อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 Presented by Toyota จัดได้ยิ่งใหญ่สมราคา “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมวิ่ง 21 กม. ทดสอบเส้นทางแข่งขัน “วิ่งผ่าเมือง” ด้วยตัวเอง ประกาศพร้อมดัน “อะเมซิ่งมาราธอน” ขึ้นทำเนียบโลก หลังผู้แทนสมาคมกรีฑาโลกส่งสัญญาณ เตรียมมอบสิทธิ์จัดฮาล์ฟมาราธอนชิงแชมป์โลก ปี 2025 ด้าน “สัญชัย นามเขต” นักวิ่งปอดเหล็กทีมชาติไทย คว้าแชมป์นักวิ่งมาราธอนชายไทยสถิติดีที่สุด และอันดับ 2 โอเวอร์ออล ครองถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
การแข่งขันวิ่งมาราธอนในเมืองหลวง รายการเดียวที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาโลก รายการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 Presented by Toyota ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ โดยเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม (เช้าตรู่วันที่ 4 ธันวาคม) โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน โดยจุดสตาร์ทอยู่ที่ ราชมังคลากีฬาสถาน ( 42.195 กิโลเมตร, 21.1 กิโลเมตร) และโลหะปราสาท ถ.ราชดำเนิน ( 10 กิโลเมตร, 5 กิโลเมตร) ผ่านเส้นทางที่เป็นแลนมาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระที่นั่งอนันตสมาคม, สะพานพระราม 8, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ฯลฯ ก่อนจะเข้าเส้นชัยที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมแข่งขันกว่า 25,000 คน รวมทั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และคณะเข้าร่วมแข่งขันในประเภทฮาล์ฟมาราธอน (ระยะทาง 21.1 กิโลเมตร) ด้วย
ผลการแข่งขัน ระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ชายทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ตกเป็นของ อาริ ยิเมอร์ จากเอธิโอเปีย 2.21.36 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท อันดับ 2 สัญชัย นามเขต 2.24.24 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 3 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 2.27.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท
ระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร หญิงทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ เชลมิธ มูริวกี จากเคนยา 2.39.38 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท อันดับ 2 อเล็กซานดรา โมโรโซว่า จากรัสเซีย 2.49.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 3 มากาเร็ต เอ็นจูกูน่า จากเคนยา 2.50.14 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท
ประเภท มาราธอน 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย ชาย อันดับ 1 สัญชัย นามเขต 2.24.24 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 2.27.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 3 ธนาทิพย์ ดีฉิม 2.36.13 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 20,000 บาท
ประเภท มาราธอน 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย หญิง อันดับ 1 ลินดา จันทะชิด 2.55.30 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 โสรยา ต๊ะวงศ์ 3.12.15 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท, อันดับ 3 ระเบียง รังเพียง 3.16.00 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 20,000 บาท
ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร ชายทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ เกปา ออนเจรี ออนดิมา จากเคนยา 1.04.07 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 อเล็กซานเดอร์ เอนจาย จากเคนยา 1.04.09 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 25,000 บาท อันดับ 3 คินดู ซิวเมออน จากเอธิโอเปีย 1.04.24 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท
ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร หญิงทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ มาร์ทา ไบฮาน จากเอธิโอเปีย 1.19.47 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 แอน มูกูฮี จากเคนยา 1.20.36 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 25,000 บาท อันดับ 3 ฟายา ฮัสเซน จากเคนยา 1.21.50 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท
ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย ชาย อันดับ 1 ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม 1.09.58 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 2 ชุติเดช ถนอมทรัพย์ 1.13.47 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท อันดับ 3 วงศ์บวร พัศดี 1.15.03 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 10,000 บาท
ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย หญิง อันดับ 1 อรอนงค์ วงศร 1.24.17 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 2 อรนุช เอี่ยมเทศ 1.27.40 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท อันดับ 3 ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ 1.28.06 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 10,000 บาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังจากเข้าเส้นชัยว่า ตนตัดสินใจมาวิ่งรายการนี้ในวินาทีสุดท้าย โดยร่วมวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร
“การแข่งขันรายการนี้จัดได้อย่างยอดเยี่ยม นักวิ่งได้ วิ่งผ่าเมืองจริง ๆ ตลอดเส้นทางได้มาตรฐาน มีความสวยงามได้ผ่านแลนด์มาร์คต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร การปิดถนนทำได้ดี และปลอดภัย เรื่องของน้ำดื่ม ขนม ไฟสว่าง ห้องน้ำมีตลอดทาง ต้องขอบคุณผู้จัดการแข่งขันอย่างมาก โดยหลังจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะได้หารือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้จัดงานภาคเอกชน เพื่อเตรียมยกระดับการแข่งขันครั้งต่อไปให้ยิ่งใหญ่กว่านี้ สมกับที่ได้รับรองจากสมาคมกรีฑาโลก”
อนึ่ง การแข่งขัน อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 เป็นรายการที่จัดในเมืองหลวงเพียงรายการเดียวที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาโลก โดยในปัจจุบัน รายการนี้ ถือเป็น 1 ใน 5 ของมาราธอนในเมืองหลวงที่จัดได้ดีที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ ประกอบไปด้วยกิจกรรมระดับโลกมากมาย อาทิ งานเอ็กซ์โป ที่ได้มาตรฐานสากล หรือ การประชุมสัมมนากรีฑาโลก “เวิลด์ แอธเลติก โกลบอล รันนิ่ง คอนเฟอเรนซ์ 2022” จัดขึ้นโดยความร่วมมือจากสมาคมกรีฑาโลก ซึ่งในระหว่างการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสมาคมกรีฑาโลก ได้หารือกับ ททท. และผู้จัดมืออาชีพ ไทยแลนด์ไตรลีก เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการมอบสิทธิ์ให้รายการนี้ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนชิงแชมป์โลก ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ปี 2025 (พ.ศ. 2568) โดยฝ่ายผู้จัดไทยได้รับข้อหารือ และจะได้นำเรียนต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในลำดับต่อไป