Thailand Sport Magazine Sponsored

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 3-4 – ประชาชาติธุรกิจ

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

บทที่ 3 ความทรงจำที่บ้านเกิด

ความหวาดกลัวจากการโจมตีทางอากาศในช่วงสงคราม เรียนภาษาจีนจากแม่ที่รักการศึกษา

ฉันเกิดที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 มีชื่อจีนว่า ลีบุ้นเซี้ยง เป็นลูกชายคนที่ 3 ของคุณพ่อเทียม และคุณแม่สายพิณ ในประเทศจีนเชื่อกันว่า ถ้ามีลูกชาย 3 คนติดกันจะเป็นโชคดี และพ่อแม่ของฉันดูเหมือนจะดีใจกับการเกิดเป็นลูกชายคนที่ 3 ของฉันมาก

ครอบครัวของเราอยู่บ้านเช่าบนถนนทรงวาด เป็นโกดังริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับถนนสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านค้าส่งแหล่งชาวจีน ชั้นล่างเป็นโกดังเก็บสินค้า ส่วนครอบครัว ญาติ รวมถึงคนงานอาศัยอยู่บนชั้น 2 และชั้น 3

ในสมัยนั้นคนจีนจํานวนมากจะอาศัยอยู่บนถนนทรงวาด หลายตระกูลทำธุรกิจเจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ตระกูลโสภณพนิช ของธนาคารกรุงเทพ และตระกูลล่ำซำ ของธนาคารกสิกรไทย

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมในปีนั้น ก่อนที่ฉันจะเกิด ได้เกิดเหตุการณ์ Marco Polo Bridge ญี่ปุ่นและจีนปะทะกันในเขตชานเมืองของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย

ญี่ปุ่นซึ่งเปิดสงครามกับสหรัฐอเมริกา ได้ย้ายฐานทัพมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาทรัพยากร และด้วยอำนาจของญี่ปุ่นในเวลานั้น ประเทศไทยต้องประกาศตัวเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ เพื่อรักษาเอกราชไว้

ความทรงจำแรกสุดในวัยเด็กของฉัน คือ ฉันร้องไห้ตัวสั่นด้วยความกลัวเสียงระเบิดที่ทิ้งลงมาใกล้บ้าน ใกล้กับถนนทรงวาดมีอาคารสูง 9 ชั้น และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องบินของอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรจึงพุ่งเป้าไปที่นั่นบ่อยครั้ง ด้วยไม่รู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ร้านเฮียบเซ่งเชียงที่เพิ่งเปิดกิจการ จึงเหลือแต่คุณพ่อและลุง 2 คนอยู่ช่วยที่ร้าน ส่วนญาติทั้งหมดรวม 20 กว่าคนถูกคุณแม่ซึ่งกำลังตั้งท้องลูกชายคนที่ 4 พาลงเรือไปฝั่งธนบุรี และลูกชายคนที่ 4 ของครอบครัวจึงมีชื่อว่า ณรงค์ หมายถึง “สงคราม”

คุณพ่อและลุงของฉันมาที่ธนบุรีสัปดาห์ละครั้งเพื่อดูความเป็นอยู่ของครอบครัว และวันรุ่งขึ้นก็กลับกรุงเทพฯ แม้ว่าในชีวิตฉันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคุณพ่อ แต่ในวัยเด็กฉันใช้เวลาอยู่กับแม่ของฉันมากกว่า แม่เป็นผู้ดูแลชีวิตของครอบครัวและญาติ แม่เป็นคนเข้มงวด และพวกเรามักจะถูกตีถ้าพูดแล้วไม่ฟัง

ครอบครัวของแม่ฉันเป็นร้านช่างทำทอง บรรพบุรุษของแม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศจีนมายังประเทศไทยก่อนครอบครัวของพ่อฉันนานมาก แม่เลยมีความเป็นคนไทยสูง แม่แต่งงานกับพ่อผ่านการดูตัว

แม่ของฉันรักการเรียนตั้งแต่ยังเด็ก แต่ไม่ได้ไปโรงเรียนมากนัก เพราะต้องดูแลน้องชายและน้องสาว นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทําไมแม่ถึงเข้มงวดมากกับการศึกษาของลูก ในเวลานั้นเป็นเรื่องปกติที่จะส่งให้ลูกเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนจีน แต่แม่กังวลว่าการเรียนของเด็กจะล่าช้าเนื่องจากเป็นช่วงอพยพ แม่เลยใช้บทกวีของจีนสอนภาษาจีนให้พวกเรา

“มองปัจจุบันและมองย้อนกลับไปในอดีต” (หากไม่มีอดีตก็ไม่มีปัจจุบัน อย่าลืมมองย้อนกลับไปในอดีตทุกครั้งที่คุณจะลงมือทำอะไร)

“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” (ความสามารถของม้าเป็นที่เข้าใจเมื่อขี่ม้าในระยะทางไกล หากเราทํางานร่วมกันเป็นเวลานาน เราจะเข้าใจจิตใจของกันและกันได้ดีขึ้น)

พี่ชายและฉันถูกบังคับให้ท่องบทกวีจีนมากมาย แต่ในเวลานั้นฉันอายุเพียง 5-6 ขวบจึงไม่เข้าใจความหมายของบทกวีเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังคงจำเสียงของแม่ที่ท่องบทกวีราวกับขับขานบทเพลงได้เป็นอย่างดี

บทที่ 4 ชีวิตในโรงเรียน

ไม่ชอบเรียน แต่มีจิตใจที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น
หลงใหลในการล้างรูปและบาสเกตบอล

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนในปฏิญญาพอตซส์ดัม (Potsdam Declaration) เป็นการสิ้นสุดของสงคราม ซึ่งหมายถึงภาวะสงครามของไทยก็สิ้นสุดลงด้วย ครอบครัวของฉันได้กลับไปที่บ้านในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

หลังจากนั้น ฉันเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนประถมจีนชื่อ “โรงเรียนเผยอิง” บนถนนทรงวาดใกล้บ้าน ในช่วงนั้นฉันมีรูปร่างผอม ไม่ชอบการเรียนที่เน้นเรื่องการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ฉันแตกต่างจากพี่ชาย 2 คนที่เรียนเลื่อนชั้นอย่างสม่ำเสมอ ฉันเคยเรียนซ้ำชั้น แม่ของฉันดูเหมือนจะกังวลกับเรื่องนี้มาก

ส่วนพ่อที่ได้เห็นฉันตอนนั้นกล่าวว่า “อั๊วจะสอนบุณยสิทธิ์เอง” พ่อให้ฉันนั่งข้าง ๆ และเริ่มสอนเกี่ยวกับธุรกิจ เมื่อฉันเข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ตอนอายุ 15 ปี ฉันจะไปที่ร้านเฮียบเซ่งเชียงหลังเลิกเรียน และเริ่มช่วยงานอย่างจริงจัง ตอนเป็นเด็กฉันไม่ได้ฝันอยากทำอาชีพอะไรเลย ในหมู่เพื่อน ๆ บางคนฝันอยากเป็นนักธุรกิจ ทหาร และตำรวจ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของพวกเขา ส่วนฉันไม่สนใจว่าอนาคตจะทำงานอะไร ขอเพียงเป็นอันดับ 1 ก็พอ จะต้องยิ่งใหญ่ที่สุด หรือรวดเร็วที่สุด ฉันหลงใหลในตัวตนแบบนั้น ซึ่งแตกต่างจากคนอื่น

ฉันเรียนไม่ดี แต่ฉันมีความอยากรู้อยากเห็น ฉันเคยอยากรู้ว่านาฬิกาเคลื่อนไหวอย่างไร ฉันเลยถอดมันออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และประกอบมันกลับเพื่อให้ทำงานได้ตามเดิม

ฉันชอบการถ่ายภาพด้วย แต่สิ่งที่ฉันหลงใหลมากกว่า คือ การล้างรูป ฉันหมกตัวอยู่ในห้องมืดที่ทำเองในบ้าน ล้างฟิล์มด้วยน้ำยา และอัดลงกระดาษอัดรูปที่ตัดเป็นขนาดอย่างพอเหมาะ กระบวนการเหล่านี้กระตุ้นความสนใจให้ฉันเป็นอย่างมาก ในเวลานั้นกล้องเป็นของหรูหราและมีไม่กี่คนที่มีกล้องไว้ใช้ คนทั่วไปจะซื้อฟิล์มเองแล้วยืมกล้องจากผู้อื่นเพื่อถ่ายรูป และฉันมักจะถูกไหว้วานจากเพื่อน ๆ และคนแถวบ้านให้ล้างฟิล์มให้

ฉันสูง 183 เซนติเมตร บางทีอาจเป็นเพราะพ่อและพี่ชายของฉันเป็นคนตัวใหญ่ ฉันสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุ 15 ปี สมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จะตัวเล็ก ทุกคนจึงมักประหลาดใจกับส่วนสูงของฉัน ตอนเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนที่โรงเรียน ฉันก็มักได้อยู่ใต้แป้นและทำคะแนนบ่อยครั้ง

มีเรื่องตลกอีกเรื่อง ฉันมีเพื่อนร่วมชั้นชื่อ สม จาตุศรีพิทักษ์ เขาไปเรียนต่อที่อังกฤษ กลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย (Siam City Bank) ระยะหนึ่ง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 1990 ช่วงที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารพ่อของฉันเชิญเขาไปทานอาหารเย็น และฉันก็ร่วมรับประทานอาหารด้วย ระหว่างพูดคุยกันทำให้รู้และจำกันได้ว่าเป็นเพื่อนกันสมัยเรียน เป็นเรื่องบังเอิญและดีใจที่ได้เจอกันอีกครั้ง

น้องชายของสมชื่อ สมคิด เป็นคนเก่งด้านทฤษฎีการตลาด เขาได้เรียนกับศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามปรมาจารย์ด้านการตลาด ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในต่างประเทศ และยังได้เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือกับอาจารย์ของเขา ศาสตราจารย์คอตเลอร์ได้กล่าวถึงชื่อเขาในบทความ “ประวัติของฉัน” ว่าเป็นหนึ่งในนักเรียนดีเด่นของเขาในปี พ.ศ. 2556 หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกาเขาเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจโดยรวมในฐานะกรรมการอิสระของเครือสหพัฒน์

คุณสมคิดดํารงตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2544-2549 และปี พ.ศ. 2558-2563 รวมระยะเวลา 10 ปี เขายังเป็นผู้ชูธงนโยบายเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น เขาจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บริษัทญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย หลังจากลาออกจากรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จึงได้เข้ามาเป็นประธานกรรมการของบริษัท Holding ในเครือสหพัฒน์

ฉันอยากจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเชื่อมโยงกับสมซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่ในความเป็นจริงแม้ว่าการกลับมาพบกันกับสม และการเชิญคุณสมคิดมาร่วมงานกันนั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย ฉันก็ยังประหลาดใจกับโชคชะตาในครั้งนี้อยู่ดี

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.