Thailand Sport Magazine Sponsored

นับถอยหลังสู่ ‘พาราลิมปิก โตเกียว 2020’ กับเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับมหกรรมกีฬารายการนี้ – THE STANDARD – thestandard.co

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ความรู้สึกตราตรึงไปกับการแข่งขันที่เร่าร้อนและแรงบันดาลใจมากมายของเหล่าสุดยอดนักกีฬาระดับโลกมากมายในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ‘โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’ ยังคงเหลืออยู่แม้ว่าจะผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งสัปดาห์

แต่นับจากวันนี้ (17 สิงหาคม) ไปอีกแค่ 7 วัน เหล่าแฟนกีฬาทั่วโลกก็จะได้ติดตามการแข่งขันสุดยอดมหกรรมกีฬาต่อเนื่องกับ ‘พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ไปจนถึงวันที่ 5 กันยายน ซึ่งบอกได้เลยว่างานนี้สนุกและเร้าใจไม่แตกต่างกัน และคุณมีโอกาสจะโดนนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขัน ‘ตก’ ได้ง่ายๆ เพราะเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขานั้นน่าประทับใจทุกคน

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำ วันนี้มีสิ่งละอันพันละน้อยที่น่าสนใจของการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่น่ารู้มาฝากกัน

พาราลิมปิกเกมส์คืออะไร

ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าพาราลิมปิกเกมส์ คือมหกรรมกีฬาอีกรายการ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์แต่อย่างใด โดยพาราลิมปิกเกมส์อยู่ภายใต้คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) ที่มีคณะทำงานเป็นอิสระของตัวเอง

พาราลิมปิกเกมส์มีจุดเริ่มต้นจากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย เซอร์ลุดวิก กุตต์แมนน์ ได้จัดการแข่งขันกีฬาสำหรับเหล่าทหารผ่านศึกที่ต้องพิการจากสงคราม โดยการแข่งครั้งแรกมีขึ้นในปี 1948 ที่โรงพยาบาลแมนเดอวิลล์ในเมืองสโตก ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะได้รับการตอบรับที่ดีและพัฒนามาสู่พาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในปี 1960 ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งจัดขึ้นหลังการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์จบลง

เพียงแต่การจัดพาราลิมปิกเกมส์เดิมนั้นไม่ได้มีการบังคับว่าจะต้องจัดที่เมืองเดียวกับโอลิมปิกเกมส์ โดยหลังจากพาราลิมปิกเกมส์ 1964 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นการแข่งครั้งที่ 2 ในอีก 4 ปีถัดมากรุงเม็กซิโกซิตี้ปฏิเสธจะจัดการแข่งขัน ทำให้พาราลิมปิกเกมส์ต้องไปจัดที่เมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลแทน และเป็นเช่นนี้มาจนถึงปี 1988 ที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ได้กลับมาจัดในเมืองเดียวกันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์มีขึ้นในเมืองเดียวกับเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ตลอด โดยที่ในปี 2001 ได้มีการตกลงที่จะให้เจ้าภาพเสนอจัดโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ต้องจัดในคราเดียวกัน

สำหรับคำว่าพาราลิมปิกเกมส์นั้น มาจากคำว่า ‘Para’ ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่าข้างหรือเคียงข้าง และคำว่า Olympic ซึ่งก็สื่อตรงตัวว่าเป็นการแข่งขันที่จัดคู่ไปกับโอลิมปิกเกมส์และจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป โดยทั้งสองมหกรรมกีฬามีศักดิ์และสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน

พาราลิมปิกเกมส์ ยังมีการแข่งเป็นกีฬาฤดูร้อน (22 ชนิดกีฬา) และกีฬาฤดูหนาว (5 ชนิดกีฬา) ด้วย ซึ่งจะจัดขึ้นหลังโอลิมปิกเกมส์เสร็จสิ้น

ใครที่จะเข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์

นักกีฬาที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์คือนักกีฬาที่มีความบกพร่องใน 3 ประเภทหลัก

  1. ความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งแยกออกเป็นอีก 8 ประเภทย่อย ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ข้อติด, แขนขาลีบเล็ก, ขาไม่เท่ากัน, มีรูปร่างแคระ, กล้ามเนื้อตึงตัวมาก, เดินเซ (สูญเสียการทรงตัว, เคลื่อนไหวผิดปกติ)
  1. ความบกพร่องทางการมองเห็น ตั้งแต่ระดับพิการทางสายตาตามกฎหมายไปจนถึงตาบอดสี
  1. ความบกพร่องทางสติปัญญา เฉพาะนักกีฬาระดับอีลิท ทั้งนี้สำหรับนักกีฬาที่มีความบกพร่องทางสติปัญญายังมีการแข่งขันรายการสเปเชียลโอลิมปิก (Special Olympic) ที่รองรับเฉพาะด้วย

โดยนักกีฬาที่จะเข้าร่วมแข่งขันจะต้องเข้ารับการทดสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะมีการระบุว่าอยู่ในเกณฑ์ประเภทใดบ้าง เพื่อนำไปจัดลำดับในการแข่งขันเพื่อความยุติธรรม (แม้ว่าจะเคยมีกรณีการกล่าวหาว่ามีการโกง เช่นพาราลิมปิกในซิดนีย์ เมื่อปี 2000 ที่ทีมบาสเกตบอลสเปนซึ่งได้เหรียญทองถูกกล่าวหาว่าไม่ได้มีความบกพร่องทางสติปัญญา)

กีฬาเหมือนแต่ต่าง

ในพาราลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน จะมีการแข่งขันกีฬาด้วยกันทั้งสิ้น 22 ชนิดกีฬา 539 ประเภทด้วยกัน

กีฬาที่ทำการแข่งขันนั้นมีชนิดที่แข่งเหมือนกับกีฬาในโอลิมปิกเกมส์ เช่น ว่ายน้ำ, จักรยาน และกรีฑา (แต่จะมีการจัดลำดับ) แต่จะมีบางประเภทกีฬาที่มีความแตกต่างไปบ้าง เช่น รักบี้, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล สำหรับนักกีฬาที่ใช้วีลแชร์

ส่วนฟุตบอลจะพิเศษหน่อยตรงที่แข่งกันข้างละ 5 คน ผู้เล่นในสนามจะเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็น และจะใช้ลูกฟุตบอลที่มีกระดิ่งทำให้ได้ยินเสียง ส่วนผู้รักษาประตูจะเป็นนักกีฬาที่ไม่ได้บกพร่องทางการมองเห็น แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาเล่นนอกเขต นอกจากนี้ยังจะมี ‘ไกด์’ หรือโค้ชที่จะอยู่ข้างหลังประตูคอยพยายามส่งสัญญาณเสียงเพื่อบอกทิศทางให้แก่ผู้เล่นในสนาม

สำหรับกีฬาที่พิเศษเฉพาะพาราลิมปิกมี 2 ประเภทด้วยกัน คือโกลบอลที่ผู้เล่นจะเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็นข้างละ 3 คน ที่จะพยายามขว้างลูกฟุตบอลที่มีกระดิ่งด้านในเข้าประตูฝั่งตรงข้ามให้ได้ และบอคเซียที่จะเป็นกีฬาสำหรับนักกีฬาที่มีความบกพร่องสูงที่สุดที่จะต้องขว้างหรือเตะลูกบอลให้ใกล้กับเป้าหมายมากที่สุด (คล้ายๆ เปตอง)

ในการแข่งว่ายน้ำหรือแข่งวิ่งสำหรับนักกีฬาบกพร่องทางการมองเห็น จะมีสิ่งช่วยเหลือพิเศษ โดยในการว่ายน้ำจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tapper ไว้สำหรับบอกนักกีฬาที่กำลังว่ายมาสุดแรงเกิดว่าใกล้จะถึงเส้นชัยแล้ว เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการชนขอบสระและนักกีฬาจะได้ใส่เต็มสปีดด้วย

ส่วนสำหรับนักวิ่งจะมี Guide Runner ที่จะวิ่งประคอง โดยนักกีฬาและไกด์จะมีอุปกรณ์เป็นหูจับสองด้าน จับกันคนละด้าน ไกด์จะเป็นคนคอยบอกรายละเอียดในการแข่งขันทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอยู่ตรงไหนของสนาม หรือบอกว่าควรจะเร่งความเร็วหรือควรจะผ่อน นอกจากเพื่อชัยชนะในการแข่งขันแล้วยังเพื่อความปลอดภัยด้วย

และที่สำคัญไกด์ก็ต้องวิ่งสัมพันธ์กับนักกีฬาด้วยความเร็วที่เท่ากัน มันสุดยอดตรงนี้!

พาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ยังได้เพิ่ม 2 กีฬาใหม่ คือแบดมินตันและเทควันโดเข้ามาด้วย

​​

ทัพนักกีฬาบอคเซียไทยทั้ง 10 คน 

นักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกี่คน

ท่ามกลางนักกีฬาที่คาดว่าจะเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 4,400 คนจากทั่วโลกในพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 นั้น นับว่าครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมครั้งประวัติศาสตร์สำหรับวงการพาราลิมปิกบ้านเราเช่นกัน

เพราะคนไทยจะเชียร์นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันมากถึง 77 คนจาก 14 ชนิดกีฬา ได้แก่ เทควันโด, ยิงธนู, แบดมินตัน, วีลแชร์ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา (ลู่-ลาน,วีลแชร์เรซซิ่ง), จักรยาน, ยิงปืน, วีลแชร์เทนนิส, บอคเซีย, ฟุตบอลคนตาบอด และยูโด

ต้องบอกเลยว่าคราวนี้เรามีความหวังที่จะคว้าเหรียญกลับมาไม่น้อยทีเดียว เพราะผลงานเมื่อครั้งริโอเกมส์ 2016 นั้นทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยคว้ามาได้ถึง 18 เหรียญ! เป็น 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง ได้อันดับที่ 23 ของการแข่งขัน ซึ่งถือว่าดีที่สุดแล้ว

โดยที่เหล่านักกีฬาพาราลิมปิกทุกคนได้รฝึกซ้อมมาอย่างหนักหน่วง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในการแข่งขันระดับสุดยอดของโลกด้วย

แฟนกีฬาคนไหนสนใจอยากติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดสามารถติดตามนักกีฬาพาราลิมปิกของเรากับ THE STANDARD ที่จะนำเรื่องราวของเหล่านักกีฬาไทย (รวมถึงนักกีฬาระดับโลกที่น่าสนใจมานำเสนอด้วยแน่นอน)

ชมการถ่ายทอดสดได้ที่ไหน

สุดยอดมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างพาราลิมปิกเกมส์ ทางด้าน กสทช. ได้ยืนยันในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยจะทำการการถ่ายทอดสดให้แฟนๆ ได้ติดตามอย่างแน่นอน

อ้างอิง:

  • https://www.paralympic.org/tokyo-2020
  • https://web.facebook.com/NPCTHA/
  • https://www.bbc.com/news/magazine-19341500
  • https://in.news.yahoo.com/know-paralympics-121109594.html
  • https://en.wikipedia.org/wiki/2020_Summer_Paralympics
  • https://mots.go.th/content.php?nid=13054&filename=
Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.