“พาราลิมปิก” 8 ศิลปินญี่ปุ่น ถ่ายทอดหัวใจอันยิ่งใหญ่ของนักกีฬาผู้พิการไว้ในงาน “ศิลปะ” แห่งมหกรรม โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์
นับตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Organising Committees of the Olympic Games) ริเริ่มจัดทำ ภาพโปสเตอร์ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์และโฆษณาการกีฬาและวัฒนธรรมที่มาพร้อมมหกรรมการแข่งขันกีฬาอันยิ่งใหญ่ของโลก
โปสเตอร์โอลิมปิก และ โปสเตอร์พาราลิมปิก ยังแสดงบทบาทของ ความคิดและเสียงสะท้อน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ณ เวลานั้น ผ่านเกมกีฬาให้โลกได้รับรู้ในแต่ละช่วงเวลาที่จัดการแข่งขัน
(แถวบนจากซ้าย) อากิระ ยามะกุชิ, อาซาโอะ โทโคโละ, ชิฮิโระ โมริ, ฮิโระฮิโกะ เอรากิ, (แถวล่าง)โคจิ คากินุมะ, มิกะ นินะงาวะ, โทโมยูกิ ชินกิ, Goo Choki Par
สำหรับการแข่งขัน โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ (Tokyo 2020 Paralympic Games) คณะกรรมการพาราลิมปิกญี่ปุ่นเชิญศิลปินชาวญี่ปุ่นร่วมสืบต่อและสร้างสรรค์ ภาพโปสเตอร์ ไว้จำนวน 8 ผลงาน ซึ่งมีแรงบันดาลใจจาก พาราลิมปิก เกมส์ ลองมาติดตามชม พวกเขาพูดถึงอะไรไว้บ้าง
ภาพโปสเตอร์ Horseback Archery
ชื่อผลงาน : Horseback Archery
ผู้สร้างสรรค์ : Akira Yamaguchi (จิตรกร)
Akira Yamaguchi (อากิระ ยามะกุชิ) เป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงในการ เขียนภาพแนววัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัย เขาตั้งชื่อผลงานภาพเขียนชิ้นนี้ว่า Horseback Archery เป็นภาพสตรีนักยิงธนูกำลังควบม้าอยู่ในท่าเตรียมยิงธนู ซึ่งการยิงธนูบนหลังม้ายังไม่ได้รับการบรรจุไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก
สตรีนักยิงธนูนางนี้ทำผมและสวมใส่เครื่องแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม ด้วยความที่ปราศจากแขนทั้งสองข้าง เธอจึงใช้เท้าข้างหนึ่งบังคับคันธนู ใช้ปากดึงลูกธนู อยู่ในท่าเตรียมยิง
ส่วนม้าในภาพเขียนนี้ก็มีลักษณะพิเศษ อากิระบรรยายไว้ว่า ม้าตัวนี้ได้รับบาดเจ็บจนกระดูกร้าว เฉพาะลำตัวม้าจึงได้รับการทดแทนด้วยกลไกของรถจักรยานยนต์ผสมกับรูปลักษณ์ของเก้าอี้ล้อเข็นคนไข้ (wheelchair)
มร.อากิระ วาดภาพนี้โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ มร.โตมิฮิโระ โฮชิโนะ (Tomihiro Hoshino) ครูสอนยิมนาสติก วันหนึ่งในปีพ.ศ.2513 ขณะกำลังสาธิตท่าตีลังกา double somersault ให้เด็กนักเรียนระดับมัธยม เขาประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บที่คอ ส่งผลให้ร่างกายเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงไปในวัย 24 ปี นับจากวันนั้น
ต่อมาในปี 2515 ขณะพักรักษาตัว เพื่อนซึ่งมาเยี่ยมได้วางช่อดอกไม้ทิ้งไว้ที่หน้าต่าง เป็นภาพที่สวยงามมาก การได้เห็นภาพนี้ทุกวัน ทำให้เขาสดชื่น มีกำลังใจ รู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้า เขาอยากอธิบายความรู้สึกอันเข้มแข็งภายในจิตใจนี้ จึงเริ่มพยายามหัดวาดรูปดอกไม้ด้วยการคาบดินสอไว้ด้วยปาก
กระทั่งในปี 2522 เมื่อผลงานมีจำนวนมากพอ ภาพวาดรูปดอกไม้ของเขาที่เกิดจากการคาบดินสอด้วยปาก ก็ได้รับการจัดแสดงเป็นนิทรรศการครั้งแรก ทุกภาพได้รับการจับจองเป็นเจ้าของขายหมดในครั้งนั้น ปัจจุบัน มร.โตมิฮิโระ อดีตครูสอนยิมนาสติกได้กลายเป็นศิลปินวาดรูปที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของญี่ปุ่น
ส่วนฉากหลังของภาพ Horseback Archery เป็นภาพวาดหมู่ตึกสูงในโตเกียวและเมืองฟุกุชิมะ (Fukushima) หลังได้รับการฟื้นฟูจากมหาภัยพิบัติสึนามิจนเกิดปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาทิ รูปนกทะเลกำลังโบยบิน ความเสียหายของหลังคาที่ถูกคลุมด้วยพลาสติกสีฟ้าเหมือนเป็นจุดหลายๆ จุดเรียงต่อกัน ถังบำบัดน้ำปนเปี้อน
ฟุกุชิมะ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจัดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกและจุดตั้งต้นวิ่งคบเพลิง
ภาพโปสเตอร์ Harmonized Chequered Emblem Study for Tokyo 2020 Paralympic Games
ชื่อผลงาน : Harmonized Chequered Emblem Study for Tokyo 2020 Paralympic Games
ผู้สร้างสรรค์ : Asao Tokolo (นักศิลปะ)
โปสเตอร์ภาพนี้คือตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ เกิดจากการวางรูปสี่เหลี่ยมหลายขนาดเชื่อมต่อกันตรงมุม ทำให้เกิดรูปรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนจำนวนมาก จากนั้นก็ลากเส้นเชื่อมจากจุดกึ่งกลางแต่ละด้านของสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทำให้วงกลมดูมีมิติ และสวยงามมาก
การจัดวางรูปสี่เหลี่ยมแต่ละรูปทำให้เกิด ‘รูปทรง’ ซึ่งเป็นไปตามกฎ วางแบบนี้ย่อมเกิดรูปทรงแบบนี้ แต่การลากเส้นเชื่อมจุดกึ่งกลางทำให้เกิดมุมมองใหม่ รูปสี่เหลี่ยมหลายขนาดเป็นตัวแทนความแตกต่างของวัฒนธรรม-วิธีคิดของแต่ละประเทศ แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันได้
มร.อาซาโอะ โทโคโละ (Asao Tokolo) ตั้งชื่อรูปแบบที่เขาสร้างขึ้นนี้ว่า Kumi-ichimatsu-mon โดยศึกษาและได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างลายตารางสี่เหลี่ยมแบบญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ichimatsu moyo (อิชิมัตสึ โมโย) คือการนำรูปสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันและสามารถสร้างเป็นภาพต่างๆ ได้ไม่รู้จบ
โปสเตอร์ภาพนี้ยังพิมพ์ด้วยหมึกสีครามของญี่ปุ่นที่ทนทานต่อสภาพอากาศ
ภาพโปสเตอร์ Beyond the Curve (Five Thousand Rings)
ชื่อผลงาน : Beyond the Curve (Five Thousand Rings)
ผู้สร้างสรรค์ : Chihiro Mori (จิตรกร)
ชิฮิโระ โมริ (Chihiro Mori) เป็นศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 28 ปี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Nagoya of Arts ทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน ช่างภาพ และกราฟิกดีไซเนอร์ในญี่ปุ่น มีผลงานจัดแสดงนิทรรศการแล้วหลายครั้ง
ภาพนี้ ชิฮิโระ ใช้สีอะคริลิควาดลงบนผืนผ้าใบ ขนาด 73 x 86 เซนติเมตร ภาพสีสันสดใสที่มีโครงสร้างซ้อนเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยตัวแทนของ สายลม, เมืองที่เต็มไปด้วยพลังงาน และ เรือนร่างมนุษย์
ศิลปินบอกว่า เมื่อมองภาพนี้ คุณอาจรู้สึกถึงสี่แยกกลางถนนในกรุงโตเกียวอันพลุกพล่านไปด้วยจังหวะฝีเท้า แต่สัญลักษณ์ที่เธอตั้งใจใส่ไว้มากเป็นพิเศษคือ “ส่วนโค้ง” (curve) ที่โอบกอดเมืองเอาไว้ เป็นทางโค้งของสี่แยกและทางด่วนต่างๆ ที่พาดผ่านอยู่ในกรุงโตเกียว กับทางโค้งของสนามกรีฑาที่บรรดานักวิ่งต้องวิ่งผ่าน
ศิลปินบอกด้วยว่า ส่วนโค้งหรือทางโค้งยังเปรียบเสมือน “จุดเปลี่ยนของชีวิต” คุณมองไม่เห็นว่ามีอะไรรออยู่หลังทางโค้ง อาจเป็นความหวัง หรือไม่มีอะไรรออยู่ก็ได้ แต่คุณยังคงต้องก้าวไปช้างหน้าเพื่อหาคำตอบ คุณต้องผ่านทางโค้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือผู้มีร่างกายปกติ เธอจึงตั้งชื่อภาพนี้ว่า Beyond the Curve (Five Thousand Rings)
ภาพโปสเตอร์ Paralympian
ชื่อผลงาน : Paralympian
ผู้สร้างสรรค์ : Goo Choki Par (กราฟิก ดีไซเนอร์)
โปสเตอร์ภาพนี้สร้างสรรค์ขึ้นจากนิยามคอนเซปต์การจัดการแข่งขัน “โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์” นั่นก็คือ Moving Forward (การก้าวไปข้างหน้า) ซึ่งขยายความได้ว่า ความมุ่งมาดปรารถนาของมนุษย์เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้ขจัดขีดจำกัดทางร่างกาย ความพิการ อีกทั้งยังก้าวข้ามขอบเขตของเชื้อชาติและเพศ
เป็นภาพโปสเตอร์ที่รวมองค์ประกอบของ ‘เค้าโครงรูปทรง’ ของผู้คนในท่วงท่าที่แสดงออกถึงความปราดเปรียว ความกระฉับกระเฉง
กราฟิกดีไซเนอร์ทีมนี้พยายามประมวลทัศนคติเชิงบวกและการกระทำของผู้คนที่มองไปในอนาคต ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพกราฟิกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของรูปทรงที่เป็นตัวแทนของความบกพร่องทางร่างกาย ความแตกต่างของเชื้อชาติ เพศ และความงดงามในจิตใจของผู้คนซึ่งยอมรับในความแตกต่างของตัวเอง โดยพยายามเอาชนะอุปสรรคที่เผชิญอยู่ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวของเกมกีฬานานาประเภท
ภาพโปสเตอร์ The Sky above The Great Wave off the Coast of Kanagawa
ชื่อผลงาน : The Sky above The Great Wave off the Coast of Kanagawa
ผู้สร้างสรรค์ :Hirohiko Araki (นักวาดการ์ตูนช่อง : Manga Artist)
ภาพนี้ ฮิโระฮิโกะ เอรากิ อธิบายว่า เขาจินตนาการถึง “เทพเจ้าแห่งการกีฬา” กำลังเหาะลงไปที่ประเทศญี่ปุ่นผ่านหมู่มวลก้อนเมฆที่ตั้งใจวาดให้มีเค้าโครงภาพคล้ายภาพ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ หรือ The Great Wave off Kanagawa ส่วนที่ตัดสินใจยากคือการให้สีภูเขาฟูจิ ในที่สุดเขาก็เลือกใช้สีเหลืองน้ำผึ้ง
ภาพ ‘คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ’ เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ กว้าง 10 นิ้ว ยาว 15 นิ้ว สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น คัตสึชิกะ โฮกูไซ (Katsushika Hokusai) เผยแพร่ครั้งแรกปีค.ศ.1832 ในยุคเอโดะ เป็นภาพคลื่นขนาดใหญ่ที่ถูกลมพัดเข้าใส่เรือประมงในจังหวัดคานางาวะ มีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิ มักมีผู้เข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นภาพของคลื่นสึนามิ ภาพจริงเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน ในนิวยอร์ก
ภาพโปสเตอร์ Open
ชื่อผลงาน : Open
ผู้สร้างสรรค์ : Koji Kakinuma (นักประดิษฐ์ตัวอักษร)
การประดิษฐ์ตัวอักษรมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 3,000 ปี และเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งของศิลปะและวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่น
นักประดิษฐ์ตัวอักษรชาวญี่ปุ่น โคจิ คากินุมะ บอกว่า เขาสำรวจประวัติศาสตร์การประดิษฐ์ตัวอักษรมาอย่างต่อเนื่อง และพยายามค้นหาเพื่อสร้างสรรค์อักษรประดิษฐ์ที่เป็นช่วงเวลาขณะนี้ของชาวญี่ปุ่น
สำหรับตัวอักษรที่โคจิร่วมสร้างสรรค์ในโครงการศิลปะ โตเกียว 2020 โอลิมปิกและพาราลิมปิก เกมส์ เขาเลือกตัวอักษรที่มีความหมายว่า Open (เปิด)
“ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของคุณเปิดรับจักรวาลอันกว้างใหญ่อย่างเต็มที่ ซึ่งผมเรียกว่าการระเบิดออก ใต้อักษรภาพของผมมีถ้อยคำของนักเขียนนักทฤษฎีศิลป์ ทาโระ โอคาโมโต (Taro Okamoto) ใช้อธิบายปรัชญาของเขา ผมมีจินตนาการว่า นักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกต้องฝึกซ้อมเพื่อให้ประสบความสำเร็จสูงสุดทุกวัน ผมจึงพูดกับตัวเองด้วยคำว่า Open open open ขณะที่ผมจรดพู่กันลงบนกระดาษ จนกระทั่งผมรู้สึกว่าตัวเอง ‘เปิด’ อย่างเต็มที่”
โคจิกล่าวด้วยว่า เขาหวังว่านักกีฬาและพี่เลี้ยงนักกีฬาในญี่ปุ่นที่เดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อร่วมมหกรรมการกีฬาอันยิ่งใหญ่ของโลกครั้งนี้ เช่นเดียวกับเราทุกคนที่ร่วมชมการแข่งขันจะเปิดใจกว้างเพื่อรับสิ่งที่เป็นไปได้ของตัวเอง เช่นนั้นแล้ว การฉลองเพื่อสันติภาพจึงจะสามารถส่งต่อไปยังคนอีกรุ่นในอนาคต
ภาพโปสเตอร์ Higher than the Rainbow
ชื่อผลงาน : Higher than the Rainbow
ผู้สร้างสรรค์ : Mika Ninagawa (ช่างภาพ / ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)
มิกะ นินะงาวะ (Mika Ninagawa) สร้างสรรค์ภาพโปสเตอร์โดยมีภาพของ เรนชิ โชไก (Renshi Chokai) นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลชายชาวญี่ปุ่นล่องลอยอยู่ในอวกาศ เป็นภาพที่เธอลั่นชัตเตอร์ด้วยตัวเอง
เรนชิ โชไก เกิดที่จังหวัดนางาซากิ (Nagasaki) พิการขาช่วงล่างมาตั้งแต่กำเนิด จำเป็นต้องตัดออกตอนอายุ 3 ขวบ และใช้ขาเทียมมาตั้งแต่ตอนนั้น พอขึ้นชั้นมัธยมเขาก็สมัครเป็นนักกีฬาเทนนิสทีมโรงเรียนและได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมทีมบาสเกตบอล เขาฝึกฝนอย่างหนักกับการเล่นกีฬาด้วยเก้าอี้รถเข็น
โอลิมปิกที่กรุงริโอ ปี 2016 เรนชิผ่านการทดสอบเข้าร่วมเป็นนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลวีลแชร์ที่อายุน้อยที่สุดในปีนั้น ปัจจุบันเรนชิ อายุ 22 ปี และตั้งความหวังว่า ‘โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์’ เขาจะสามารถร่วมพาทีมคว้าเหรียญได้สำเร็จ
‘นักกีฬาที่มีความพิการนั้นเก่งจริงๆ’ นี่คือความหมายอันเรียบง่ายที่มิกะต้องการสื่อสารผ่านโปสเตอร์ภาพนี้
มิกะบอกว่า เห็นได้ชัดว่า การทำจิตใจให้ว่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดงานที่สร้างสรรค์ได้ การปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติบ่อยครั้งก็เป็นแหล่งที่มาของสิ่งที่ยอดเยี่ยม
ภาพโปสเตอร์ Offense No.7
ชื่อผลงาน : Offense No.7
ผู้สร้างสรรค์ : Tomoyuki Shinki (นักวาดรูป)
โทโมยูกิ ชินกิ (Tomoyuki Shinki) อายุ 39 ปี เกิดที่โอซากะ (Osaka) เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น โทโมยูกิเป็นแฟนกีฬาที่เน้นการต่อสู้ปะทะกันด้วยพลกำลัง เช่น มวยสากล ยูโด มวยปล้ำ และมวยไทย ภาพวาดของเขาจึงมาจากฉากการแข่งขันจริงของกีฬาแต่ละประเภท เป็นภาพนักกีฬาที่กำลังเข้าต่อสู้กันตามเกม
ลายเส้นในภาพวาดของเขามีเอกลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้พลกำลังของมัดกล้ามเนื้อที่ใหญ่โต ความบิดเบี้ยวของร่างกาย อากัปกิริยาทุบ ดึง ชก คว้า พลิกไปพลิกมา
“ผมเลือกถ่ายทอดวีลแชร์บาสเกตบอล เพราะผมมีโอกาสชมการถ่ายทอดสดหลายครั้ง ซึ่งโดนใจผมมาก นักกีฬาซึ่งทุ่มเทเต็มความสามารถ การทำความเร็วบนวีลแชร์ที่ชวนตกตะลึง และความแข็งแกร่งของร่างกาย ทำให้เกมการแข่งขันตื่นเต้นอย่างที่สุด” โทโมยูกิ กล่าวถึงการออกแบบโปสเตอร์ครั้งนี้
ภาพโปสเตอร์ โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ ทั้ง 8 ภาพ
ภาพโปสเตอร์ โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์ ทั้ง 8 ภาพ จัดแสดงอยู่บริเวณโถงทางเข้า Museum of Contemporary Art ในกรุงโตเกียว โดยได้รับเกียรติจากนาง ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เดินทางมาเป็นประธานเปิดนิทรรศการ พร้อมศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน
คณะกรรมการพาราลิมปิกญี่ปุ่น นำภาพโปสเตอร์ทั้ง 8 ภาพนี้ ประยุกต์เป็นภาพบนสินค้าอีกหลายประเภท เช่น ถุงผ้า เสื้อยืด ปฏิทิน โปสการ์ด แฟ้ม สติกเกอร์ รวมทั้งผลิตซ้ำเป็น โปสเตอร์ และ โปสเตอร์ใส่กรอบ เปิดจำหน่ายให้เป็นสินค้าที่ระลึกประจำการแข่งขัน ร่วมกับ SOMEITY มาสคอตประจำการแข่งชัน “โตเกียว 2020 พาราลิมปิก เกมส์”
* * * * * * * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
‘โอลิมปิก 2020’ จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ
‘ญี่ปุ่น’ รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ 78,985 ตัน ทำ ‘เหรียญ’ รางวัล ‘โอลิมปิก’ 2020
โพเดียม ‘โอลิมปิก 2020’ สวยงามมากกว่าที่ตามองเห็น