ต้นศตวรรษที่ 20 นักดาราศาสตร์เชื่อว่า กาแล็คซีทางช้างเผือกคือทุกสิ่งในเอกภพนี้ แต่ก็ถูกหักล้างลงโดย เอ็ดวิน ฮับเบิล อดีตนักกีฬามากฝีมือ ผู้มีดีกรีแชมป์บาสเกตบอล 4 สมัยซ้อน และสถิติกระโดดสูงเป็นตรารับประกัน
ฮับเบิลฉายแววสุดยอดนักกีฬามาตลอด ถ้าโลกในยุคนั้นมีลีกบาสเกตบอลอาชีพ เขาคงจะได้รับการดราฟท์เข้าสู่ NBA เป็นคนแรก ๆ แต่คำสัญญาของลูกผู้ชาย และความหลงใหลในท้องฟ้า พาเขาสู่การค้นพบครั้งใหญ่ ที่ทำให้จักรวาลแห่งนี้ไม่เงียบเหงาอีกต่อไป
มันเกิดอะไรขึ้นกับผู้ชายคนนี้ … Main Stand จะเล่าให้ฟัง
ต้นแบบของเรียนดี กีฬาเด่น
เอ็ดวิน ฮับเบิล ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1889 ในมาร์ชฟีลด์ เมืองเล็ก ๆ ของรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีประชากรไม่ถึง 1,000 คนด้วยซ้ำ ก่อนที่ 9 ปีให้หลัง ครอบครัวเขาก็ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่วีตัน รัฐอิลลินอยส์ เพื่อเตรียมพร้อมให้ ฮับเบิล เข้าศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
Photo : Marsfield History
เขาฉายแววเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ คุณปู่ของ ฮับเบิล ซื้อกล้องโทรทรรศน์ให้เป็นของขวัญวันเกิด การส่องดูดาวครั้งแรกกับปู่ของเขา เป็นแรงบันดาลใจที่เติมเต็มให้เขาไม่คิดหยุดค้นคว้าและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับดวงดาว และเขาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับดาวอังคาร มันน่าสนใจจนถึงขนาดได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทั้งที่ขณะนั้นเขามีวัยเพียง 12 ปี
ด้านการเรียน ฮับเบิล ทำเกรดตัวเองได้อยู่ในระดับ 95-100 มาทุกวิชา ยกเว้นการสะกดคำ ทว่าสิ่งที่ทำให้ชื่อของเขาถูกกล่าวขานในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น กลับมาจากผลงานในสนามกีฬาเสียมากกว่า
ด้วยรูปร่างที่สูงถึง 188 เซนติเมตร ฮับเบิล กุมความได้เปรียบเชิงสรีระจากเพื่อนในวัยเดียวกันได้แล้ว พอนำมารวมกับทักษะและพรแสวงที่มี ยิ่งผลักดันให้เขาทำผลงานได้เป็นอย่างยอดเยี่ยมมาตั้งแต่ยังอยู่โรงเรียนมัธยม
Photo :Wikiwand
บาสเกตบอล, อเมริกันฟุตบอล, เบสบอล, มวย, หรือแม้แต่กรีฑาทั้งลู่และลาน ล้วนเป็นรายการที่เด็กหนุ่มคนนี้ผ่านมาหมดแล้ว ในปีสุดท้ายก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ฮับเบิล สามารถทำลายสถิติกระโดดสูงระดับรัฐฯ ด้วยความสูง 167 เซนติเมตร และคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ
ดาวรุ่งผู้กวาดแชมป์
ฮับเบิล เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก และได้รับเลือกเข้า Chicago Maroons ทีมบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัยตั้งแต่อยู่ปี 1 เขาสามารถลงเล่นได้แทบทุกตำแหน่งในสนาม ไม่ว่าจะพอยต์การ์ด, เซนเตอร์ หรือเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ดก็ตาม
ทีมของเขากรุยทางสู่แชมป์แรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการคว้าถ้วยแชมป์ Western Conference (ปัจจุบันคือ Big Ten Conference) กับสถิติ 21-2 ตลอดทั้งซีซั่น 1906-07
Photo :Wikiwand
Chicago Maroons ยังคงฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่อง พวกเขาสามารถกวาดแชมป์ได้ต่อเนื่องอีก 3 ปี และแน่นอนว่าหนึ่งในผู้เล่นของทีมก็ยังคงเป็น เอ็ดวิน ฮับเบิล ที่ยืนระยะเป็นตัวหลักตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสี่
หลังจากจบการศึกษาในปี 1910 ฮับเบิล ได้ไปศึกษาปริญญาโทต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยได้รับทุน Rhodes Scholarship ซึ่งคัดเลือกนักศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการ, กีฬา, หรือการเป็นผู้นำ ที่น่าสนใจคือ ฮับเบิล ได้รับทุนนี้ จากโควตานักกีฬา
ขณะนั้นเอง ฮับเบิล ได้พัฒนาศักยภาพด้านกีฬาของตนเองให้เก่งกาจยิ่งขึ้น เขาลงแข่งในกีฬาโปโลน้ำ กรีฑาลู่และลาน รวมถึงชกมวยกับแชมป์จากฝรั่งเศสในรายการพิเศษที่มหาวิทยาลัย จนได้รับการทาบทามให้ไปฝึกซ้อม เพื่อเตรียมขึ้นชกกับ แจ็ค จอห์นสัน อดีตนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตในยุคนั้นมาแล้ว ทว่าสุดท้าย เจ้าตัวเลือกที่จะไม่ขึ้นสังเวียนบนเวทีจริง
ชีวิตของเขาดูค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดาราศาสตร์ไปทุกวัน ฮับเบิล ศึกษาต่อปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์ ตามความประสงค์ของคุณพ่อเขา เสริมด้วยการศึกษาวรรณกรรม และภาษาสเปน ก่อนจบปริญญาโทในปี 1912 และเดินทางกลับสู่สหรัฐฯ อีกครั้ง
ผันตัวมาเป็นโค้ช
ฮับเบิล กลับมาเป็นครูสอนโรงเรียนมัธยมปลาย ด้วยการสอนวิชาฟิสิกส์, คณิตศาสตร์, ภาษาสเปน, และยังรับตำแหน่งโค้ชทีมบาสเกตบอล ผู้นำพาเด็ก ๆ ของเขาเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์ระดับรัฐฯ ก่อนจะจบด้วยการเข้าป้ายอันดับที่ 3
แม้จะไปไม่ถึงแชมป์ และใช้เวลาสอนอยู่เพียงแค่หนึ่งปี แต่เขาก็กลายเป็นที่รักของนักเรียน โดยบรรดาเด็ก ๆ ได้มีการเขียนจารึกในหนังสือรุ่นไว้ว่า
Photo : Indiana Place
“แด่ เอ็ดวิน พี. ฮับเบิล อาจารย์ฟิสิกส์และภาษาสเปนอันเป็นที่รัก เพื่อนผู้ภักดีของพวกเราในปีสุดท้ายของมัธยมปลาย เขาคอยสนับสนุนพร้อมกับช่วยเหลือทั้งในโรงเรียนและบนสนามแข่งขัน พวกเรา ชาว Class of 1914 อุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ด้วยความรัก”
ด้วยความสามารถที่เหลือล้นด้านกีฬา ฮับเบิลสามารถไปต่อในเส้นทางนี้ได้อย่างไร้ข้อสงสัย และยิ่งเมื่อโอลิมปิก 1916 ที่รออยู่ข้างหน้า ยกเลิกไปเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งหนึ่ง ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เขากลับไปหาสิ่งที่เขารักที่สุดตั้งแต่เด็ก
หวนกลับสู่รักแรก
หลายคนมีประสบการณ์กับรักครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการพบคนที่ใช่ หรือสิ่งที่ชอบก็ตาม … รักแรกของ ฮับเบิล คงเป็นการตกหลุมรักกับดวงดาว ในครั้งที่คุณปู่ซื้อกล้องดูดาวมาให้ตั้งแต่อายุครบ 8 ขวบ
หลังจากได้รักษาสัญญากับคุณพ่อเขา ในการเรียนด้านกฎหมายแล้ว ฮับเบิล จึงได้หวนคืนสู่รักแรกของเขา ด้วยการเริ่มเรียนปริญญาเอกต่อในด้านดาราศาสตร์โดยตรง ครั้งนี้เขาได้มีโอกาสใช้หอดูดาวเยอร์กีส์ (Yerkes) ซึ่งมีกล้องดูดาวที่ทรงประสิทธิภาพสุดในเวลานั้นอีกด้วย
ดร. ฮับเบิล เรียนจบปริญญาเอกในปี 1917 ทันเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะรบกวนการศึกษาแบบพอดี ผลงานธีสิสของ ฮับเบิล คือ “การวิเคราะห์ภาพถ่ายของเนบิวลาที่อยู่ห่างไกล” ซึ่งมันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบอันยิ่งใหญ่
Photo : India Today
หลังจากอาสาเป็นทหารในสงครามโลก ฮับเบิล ได้รับงานที่หอดูดาว เมาท์ วิลสัน ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์ฮูกเกอร์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร อันเป็นกล้องที่ทรงพลังกว่าทุกตัวบนโลกในปี 1919 และได้อุทิศช่วงเวลาในการศึกษาท้องฟ้าตลอดคืน จนได้ผู้ช่วยอย่าง มิลตัน ลาเซลล์ ที่อัปเกรดจากภารโรงกะดึก มาเป็นผู้ร่วมพิสูจน์ว่าจักรวาลแห่งนี้มันกว้างใหญ่ยิ่งนัก
ในอดีต เราเชื่อว่าเอกภพนั้นประกอบได้ด้วยกาแล็กซีทางช้างเผือกเพียงอย่างเดียว และการหาดาวชนิดเซเฟอิด (Cepheid Star) อันเป็นดาวแปรแสงที่ถูกใช้เพื่อวัดระยะห่างของกาแล็กซีต่าง ๆ ทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าทางช้างเผือกนั้นมีขนาดประมาณ 100,000 ปีแสงเท่านั้น
แต่ ฮับเบิล ไม่เชื่อว่าเอกภพจะมีขนาดเท่านั้น เขาจึงพยายามหาดาวเซเฟอิดในเนบิวลาที่อยู่ไกลออกไปอย่างแอนโดรเมดา และเมื่อสามารถวัดระยะห่างของมันได้แล้ว ก็พบว่าแอนโดรเมดาอยู่ห่างไปราว 900,000 ปีแสงด้วยกัน (ในปัจจุบันพบว่ามันอยู่ห่างไป 2.3 ล้านปีแสง)
Photo : Biography
นั่นทำให้แอนโดรเมดาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทางช้างเผือก และส่งผลให้ ฮับเบิล พบว่าเอกภพไม่ได้มีแค่กาแล็กซีเดียว แต่ประกอบไปด้วยกาแล็กซีน้อยใหญ่มากมาย ที่กำลังขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องแม้ในปัจจุบันก็ตาม ยิ่งกาแล็กซีเหล่านี้อยู่ห่างจากโลกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเคลื่อนตัวห่างไปเร็วเท่านั้น จนกลายมาเป็น “กฎของฮับเบิล” สมการในวิชาฟิสิกส์จักรวาลวิทยา อย่างที่ใครหลาย ๆ คนได้เรียนกัน
ความฝันไม่จำเป็นต้องมีเพียงเรื่องเดียว แต่สิ่งสำคัญ คือ การไม่หยุดฝัน และไม่ท้อในการลงมือทำมันให้เกิดขึ้นจริง
ฮับเบิล ได้รับการยกย่องด้านกีฬา มีเหรียญรางวัล ถ้วยแชมป์มาการันตี แน่นอนมันต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อม และเตรียมตัวเป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับเมื่อเขาเลือกเดินสายดาราศาสตร์ ก็ต้องทุ่มเทเวลาและชีวิตให้การสำรวจดวงดาว การค้นพบของ ฮับเบิล ต้องใช้เวลาศึกษาและรวบรวมข้อมูลกว่า 7 ปี เพื่อยืนยันการค้นพบที่เปลี่ยนโลกนี้ไป
ฮับเบิล ยังคงทุ่มเทกับการศึกษาดวงดาวต่อไป จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1953 ด้วยวัย 63 ปี และแม้กายจะจากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่ชื่อของเขายังคงถูกนำมาใช้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ภาพถ่ายต่าง ๆ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โมนาลิซ่าแห่งวงการดาราศาสตร์” เลยทีเดียว
Photo : DNAinfo
จะว่าไป ชีวิตของ ฮับเบิล ถือว่าสุดขั้วมาก ๆ จากเด็กผู้กวาดแชมป์บาสฯ 4 ปีซ้อน จนได้ทุนไปเรียนต่ออ็อกซ์ฟอร์ด กลับมาเป็นโค้ชให้ทีมมัธยมปลาย ก่อนหันหลังให้กีฬา และไปเรียนเอกด้านดาราศาสตร์ จนกลายมาเป็นผู้ค้นพบว่าเอกภพแห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก ๆ และยังคงขยายตัวออกไปอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงรุ่นของฮับเบิลนั้น ยังไม่มีระบบจัดการแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพ อย่าง NBA ที่เรา ๆ รู้จัก
น่าคิดเหมือนกันว่า เขาจะเลือกเดินเส้นทางไหน หากโลกในยุคนั้นมี NBA แล้ว …