ADVERTISEMENT

โตเกียว 2020 : ทำไมรัสเซีย ไต้หวัน ไม่มีชื่อทีมเป็นของตัวเอง – บีบีซีไทย

นักกีฬาจากทีม ROC รับเหรียญทองจากการแข่งขันยิมนาสติกทีมชาย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาจากทีม ROC รับเหรียญทองจากการแข่งขันยิมนาสติกทีมชาย

รัสเซียถูกห้ามลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก แล้วทำไมนักกีฬาจากรัสเซียยังเข้าร่วมการแข่งขันโตเกียวเกมส์ได้ ส่วนนักกีฬาจากไต้หวันก็ต้องใช้ชื่อว่า จีนไทเป (Chinese Taipei) ห้ามใช้ชื่อว่า ไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Olympic Team) ที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ทีมเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

ประเทศรัสเซียถูกห้ามเข้าแข่งขัน หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาย้อนกลับไปหลายปี การใช้สารต้องห้าม หรือสารกระตุ้น ในวงการกีฬาหมายถึง การใช้สารหรือยาที่ถูกห้ามใช้ และทำให้นักกีฬาทำผลงานได้ดีขึ้น

สิ่งที่ทำให้เรื่องอื้อฉาวนี้ดูรุนแรงมากขึ้นก็คือ รัสเซียในฐานะประเทศ ถูกพบว่า มีความผิดในการสนับสนุนการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา หมายความว่า รัฐบาลรัสเซียมีส่วนในการวางแผนช่วยให้นักกีฬาใช้สารต้องห้ามผิดกฎหมายเพื่อให้ทำผลงานได้ดีขึ้น

ทว่า ทางการรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการสนับสนุนการใช้สารกระตุ้นในหมู่นักกีฬาดังกล่าว

เรื่องนี้ทำให้นักกีฬาจากรัสเซียถูกห้ามลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ในเมืองพยองชางของเกาหลีใต้ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นยังได้ถูกห้ามเข้าแข่งขันกรีฑาในฐานะประเทศตั้งแต่ปี 2015

ในปี 2019 องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency–WADA) ได้ห้ามรัสเซียเข้าร่วมการแข่งขันโตเกียวเกมส์จากการที่รัสเซียปกปิดการตรวจสอบการใช้สารกระตุ้น

ดังนั้นชื่อทีมรัสเซีย ธงชาติ และเพลงชาติของรัสเซีย จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏอยู่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ปี 2020 และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งของจีนปี 2022 และถ้ารัสเซียผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกปี 2022 ในกาตาร์ ก็จะต้องเข้าแข่งขันโดยใช้ชื่ออื่นแทน เหมือนกับผู้เข้าแข่งขันจากรัสเซียในโอลิมปิกครั้งนี้

แต่นักกีฬาจากรัสเซียยังคงเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียว 2020 ได้ เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย (Russian Olympic Committee) หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ROC ซึ่งไม่ใช่ประเทศรัสเซีย

ROC คืออะไร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาฟันดาบจากทีม ROC แข่งขันกันเอง ในการชิงเหรียญทองประเภทเซเบอร์ บุคคลหญิง

นักกีฬารวม 335 คนเป็นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซียในการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงโตเกียวครั้งนี้ นักกีฬาทั้งหมดของทีม ROC คือนักกีฬาที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องอื้อฉาวการใช้สารกระตุ้น

พวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันได้ ตราบใดที่พวกเขาเข้าแข่งขันในชื่ออื่น และหากพวกเขาได้รับเหรียญทอง ก็จะไม่มีการเปิดเพลงชาติรัสเซียและเชิญธงชาติรัสเซีย

นอกจากนี้ยังมีกฎที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่นักกีฬาสามารถสวมใส่ได้ด้วย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาวอลเลย์บอลทีม ROC

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee—IOC) ระบุว่า ตราสัญลักษณ์ของทีม ROC ต้องแยกออกจากธงชาติรัสเซีย และอุปกรณ์หรือชุดต่าง ๆ ที่นักกีฬาสวมใส่ต้องมีตัวอักษร ROC แทนที่จะใช้ชื่อเต็มว่า คณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย

ถ้าคำว่า “รัสเซีย” ปรากฏอยู่บนชุดหรืออุปกรณ์ชิ้นใด ต้องมีคำว่า “นักกีฬาเป็นกลาง” ปรากฏอยู่ด้วย แต่เครื่องแบบทางการของนักกีฬาสามารถใช้สีธงชาติรัสเซียได้

รัสเซียจะได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันอีกครั้งหรือไม่

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทีม ROC ระหว่างการแข่งขันโปโลน้ำในกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020

รัสเซียจะได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันได้อีกครั้งเมื่อมีการยกเลิกการห้าม และรัสเซียเคารพและปฏิบัติตามกฎที่ถูกบอกให้ปฏิบัติ รวมถึง การจ่ายค่าปรับให้กับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก

การห้ามรัสเซียเข้าแข่งขันมีกำหนดจะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. 2022

ขณะนี้รัสเซียไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพหรือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกใด ๆ ระหว่างที่ถูกห้ามเข้าแข่งขันอยู่

ไต้หวัน ใช้ชื่อ จีนไทเป

ครั้งก่อนหน้านี้ที่กรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 ไต้หวันยังสามารถลงแข่งขันโดยใช้ชื่อและธงชาติของตัวเองได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ในการแข่งขันโอลิมปิก นักกีฬาจากไต้หวันใช้ชื่อทีมว่า “จีนไทเป” (Chinese Taipei) ซึ่งไม่ได้เป็นชื่อประเทศที่มีอยู่จริง ส่วนธงที่ใช้มีรูปดวงอาทิตย์สีขาวบนวงกลมสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากธงชาติของไต้หวัน และยังมีรูปสัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิก 5 ห่วง ล้อมด้วยกรอบที่เป็นรูปดอกพลัมหรือดอกบ๊วย ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของไต้หวัน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาจากไต้หวัน ระหว่างการแข่งขันยกน้ำหนักในโอลิมปิก โตเกียว 2020

เว็บไซต์เอบีซีของออสเตรเลีย ระบุว่า การที่เป็นเช่นนี้สืบเนื่องมาจากการตกลงกันเมื่อหลายสิบปีก่อน จีน (ชื่อทางการคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน) ไม่ถือว่าไต้หวัน (ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐจีน) เป็นประเทศ จึงได้มีการตกลงกันตามมติที่รู้จักกันในชื่อว่า มตินาโงย่า (Nagoya Resolution) ซึ่งได้อนุญาตให้นักกีฬาจากไต้หวันเข้าแข่งขันในรายการกีฬาระหว่างประเทศได้ แต่ห้ามใช้ชื่อของตัวเอง ห้ามใช้ธงชาติและเพลงชาติของตัวเอง

เอ็ดเวิร์ด หลิง-เหวิน เทา ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำเมืองบริสเบน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถานกงสุล กล่าวกับเอบีซีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ็บปวดใจ

“ผมคงจะบอกว่า มีคนจำนวนมากในไต้หวันที่เชื่อว่า เราควรลงแข่งขันในอีกชื่อหนึ่ง ชื่อที่เป็นทางการของเราหรือแค่ใช้ชื่อ ‘ไต้หวัน’ ก็ได้” เขากล่าวกับเอบีซี

แต่เขากล่าวเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับการเจรจากับ IOC “เราไม่พอใจ แต่นั่นคือความจริงในขณะนี้” เขากล่าว

ในปี 1971 องค์การสหประชาชาติยอมรับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าเป็นผู้แทนเพียงหนึ่งเดียวของจีน และไม่ยอมรับสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน ทำให้รัฐบาลจีนอ้างเรื่องนี้ในการทำให้ไต้หวันต้องออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง นับตั้งแต่การเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกจนถึงการส่งตัวแทนนางงามเข้าประกวดในเวทีนานาชาติอีกด้วย

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

นักกีฬาทีมจีนไทเป จากไต้หวัน คว้าเหรียญเงิน จากกีฬายิงธนู

ในปี 1979 IOC ยอมรับสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ไต้หวันยังคงสามารถลงแข่งขันได้ ถ้ายอมใช้ชื่อและธงอื่นในการแข่งขัน ตอนแรกไต้หวันปฏิเสธ และไม่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1976 และ 1980

แต่ในปี 1981 ไต้หวันก็จำใจยอมใช้คำว่า “จีนไทเป” ไม่ใช่แค่ในการแข่งกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น แต่ยังใช้ในการแข่งขันรายการกีฬาระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย

ผู้ลี้ภัยเข้าแข่งขันเป็นครั้งที่ 2

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียวมีนักกีฬามากกว่า 11,000 คน จาก 206 ประเทศ แต่มีหนึ่งทีมในการแข่งขันที่มีนักกีฬามาจาก 11 ประเทศ นั่นก็คือ ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Olympic Team) โดยนักกีฬาเหล่านี้กำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศเจ้าภาพ 13 ประเทศ

นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ทีมผู้ลี้ภัยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ครั้งแรกคือการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในนครริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิล ในปี 2016

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย เดินเข้าสนามในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียว

นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นจาก 10 คน เป็น 29 คนในครั้งนี้ โดยในปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีนักกีฬาผู้ลี้ภัยคนพิการเข้าแข่งขันในทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Paralympic Team) ด้วย

ผู้ลี้ภัย หมายถึง ผู้ที่ถูกบังคับหรือต้องออกจากประเทศของตัวเอง เพื่อหลบหนีสงคราม การไล่ล่าสังหาร หรือภัยธรรมชาติ แต่ละปีมีผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องหนีออกจากประเทศของตัวเอง และไปใช้ชีวิตในที่อื่นที่ปลอดภัยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

นักกีฬา 29 คนที่ลงแข่งขันในนามทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยมาจากหลายประเทศรวมถึง ซีเรีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, ซูดานใต้, เอริเทรีย, เวเนซุเอลา, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และแคเมอรูน

หลายประเทศเหล่านี้เผชิญกับความขัดแย้งหรือสงครามกลางเมือง ทำให้นักกีฬาเหล่านี้เผชิญอันตรายมากเกินไปในการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด

ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยลงแข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา รวมถึง กรีฑา, แบดมินตัน, มวย, เรือแคนู, จักรยาน, ยูโด, คาราเต้, เทควันโด, ยิงปีน, ว่ายน้ำ, ยกน้ำหนัก และมวยปล้ำ

ในปี 2015 IOC ได้ตั้งกองทุนฉุกเฉินผู้ลี้ภัย (Refugee Emergency Fund) ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือในการนำผู้ลี้ภัยเข้าแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ยังได้สร้างทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยขึ้น และให้ผู้ลี้ภัยเข้ารวมการแข่งขันเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกเกมที่จัดขึ้นในนครริโอ เดอ จาเนโร ปี 2016

ผู้สื่อข่าว กีฬา

ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

Related Posts

Next Post

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.