Thailand Sport Magazine Sponsored

ปัญหาอันดำมืด : เบื้องหลังผลงานวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้ย่ำแย่สุดเหลือเชื่อในปี 2022

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัฒนธรรมด้านกีฬาเหนียวแน่น และคนเกาหลีก็ชื่นชอบที่จะเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วดินแดนคือ “วอลเลย์บอล”

เกาหลีใต้ ที่เป็นชาติหัวแถวในการเล่นกีฬานี้มาอย่างยาวนาน ผลงานระดับชาติของพวกเขาโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะในระดับเอเชียที่กวาดเหรียญรางวัลเป็นว่าเล่น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ถูกสื่อทั้งในและต่างประเทศโจมตีว่า พวกเขากำลังเข้าสู่ขาลงและไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะล่าสุดกับการแข่งขันรายการ เนชั่นส์ ลีก ที่พวกเขาแพ้รวดทั้ง 8 นัดตลอด 2 สัปดาห์ที่ลงแข่ง

เกิดอะไรขึ้นกับวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

ความมืดดำในวงการวอลเลย์เกาหลี

ในปี 2021 ที่ผ่านมา วอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากมีการทำแบบสำรวจจากชาวเกาหลีใต้ทั่วประเทศจากคำถามที่ว่า “กีฬาอะไรคือกีฬาที่ชื่นชอบมากที่สุด?” และ วอลเลย์บอล เอาชนะ เบสบอล และ บาสเกตบอล ไปแบบไม่มีใครคาดคิด

เหตุผลสำคัญมาจากความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้ที่คว้าตำแหน่งอันดับ 4 มาจากการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แบบเหนือความคาดหมาย เนื่องจากทีมชุดนี้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม

แต่ท่ามกลางความนิยม เกาหลีใต้ก็มีช่วงเวลาอันไม่น่าจดจำกับวงการวอลเลย์บอลเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการบูลลี่ของนักกีฬาทีมชาติอย่าง อี ดา-ยอง และ อี แจ-ยอง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 ซึ่งส่งผลกระทบมากกับภาพลักษณ์ที่ดีของวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้

ท่ามกลางเสียงชื่นชมของชาวเกาหลีกับความสำเร็จของทีมชาติ วงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้กลับไม่ได้เติบโตขึ้นเลย จากปัญหาภายในวงการ ทั้ง จอง จีซ็อค นักวอลเลย์บอลชายชื่อดังที่ถูกจับกุมเพราะทำร้ายแฟนสาว รวมถึงปัญหาการทะเลาะกันภายในทีม ฮวาซอง ไอบีเค อัลตอส ระหว่างเฮดโค้ช ซอ นัมวอน กับกัปตันทีม โช ซองฮวา จนทั้งสองฝ่ายถูกต้นสังกัดยกเลิกสัญญา

วอลเลย์บอลเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมากก็จริง แต่ภาพลักษณ์หลังความสำเร็จของกีฬาดูเหมือนถูกปกคลุมด้วยความมืดดำบางอย่าง โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของนักวอลเลย์บอลที่ดูเหมือนเป็นพวกสร้างข่าวฉาวได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ก็ตาม

ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ นั่นคือปัญหาการสร้างนักกีฬาที่โหดร้ายในสังคมเกาหลีใต้ที่ยังคงล้าหลังกับการใช้ระบบรุ่นพี่-รุ่นน้องที่เข้มข้น มีการแบ่งชนชั้นระหว่างนักกีฬาที่เปิดให้โอกาสให้ผู้อาวุโสสามารถลงโทษคนที่อายุน้อยกว่าได้ รวมถึงโค้ชกีฬาหลายคนก็ยังเลือกพัฒนานักกีฬาผ่านการใช้ไม้แข็งด้วยการทำร้ายร่างกาย

กล่าวง่ายๆคือ สังคมกีฬาวอลเลย์บอล (และอีกหลายกีฬาในเกาหลีใต้) แนวคิดอำนาจนิยมยังคงมีบทบาทสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสังคมบูลลี่อย่างมากภายในวงการกีฬา และการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลดูก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีเคสการบูลลี่เกิดขึ้นภายในวงการกีฬาที่ได้รับการจดบันทึกมากถึง 150,000 ครั้งในทุกระดับ ด้วยปริมาณการเกิดปัญหาที่เยอะขนาดนี้ ทำให้ฉากหลังของวงการกีฬาในเกาหลีใต้กลายเป็นสังคมที่ Toxic สำหรับคนภายใน และหลายคนก็เลือกเดินออกมา

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ต้องเสียบุคลากรจำนวนมากหรือในทางหนึ่งคือ ทรัพยากรที่จะพัฒนาคุณภาพกีฬาของประเทศ เนื่องจากหลายคนเลือกหันหลังเดินออกไป เพราะไม่อยากอยู่ในสังคมที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจเช่นนี้

“มีนักกีฬาระดับนักเรียนจำนวนมากในเกาหลีใต้ถูกทำร้ายร่างกายในการฝึกซ้อมโดยโค้ชและรุ่นพี่ และเมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาก็จะทำแบบนี้ต่อไปกับเด็กรุ่นหลัง” พัค จูฮัน หัวหน้าของหน่วยงาน Blue Tree Foundation องค์กรต่อต้านการบูลลี่ในสังคมกีฬาของประเทศเกาหลีใต้ กล่าว

“ทุกวันนี้ นักกีฬาในเกาหลีใต้กลัวกันมากว่าพวกเขาจะโดนกล่าวหาว่าเคยโดนบูลลี่คนอื่นมาก่อน ทั้งที่พวกเขาก็โดนบูลลี่มาก่อนเหมือนกัน” จูฮัน ย้ำถึงปัญหาที่ฝังลึกในเกาหลีใต้ 

สุดท้าย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ วงการกีฬาเกาหลีใต้ต้องเสียนักกีฬาอนาคตไกลไปเป็นจำนวนมาก ทำให้โอกาสที่จะได้ผู้เล่นระดับอาชีพฝีมือดีก็น้อยลงเช่นกัน

ผลลัพธ์ที่ตามมา 

การสูญเสียนักกีฬาอนาคตไกลจำนวนมากส่งผลกระทบชัดเจนในปัจจุบันกับทีมชาติวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้จากผลงานแพ้รวดทั้ง 8 นัดตลอด 2 สัปดาห์ในการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายอย่างมาก 

เกาหลีใต้เองรู้ดีว่าต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการสร้างความสำเร็จให้วอลเลย์บอลหญิง หลังจาก 3 ผู้เล่นตัวหลักสายเก๋า ทั้ง คิม ยอนคยอง, คิม ซูจี, ยาง ฮโยจิน ต่างประกาศรีไทร์จากการเล่นทีมชาติ ความหวังทั้งหมดจึงต้องไปอยู่กับผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ในเกมระดับชาติมาเท่าไหร่นัก

ทั้งนี้ ทางเกาหลีใต้เองมีความคาดหวังอย่างมากในเด็กชุดใหม่นี้ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมชาติเกาหลีใต้ทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เป้าหมายของการสร้างทีมครั้งใหม่อยู่ที่การเข้าสู่รอบรองชนะเลิศการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงในโอลิมปิก เกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

แต่ผลงานที่ย่ำแย่ในเนชั่นส์ คัพ กลายเป็นสิ่งที่ตบหน้าวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ให้มาอยู่กับความเป็นจริงอีกครั้ง เพราะผลงานครั้งนี้ย่ำแย่จนถึงขนาดที่ Naver เว็บไซต์ชื่อดังของเกาหลีใต้ วิจารณ์ว่าการมีผลงานที่แย่กว่าทีมชาติไทย (ชนะ 4 แพ้ 4) ซึ่งถูกมองว่าเป็นทีมที่ดีไม่เท่าเกาหลีใต้ ในสายตาของสื่อเกาหลีจึงถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้กับการพ่ายรวดจนหาชัยชนะไม่เจอครั้งนี้

มีเสียงเรียกร้องอย่างมากจากแฟนวอลเลย์บอลในเกาหลีใต้ให้มีการดึงเอา คิม ยอนคยอง สุดยอดนักวอลเลย์บอลกลับกู้วิกฤตทีมชาติอีกครั้ง แต่แน่นอนว่านั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ได้ตอบโจทย์กับทีมชาติในระยะยาว แทนที่จะไปรื้อระบบการสร้างนักกีฬาเยาวชนและลงมือแก้ไขปัญหาการบูลลี่อย่างจริงจัง

“ผมพูดตามตรงนะ นี่คือวิกฤตของวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ที่กำลังเกิดขึ้น เราอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ” บุคคลไม่ประสงค์ออกนามในวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ กล่าว

อนาคตจะเป็นอย่างไร?

เกาหลีใต้ไม่ได้มีแผนการในการเตรียมพร้อมรับมือกับความตกต่ำที่เกิดขึ้นเลย และทางแก้ในตอนนี้ก็มีแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือ การทาบทามดึงผู้เล่นตัวเก๋าที่เลิกเล่นไปแล้วกลับมาอีกครั้ง

แฟนวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ตอบสนองกับกระแสที่เกิดขึ้นเป็นสองส่วน ฝั่งหนึ่งต้องการให้ผู้เล่นที่เลิกเล่นไปหลังจบโอลิมปิกกลับมาช่วยทีมเป็นการชั่วคราว แต่อีกฝ่ายก็ไม่พอใจที่จะต้องดึงผู้เล่นหน้าเก่ากลับมา เพราะคิดว่าทีมควรเดินหน้าต่อและหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทีมกลับมาอีกครั้ง 

ขณะที่ เซซาร์ เอร์นานเดซ กอนซาเลซ เฮดโค้ชของทีมได้ออกมาปลุกใจทั้งผู้เล่นและแฟนๆ ขอให้อดทนกับช่วงเวลาที่ผลงานทีมย่ำแย่แบบนี้ เพราะมองว่าความพ่ายแพ้เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญที่จะช่วยทำให้เด็กๆชุดนี้แข็งแกร่งต่อไป

แน่นอนว่ายังมีสื่อในเกาหลีใต้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานที่ย่ำแย่ในช่วงนี้ของเกาหลีใต้อาจเป็นการถอยหลังเพื่อเดินหน้า เพราะการเปลี่ยนยุคสมัยของผู้เล่นในกีฬาวอลเลย์บอลสามารถนำมาซึ่งผลงานที่ย่ำแย่ได้เป็นเรื่องปกติ และเมื่อทีมเข้ารูปเข้ารอยก็พร้อมจะเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ก็มีสื่อที่ชี้ถึงปัญหาภายในของวงการวอลเลย์บอล โดยเฉพาะสังคมอำนาจนิยมที่ทำให้นักวอลเลย์บอลหลายคนเติบโตเป็นนักกีฬาที่มีทัศนคติที่ไม่ดีนัก และมีนิสัยชอบข่มขู่รุ่นน้องจนทำให้ทีมปราศจากทีมเวิร์ก

สำหรับใครที่เชื่อว่าวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้มีปัญหาอยู่ภายในก็จะไม่มองผลงานอันตกต่ำของทีมวอลเลย์บอลหญิงในปัจจุบันเป็นเรื่องผิดปกติ แต่จะมองว่าเป็นความจริงอันดำมืดที่ซ่อนตัวอยู่นานและถึงเวลาเผยโฉมให้ทุกคนได้เห็นเสียที

อี ซอคฮี นักข่าววอลเลย์บอลของเกาหลีใต้ เขียนในคอลัมน์ของเขาว่า เกาหลีใต้ตอนนี้อยู่คนละระดับกับ ญี่ปุ่น จีน และ ไทย อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง 

ทั้งหมดก็เป็นเพราะคุณภาพของผู้เล่นรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ตกต่ำกว่าผู้เล่นรุ่นก่อนมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาทีมเวิร์ก นอกจากนี้ อี ซอคฮี ยังเชื่อว่าทีมเกาหลีใต้ชุดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นั่นคือการเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิกในอีก 2 ปีข้างหน้า ถึงขั้นที่เรียกเป้าหมายนี้ว่าเป็น “ฝันจอมปลอม” เลยทีเดียว เพราะในสายตาของนักข่าวรายนี้ เขาเชื่อว่าเกาหลีใต้จะไม่ได้ผ่านเข้าไปแข่งในโอลิมปิกรอบสุดท้ายด้วยซ้ำ

อี ซอคฮี ยังโจมตีว่าวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ล้าหลังกว่าที่หลายคนคิด มีวัฒนธรรมเก่าๆมากมายที่ส่งผลต่อการพัฒนาฝีมือของผู้เล่น และเรียกได้ว่าจะไม่สามารถสร้างผู้เล่นระดับโลกขึ้นมาได้อีกต่อไป 

ตอนนี้จึงกลายเป็นการมองสองมุมต่อวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองปัญหาฟอร์มตกของทีมวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้ว่าเป็นแค่อุบัติเหตุจากการเปลี่ยนยุค หรือจะมองว่าเกิดจากปัญหาหลายอย่างที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมมาเป็นเวลาเนิ่นนาน

(หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นก่อนการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ ลีก รอบ 3 สัปดาห์แรกจะจบลง ซึ่งผลในท้ายที่สุดปรากฏว่า ทีมชาติเกาหลีใต้ แพ้รวดทั้ง 12 นัด จมบ๊วยของรายการประจำปีนี้)

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.