Inspire Connetcs ฉบับนี้ พาไปสานต่อแรงบันดาลใจกับ กุ๊ก อรวิสา หรือ กุ๊กทิว อดีตนักแสดงชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพกีฬามือโปร ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ร่วมงานกับองค์กรระดับโลกมาแล้ว
เชื่อเหลือเกินว่าทุกวันนี้ การถ่ายภาพ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทุกเพศทุกวัยไปเรียบร้อย เนื่องด้วยสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีค่อนข้างมาก ที่จะเผยแผร่ให้ทุกคนได้รู้ว่าวันนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ หรือเราไปจะเอาไรสวยๆมา ก็นับเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะนำมาแบ่งปันเพื่อให้คนอื่นได้ดูด้วยบนโลกออนไลน์ ประกอบกับทุกคนใช้สมาร์ทโฟน ที่สามารถถ่ายรูปได้กันอยู่แล้ว จึงทำให้การถ่ายภาพ น่าจะเป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของใครหลายคนในเวลานี้
สวัสดีครับ! คอลัมน์ Inspire Connects สานต่อแรงบันดาลใจ กลับมาอีกครั้ง แน่นอนว่าที่เกริ่นไปข้างบน วันนี้เราจะต้องไปพูดคุยกับบุคลากรที่เกี่ยวกับถ่ายภาพอย่างแน่นอน ซึ่งต้องบอกเลยว่าฉบับนี้สุดพิเศษจริงๆที่ทางเราได้มีโอกาสคุยกับสาวสวยเก่งรอบด้าน ดีกรีไม่ธรรมดา เธอคือ “กุ๊ก” อรวิสา ทิวไผ่งาม หรือ “กุ๊ก ทิว” ช่างภาพสุดน่ารักชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ที่แฟนกีฬาในสนามบาสเกตบอลน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เคยเห็นหน้าเห็นตากันอย่างแน่นอน เพราะสนามในประเทศไทย เธอถ่ายมาหมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ทำงานกับ สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ หรือ FIBA อีกด้วย
เส้นทางอาชีพของเธอเป็นอย่างไร ? ทำไมถึงชอบการถ่ายภาพ ? ทำไมต้องเป็นกีฬาบาสเกตบอล ? เธอเป็นใคร ? มาจากไหน ? มีอะไรมาคุยเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าวงการช่างภาพ ? สถานะหัวใจเธอเป็นอย่างไร ? เราไปติดตามพร้อมๆกัน ณ บัดนี้
Q :สวัสดีครับ เป็นเกียรติอย่างมากที่มีโอกาสได้คุยกับช่างภาพสุดสวยอย่างคุณกุ๊ก อันดับแรกอยากให้แนะนำตัวให้แฟนๆ TNNSPORTS ได้รู้จักกันหน่อยครับ ?กุ๊ก : สวัสดีทุกคนนะคะ อรวิสา ทิวไผ่งาม ค่ะ ชื่อเล่นจริงๆกุ๊กไก่ แต่ถ้าในลายเซ็นถ่ายภาพจะเรียก กุ๊กทิว (Kuk Thew ) เรียนจบเกียรนิยมอันดับ 1 สาขาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสยาม ปัจจุบันทำงานหลักเป็นช่างภาพอาชีพค่ะ หลักๆก็จะถ่ายให้กับทาง FIBA ซึ่งเขาเป็น สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ แล้วก็ถ่ายให้กับทาง Vampires Basketball Academy และก็รับงานถ่ายภาพอื่นๆด้วย และก็มีอบรมออนไลน์บ้างให้กับทาง Nikon Thailand ค่ะ
Q : ขอเริ่มกันที่เรื่องของการถ่ายภาพเลยละกัน ทำไมจึงสนใจ เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ มีที่มาที่ไปอย่างไรครับ ?
กุ๊ก : เริ่มถ่ายจริงๆเนี่ยประถมเลย ได้จับกล้องแต่ถ่ายได้ไหมอีกเรื่อง สมัยก่อนมันเป็นฟิล์ม ขอที่บ้านเอาไปถ่ายทัศนศึกษา ถ่ายมาก็โดนที่บ้านด่าถ่ายไรมา มันไม่ติดสักใบ 555+ พอสมัยที่เริ่มรู้สึกถ่ายจริงๆคือช่วงมัธยมปลาย เริ่มรู้สึกอยากมีภาพเรากับเพื่อนๆเก็บไว้ ตอนนั้นมือถือมันเพิ่งถ่ายรูปได้ เป็นโนเกียรุ่นฝาพับ ต้องใส่เมม อันเล็กๆถ่ายไปนิดเดียวก็เต็มแล้ว พอกลับบ้านตอนเย็นเอาภาพมาลงคอมฯ แล้วค่อยไปถ่ายเพิ่ม หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจในการหยุดภาพของกล้อง สนุกดีนะเวลาเห็นภาพตลกๆของเพื่อน ยิ่งกีฬาสีเป็นช่วงที่เริ่มได้จับกล้องเยอะสุด เพราะเพื่อนมีกล้องแต่ไม่ค่อยได้ถ่ายเลยชอบไปยืมมาถ่ายเก็บภาพช่วงเวลาซ้อมกีฬาสีเบื้องหลัง สนุกมากเวลาซ้อมสีแล้วได้ถ่ายภาพเพื่อนๆเก็บไว้ เบลอบ้าง สว่างวาบบ้าง มืดตึ๊บ เรียกว่ากดโดยดวงจริงๆ เพราะปรับไม่เป็น ให้เพื่อนปรับให้ เรากดอย่างเดียว
Q : ปกติแล้วชอบถ่ายภาพแนวไหนมากที่สุด เพราะอะไร ?กุ๊ก : เราชอบถ่ายภาพ “ในช่วงขณะนึง” ในทางความรู้สึก ไม่รู้มันมีคำเรียกไหม แต่เอาจริงๆเป็นคน Sensitive กับเวลามากๆ เวลานี่หมายถึงทุกช่วงเวลา อย่างเวลาไปกับทีมบาสเกตบอล แล้วทีมเดินทางไปแข่งเกมเยือน ถึงจะไปหลายรอบแล้วเราก็จะถ่ายตลอด ทั้งส่วนตัวด้วยเพราะลึกๆเรารู้สึกว่ารอบต่อไปหรือหรือพรุ่งนี้มันจะไม่มีทางเหมือนวันนี้ไม่ว่ายังไงก็ตาม เลยชอบที่จะเก็บมันไว้ จริงๆอาจจะเป็นคนที่กลัวการสูญเสียเลยอยากเก็บช่วงเวลาเอาไว้ แล้วกล้องกับการถ่ายภาพมันมาตอบสนองเราได้ในจุดนี้
Q : เข้าสู่วงการถ่ายภาพกีฬาบาสเกตบอลได้อย่างไร ?
กุ๊ก : มันเริ่มจากโรงเรียนสมัยเรียนประถม-มัธยม เป็นโรงเรียนที่เกี่ยวกับบาสเกตบอล นั่นคือ โรงเรียนทิวไผ่งาม ก็จะมีทุนให้นักกีฬาที่เก่งมีความสามารถมาเรียนฝึกซ้อมไปแข่ง สะสมๆรางวัลการแข่งไปเรื่อยๆ ตัวนักกีฬาก็สามารถเลือกทุนกีฬาได้ต่อไปในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้ตอนที่เราเรียนที่มหาวิทยาลัยสยาม ช่วงที่มีการจัดแข่งขันบาสเกตบอล เราไปดูแข่งเเล้วก็คุ้นหน้านักกีฬาจากหลายทีม บวกกับตอนนั้นต้องถ่ายส่งงานอาจารย์ ก็ได้เริ่มถ่ายภาพกีฬา พอส่งงานเสร็จเราก็ขอยืมกล้องต่อ อยากถ่ายต่อ ถ่ายไปจนจบทัวร์นาเม้นต์ที่มหาวิทยาลัย
หลังจากนั้น ก็มีการแข่งระดับลีกต่อ คราวนี้เราก็เริ่มถ่ายเล่นๆให้กับทีมพี่ๆน้องๆที่รู้จัก พอถ่ายไปสักพักนึง ให้กับทิว ให้กับ CAS ทีมไฮเทคเขาก็มาติดต่อ คือ เจ้าของทีม เฮียต่าย นิพนธ์ ชวลิตมณเฑียร เขาก็มาชวนเราไปถ่ายทีมเขาแบบจริงๆจังๆ ซึ่งตอนนั้นทีมไฮเทค แข่งในรายการไทยอย่าง TBL แล้วก็ลงในรายการเอเชียแบบ ABL (Asean basketball league) ด้วย ก็เลยได้โอกาสบินไปกับทีมตามทีมไปถ่ายในต่างประเทศ ซึ่งปีนั้นได้แชมป์ ABL
ปีต่อมาก็ยังถ่ายให้ไฮเทคเหมือนเดิมในรายการแข่งที่ไทย แต่ปีนั้น ไฮเทคไม่ได้เข้ารอบชิง ทางลีก ABL เขาเลยติดต่อมาให้ไปเป็นช่างภาพเขาในรอบนั้น หลังจากนั้นเราก็เป็นช่างภาพ Official ของ ABL ไปเลย บินไปตามเกมต่างๆในแต่ละประเทศ ตรงนี้ถ้าใครดูบาส ABL น่าจะรู้ระบบการแข่งขัน ทีนี้มันก็ทำให้งานกระจายออกไป มีหลายประเทศติดต่อมาให้ไปถ่ายให้ บางทีเราก็ไปในฐานะช่างภาพทีมเขาเช่น ทีม Mighty Sports ของฟิลิปปินส์ เราก็บินไปถ่ายให้เวลาเขาแข่งทัวร์นาเม้นต์ที่ไต้หวัน หรือสิงค์โปรก็ไป โดยทั้งทีมเป็นคนต่างชาติ เราคนไทยคนเดียว จากนั้นก็มีช่างภาพขององค์กร FIBA ติดต่อมาหาเรา และระหว่างนี้ก็เป็นช่างภาพให้กับทางทีมบาส MONO Vampires ด้วย
ต้องบอกเลยว่าของ FIBA เนี่ย มันจะมีระบบกระจายงานกันแต่ละภูมิภาค เช่น FIBA ยุโรป , FIBA เอเชีย , FIBA โอชิเนีย ฯลฯ อะไรก็ว่าไป แต่ละ HQ ก็ดูแลภาคส่วนงานแต่ละภูมิภาค เขาก็ต้องมีสื่อของเขา ของเราทำใน FIBA เอเชีย คือเวลามีแข่งในไทยก็ต้องมีช่างภาพ เราก็จะเป็น Official ของช่างภาพ FIBA คราวนี้ในไทยหลังๆ (2016-2020) เราเป็นฐานจัดแข่งบาสบ่อยมาก FIBA U19 Women’s Basketball World Cup , FIBA U18 Asian Championship , FIBA ASIA CUP ฯลฯ เราก็ถ่าย ก็ถือว่าเราเป็นช่างภาพของ FIBA ไปเลย ละก็มีงาน FIBA BASKETBALL WORLD CUP 2019 ที่จีน เป็นการแข่งขันบาสชิงแชมป์โลก คล้ายกับฟุตบอลโลก คือเขาจะคัดเลือกช่างภาพบาสจากแต่ละภูมิภาคในสังกัด FIBA นี่แหล่ะ คัดๆไป แล้วก็คัดเหลือ 8 คนหลัก เป็นช่างภาพหลักในงานบาสโลกที่จีน เพราะมันแบ่งการแข่งขัน เป็น 8 เมืองที่จีน แบบกลุ่ม A แข่งที่ เซี่ยงไฮ้ นะ กลุ่ม B แข่งที่ปักกิ่งนะ ของเรารับผิดชอบอยู่ที่ Dongguan ตงกวน อยู่ในกวางตุ้ง ซึ่งช่างภาพแต่ละคนก็จะรับผิดชอบคุมความเรียบร้อยเมืองๆนั้นไปเลย จะมีวันนึงถือเป็นวันบรีฟงานก่อนแข่ง เราก็ต้องประชุมกัน ช่างภาพคนอื่นที่มาจากสำนักอื่น ว่าอะไรห้ามทำอะไรทำได้บ้าง เขาก็ต้องมาฟังช่างภาพของ FIBA อะไรแบบนี้เป็นกฎ พวกกฎเขาก็จะฟีลแบบ มีเฉพาะช่างภาพ FIBA เท่านั้นที่เดินได้ระหว่างเกม หรือเข้าได้ถึงห้องนักกีฬา ช่างภาพคนอื่นไม่ได้อะไรแบบนี้แล้วแต่กฎว่าไป
Q : คิดว่าการถ่ายภาพในสนามบาสเกตบอล มีความยากง่ายจากกีฬาอื่นๆอย่างไรบ้าง ?กุ๊ก : เอาจริงๆ มันก็มีความยากทุกกีฬาอยู่แล้วแหล่ะ อย่างในมหกรรมกีฬาที่มีกีฬาหลายประเทศ ก็จะมีช่างภาพที่รับหน้าที่ถ่ายทุกกีฬา วนๆไป สนามนั้นสนามนี้ แล้วก็จะมีช่างภาพเฉพาะแต่ละกีฬาอย่างเดียว เป็น specialist ช่างภาพที่ถ่ายทุกกีฬาต้องการภาพที่เล่าได้ว่าในเกมนี่เกิดอะไรขึ้น เฝ้ารอจังหวะที่สวยได้ ส่วนช่างภาพเฉพาะกีฬาส่วนใหญ่จะเน้นบันทึกเนื้อหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวลงในฐานข้อมูล โดยเราจะถ่ายตั้งแต่ต้นจนจบทั้งเกม เนื้อหาที่ถ่ายอาจจะไม่ใช่สตาร์ในเกมเกมเดียว แต่รวมถึงสปอนเซอร์ หรือนักกีฬาใหม่ที่ทั้งเกมอาจจะนั่งยาวเลย เราก็ต้องสนใจเขาเช่นกัน
Q : กล้องตัวเก่งที่คุณกุ๊กใช้อยู่ คือรุ่นอะไร มีจุดเด่นอย่างไรกุ๊ก : กล้องที่เราใช้อยู่คือ NIKON D5 70-200 f2.8 กับ NIKON Z7 : NIKKOR 24-70 F/4 S, NIKKOR 85 mm F/1.8S, ส่วนใหญ่แล้วในงานถ่ายในเกมเราจะใช้ NIKON D5 70-200 f2.8 เป็นตัวหลัก ทนมากๆ อาวุธคู่ใจ แต่ถ้าต้องเดินทางเราจะเปลี่ยนเป็นตัว NIKON Z7 : NIKKOR 24-70 F/4 S เพื่อความคล่องตัวในการถ่ายภาพระหว่างเดินทางไปพร้อมกับทีมงาน ส่งเข้ามือถือได้เลย แล้วก็ถ้าเป็นงานใหญ่ๆเราก็จะติดต่อกับทาง NPS ของ Nikon Thailand ในการขอยืมอุปกรณ์เพิ่มเติม
Q : ไอดอลของการถ่ายภาพที่ศึกษาและดูเป็นแบบอย่างคือใคร เพราะอะไร ?
กุ๊ก : ถ้าอยู่ๆพูดชื่อว่าเราชอบงานของ Ivan Miralroff เพราะงานเขามี Texture ที่โหดมาก จะแปลกป่ะ แปลกแหล่ะ เพราะใครก็ไม่รู้พูดชื่อมามั่วๆ 555+ เอาจริงๆเป็นคนไม่มีไอดอลเลย รู้สึกถ้าดูแล้วจะเลียนแบบเขา เราจะชอบดูหนังมากกว่า แล้วชอบทดลองถ่ายให้มันได้ โทนทรงอารมณ์แบบนั้น หรือบางทีเห็นแนวเขาถ่ายกันใหม่ๆเล่นๆกันในไอจี ในสื่อต่างๆ ก็มาลองถ่ายให้ลองเทคนิคบ้าง งานเราจะเน้นอารมณ์เป็นส่วนมากเน้นการเล่าเรื่องมากกว่าภาพแอคชั่น แต่หลังๆ แนวใหม่ชะชอบภาพอลังๆโบ้มๆ เห็นใบเดียวแล้ว โอ้ ถ่ายได้ไง แบบนี้ก็มี ก็แล้วแต่สไลด์และการบรีฟงาน
Q : เกินกว่า 70 % ที่อาชีพช่างภาพน่าจะเหมาะกับผู้ชายและมีผู้ชายที่ทำมากกว่า ตรงนี้คิดอย่างไร ?กุ๊ก : ปี 2021 แล้วเนอะ ก็ขอให้มีกาลเทศะ มารยาท แล้วก็ให้เกียรติกันก็พอ ไม่ว่าเพศอะไร แต่ส่วนใหญ่จะกระเด็นเบียดไม่ไหว เลยเน้นยิงไกลๆเอา 555+
Q : หลายปีที่ผ่านมา smartphone ยกระดับคุณภาพกล้อง จนไม่เป็นรองกล้องของช่างภาพอาชีพเท่าไหร่นัก ตรงนี้คิดอย่างไร ?กุ๊ก : สะดวกดีนะ ส่วนตัวมันเติมเต็มให้กับคนสูงอายุพอสมควรสำหรับโลกยุคหน้าที่อาจจะเป็นสังคมสูงอายุ ยกมือถือถ่ายดอกทานตะวัน แล้วส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์ได้เลย ไม่ต้องมาแยกการ์ด ต่อคอม อะไร ซึ่งมันแล้วแต่การใช้งานแต่ละกลุ่ม ช่างภาพอาชีพหลายท่านถ้าไปกินข้าวก็พกแค่ smartphone ไม่ได้พกกล้องใหญ่ตลอดเวลา แต่ถ้าในงานที่ต้องเน้นความแม่นยำจริงๆ หลายท่านก็เลือกใช้กล้องใหญ่ ซึ่งมันก็มีเถียงกันอีกว่าจะ Mirrorless หรือ กล้องกระจก 555+ ยังมีหลายอย่างที่ smartphone ยังให้ความรู้สึกได้ไม่เท่า กล้องมืออาชีพ วันนึงมันก็จะเหมือนกล้องฟิล์ม ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีตลาดเล่นกันอยู่ของเขา
Q : การถ่ายภาพกีฬา มีความแตกต่างกับภาพอื่นๆ (วิว , งานเลี้ยงต่างๆ ฯลฯ) อย่างไรบ้าง ?กุ๊ก : กีฬาส่วนมากเน้นการรายงานผลทันที คล้ายๆการถ่ายภาพข่าว ถ่ายตอนนั้นก็ควรได้ตอนนั้นเลย เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว เราทำร่วมกับทีมหลายฝ่าย ยิ่งถ้าในองค์กรใหญ่ๆ จะมีทีมกราฟฟิคที่รอภาพอยู่แล้ว เขาทำภาพรอผลไว้ หรือนักเขียน หรือคนทำรายงานผลออนไลน์ ถ้าใน FIBA เราจะมีเว็บไซต์ที่ทางช่างภาพจะคอยป้อนภาพเข้าตลอดการแข่งขันทำให้สื่อต่างประเทศ หรือทีมต่างๆที่มาแข่งสามารถหยิบภาพไปใช้รายงานข่าวให้กับทีมตัวเองได้ทันที
Q : นักบาสเกตบอลขวัญใจ ที่เจอทุกครั้ง ก็จะเน้นถ่ายเป็นพิเศษ ?กุ๊ก : ยากจัง จริงๆก็ถ่ายหมดแหล่ะ คือบาสเกตบอลเนี่ย ตามเวลาแล้วแข่ง 40 นาที แต่พอลงเกมจริงๆมันสองชั่วโมง ทั้งขอเวลานอก ทั้งกรรมการเป่า ทั้งเดินเอื่อยๆไปมา ทีนี้เวลานักกีฬาลงเยอะๆ ใน Stats Sheet มันจะบอกเลย คนนี้ลง 20 คนนี้ลง 35 นาที บางที 1 นาที ก็มีเป็นตัวเปลี่ยนให้นักกีฬาหลักได้พักหายใจบ้าง ส่วนใหญ่ที่ถ่ายเยอะก็จะเป็นนักกีฬาที่ลงเยอะๆ เพราะเปอร์เซ็นต์การใช้เวลาในสนามเขาเยอะกว่า แต่ที่ถ่ายเป็นพิเศษเพราะแฟนๆชอบ และเราก็ชอบไปอ่านคอมเม้นต์ คือ ไทเลอร์ แลมป์ คนนี้ลูกครึ่งไทยอเมริกัน ติดแข่งให้กับธงไทยหลายครั้ง ที่เหลือก็แล้วแต่คน บางทีก็จะเป็นอารมณ์มาขอให้ถ่ายหน่อยเราก็จะถ่ายให้สนุกๆ
Q : อยากให้ลองไกด์ไลน์เล็กน้อยกับน้องๆที่ชอบการถ่ายภาพ และอยากจะเข้ามาเป็นช่างภาพอาชีพ ต้องเริ่มต้นยังไงบ้าง ? กุ๊ก : ต้องเริ่มจาก คิดว่าสามารถทำไอ้ที่ทำได้ซ้ำๆกันเป็นหมื่นๆครั้งพันๆครั้งได้ก่อนไหมโดยไม่สติแตกก่อน จริงๆก็ทุกงานแหล่ะ คนวาดรูปก็ต้องนั่งอยู่หน้าคอม หน้ากระดาษวาดไปเรื่อยๆ ปลูกต้นไม้ก็ใช้เวลากับใบไม้ ต้นไม้ได้นานๆ เทรดคริปโตก็สนใจที่จะอ่านข้อมูลได้เรื่อยๆ เอาจริงๆยุคนี้จะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก ง่ายในการเข้าถึงข้อมูลการพัฒนาตัวเองเยอะมาก ทั้งพื้นฐานอ่านแสง จัดแสง การตั้งค่า มีเต็มไปหมดในโลกออนไลน์ คนมาสอนฟรีๆเต็มไปหมด ทุกคนถ่ายรูปได้ แต่พอเป็นอาชีพมันไม่ได้ถ่ายตามใจเราแล้วเราจะเหมือนนักกีฬาคนนึงเลย โค้ชสั่งให้เราไปประจำจุดนั้น จุดนี้เพื่อเล่นเกมออกมาให้ดีที่สุดในตำแหน่งที่เราถนัด ถ้าเริ่มจริงๆ ก็สมัครงาน ติดต่อองค์กรที่อยากทำ ถ้าเขาปฎิเสธก็ดีใจได้ว่า อย่างน้อยเขาอ่านแล้วปฎิเสธ (นี่เรื่องจริงดีกว่าหายยาว) สร้าง Portfolio เรื่อยๆสมัยนี้รับงานออนไลน์ได้ง่ายมาก ทำง่าย แต่เข้าตาไหม ก็แล้วแต่ taste ของเรากับลูกค้าว่าเข้ากันไหม
Q : การถ่ายภาพแล้วพูดได้ว่าภาพนี้สวย มีองค์ประกอบอะไรเข้ามาพิจารณาบ้าง แล้วภาพสวยใน mindset ของคุณกุ๊ก เป็นแบบไหน ?กุ๊ก : ถ้าเคยดูหนังเรื่อง ข้างหลังภาพ มันจะมีประโยคนึงพูดว่า “ไม่ใช่ทุกคนหรอก ที่จะมองอะไรว่าสวยเหมือนกันหมด” ส่วนตัวชอบมากๆ เพราะจริงๆแล้วการที่เราจะมองอะไรสวยในแง่ “สุนทรียะ” มันเกิดจากหลายปัจจัยมากๆ คือ ศิลปินคนสร้างงานเขาต้องการสื่อสารออกไปผ่านผลงานศิลปะ การที่ผู้รับคนดูอย่างเราไปจะเข้าไปอิน ไปถอดรหัสความสวยของมัน เราก็ต้องมีพื้นฐานการเข้าใจในช่องทางที่ตรงกับเขาด้วย เหมือนเราดูพวกภาพ abstract ขีดๆ เขียนๆ แล้วเราไม่เข้าใจนั่นแหละ ศิลปะมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สมัยนึงการวาดภาพต้องให้เหมือนกับตาเห็น พออีก ยุคนึงก็แทนด้วยรูปทรงเลขาคณิตเขาก็ว่าสวย ซึ่งถ้าคนละยุคมาตัดสิน อาจจะทำสงครามกันเพราะเสียผลประโยชน์หรืออาจะนั่งซดเอล แล้วกอดกันก็ได้ ส่วนตัวในแง่ภาพถ่าย อย่างที่บอกไปในคำถามก่อนๆ ว่าในการถ่ายภาพกีฬาเขาก็มีหลายแบบ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับตัวช่างภาพ และสำนักข่าวหรือองค์กรที่ช่างภาพรับมาว่าแนวทางการนำเสนอเป็นไปในรูปแบบไหน มันมีทั้งภาพสวยในแง่องค์ประกอบครบสมดุลในภาพ หรือเน้นในการเล่าเรื่องของตัวภาพ เช่น ในงานเดียวกัน ช่างภาพบางท่านอาจจะ ถ่ายมาเป็นภาพ low shutter speed (แบบที่เป็นเส้นๆ) กับอีกท่านเน้นการหยุดภาพ แบบ stop action มันก็ไม่มีผิดถูก ถ้ามองกันแค่ปัจจัยว่านี้”สวยหรือไม่สวย”น่ะ มันเปลี่ยนไปเสมอตามยุคสมัย
Q : หลายๆคนยกให้เป็นนางฟ้าช่างภาพกีฬาอีกหนึ่งคน ตรงนี้มองอย่างไร ?กุ๊ก : เอิ่ม….ส่งสปอนเซอร์บำรุงตัว ดูแลหน้ามาด้วยก็จะดีมากจ้า
Q : ถามถึงสถานะหัวใจบ้าง ใครมา Inspire กับเรา ก็ต้องตอบคำถามนี้ทุกคน ตอนนี้มีหนุ่มคู่ใจคอยแบกกล้องให้หรือยัง หากยังไม่มีให้บอกสเปคที่ชอบ ?กุ๊ก : กระเป๋ามีล้อลากเลยไม่ต้องแบกเท่าไร ^^ แต่ถ้าเลือกได้อยากให้สเปคคนแบกเปลี่ยนเป็นไปตามหนังซีรีย์ที่ดูแต่ละรอบ ดูหนึ่งเรื่องทีเสปคก็เปลี่ยนที เพื่อนรำคาญ 555+ เอาจริงๆ คนเราเปลี่ยนไปตลอดนะ เราเจอกันวันนี้ พรุ่งนี้ไปเจออะไร trigger มา ความต้องการอาจเปลี่ยนก็ได้ พื้นฐานจริงๆคงเป็นเรื่องมารยาท ความละเอียดอ่อน เล็กๆน้อยๆแล้วสังเกตได้ It’s the little things that matter the most ^^
Q : สุดท้ายให้ฝากผลงานช่องทางติดตาม อยากบอกอะไรกับใครผ่านสื่อ เชิญเลยครับผม ?กุ๊ก : มี ig Kuk Thew กับเพจ Kuk Thew Photohraphy แล้วก็มีใน Nikon บ้างที่ไปแวบๆไปแต่ละครั้ง อยากให้การศึกษาขยายแล้วก็พัฒนาเปิดกว้างกว่านี้ ตั้งแต่ระดับเด็กๆ ไปจนถึงการสนับสนุนในแง่วิทยาศาตร์การกีฬา โภชนาการ ไปจนถึงหน่วยงานในบูรณาการสื่อหลายรูปแบบ หรือมีพวก Player’s Association ที่ทำให้เสียงของนักกีฬามีน้ำหนักขึ้นในการเจรจาเรื่องต่างๆด้วย เราชอบบอกว่าเรื่องเล็กๆน้อยๆตัดไปเลย ซึ่งจริงๆ ตัวเล็กๆน้อยๆนี่แหล่ะ มันยิ่งทำให้ไอ้อะไรที่เราทำใหญ่ๆอยู่ยิ่งมีคุณค่า ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบค่ะ
และนี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมดที่น่าสนใจของ “กุ๊ก ทิว” ช่าวภาพสาวสวยมือโปรสุดฮอตของวงการกีฬาในขณะนี้ เชื่อว่าหลายๆท่านน่าจะพอจำได้ เนื่องด้วยในอดีตเธอเคยเป็นนักแสดงดาวรุ่งฝีมือดี เคยเล่นละครของช่อง 7 สี หลายเรื่อง ทั้ง สเน่ห์บางกอก , ล่ารักสุดขอบฟ้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังเคยผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายของเวทีประกวด Dream Star Search เมื่อปี 2009 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เธอได้ตัดสินใจเลือกการถ่ายภาพเป็นอาชีพหลักไปแล้วในเวลานี้ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าน้องๆที่สนใจการถ่ายภาพ และได้เข้ามาอ่านบทความนี้ จะได้อะไรจากเธอหลายต่อหลายอย่างแน่นอน ส่วนครั้งหน้า เราจะไป สานต่อแรงบันดาลใจกับบุคลากรกีฬาคนไหน ติดตามกันไว้ให้ดีๆ เพราะนี่คือ Inspire Connects สานต่อแรงบันดาลใจ สวัสดีครับ!
เรียบเรียงโดย : NickyMAN (นิก ธีร์ธวัช)