Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: กรีฑา

เอ็ดวิน ฮับเบิล : เทพบาสเกตบอลยุค 1910s ผู้พบว่าจักรวาลกว้างใหญ่กว่าที่คิด – Sanook

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ต้นศตวรรษที่ 20 นักดาราศาสตร์เชื่อว่า กาแล็คซีทางช้างเผือกคือทุกสิ่งในเอกภพนี้ แต่ก็ถูกหักล้างลงโดย เอ็ดวิน ฮับเบิล อดีตนักกีฬามากฝีมือ ผู้มีดีกรีแชมป์บาสเกตบอล 4 สมัยซ้อน และสถิติกระโดดสูงเป็นตรารับประกัน

ฮับเบิลฉายแววสุดยอดนักกีฬามาตลอด ถ้าโลกในยุคนั้นมีลีกบาสเกตบอลอาชีพ เขาคงจะได้รับการดราฟท์เข้าสู่ NBA เป็นคนแรก ๆ แต่คำสัญญาของลูกผู้ชาย และความหลงใหลในท้องฟ้า พาเขาสู่การค้นพบครั้งใหญ่ ที่ทำให้จักรวาลแห่งนี้ไม่เงียบเหงาอีกต่อไป 

มันเกิดอะไรขึ้นกับผู้ชายคนนี้ … Main Stand จะเล่าให้ฟัง

ต้นแบบของเรียนดี กีฬาเด่น

เอ็ดวิน ฮับเบิล ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1889 ในมาร์ชฟีลด์ เมืองเล็ก ๆ ของรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีประชากรไม่ถึง 1,000 คนด้วยซ้ำ ก่อนที่ 9 ปีให้หลัง ครอบครัวเขาก็ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่วีตัน รัฐอิลลินอยส์ เพื่อเตรียมพร้อมให้ ฮับเบิล เข้าศึกษาในระดับที่สูงขึ้น


Photo : Marsfield History 

เขาฉายแววเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ คุณปู่ของ ฮับเบิล ซื้อกล้องโทรทรรศน์ให้เป็นของขวัญวันเกิด การส่องดูดาวครั้งแรกกับปู่ของเขา เป็นแรงบันดาลใจที่เติมเต็มให้เขาไม่คิดหยุดค้นคว้าและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับดวงดาว และเขาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับดาวอังคาร มันน่าสนใจจนถึงขนาดได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทั้งที่ขณะนั้นเขามีวัยเพียง 12 ปี 

ด้านการเรียน ฮับเบิล ทำเกรดตัวเองได้อยู่ในระดับ 95-100 มาทุกวิชา ยกเว้นการสะกดคำ ทว่าสิ่งที่ทำให้ชื่อของเขาถูกกล่าวขานในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น กลับมาจากผลงานในสนามกีฬาเสียมากกว่า

ด้วยรูปร่างที่สูงถึง 188 เซนติเมตร ฮับเบิล กุมความได้เปรียบเชิงสรีระจากเพื่อนในวัยเดียวกันได้แล้ว พอนำมารวมกับทักษะและพรแสวงที่มี ยิ่งผลักดันให้เขาทำผลงานได้เป็นอย่างยอดเยี่ยมมาตั้งแต่ยังอยู่โรงเรียนมัธยม


Photo :Wikiwand 

บาสเกตบอล, อเมริกันฟุตบอล, เบสบอล, มวย, หรือแม้แต่กรีฑาทั้งลู่และลาน ล้วนเป็นรายการที่เด็กหนุ่มคนนี้ผ่านมาหมดแล้ว ในปีสุดท้ายก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ฮับเบิล สามารถทำลายสถิติกระโดดสูงระดับรัฐฯ ด้วยความสูง 167 เซนติเมตร และคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ

ดาวรุ่งผู้กวาดแชมป์

ฮับเบิล เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก และได้รับเลือกเข้า Chicago Maroons ทีมบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อยู่ปี 1 เขาสามารถลงเล่นได้แทบทุกตำแหน่งในสนาม ไม่ว่าจะพอยต์การ์ด,  เซนเตอร์ หรือเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ดก็ตาม

ทีมของเขากรุยทางสู่แชมป์แรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการคว้าถ้วยแชมป์ Western Conference (ปัจจุบันคือ Big Ten Conference) กับสถิติ 21-2 ตลอดทั้งซีซั่น 1906-07


Photo :Wikiwand 

Chicago Maroons ยังคงฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่อง พวกเขาสามารถกวาดแชมป์ได้ต่อเนื่องอีก 3 ปี และแน่นอนว่าหนึ่งในผู้เล่นของทีมก็ยังคงเป็น เอ็ดวิน ฮับเบิล ที่ยืนระยะเป็นตัวหลักตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสี่

หลังจากจบการศึกษาในปี 1910 ฮับเบิล ได้ไปศึกษาปริญญาโทต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยได้รับทุน Rhodes Scholarship ซึ่งคัดเลือกนักศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการ, กีฬา, หรือการเป็นผู้นำ ที่น่าสนใจคือ ฮับเบิล ได้รับทุนนี้ จากโควตานักกีฬา

ขณะนั้นเอง ฮับเบิล ได้พัฒนาศักยภาพด้านกีฬาของตนเองให้เก่งกาจยิ่งขึ้น เขาลงแข่งในกีฬาโปโลน้ำ กรีฑาลู่และลาน รวมถึงชกมวยกับแชมป์จากฝรั่งเศสในรายการพิเศษที่มหาวิทยาลัย จนได้รับการทาบทามให้ไปฝึกซ้อม เพื่อเตรียมขึ้นชกกับ แจ็ค จอห์นสัน อดีตนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตในยุคนั้นมาแล้ว ทว่าสุดท้าย เจ้าตัวเลือกที่จะไม่ขึ้นสังเวียนบนเวทีจริง

ชีวิตของเขาดูค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดาราศาสตร์ไปทุกวัน ฮับเบิล ศึกษาต่อปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์ ตามความประสงค์ของคุณพ่อเขา เสริมด้วยการศึกษาวรรณกรรม และภาษาสเปน ก่อนจบปริญญาโทในปี 1912 และเดินทางกลับสู่สหรัฐฯ อีกครั้ง

ผันตัวมาเป็นโค้ช

ฮับเบิล กลับมาเป็นครูสอนโรงเรียนมัธยมปลาย ด้วยการสอนวิชาฟิสิกส์, คณิตศาสตร์, ภาษาสเปน, และยังรับตำแหน่งโค้ชทีมบาสเกตบอล ผู้นำพาเด็ก ๆ ของเขาเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์ระดับรัฐฯ ก่อนจะจบด้วยการเข้าป้ายอันดับที่ 3

แม้จะไปไม่ถึงแชมป์ และใช้เวลาสอนอยู่เพียงแค่หนึ่งปี แต่เขาก็กลายเป็นที่รักของนักเรียน โดยบรรดาเด็ก ๆ ได้มีการเขียนจารึกในหนังสือรุ่นไว้ว่า


Photo : Indiana Place

“แด่ เอ็ดวิน พี. ฮับเบิล อาจารย์ฟิสิกส์และภาษาสเปนอันเป็นที่รัก เพื่อนผู้ภักดีของพวกเราในปีสุดท้ายของมัธยมปลาย เขาคอยสนับสนุนพร้อมกับช่วยเหลือทั้งในโรงเรียนและบนสนามแข่งขัน พวกเรา ชาว Class of 1914 อุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ด้วยความรัก”

ด้วยความสามารถที่เหลือล้นด้านกีฬา ฮับเบิลสามารถไปต่อในเส้นทางนี้ได้อย่างไร้ข้อสงสัย และยิ่งเมื่อโอลิมปิก 1916 ที่รออยู่ข้างหน้า ยกเลิกไปเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งหนึ่ง ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เขากลับไปหาสิ่งที่เขารักที่สุดตั้งแต่เด็ก

หวนกลับสู่รักแรก

หลายคนมีประสบการณ์กับรักครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการพบคนที่ใช่ หรือสิ่งที่ชอบก็ตาม … รักแรกของ ฮับเบิล คงเป็นการตกหลุมรักกับดวงดาว ในครั้งที่คุณปู่ซื้อกล้องดูดาวมาให้ตั้งแต่อายุครบ 8 ขวบ

หลังจากได้รักษาสัญญากับคุณพ่อเขา ในการเรียนด้านกฎหมายแล้ว ฮับเบิล จึงได้หวนคืนสู่รักแรกของเขา ด้วยการเริ่มเรียนปริญญาเอกต่อในด้านดาราศาสตร์โดยตรง ครั้งนี้เขาได้มีโอกาสใช้หอดูดาวเยอร์กีส์ (Yerkes) ซึ่งมีกล้องดูดาวที่ทรงประสิทธิภาพสุดในเวลานั้นอีกด้วย

ดร. ฮับเบิล เรียนจบปริญญาเอกในปี 1917 ทันเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะรบกวนการศึกษาแบบพอดี ผลงานธีสิสของ ฮับเบิล คือ “การวิเคราะห์ภาพถ่ายของเนบิวลาที่อยู่ห่างไกล” ซึ่งมันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบอันยิ่งใหญ่


Photo : India Today 

หลังจากอาสาเป็นทหารในสงครามโลก ฮับเบิล ได้รับงานที่หอดูดาว เมาท์ วิลสัน ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์ฮูกเกอร์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร อันเป็นกล้องที่ทรงพลังกว่าทุกตัวบนโลกในปี 1919 และได้อุทิศช่วงเวลาในการศึกษาท้องฟ้าตลอดคืน จนได้ผู้ช่วยอย่าง มิลตัน ลาเซลล์ ที่อัปเกรดจากภารโรงกะดึก มาเป็นผู้ร่วมพิสูจน์ว่าจักรวาลแห่งนี้มันกว้างใหญ่ยิ่งนัก

ในอดีต เราเชื่อว่าเอกภพนั้นประกอบได้ด้วยกาแล็กซีทางช้างเผือกเพียงอย่างเดียว และการหาดาวชนิดเซเฟอิด (Cepheid Star) อันเป็นดาวแปรแสงที่ถูกใช้เพื่อวัดระยะห่างของกาแล็กซีต่าง ๆ ทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าทางช้างเผือกนั้นมีขนาดประมาณ 100,000 ปีแสงเท่านั้น

แต่ ฮับเบิล ไม่เชื่อว่าเอกภพจะมีขนาดเท่านั้น เขาจึงพยายามหาดาวเซเฟอิดในเนบิวลาที่อยู่ไกลออกไปอย่างแอนโดรเมดา และเมื่อสามารถวัดระยะห่างของมันได้แล้ว ก็พบว่าแอนโดรเมดาอยู่ห่างไปราว 900,000 ปีแสงด้วยกัน (ในปัจจุบันพบว่ามันอยู่ห่างไป 2.3 ล้านปีแสง)


Photo : Biography 

นั่นทำให้แอนโดรเมดาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทางช้างเผือก และส่งผลให้ ฮับเบิล พบว่าเอกภพไม่ได้มีแค่กาแล็กซีเดียว แต่ประกอบไปด้วยกาแล็กซีน้อยใหญ่มากมาย ที่กำลังขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องแม้ในปัจจุบันก็ตาม ยิ่งกาแล็กซีเหล่านี้อยู่ห่างจากโลกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเคลื่อนตัวห่างไปเร็วเท่านั้น จนกลายมาเป็น “กฎของฮับเบิล” สมการในวิชาฟิสิกส์จักรวาลวิทยา อย่างที่ใครหลาย ๆ คนได้เรียนกัน 

ความฝันไม่จำเป็นต้องมีเพียงเรื่องเดียว แต่สิ่งสำคัญ คือ การไม่หยุดฝัน และไม่ท้อในการลงมือทำมันให้เกิดขึ้นจริง

ฮับเบิล ได้รับการยกย่องด้านกีฬา มีเหรียญรางวัล ถ้วยแชมป์มาการันตี แน่นอนมันต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อม และเตรียมตัวเป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับเมื่อเขาเลือกเดินสายดาราศาสตร์ ก็ต้องทุ่มเทเวลาและชีวิตให้การสำรวจดวงดาว การค้นพบของ ฮับเบิล ต้องใช้เวลาศึกษาและรวบรวมข้อมูลกว่า 7 ปี เพื่อยืนยันการค้นพบที่เปลี่ยนโลกนี้ไป

ฮับเบิล ยังคงทุ่มเทกับการศึกษาดวงดาวต่อไป จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1953 ด้วยวัย 63 ปี และแม้กายจะจากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่ชื่อของเขายังคงถูกนำมาใช้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ภาพถ่ายต่าง ๆ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โมนาลิซ่าแห่งวงการดาราศาสตร์” เลยทีเดียว


Photo : DNAinfo 

จะว่าไป ชีวิตของ ฮับเบิล ถือว่าสุดขั้วมาก ๆ จากเด็กผู้กวาดแชมป์บาสฯ 4 ปีซ้อน จนได้ทุนไปเรียนต่ออ็อกซ์ฟอร์ด กลับมาเป็นโค้ชให้ทีมมัธยมปลาย ก่อนหันหลังให้กีฬา และไปเรียนเอกด้านดาราศาสตร์ จนกลายมาเป็นผู้ค้นพบว่าเอกภพแห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก ๆ และยังคงขยายตัวออกไปอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงรุ่นของฮับเบิลนั้น ยังไม่มีระบบจัดการแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพ อย่าง NBA ที่เรา ๆ รู้จัก

น่าคิดเหมือนกันว่า เขาจะเลือกเดินเส้นทางไหน หากโลกในยุคนั้นมี NBA แล้ว … 

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.