Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: กรีฑา

เจาะความสำเร็จ “วีลแชร์เรซซิ่งไทย” ที่ครองความยิ่งใหญ่ในพาราลิมปิก | Main Stand – TrueID – Sport

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ผลงานของทัพนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งไทย ยังคงยอดเยี่ยมในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ด้วยการกวาดไปถึง 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง หรือคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของเหรียญรางวัลรวมที่ประเทศไทยได้ในพาราลิมปิกครั้งนี้

หากย้อนกลับไปในพาราลิมปิกครั้งที่ผ่านมา วีลแชร์เรซซิ่ง เป็นกีฬาที่นำเหรียญทองให้ทัพนักกีฬาไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2000 คว้าได้ 4 เหรียญทอง  // ปี 2004 คว้าได้ 2 เหรียญทอง // ปี 2008  ทำได้ 1 เหรียญทอง // ปี 2012 แม้ไม่ได้เหรียญทอง แต่ก็ทำได้ 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ ปี 2016 ทำได้ 4 เหรียญทอง 

เพราะเหตุใด กีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง จึงเป็นกีฬาที่ประเทศไทย ครองความเป็นหนึ่งได้ยาวนาน และเพราะอะไร กีฬาชนิดนี้จึงมีนักกีฬาหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการอย่างต่อเนื่อง  

ไม่ใช่แค่ใครก็ได้

แม้ภาพจากการถ่ายทอดสด อาจจะดูเหมือนง่ายดายกับการทำให้รถวีลแชร์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็ว แต่การจะทำให้รถมีความเร็วตามที่ต้องการได้นั้น ไม่ได้ทำได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่เกิดจากการสร้างความคุ้นเคยที่ยาวนาน และอีกสิ่งที่สำคัญคือความใจสู้ 

ประวัติ วะโฮรัมย์ เจ้าของ 7 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ นับตั้งแต่ปี 2000 และคว้าเหรียญรางวัลมาได้รวม 16 เหรียญ เปิดเผยกับทีมข่าว Main Stand และรายการลุยสนามข่าวเย็นทางช่อง T Sport 7 ว่า มีนักกีฬาคนพิการที่ต้องการมาเล่นกีฬาชนิดนี้เป็นจำนวนมากตลอดช่วงเวลา 20 กว่าปีที่เขาอยู่ในวงการ ก่อนจะผันตัวมาเป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอน แต่สุดท้ายแล้วกลับเหลือนักกีฬาที่อยู่ในเส้นทางนี้เพียงไม่กี่คน

“วีลแชร์เรซซิ่ง จำเป็นต้องใส่ใจกับการฝึกไม่ต่างกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ในอดีตมีนักกีฬาจำนวนมากที่เข้ามาเก็บตัวกับเรา แต่ว่ามีนักกีฬาที่พร้อมจะก้าวไปกับเราจริง ๆ ไม่มากนัก เพราะการฝึกซ้อมวีลแชร์เรซซิ่งในแต่ละวันนั้นหนักมาก”

“เราฝึกซ้อมกันวันละ 2 ช่วงเวลา มีทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น ต้องเรียนรู้เทคนิคการปั่นและการเล่นเวต บางวันก็ต้องซ้อมปั่นออกถนน ประมาณ 20-30 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นนักกีฬาที่รู้สึกว่าไปกับมันไม่ได้ก็จะค่อย ๆ ถอนตัวออกไป”

“ปัจจุบันมีนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่เก็บตัวร่วมกันประมาณ 12 คน อาจจะไม่ใด้มีข่าวสารอะไรมาก แต่จริง ๆ แล้วกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งมีการแข่งขันที่ต่อเนื่องเหมือนกรีฑาของคนปกติ เวลาซ้อมเราก็จะต้องเก็บตัวเป็นเวลานานไม่ต่างกับนักกีฬาทั่วไปเลย เพราะฉะนั้นทุกคนที่จะเล่นกีฬาชนิดนี้จะต้องให้เวลาในชีวิตไปกับมัน ไม่ใช่แค่ใครที่บกพร่องทางร่างกายก็จะมาเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ง่าย ๆ” 

สรีระที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ประวัติ เล่าว่า เขาโชคดีที่มีสรีระที่เหมาะสมกับกีฬาชนิดนี้ เพราะจะทำให้การเคลื่อนไหวบนวีลแชร์ทำได้ดีกว่านักกีฬาคนอื่น ๆ ในโลกนี้ เมื่อมีสรีระดีแล้วต้องมาเสริมด้วยเทคนิคการปั่น เราก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ง่าย นำมาประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น 

“สิ่งสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญที่สุดเลย ก็คือสรีระของนักกีฬาไทย ที่ผ่านมาสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมฝึกซ้อม จะมีสรีระที่ยอดเยี่ยมมาก่อน พอสรีระดี เทคนิคต่าง ๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น ต้องยอมรับว่าในช่วงที่วีลแชร์เรซซิ่งอยู่ในช่วงรุ่งเรือง นักกีฬาของเรารูปร่างดีกันทุกคน”

“อย่างพงศกร แปยอ ที่คว้า 3 เหรียญทองในพาราลิมปิกครั้งนี้ ตอนที่เห็นครั้งแรก ผมสังเกตแล้วว่านักกีฬาคนนี้มีอนาคตที่ดีได้แน่ ๆ ก็ได้ไปติดต่อพูดคุยกับน้อง จนกระทั่งได้มาอยู่ในแคมป์ทีมชาติ พอน้องได้เข้ามาแล้วก็รู้สึกสนุกไปกับมัน ด้วยความที่พงศกรมีสรีระที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ”   

“หรืออย่างอธิวัฒน์ แพงเหนือ จริง ๆ แล้วเพิ่งจะเริ่มมาฝึกซ้อมกับเราได้ไม่นานนี้เอง แต่อธิวัฒน์มีสรีระที่ดีมาก ๆ เหมาะมากกับการเล่นวีลแชร์เรซซิ่ง พอเขาเข้ามาฝึกกับเราได้ไม่นาน เขาก็ได้เรียนรู้เทคนิคการปั่นจากทีมงาน และวันนี้เขาก็ได้เหรียญทองเรียบร้อยแล้ว” 

“จะเห็นได้เลยว่า สรีระของนักกีฬาไทยในการแข่งวีลแชร์เรซซิ่งไม่แตกต่างจากนักกีฬาต่างชาติเลย แต่ทั้งหมดอยู่ที่การฝึกซ้อมและเทคนิคด้วย” 

ถึงรูปร่างดี แต่ทักษะก็ต้องฝึกด้วย

ไม่ใช่แค่รูปร่างเพียงอย่างเดียวที่สำคัญ หากแค่รูปร่างดีแล้วทักษะไม่ได้ การประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น   

ทีมงานโค้ช เช่น อำไพ เสือเหลือง หรือแม้แต่ประวัติ วะโฮรัมย์ ได้พยายามเรียนรู้เทคนิคจากต่างประเทศ นำมาปรับใช้กับนักกีฬาไทยอยู่เสมอ เช่นเรื่องถุงมือที่ใช้สำหรับการปั่น แม้ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้มีการนำเอาถุงมือแบบที่นักกีฬายุโรปหรืออเมริกามาใช้กัน แต่ก็พยายามเรียนรู้ที่จะผลิตเองและนำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุที่มีอยู่ สุดท้ายในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 นักกีฬาไทยก็ได้รับอุปกรณ์ที่สนับสนุนให้การแข่งขันประสบความสำเร็จจนได้ 

“ที่สำคัญก็คือเทคนิคการซ้อม เราจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ นำมาปรับกับสิ่งที่ดีอยู่แล้ว การฝึกซ้อมของนักกีฬาไทย ต้องต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทุก ๆ ฝ่าย รวมถึงผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญของกีฬาชนิดนี้”   

พงศกร แปยอ เจ้าของ 5 เหรียญทองในประวัติศาสตร์พาราลิมปิก วัย 24 ปี เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่จะเข้ามาเล่นกีฬาชนิดนี้  ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวมากนัก ด้วยความที่สภาพร่างกายไม่ปกติ จึงอดไม่ได้ที่พ่อกับแม่จะเป็นห่วง 

“ตอนที่จะเข้ามาฝึกซ้อม พี่ประวัติเป็นคนที่มาติดต่อกับพ่อแม่ผม มาช่วยพูดคุยให้ว่า การเล่นกีฬามันสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ ตอนแรกที่บ้านก็ไม่ค่อยเห็นภาพ แต่ก็ตัดสินใจให้มาลองเข้าแคมป์ดู”

“พอเข้ามาอยู่ในแคมป์ทีมชาติ ตอนแรกก็เข้ามาเป็นรุ่นน้อง ก็ต้องทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่การบริการ, หุงข้าวให้พี่ ๆ เขา เราก็อดทน แต่ก็มีความสุขดี พี่ ๆ ทุกคนใจดี”

“มาซ้อมในช่วงเเรกก็ต้องฝึกปั่นเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ออกถนนบ้าง ซ้อมกับลู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องอดทน ที่ผ่านมาก็เคยท้อ แต่พอเราฝึกไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเห็นผล” 

“ในพาราลิมปิก 2020 ครั้งนี้ ในประเภท 100 เมตร เราต้องมาเจอกับ เบรนต์ ลากาตอส นักกีฬาจากแคนาดา ที่เราไม่เคยชนะเขาเลย แต่พอมาในครั้งนี้ผมก็ชนะเขาได้ วินาทีที่เข้าเส้นชัยเลยรู้สึกดีใจมาก ๆ” 

ระบบการสร้างนักกีฬาที่ต่อเนื่อง

ประวัติ วะโฮรัมย์ ให้ทรรศนะว่า ทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติหรือรายการสำคัญอื่น ๆ ทางทีมงานผู้ฝึกสอนวีลแชร์เรซซิ่งจะเดินทางไปเสาะหานักกีฬาใหม่ ๆ มาร่วมทีมชาติอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เจอนักกีฬาใหม่ ๆ ในช่วงเวลาแบบนี้ทุกครั้ง และปัจจุบัน ทั้งพงศกร แปยอ, อธิวัฒน์ แพงเหนือ และ ภูธเรศ คงรักษ์ ทั้งหมดมาจากเวทีเหล่านี้ทั้งสิ้น 

“จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยมีนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งหลายคน นักกีฬาเหล่านี้ต่างก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นอนาคตของกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งจึงค่อนข้างสดใส และน่าจะสร้างความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือสภาพร่างกายของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งสามารถเล่นได้ค่อนข้างนาน โอกาสที่จะสร้างความสำเร็จจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย”

“ผมดีใจนะที่พาราลิมปิกครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดให้แฟนชาวไทยได้ชม ในอดีตเชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยได้รู้จักกับกีฬาคนพิการ พอเราสร้างความสำเร็จให้ชาวไทยได้เห็น ทำให้ต่อจากนี้ไปก็อาจจะมีนักกีฬาที่สนใจอยากเข้ามาเล่นเพิ่มมากขึ้น ระบบนี้เอื้อต่อการสร้างนักกีฬาเช่นเดียวกัน” 

ผู้มีดีกรีนักกีฬาวีลแชร์พาราลิมปิก 6 สมัยทิ้งท้ายว่า “นักกีฬาคนพิการทุกคนต้องฝ่าฟันอุปสรรค ดูแลสภาพร่างกายตัวเองก็ลำบากแล้ว ดังนั้นใจคุณต้องเข้มแข็งมาก ๆ  

“จะว่าไปแล้ว การเตรียมทีมเข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง แทบจะไม่ต่างจากกรีฑาของคนปกติเลย  กว่าจะได้เข้าไปแข่งขันในรอบสุดท้าย หรืออย่างในพาราลิมปิก ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการทำเวลาและควอลิฟายเพื่อเข้าแข่งขันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นความทุ่มเทของนักกีฬาชนิดนี้จึงต้องมีมากพอ ๆ กับนักกีฬาชนิดอื่น ๆ”

“เรื่องของการตอบแทนความสำเร็จและการสนับสนุน  ผมมองว่าเราเองก็มีความทุ่มเทไม่แพ้กีฬาชนิดใด” ประวัติ วะโฮรัมย์ กล่าวทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ก้าวข้ามขีดจำกัด : นักกีฬาที่บกพร่องด้านร่างกาย สามารถเอาชนะนักกีฬาปกติได้หรือไม่ ? | Main Stand
  • นายก็เป็นฮีโร่ได้นะ : ไฮสปีด พาราฮีโร่ กันดีน ฮีโรบนวีลแชร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาพาราลิมปิก | Main Stand

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.