ในหมู่ของนักสะสมเวลานี้ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการสะสมการ์ดนักบาสเกตบอล NBA กำลังฮือฮากับของเล่นใหม่ ที่มีชื่อว่า NBA Top Shot ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เรียกว่า non-fungible token หรือ NFT
NFT เป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้ ทำให้ทุกๆ ข้อมูลในระบบจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทั้งข้อมูลการยืนยันความเป็นเจ้าของ และข้อมูลในการทำธุรกรรม
ก่อนหน้าที่จะเริ่มสะสมการ์ดนักบาสเกตบอลผ่านเว็บไซต์ NBA Top Shot ผมเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในการสะสมการ์ดอยู่แล้ว ทั้งการ์ดนักฟุตบอล, การ์ดนักบาส, การ์ดเกมในซีรีส์ Magic: The Gathering เป็นต้น
เมื่อได้ทราบข่าวว่า บริษัท Dapper Labs ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับของสะสมดิจิทัล ขอซื้อลิขสิทธิ์ไฮไลต์จาก NBA (The National Basketball Association) แล้วนำไฮไลต์ที่ว่านั้น มาทำเป็นการ์ดสะสม ก็เฝ้าดูว่าทิศทางเป็นอย่างไร ก่อนที่จะเริ่มสะสมอย่างจริงจังในช่วงต้นปี 2021
ความแตกต่างระหว่างการสะสมการ์ดแบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัล อันที่จริงแล้วก็ไม่ต่างกันสักเท่าไร เพราะหลังจากที่เราจ่ายเงินซื้อแพ็ก (Pack) เรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องมาลุ้นว่าการ์ดที่อยู่ข้างในจะเป็นอะไร การ์ดดี การ์ดแพง หรือการ์ดห่วยที่ไม่มีราคาค่างวด ซึ่งภาษาวัยรุ่นจะเรียกการ์ดประเภทนี้ว่า เกลือ (มาจากสแลงของคำว่า Salty หมายถึง อารมณ์โมโห หงุดหงิด)
หลังจากแกะซองแล้วได้ทราบว่าการ์ดที่ได้ข้างในเป็นอะไร เราก็จะมาดูต่อว่า เป็นการ์ดไฮไลต์ประเภทไหน ซึ่งจะมีตั้งแต่ไฮไลต์การดังค์ จังหวะบล็อกสำคัญๆ ลูกยิงสามแต้มสุดสวย หรือเป็นจังหวะเลย์อัพงามๆ เป็นต้น
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงคำว่า “ไฮไลต์” ประโยคคำถามที่น่าจะเป็นคำถามคาใจใครหลายคน เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถดูไฮไลต์ต่างๆ ที่ว่ามานี้ ผ่านแอปพลิเคชัน NBA หรือแชนแนลยูทูบของ NBA ก็ได้ไม่ใช่หรือ?
คำตอบก็คือ “ใช่” เราสามารถดูไฮไลต์ทั้งหมดได้ฟรี โดยคลิกเพียงคลิกเดียวจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งคำถามนั้น ขอตอบเป็นสองประเด็น
ในประเด็นแรก การ์ดไฮไลต์ใน NBA Top Shot ผู้ซื้อจะมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ สามารถเลือกเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว หรือเลือกที่จะขายต่อให้กับผู้ซื้อคนอื่นที่สนใจต่อไปได้
ประเด็นที่สอง อยากให้มองว่าของเหล่านี้เป็นเรื่อง “คุณค่าทางจิตใจ” ถ้าคุณเต็มใจที่จะซื้อก็ซื้อ ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องซื้อ ก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อ
ทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่คุณซื้อมา มันสามารถแปรสภาพเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นการลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในมือของคุณนั้น มีคนอีกนับร้อยนับพันที่มองเห็นคุณค่าแบบเดียวกับที่คุณเห็น
สิ่งนี้ไม่ต่างจากคนที่สะสมฟิกเกอร์ตัวละครจากมังงะ จากภาพยนตร์หรือซีรีส์ เพราะตัวอย่างที่ถูกยกมานี้ ล้วนทำงานภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “คุณค่าทางจิตใจ” เช่นกัน
อีกหนึ่งประเด็นที่อยากเสริม ถ้าหากตัดประเด็นของ NBA Top Shot ออกไป ทุกวันนี้ เราทุกคนใช้ชีวิตในรูปแบบดิจิทัล จนถอนตัวไม่ได้แล้ว โดยจะขอยกเพียงตัวอย่างเดียว นั่นคือ กรณีของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
ก่อนหน้าที่คุณจะเข้าใช้บริการของเน็ตฟลิกซ์ได้ คุณจะต้องยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ โดยการเป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ คุณจะไม่สามารถทำซ้ำเพื่อการค้าได้ คุณไม่ได้ถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของคอนเทนต์ สิทธิ์เพียงสิทธิ์เดียวที่ได้คือ “สิทธิ์ในการดู” ซึ่งกรณีนี้อยู่ในข่ายเดียวกับบริการสตรีมมิงเพลงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล มิวสิก (Apple Music), สปอติฟาย (Spotify) หรือไทดัล (Tidal)
กลับมาที่เรื่องของ NBA Top Shot ในแง่ของราคา ความถูก-ความแพงของการ์ดที่เปิดมาได้นั้น จะอ้างอิงจากอะไร
คำตอบของคำถามนี้ เหมือนกับการเปิดซองการ์ดแบบดั้งเดิม โดยจะดูจากนักกีฬาคนที่อยู่บนการ์ด ถ้านักกีฬาคนนั้นเป็นเลอบรอน เจมส์, ยานนิส อันเทโทคุมโป, สตีเฟน เคอร์รี, เจมส์ ฮาร์เดน, ลูกา ดอนซิช, คาไว เลนเนิร์ด, โจเอล เอ็มบีด เป็นต้น เหล่านี้ มีโอกาสที่จะมีมูลค่าสูง
ปัจจัยต่อมา อยู่ที่ไฮไลต์ของการ์ด ถ้าหากเป็นไฮไลต์ที่มาจากโมเมนต์สำคัญๆ ในการแข่งขันก็จะมีโอกาสที่มูลค่าจะสูง และปัจจัยสุดท้ายคือ Serial Number หากการ์ดที่เปิดมาได้ เป็นตัวเลขเบอร์แรกๆ หรือเป็นการ์ดที่ผลิตจำนวนจำกัด ถ้าใช่ก็การันตีความแพงเอาไว้ได้เลย
ข้อมูลจนถึงตอนนี้ การ์ดที่แพงที่สุดบนแพลตฟอร์ม NBA Top Shot เป็นการ์ดของ เลอบรอน เจมส์ จากจังหวะดังค์สองมือแบบรีเวิร์ส ขายกันที่ 2.1 แสนดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6.7 ล้านบาท
นับตั้งแต่ NBA Top Shot เปิดให้บริการในช่วงเดือนตุลาคม 2020 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 มีการจับจ่ายซื้อขายบนแพลตฟอร์มแห่งนี้มากกว่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียว
อีกอย่างหนึ่งที่ถือว่า NBA Top Shot ทำได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ การสร้างอินเตอร์เฟซที่ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไป คนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องบล็อกเชน หรือสกุลเงินดิจิทัล สามารถใช้งานบนหน้าเว็บไซต์ได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ ซึ่งหลายเว็บไซต์ที่มีเบื้องหลังการทำงานเป็นบล็อกเชน หรือสกุลเงินดิจิทัล มักจะมีอินเตอร์เฟซที่ใช้งานยาก ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ จนทำให้คนที่ไม่ได้มีความรู้ด้านนี้มากนัก ไม่อยากเข้าไปใช้งาน
พูดถึงข้อดีไปแล้ว มาถึงข้อเสียบ้าง ในฐานะผู้บริโภค ยอมรับว่า NBA Top Shot มีปัญหาระบบการจัดคิวที่เชื่องช้า ต้องใช้เวลารอกว่าที่จะซื้อแพ็กหนึ่งๆ ได้ ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง รวมถึงระบบถอนเงินจากหลังบ้านของ Dapper Labs ก็ต้องใช้เวลานานหลายวัน
สุดท้ายในอนาคตความนิยมของ NBA Top Shot จะยังคงได้รับความนิยมเหมือนในเวลานี้หรือไม่ ก็คงเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบ เพียงแต่ถ้าคุณยังสนุก ยังมีความสุขในการสะสม และไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ก็คงไม่ต้องเก็บเรื่องนี้มาให้คิดให้มากความ จริงไหมครับ