข้าใจว่าคือการบูลลี่ ทำให้คนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นต้องเริ่มตั้งแต่คนเจนนี้ หากมีลูกหลาน ต้องสอนว่ามันไม่ใช่การทักทายที่ปกตินะ ทุกคนมีความเท่าเทียม มีความแตกต่าง ต้องทำกันทุกคน ทุกคนเพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต
“อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก หากลูกมาปรึกษาว่าถูกบูลลี่ อย่าบอกเพียงให้เลิกเล่นโซเชียลไป เพราะโซเชียลคือส่วนหนึ่งของยุคนี้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่เจอ ช่วยลูก เขาก็จะไม่หวนจากผู้ถูกแกล้ง เป็นผู้แกล้ง จริงๆ การถูกบูลลี่ก็เหมือนมีคนขว้างขยะใส่เรา ขยะมันเหม็น เราจะรับไว้ หรือไม่รับ บางคนอาจรับไว้ นำไปเผาเหมือนเตาจัดการขยะ เสมือนสร้างไฟให้ตัวเอง แต่จะเป็นอย่างนี้ได้ก็อาจต้องปรับความคิด” นพ.วรตม์กล่าวทิ้งท้าย