Thailand Sport Magazine Sponsored

“ลูเซีย แฮร์ริส” ราชินียัดห่วงที่ถูกลืม / MVP

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

งานประกาศผล อคาเดมี อวอร์ดส ครั้งที่ 94 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปราว 2 วันก่อน ตามเวลาไทย ถูกพูดถึงแค่โมเมนต์ วิลล์ สมิธ นักแสดงวัย 53 ปี เดินขึ้นเวทีตบหน้า คริส ร็อค พิธีกร ข้อหาเล่นมุกเสียดสีภรรยาที่เคารพ เกี่ยวกับทรงผมสกินเฮด ซึ่งเกิดจากอาการป่วย ถ้าดูคลิปช่วงแรกๆ สมิธ ก็ยังนั่งหัวเราะอยู่ดีๆ พอเห็นภรรยาชักสีหน้า อาจจะเกิดอารมณ์ชั่ววูบ บ้างก็ว่าการบูลลีคนอื่นเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจ บ้างก็ว่าการใช้กำลังแก้ปัญหาเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง สำหรับผมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะเรื่องความคิดเห็นไม่มีถูกหรือผิด

ย้อนกลับไปปี 2018 โคบี ไบรอันท์ การ์ดระดับตำนาน แอลเอ เลเกอร์ส ขึ้นเวทีคว้า ออสการ์ จากผลงานภาพยนตร์สั้นอนิเมชัน “Dear Basketball” คราวนี้ ชาคิลล์ โอ’นีล เซ็นเตอร์ไซคู่หูของเขา กับ สตีเฟน เคอร์รี การ์ดจอมแม่น โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส เป็น 2 บุคลากรรายล่าสุดของลีกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ที่ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน ในฐานะ Executive producerของภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม “The Queen of Basketball” กำกับโดย เบน พราวด์ฟุต

ลูเซีย หรือ ลูซี แฮร์ริส เป็นนักบาสเกตบอลพรสวรรค์สูงคนหนึ่งในยุคของเธอ เป็นผู้เล่นที่ทำสกอร์แรกของ ทีมชาติ ระดับโอลิมปิก ความโด่งดังของเธอระดับนานาชาติค่อยๆ เลือนหาย เนื่องจากยังไม่มีกีฬาอาชีพสำหรับผู้หญิง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งเธอเป็นผู้หญิงคนแรกซึ่งถูกแฟรนไชส์ของ NBA คัดเลือกอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1977 ก่อนหน้าชาย 33 คน รวมดราฟต์รอบ 8 ของ แจซซ์ เดฟ สเปลเชอร์ จาก มหาวิทยาลัยโทเลโด แต่เธอปฏิเสธเนื่องจากตั้งครรภ์

ลูซี เติบโตที่รัฐมิสซิสซิปปี เด็กคนอื่นๆ มักล้อเลียนเธอเกี่ยวกับรูปร่างที่สูงยาว 6 ฟุต 3 นิ้ว (ประมาณ 191 เซนติเมตร) แต่ปกปิดความเจ็บปวดรวดร้าวด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เธอเล่นกีฬาบาสเกตบอลด้วยใจรัก โดยไม่สนใจเงินทอง, อิทธิพล หรือชื่อเสียง เธอรู้ดีว่าคงจะไม่มีโอกาสโด่งดังเทียบเท่าไอดอลของตัวเองอย่าง ออสการ์ โรเบิร์ตสัน, วิลท์ แชมเบอร์เลน และ คารีม อับดุล-จับบาร์

ปูมหลังของ ลูซี ยังบอกเล่าเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของ สหรัฐอเมริกา สมัยเธอเป็น “เฟรชแมน” ของ เดลตา สเตท และเริ่มเล่นบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัย เมื่อปี 1973 เพียง 1 ปี นับตั้งแต่ ริชาร์ด นิกซัน ประธานาธิบดี เซ็นอนุมัติกฎหมายที่มีชื่อว่า “Title IX” ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ รวมถึงนักศึกษาหญิงต้องได้รับโอกาสด้านกีฬาเท่าเทียมนักศึกษาชาย

ฤดูกาลต่อมา (1974-75) เธอแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เหนือกว่าคนอื่นๆ เธอดึงความสนใจสู่มหาวิทยาลัยอย่างล้นหลาม กระทั่งทีมบาสเกตบอลหญิง สามารถเดินทางด้วยเครื่องบิน ขณะที่ ทีมบาสเกตบอลชาย ต้องนั่งรถบัส และทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นยัดห่วงสาวระดับซูเปอร์สตาร์คนแรก พา เดลตา สเตท คว้าแชมป์ประเทศ 3 สมัยติดต่อกัน ปี 1975-1977 ตลอดจนช่วย ทีมชาติสหรัฐอเมริกา คว้าเหรียญเงิน โอลิมปิก 1976 ที่เมืองมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา

ลูซี ถูก นิว ออร์ลีนส์ แจซซ์ คัดเลือก เมื่อปี 1977 แต่ปฏิเสธเข้าเทรนนิง แคมป์ เพื่อเป็นสมาชิกของทีมชาย และดวลฝีมือกับผู้เล่นชาย ด้วยเหตุผลว่าตั้งครรภ์ บวกกับทางเลือกของนักกีฬาหญิงผิวสีค่อนข้างจำกัด เธอจึงเลือนหายไปจากความทรงจำแฟนๆ บาสเกตบอล และรับงานเป็นผู้ช่วยโค้ชทีมหญิง มหาวิทยาลัย เดลตา สเตท จากนั้นเธอกลายเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรก ซึ่งได้รับการบรรจุเข้าหอเกียรติยศ เมื่อปี 1992 และเข้าสู่หอเกียรติยศบาสเกตบอลหญิง ปี 1999

ภาพยนตร์สารคดีสั้นชุดนี้สร้างขึ้นภายใต้งบประมาณจำกัด แต่มีบทบาทสำคัญต่อการเล่าขานตำนานของ “ควีน ลูซี” แก่ชนรุ่นหลัง ถึงความเป็นสุดยอดของเธอ และได้รับความสนใจจากคนนับล้าน บวกกับรางวัล อคาเดมี วอร์ด รับประกันคุณภาพ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงผู้ชมกว้างขวางยิ่งขึ้น ติดแค่เพียง ลูซี เสียชีวิตไปตั้งแต่ วันที่ 18 มกราคม 2022 รวมอายุ 66 ปี คาดว่าสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงไม่ได้สัมผัสความสำเร็จของภาพยนตร์สารคดีของเธอ

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.