เซบาสเตียน โค ประธานกรีฑาโลก ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า โตเกียว โอลิมปิกจะสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างปลอดภัยในปีนี้ รวมถึงนักกีฬาต้องการที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2021 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่เลื่อนการแข่งขันมาเป็นเวลา 1 ปี แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นตอนนี้ยังสร้างความกังวลให้หลายฝ่าย
โดยโคได้เข้าร่วมกิจกรรม Ready Steady Go Tokyo 2020 การแข่งขันกรีฑาทดสอบสนามโอลิมปิกที่สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงโตเกียว ซึ่งมีนักกีฬาลงแข่งขันกว่า 420 คน โดย 9 คนในจำนวนนั้นเป็นนักกีฬาจากต่างประเทศ
“เราเข้าใจถึงความรู้สึกของชุมชนและสังคมทั่วโลกที่รู้สึกถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ของโควิด-19” โคกล่าวถึงความกังวลที่หลายฝ่ายมีต่อโอลิมปิกที่จะเริ่มต้นขึ้นในกรุงโตเกียวเดือนกรกฎาคมนี้
“เราจริงจังมากกับการรับมือความรู้สึกกังวลเหล่านี้
“มาตรการต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 โดยเฉพาะจากกรีฑาโลก ได้ถูกพัฒนามาตลอดปีที่ผ่านมา โดยครึ่งหนึ่งเป็นการพัฒนาโดยทีมสาธารณสุขและทีมวิทยาศาสตร์ของเราที่มีความเชี่ยวชาญสูง ในการช่วยออกแบบอีเวนต์ที่ปลอดภัย
“เรามีมาตรการที่เคร่งครัดที่ได้ผ่านการทดลองและทดสอบมาแล้ว และจากที่ผมได้เห็นด้วยตัวของผมเองที่นี่ เรามีความจริงจังมากกับเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศนี้
“เราเข้าใจว่ามันเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ผมไม่เชื่อว่าเคยมีโอลิมปิกครั้งไหนที่จัดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากขนาดนี้ การแข่งขันระดับนี้เป็นการบริหารจัดการที่ซับซ้อนมาก”
นอกจากนี้ โคยังได้เปิดเผยว่านักกีฬาเข้าใจกฎกติกามาตรการต่างๆ ที่จะทำให้โตเกียว โอลิมปิก แตกต่างจากโอลิมปิกในอดีต
“ผมพูดกับนักกีฬาเป็นประจำ ผมจะคอยยกย่องนักกีฬาที่ต้องรับมือต่อสถานการณ์ และมาตรการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“ตอนนี้มันสมบูรณ์แบบหรือยังเหรอ คำตอบคือไม่
“พวกเขายอมรับสถานการณ์ได้หรือยัง คำตอบคือใช่
“นักกีฬาส่วนใหญ่ที่ผมพูดคุยด้วย ที่ต้องการที่จะไปแข่งขัน เข้าใจว่านี่จะเป็นโอลิมปิกแบบที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าจะพบเจอมาก่อน
“นักกีฬากรีฑาได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความอดทนตลอดปีที่ผ่านมา
“พวกเขาเข้าใจว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ผมคิดว่าทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน
“ในกีฬาประเภทลู่และลาน เรารู้ว่านักกีฬาจะไม่เข้าสู่หมู่บ้านนักกีฬาจนกว่าจะใกล้ช่วงเวลาของการแข่งขัน
“โอกาสที่พวกเขาจะถูกกักตัวในแคมป์ทีมชาติมีจำกัด แต่พวกเขารู้ว่าพวกเขาเลือกที่จะมาที่นี่มากกว่าที่จะถอนตัว เพราะนี่เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขา”
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดทางโตเกียวและเมืองใหญ่ต่างก็ยังอยู่ภายใต้สภาวะฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่ 4 ในช่วงเวลาของการนับถอยหลังกว่า 70 วัน ก่อนพิธีเปิดโอลิมปิกในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้
ซึ่งทางโตเกียว 2020 ฝ่ายจัดการแข่งขันได้จัดกิจกรรมทดสอบสนามแข่งขันทั้งหมด 11 อีเวนต์ โดยมีนักกีฬาจากต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 4 อีเวนต์ ประกอบไปด้วยวอลเลย์บอล, กระโดดน้ำ, มาราธอน และกรีฑา ตลอดเดือนที่ผ่านมา แต่ล่าสุดยังไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในอีเวนต์ดังกล่าว
ด้านนักกีฬาญี่ปุ่น ซูซุฮะ โคบาริ นักกรีฑาที่เพิ่งลงแข่งขัน 100 เมตรหญิง ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าว Reuters ว่า
“ผู้คนมีความกังวลเกี่ยวกับคนที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศ หลังจากที่มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ในฐานะนักกีฬา ฉันอยากให้โอลิมปิกจัดขึ้นโดยมีนักกีฬาจากหลายประเทศเข้าร่วมแข่งขัน”
เช่นเดียวกับ นานามิ ทาเกะนาเกะ นักกีฬายิมนาสติก ที่ยอมรับว่าเธอเข้าใจความรู้สึกของคนที่ไม่เห็นด้วย แต่นั่นยิ่งเป็นเหตุผลให้เธออยากที่จะช่วยนำพารอยยิ้มกลับคืนสู่ผู้คนผ่านผลงานของพวกเขา
“เราจะโฟกัสในสิ่งที่เราทำได้ ตอนที่โอลิมปิกจัดขึ้น เราอยากที่จะทำผลงานให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้คนมีรอยยิ้มและรู้สึกดีใจที่เกิดการแข่งขันขึ้น”
สำหรับความรู้สึกของประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในตอนนี้ยังมีความกังวลต่อการแข่งขันมหกรรมกีฬาภายในวิกฤตการแพร่ระบาดที่ยังไม่จบลงทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนญี่ปุ่นของสำนักข่าว Kyodo News พบว่า 80% ของผลสำรวจอยากให้โอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ยกเลิก หรือเลื่อนการแข่งขันออกไปอีกครั้ง
รวมถึงล่าสุด เคนจิ อุสึโนมิยะ อดีตผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงโตเกียวหลายครั้งที่ผ่านมา ได้เปิดช่องทางลงนามออนไลน์ เรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และฝ่ายจัดการแข่งขัน ยกเลิกการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2021 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ เมื่อวันอังคารที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยรายงานล่าสุด THE STANDARD พบว่า มีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่า 315,000 คน ผ่านเว็บไซต์ Change.org จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500,000 รายชื่อ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงชาวญี่ปุ่นที่รวมตัวกันเพื่อแสดงสัญลักษณ์ และเรียกร้องให้ยกเลิกการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิกในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
“เราไม่เข้าใจเหตุผลในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ตอนที่ระบบสาธารณสุขของเราอยู่ในสภาวะที่ใกล้ล่มสลาย” พยาบาลชาวญี่ปุ่นผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงกล่าว
“แม้ว่าเราจะรู้สึกเสียใจสำหรับนักกีฬา แต่ตอนนี้เรามีคนอื่นที่รู้สึกเสียใจมากกว่า”
ขณะที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ แม้ว่า IOC และโตเกียว 2020 จะระบุไว้ในคู่มือว่า นักกีฬาที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนยังสามารถเดินทางมาร่วมแข่งขันได้ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง IOC ได้ลงนามข้อตกลง (MOU) กับ Pfizer ในการจัดหาวัคซีนให้กับนักกีฬา โดยคาดว่าจะได้รับภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้นักกีฬาทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ก่อนการแข่งขันในเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับงบประมานการลงทุนในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ สื่อต่างประเทศได้รายงานว่ามีการลงทุนไปแล้วกว่า 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 480,978 ล้านบาท เพื่อจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ถูกเลื่อนออกจากกำหนดการเดิมเป็นเวลา 1 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/sport/2021/may/05/sebastian-coe-expects-tokyo-olympics-go-ahead-after-test-event-japan-half-marathon-sapporo
- https://www.insidethegames.biz/articles/1107572/tokyo-2020-athletics-test-event-coe
- https://www.change.org/p/%E8%8F%85%E7%BE%A9%E5%81%89%E9%A6%96%E7%9B%B8-%E4%BA%BA%E3%80%85%E3%81%AE%E5%91%BD%E3%81%A8%E6%9A%AE%E3%82%89%E3%81%97%E3%82%92%E5%AE%88%E3%82%8B%E3%81%9F%E3%82%81%E3%81%AB-%E6%9D%B1%E4%BA%AC%E4%BA%94%E8%BC%AA%E3%81%AE%E9%96%8B%E5%82%AC%E4%B8%AD%E6%AD%A2%E3%82%92%E6%B1%82%E3%82%81%E3%81%BE%E3%81%99-04a29b1b-b19d-4582-9b7b-7b29f030ccc3?utm_content=cl_sharecopy_28685503_ja-JP:0&recruiter=1199662576&utm_source=share_petition&utm_medium=copylink&utm_campaign=share_petition