ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
นายแพทย์หนุ่มที่กำลังประสบความสำเร็จในชีวิตและความรัก กลับตรวจพบเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ทั้งที่ดูแลสุขภาพดี เป็นนักกีฬา และไม่สูบบุหรี่ จึงตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก เพื่อนำเรื่องราวการต่อสู้กับโรคร้าย เป็นกำลังใจให้เหล่าคนที่สู้ชีวิต
อาจารย์นายแพทย์ กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์แพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการพบว่าตนเองเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ในช่วงอายุที่กำลังมีความสุข กำลังจะแต่งงาน กำลังประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งโพสต์ต่าง ๆ ของเขา มีผู้แชร์ในสังคมออนไลน์หลายหมื่นถึงหลายแสนครั้ง
“ผมกำลังจะแต่งงาน กำลังจะซื้อบ้าน แล้วผมก็เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย” กฤตไท ระบุผ่านเพจ “สู้ดิวะ” ที่เขาสร้างขึ้นในวันเดียวกับที่เริ่มเผยแพร่บทความ ในวันที่ 10 พ.ย. 2565 และกลายเป็นเพจที่มีผู้ติดตามเกือบ 300,000 คน ภายในข้ามคืน
คนรักของ อ.นพ. กฤตไท บอกกับบีบีซีไทยว่า ตอนนี้ เขากำลังอยู่ในกระบวนการรักษา แต่อนุญาตให้บีบีซีไทยนำเรื่องราวมาเผยแพร่ได้
และนี่คือเรื่องราวของ อ.นพ. อนาคตไกล ไม่สูบบุหรี่ ทานอาหารสุขภาพ และใช้ชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่คนหนึ่งจะดีได้ และแม้จะพบว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย “ผมไม่เสียดายชีวิตที่ผ่านมาเลย” เพราะ “มันคงจะดีมาก ๆ ถ้าการที่ชีวิตสั้นลงของผมสามารถเป็นกำลังใจ เป็นพลังให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อ”
ชีวิต อ.นพ. กฤตไท ธนสมบัติกุล
เขาเล่ารายละเอียดผ่านโพสต์บทความแรกในเพจ “สู้ดิวะ” มีคนแชร์เกิน 100,000 ครั้งว่า เขาเกิดในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับแม่และน้องสาวเป็นหลัก หลังครอบครัวตัดสินใจแยกกันอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เขาต้องเป็นผู้ใหญ่
หลังเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขาสอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. และย้ายมาอยู่ในภาคเหนือ สร้างสังคมใหม่กับเพื่อนสนิทมากมาย และเรียนรู้วัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นนักบาสเกตบอลของคณะแพทย์ มช. เขาจึงใส่ใจการดูแลสุขภาพและออกกำลังกายมาก
หลังศึกษาจบคณะแพทย์ศาสตร์ใช้เวลา 6 ปี ตามกำหนด เขาศึกษาต่อสาขาเฉพาะทางในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ใช้ทุนกับศึกษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
“ที่สำคัญคือทำไม ผมถึงเลือกที่เมื่อเรียนจบแล้ว ผมกลับไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะหมอแฟมเมด (Family Medicine) แต่กลับย้ายมาทำงานสายระบาดวิทยาคลินิก” พร้อมเสริมว่า เขาศึกษาเฉพาะทางควบกันสองสาขา คือ ระบาดวิทยาคลินิกด้วย
ช่วงชีวิตวัยเลขสองของ อ.นพ. กฤตไท ทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างเต็มที่ เพราะไม่เพียงศึกษาจบแพทย์ปริญญาตรี และแพทย์เฉพาะทางอีก 2 สาขา เขาศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิทยาการข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกใบ ระหว่างศึกษาแพทย์เฉพาะทางดังกล่าว
จนปัจจุบัน ได้รับบรรจุเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มช. และเริ่มงานได้สองเดือน ก่อนที่จะโพสต์ในวันที่ 10 พ.ย. ว่า
“หลังจากผ่านการลงทุนในตัวเองมาอย่างหนักหน่วง ผมได้เริ่มวิ่งตามความฝันอย่างเต็มที่ เดินตามแผนที่วางไว้ได้อย่างงดงาม” แต่ในช่วงเวลาที่กำลังจะแต่งงานกับคนรัก และซื้อบ้าน เขากลับพบว่า “ผมก็เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายครับ”
ไทยพบมะเร็งปอดมากที่สุด
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุในบทความของ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่เพียงเท่านั้น หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้ แม้ไม่สูบบุหรี่
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งปอด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และ เป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) การตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งปอดในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง
สำหรับสัญญาณเตือนเป็นมะเร็งปอดนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีอาการน่าสงสัยดังนี้
- ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์
- ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก
มะเร็งปอดมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน แบ่งออกเป็นตามขนาดของเซลล์ ซึ่งมีความสำคัญเพราะมีวิธีรักษาแตกต่างกัน
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
ไม่สูบบุหรี่ สุขภาพดี อายุยังน้อย ทำไมถึงเป็นมะเร็ง
อ.นพ. กฤตไท เผยแพร่ภาพการเอกซเรย์ปอดเมื่อปี 2562 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน แสดงให้เห็นว่า แทบไม่มีอะไรผิดปกติ
“ผมมีสุขภาพที่โคตรแข็งแรง การงานที่โคตรมั่นคง และมีอนาคตสดใส” แต่แล้ว “ผมก็จั่วได้การ์ดที่ชื่อว่า มะเร็งระยะสุดท้าย… มนุษย์เรามันโคตรเปราะบางเลย”
ภาพเอกซเรย์ล่าสุด แสดงให้เห็นว่า ปอดด้านขวาของ อ.นพ. กฤตไท หายไปครึ่งหนึ่ง “มีก้อนขนาดใหญ่ถึง 8 ซม. และมีน้ำในปอดร่วมด้วย” ไม่เพียงเท่านั้นยังเห็นสัญญาณการกระจายของเซลล์มะเร็ง เพราะพบก้อนเล็ก ๆ ในปอดซ้ายอีกหลายก้อน
เขาระบุว่า ถ้าสภาพปอดเป็นเช่นนี้ น่าจะเหนื่อยเวลานั่งคุย และสอนหนังสือ แต่อันที่จริง วันก่อนจะเอกซเรย์ เขายังไปเล่นบาสเก็ตบอลในระดับการแข่งขันกีฬาได้ แม้จะยอมรับว่า ความ “ฟิต” ช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้า ลดลงไปบ้าง
“เอกซเรย์แบบนี้ มันคือมะเร็งปอดระยะลุกลาม… จากฟิล์มยังบอกไม่ได้ว่ากระจายไปที่อวัยวะอื่นไหม” อ.นพ. กฤตไท อธิบายในโพสต์อย่างละเอียด
“มันไม่ใช่การติดเชื้อ และมันไม่ใช่โรคธรรมดา ถึงจะคิดว่าตัวเองอายุน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง”
เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทีมวิจัยสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ค้นพบว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริง แม้ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่พฤติการณ์การก่อมะเร็งของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะไม่ใช่การสร้างความเสียหายต่อเซลล์ปอด แต่เป็นการกระตุ้นหรือปลุกเซลล์เก่าที่เสียหายขึ้นมา จนนำมาสู่การกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง
ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ สแวนตัน หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า “ความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดจากมลพิษทางอากาศ มีน้อยกว่าการสูบบุหรี่ แต่เพราะมนุษย์ควบคุมการหายใจของตนเองไม่ได้ และทั่วโลก ผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศมากขึ้นกว่า การสูดสารเคมีที่เป็นพิษจากควันบุหรี่”
โรงพยาบาลพญาไท เผยแพร่บทความว่าด้วย “ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้” โดยระบุว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งปอด ไม่จำกัดเพียงการสูบบุหรี่อีกต่อไป แต่ก่อตัวขึ้นได้จากการได้รับสารและเคมีต่าง ๆ เช่น
- สารเรดอน เป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ ของมนุษย์ สารนี้นับเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในมนุษย์เป็นอันดับที่สอง รองจากสารต่างๆ ในบุหรี่
- แร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส เป็นสารก่อมะเร็งที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งโทษและพิษภัยของแร่ใยหินนั้นก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ไต และโรคมะเร็งที่มีชื่อว่า Mesothelioma สารนี้พบได้ในกระเบื้องมุงหลังคาแบบลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ และพลาสติกขึ้นรูปต่างๆ
- สารเคมีหนัก
- การสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ตัว
- พันธุกรรมที่ผิดปกติ
ในบทความเดียวกัน ผศ.นพ. ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอด โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า “มีรายงานการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดในทวีปเอเชียนั้น 30-40% เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน โดยมากกว่า 50% ของเพศหญิงนั้นไม่เคยสูบบุหรี่ ซึ่งแตกต่างจากประเทศในฝั่งทวีปยุโรป ซึ่งมีเพียงแค่ 10-20% เท่านั้นที่ไม่เคยสูบบหรี่ แต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอด”
เปิดเพจเพื่อเป็นกำลังใจ
หลังพบว่าตนเองเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม ที่ “ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกแล้วก็หายขาดได้” อ.นพ. กฤตไท กล่าวติดตลก ว่า “บรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ได้ 2 เดือน ก็ได้ตั๋วเลื่อนขั้นเป็นอาจารย์ใหญ่เฉยเลย” แต่ยอมรับว่า ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
อ.นพ. กฤตไท พยายามตรวจซ้ำเพื่อความแน่ชัด ทั้งการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผ่าตัดเข้าไปเพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจ และตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ซึ่งผลออกมาตรงกันว่าเป็นมะเร็งปอด
ตอนนี้ เขากำลังเข้ารับการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และได้ฉายแสงที่ศีรษะทันทีที่เจอก้อนเนื้อ โดยเป้าประสงค์ของการเปิดเพจ “สู้ดิวะ” ก็เพื่อให้กำลังใจกับคนอื่น ๆ ว่า แม้จะวางแผนชีวิตไว้ดีแค่ไหน ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันได้
“ถ้าคนแบบผมเป็นมะเร็งได้ ทุกคนมีโอกาสเป็นได้จริงๆครับ โลกเราตอนนี้มันไม่ปกติครับ ทั้งมลภาวะ อากาศ น้ำ รังสีต่างๆ ยีนส์เรามันพร้อมกลายพันธุ์ครับ” ส่วนเวลาที่เหลืออยู่เป็นเดือนหรือหลายปี หรือจะรักษาได้แค่ไหน เขาระบุว่า ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ แต่เขาและคนรักพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่ ทั้งการรักษาด้วยรังสี การผ่าตัด ยากระตุ้นภูมิ เคมีบำบัด และรังสีรักษา รวมถึงต้องผ่านการติดโควิดในช่วงที่พบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดด้วย
ต่อจากนี้ในโลกสังคมออนไลน์ สิ่งที่เขาต้องการคือ “ฝากบางอย่างไว้ให้กับโลกที่อาจจะไม่น่ารักกับผมเท่าไร… เผื่อถ้าวันหนึ่งที่ผมไม่อยู่แล้ว ตัวตนของผมจะอยู่ตลอดไป”
สำหรับชีวิตที่ผ่านมานั้น เขาไม่มีความเสียใจ เพราะ “ใช้ชีวิตมาได้น่าพอใจมาก”
“ไม่ได้รู้สึกว่า รู้งี้ทำแบบนั้นตอนนั้นดีกว่า หรือย้อนกลับไปเปลี่ยนทางเดินชีวิตอะไรเลย ไม่ได้อยากไปเที่ยวรอบโลก ไม่ได้อยากขับซูเปอร์คาร์ ไม่ได้อยากมีอะไรที่มากไปกว่าที่ชีวิตตอนนี้มีอยู่เลย ผมมีชีวิตที่ดีมากแล้วจริง ๆ”
“28 ปีที่ผ่านมาของผม มันยอดเยี่ยมและมีคุณค่ามากพอที่จะเรียกว่าชีวิตที่มีความหมายแล้ว”