กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์
หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net
การบริหารแบบกระจายอำนาจ ซึ่งสืบทอดมาจากพ่อ
เข้าสู่ตลาดอะไหล่รถยนต์ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู
เมื่อพิธีศพของพ่อสิ้นสุดลง เราจำเป็นต้องประชุมเรื่องแนวทางการบริหารจัดการเครือสหพัฒน์ พ่อคงได้เตรียมไว้เผื่อมีการเกิดอะไรขึ้นกระมัง ทำให้เพื่อนเก่าของพ่อซึ่งเป็นอดีตประธานรัฐสภา คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้เข้าร่วมการประชุมครอบครัวโชควัฒนา ในฐานะผู้ประสานงาน
บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมทุนกับไลอ้อนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเครือสหพัฒน์ แต่เดิมผู้บริหารคือบุญชัย ลูกชายคนที่ 5 ได้เปลี่ยนเป็นบุณย์เอก ลูกชายคนโต และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) ก็เปลี่ยนจาก ฉัน ลูกชายคนที่ 3 เป็นบุญปกรณ์ ลูกชายคนที่ 2 และฉันได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเครือสหพัฒน์ในภาพรวม ในขณะที่ฉันอายุ 54 ปี
ตอนที่พ่อของฉันยังมีชีวิตอยู่ ท่านไม่ได้กำหนดตัวผู้สืบทอดไว้ แต่ดูเหมือนเขาจะเปรยให้คนรอบข้างฟังว่า “อยากค่อย ๆ มอบหมายให้บุณยสิทธิ์” พี่น้องของฉันทุกคนต่างได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ ยกเว้นฉันที่เรียนจบเพียงชั้นมัธยมต้น แต่ฉันเป็นคนที่ช่วยพ่อทำงานมาเกือบ 40 ปี ซึ่งแน่นอนที่ฉันจะรู้จักบริษัทในเครือเป็นอย่างดี
ในที่ประชุมครอบครัวไม่มีใครคัดค้าน และด้วยสมควรที่จะต้องให้เกียรติผู้อาวุโสกว่าด้วย คุณประสิทธิ์จึงได้มอบหมาย 2 ใน 3 บริษัทหลักของเครือสหพัฒน์ให้พวกพี่ ๆ ดูแล ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากภายนอก หรือภายในเครือ หรือจากภายในครอบครัว ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการสืบทอดที่กลมเกลียวไม่มีความขัดแย้งใด ๆ
ฉันมักถูกถามบ่อย ๆ ว่า ไม่เห็นมีบริษัทใดที่ชื่อเครือสหพัฒน์ และตำแหน่ง “ประธาน” ของฉันก็ไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งก็เป็นเช่นนี้แต่แรกเริ่มแล้ว พ่อของฉันก็เพียงเข้าไปบริหารในฐานะผู้ก่อตั้ง ไม่มีตำแหน่งประธานเครือหรือประธานบริษัทแต่อย่างใด
แน่นอนว่าฉันรู้สึกกดดัน ฉันไม่สามารถขอความเห็นชอบหรือคำแนะนำจากพ่อได้อีกแล้ว ในตอนนั้นปี พ.ศ. 2534 ต้องดูแลบริษัทในเครือร่วม 190 แห่ง พนักงานเป็นหมื่นคน ผู้คนทั้งในและนอกบริษัทต่างจับตามองว่าสหพัฒน์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หากฉันตัดสินใจผิดพลาด ไม่เพียงแค่สูญเสียความน่าเชื่อถือจากสังคม แต่อาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกภายในได้
สิ่งที่ฉันคำนึงถึงคือ “จะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการของพ่อ” ฉันไม่ได้ต้องการอำนาจจากการรับตำแหน่งเป็นประธาน และไม่เคยคิดเปลี่ยนการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจเพื่อการแตกออกไปแล้วเติบโต ตัวฉันเองไม่ชอบการถูกสั่งจ้ำจี้จ้ำไชในขั้นตอนการทำงาน ฉันจึงไม่อยากบังคับใครเช่นนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ทำงานไปตามปกติ
ระบบการทำงานมีอยู่แล้ว พ่อของฉันซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และฉันซึ่งเคยเป็นประธานของ SPI ได้รับรายงานประจำเดือนจากบริษัทในเครือแต่ละแห่ง ต่อไปในฐานะประธานของเครือ ฉันต้องทำความเข้าใจผลประกอบการและปัญหาของแต่ละบริษัท และให้การสนับสนุนเมื่อจำเป็น
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารกลางวันกับครอบครัวและกรรมการอาวุโส เพื่อเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการทุกวันพฤหัสบดีที่คุณพ่อเคยทำนั้น ฉันก็ยังปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ฉันรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เติบโตในอัตราเกือบ 10% ต่อปี ด้วยการแข็งค่าของเงินเยนหลังจากข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) ในปี พ.ศ. 2528 อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นได้เร่งการขยายตัวไปต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย หากเครือสหพัฒน์ตั้งเป้าที่จะขยายกิจการคงจะไปได้ดี
ต่อมาไทยถูกเรียกว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” เพราะประเทศไทยเริ่มที่จะเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น และเป็นช่วงแรกที่เราเข้าสู่ตลาดอะไหล่รถยนต์ ตัวอย่างเช่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Seiren ผู้ผลิตสิ่งทอซึ่งต้องการผลิตผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ในประเทศไทย และ ให้บริษัท Molten ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนร่วมผลิตลูกฟุตบอลและลูกบาสเกตบอล เริ่มธุรกิจใหม่ทำการผลิตอะไหล่รถยนต์ที่ทำจากยาง
ทว่า เศรษฐกิจไทยที่กำลังเติบโต และการทำธุรกิจของสหพัฒน์ที่ดำเนินมาอย่างราบรื่น ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงปลายยุค 2530
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.