คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ลงมติรับ มวยไทย และ สหพันธ์กีฬามวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ อย่างเป็นทางการ ปูทางลุ้นบรรจุเข้าชิงชัย โอลิมปิกเกมส์ ในอนาคต
วันที่ 20 ก.ค. 2564 มร.โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เป็นประธานในการประชุมสมัชชาใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 138 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโอกุระ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยงานนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงไทย ซึ่งเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมๆ กับคณะกรรมการบริหารคนอื่นๆ ด้วย
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ กล่าวว่า สำหรับวาระสำคัญของงานประชุมสมัชชาใหญ่ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 138 อยู่ที่การโหวตลงมติอย่างเป็นทางการให้ สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) ได้รับรองอย่างเป็นทางการ ให้เป็นสหพันธ์กีฬานานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ถือเป็นการปูทางไปสู่การบรรจุแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตข้างหน้า ร่วมกับสหพันธ์เชียร์นานาชาติ, สหพันธ์แซมโบ้นานาชาติ, สหพันธ์ไอซ์สต็อคสปอร์ต, สมาคมองค์กรบ็อกซิ่งโลก และ เวิลด์ ลาครอส
สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรือ “อิฟมา” ก่อตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ก้าวไกลของสุภาพบุรุษกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีกลุ่มสุภาพสตรีเข้าร่วมด้วย โดยมีเป้าหมายรวมมวยไทย ที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นให้มาอยู่ภายใต้กฎกติกาอันเดียวกัน โดยปี 2549 มวยไทยกลายเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ หลังได้รับการเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยขยับอยู่ในฐานะเดียวเทียบเท่ากับฟีฟ่า (FIFA) ของวงการฟุตบอล, ฟีบา (FIBA) ของบาสเกตบอล และ ฟีนา (FINA) ของกีฬาว่ายน้ำ โดยการรับรองจากสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ (General Association of International Sports Federations : GAISF) ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “มวยไทย” และอยู่ภายใต้การดูแลของ “อิฟมา”
ในปี 2555 อิฟมา ประกาศตัวให้สังคมโลกและโอลิมปิกได้รับทราบถึงความตั้งใจ ก่อนจะยื่นขอการรับรองชั่วคราวจากไอโอซี และได้รับการรับรองในปี 2559 หลังผ่านเกณฑ์สำคัญทั้งหมด 54 ข้อใน 8 หมวด ก่อนที่ล่าสุดจะได้รับการรับรองอย่างเต็มรูปแบบในที่ประชุมสมัชชาใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 138 ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่การผลักดันให้กีฬามวยไทยให้ยิ่งเป็นที่รู้จัก ให้บรรลุเป้าหมายสำหรับการจัดให้มีชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมอำนวยการขับเคลื่อนกีฬามวยไทยสู่โอลิมปิก และคณะอนุกรรมการดำเนินการการขับเคลื่อนกีฬามวยไทยสู่โอลิมปิก เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไอโอซีได้รับรองมวยไทยและอิฟมาให้เข้าเป็นสมาชิกถาวร ตนในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการ คณะรัฐบาล และประชาชนชาวไทย รู้สึกภาคภูมิใจ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
“ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานไอโอซี โธมัส บาค รวมถึงคณะกรรมการทุกท่าน ที่ได้ให้การยอมรับกีฬามวยไทยในครั้งนี้ ผมอยากจะขอชื่นชมอิฟมา และสมาชิกทั้ง 146 ประเทศ ที่ได้ร่วมมือกัน ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของโอลิมปิก จนได้รับความไว้วางใจอย่างดีจากไอโอซี ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะส่งเสริมมวยไทย และสนับสนุนการดำเนินงานของอิฟมา อย่างเต็มที่ เพราะพวกเรามีเป้าหมายร่วมกัน คือ การผลักดันให้กีฬามวยไทยได้บรรจุเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ภายในอนาคตอันใกล้” พล.อ.ประวิตร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานอิฟมา เปิดเผยว่า ตนต้องขอขอบคุณ สำนักงานระหว่างประเทศของอิฟมาเป็นพิเศษ ซึ่งนำโดยผู้อำนวยการ ชาริสซ่า ไทนัน ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ได้จริง และมีการจัดทำเอกสารในแอปพลิเคชันที่มีความหนากว่า 1,000 หน้า เพื่อแสดงให้ไอโอซีได้เห็นถึงความสอดคล้องของเรากับวาระโอลิมปิก 2020
ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รองประธานอิฟมา เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารอิฟมา ที่ทำงานอย่างหนัก และคณะกรรมการจัดการพิเศษที่ช่วยกันเสนอแนวคิดและทบทวนกระบวนการในการสมัครเพื่อให้ได้รับการรับรอง รวมถึงให้การสนับสนุนเพื่อรวบรวมเอกสารต่างๆ ในการสมัคร ทั้งนี้ ผู้มีส่วนร่วมกับอิฟมาทุกฝ่ายและนักกีฬาจากประเทศสมาชิก จำนวน 146 ประเทศ ที่ได้แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อไอโอซี ซึ่งนำโดย โธมัส บาค ประธานไอโอซี ที่ให้ความเชื่อมั่นในอิฟมา และขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับหน่วยงานต่างๆ ของไอโอซีที่ให้ความร่วมมือและคำแนะนำตลอดระยะเวลาที่ทำการยื่นขอคำรับรอง
รองประธานอิฟมา ยังกล่าวขอบคุณประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการมวยไทย, สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการของอิฟมาในฐานะประธานของ AIMS (Alliance of Independent Recognised Members of Sport) โดยที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยผลักดันให้กีฬาที่อยู่ภายใต้การดูแลของ AIMS ให้ได้การรับรองมากเป็นสถิติถึง 6 ประเภท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดที่ได้รับการรับรองในการประชุมคราวเดียวกันของคณะกรรมการบริหารไอโอซี