ส่องสถานการณ์ “รัสเซีย-ยูเครน” หวั่นยืดเยื้อกดดันเงินเฟ้อพุ่ง แนะนำกำเงินสดรอดูสถานการณ์ ด้านคริปโตเคอเรนซี่แม้เริ่มรีบาวนด์ แต่เฟดจะกดลงต่อหากขึ้นอัตราดอกเบี้ย สวนทาง “ทองคำ”พระเอกประจำปีมีลุ้นทะลุ 3 หมื่นบาท ส่วนหุ้นไทยยังน่าสนใจ เชื่อเม็ดเงินยังไหลเข้ารับเศรษฐกิจฟื้นตัว กลุ่มน้ำมัน สินค้าเกษตรรับอานิสงส์
การตัดสินใจของ “รัสเซีย” ในการส่งกำลังพลทหารและยุทโธปกรณ์เข้าประเทศ “ยูเครน” สร้างความผันผวนให้กับตลาดทุนในแทบทุกประเภท โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลงอย่างหนัก อาทิ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และราคาของเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ต่างๆ ขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ” และ “น้ำมัน” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพลังงานหลักของโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ท่าทีหรือหนทางที่จะคลี่คลายความตรึงเครียดจากสถานการณ์ดังกล่าว ยังไม่อาจมองเห็นโอกาสหรือความชัดเจนพอจะให้เกิดขึ้นได้ ณ เวลานี้ สวนทางความคืบหน้าของกองทัพ “รัสเซีย”ที่รุกคืบอย่างหนักในหลายทิศทางเพื่อกรีฑาทัพเข้าสู่เมืองหลวงของยูเครน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุนทำการโยกย้ายเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าจะรุนแรงหรือยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันก็ติดตามความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ประเภทต่างๆว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
หลายฝ่ายประเมินว่า การเกิดสงครามในยูเครนจะทำให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และสิ่งที่น่าสนใจคือรัสเซียเป็นทั้งผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 3 ของโลก ดังนั้นหากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจได้เห็นราคาน้ำมันดิบสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน (26ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 91.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมไปถึงราคาผลผลิตทางการเกษตรซึ่งรัสเซียถือเป็นอีกหนึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และอาจจะเกิด supply chain disruption ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตไมโครชิพ เพราะยูเครนและรัสเซียต่างก็เป็น supplier ของวัตถุดิบในการผลิต
นอกจากนี้ หากเกิดเหตุปะทะรุนแรง “เจพี มอร์แกน” คาดว่าราคาน้ำมันดิบอาจแตะระดับสูงสุดที่ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเลยทีเดียว
สงครามผลักดันเงินเฟ้อปรับเพิ่ม
ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี จำกัด (บลจ.ยูโอบี) ประเมินทิศทางสถานการณ์ดังกล่าวว่า จะทำให้นักลงทุนปรับเงินลงทุนมายังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น (Risk On Mode) และมีโอกาสที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น หากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการเผชิญหน้าทางทหารและรัสเซียตอบโต้โดยการลดการส่งออกพลังงานหรือมีการแซงชั่นจะทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นจากระดับที่สูงอยู่แล้ว แต่หาก NATO ไม่เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง ถ้าเกิดการสู้รบกันขึ้นน่าจะค่อนข้างจำกัดขอบเขต และในอดีตความขัดแย้งทางด้านการเมืองระหว่างประเทศในระดับที่จำกัดขอบเขตมักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงเพียงเล็กน้อยก่อนจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ทำให้ กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ บลจ.ยูโอบี แนะนำ เพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสด เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงของการปรับฐาน การเพิ่มสัดส่วนเงินสดจะช่วยลดความผันผวน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนในลำดับถัดไป ขณะเดียวกันกระจายการลงทุนในหลายๆสินทรัพย์ อาทิเช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน REITs และทองคำ จากปัจจัยความเสี่ยงในหลายๆด้านที่เพิ่มขึ้น ส่งผลผลตอบแทนลดลง
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าสูง เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้นเติบโต ซึ่งมักจะถูกกดดันเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น ส่วนกลุ่มหุ้นที่มีความน่าสนใจหลังจากตลาดปรับฐานเสร็จสิ้นหรือความผันผวนลดลง ได้แก่ กลุ่ม Cyclical, ประเทศหรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัว ทำให้การลงทุนในภูมิภาคเอเชียมีความน่าสนใจกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐและยุโรป)
ขณะเดียวกัน คาดว่าค่าเงินบาทอ่อนจะค่าระยะสั้นและมีแรงเทขายตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วงแรกๆ แต่นักลงทุนต่างประเทศจะกลับเข้ามาลงทุนในเงินบาทและพันธบัตรภายหลังจากการตื่นตระหนกแล้ว เนื่องจากประเทศไทยรวมถึงกลุ่มประเทศเอเชีย ไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง จึงน่าจะเป็นตลาดที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน
อย่างไรก็ตามด้านเงินเฟ้ออาจเร่งตัวสูงขึ้นต่อ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ของไทยยังคงจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะไปควบคุมเงินเฟ้อในช่วงระยะนี้ จนกว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดการท่องเที่ยว ที่เป็นธุรกิจที่สำคัญที่สุดต่อการฟื้นฟูจากผลกระทบ Covid-19
ส่วนธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากไปกว่านี้มากนัก แต่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวออกไป เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศส่วนใหญ่มาจากยุโรป
คริปโต ฯ แค่ฟื้นตัวช่วงสั้นๆ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของคริปโตเคอเรนซี่ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 ก.พ. พบว่าราคาบิทคอยน์ร่วงลงต่ำที่สุดในรอบ 1 เดือน หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งนำกำลังทหารบุกประเทศยูเครน โดยร่วงลงมากถึง 7.9% ไปอยู่ที่ 34,324 เหรียญสหรัฐ นับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ก็ร่วงลงเช่นกัน โดยเฉพาะอีเธอเรียมที่ราคาร่วงลงมากถึง 10.8 % อย่างไรก็ตามพอถัดมาอีก2วัน เมื่อมีข่าวว่ายูเครนพร้อมเจรจากับรัสเซียราคาคริปโทเคอร์เรนซี ก็รีบาวนด์ขึ้น โดยบิทคอยน์ ปรับตัวขึ้น 2% ไปอยู่ที่ 39,093 เหรียญสหรัฐ ส่วนอีเธอเรียม ปรับตัวขึ้น 2.66 % เช่นกัน
ที่ผ่านมาราคาบิทคอยน์ในตลาดโลกปรับตัวลงมามากตอบรับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กังวลว่าอาจพัฒนาเป็นสงครามได้ ทำให้จุดคุ้มทุนในการดำเนินการยิ่งห่างออกไป
อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า สงครามยูเครนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัสเซียถูกคว่ำบาตรสถาบันการเงิน จากชาติชั้นนำ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) หลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นจนมีผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับตัว ไม่เพียงเท่านี้สถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 15-16 มี.ค.นี้ อาจกดดันให้ราคาคริปโตเคอเรนซี่ โดยเฉพาะบิทคอยน์ กลับมาอยู่ในขาลงอีกครั้ง แม้จะมีข่าวว่ากลุ่มประเทศยุโรปจะบริจาคสินทรัพย์ดิจิทัล ช่วยยูเครนและเรื่องดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยับขึ้นของราคาก็ตาม
“ตู้ จุน” ผู้ร่วมก่อตั้งหั่วปี้ (Huobi) หนึ่งในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโทฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์จะยังไม่เข้าสู่ภาวะตลาดกระทิงจนกว่าจะถึงสิ้นปี 2567 หรือต้นปี 2568 เมื่อประเมินจากวัฏจักรราคาในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งช่วงบิทคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง (Bitcoin Halving) จะเกิดขึ้นในทุก ๆ 4 ปีที่ระบบจะทำการลดจำนวนเหรียญที่เกิดใหม่ลงครึ่งหนึ่งในทุก ๆ 4 ปีนั้น เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค. 2563 โดยในปี 2564 มูลค่าบิตคอยน์พุ่งขึ้นแตะระดับสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68,000 เหรียญสหรัฐ เป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2560 ที่ราคาทะยานขึ้นหลังจากที่มีการฮาล์ฟวิ่งในปี 2559
“ทองคำ”พระเอกประจำปี 2565
สำหรับราคาทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์หนึ่งเดียวที่ราคาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มเกิดความตรึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่จะเข้าสู่ภาวะสงคราม เนื่องจากถูกยกให้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย สวนทางกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า หลังนักลงทุนปรับพอร์ตหันเข้ามาในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น จนเมื่อรัสเซียเปิดฉากเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในหลายพื้นที่ของยูเครน (24 ก.พ.) ส่งผลให้ราคาทองคำ (Gold Spot) พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง จ่อทะลุ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศเหวี่ยงแรง เปลี่ยนแปลงมากถึง 17 ครั้ง โดยปรับตัวขึ้นมาถึง 1,100 บาท โดยทองคำแท่ง รับซื้อที่ 29,900 บาท และขายออกแตะ 30,000 บาท ส่วนทองคำรูปพรรณ” รับซื้อ 29,364.92 บาท และขายออก 30,500 บาท จนหลายคนฝันเห็นสถิติใหม่ที่ระดับเหนือ 2,075 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งเคยทำไว้เมื่อเดือนส.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ Covid-19 ระบาดอย่างหนัก
เหตุผลสำคัญที่ผลักดันราคาทองคำทะยานตัวขึ้น เพราะหลายฝ่ายมองว่าสถานการณ์ยังสุ่มเสี่ยงและส่อเค้ายืดเยื้อ โดยหากยูเครน และพันธมิตรชาติตะวันตกโต้ตอบกลับ หรือมีการใช้ความรุนแรง จนเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบจะยิ่งส่งผลบวกต่อราคาทองคำมีโอกาสพุ่งเหนือ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า Upside ของราคาทองคำต่อจากนี้เหลือไม่มากเท่าที่ควร เพราะราคาปรับขึ้นมาเยอะแล้ว ทำให้ในที่สุดปัจจุบัน (25ก.พ.) ราคาทองคำปรับตัวลงกว่า 2% หลังนักลงทุนพากันเทขายทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากเริ่มผ่อนคลายกังวลเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา
ล่าสุด “ธนรัชต์ พสวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ราคาทองคำ ปรับขึ้นร้อนแรง โดยมีปัจจัยหนุนจากวิกฤตในยูเครน ซึ่งมีความตึงเครียดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มราคาทองคำ ในช่วงที่เหลือของเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมคาดจะปรับขึ้นได้ต่อ โดยมีแนวต้านที่ 1,974 ดอลลาร์ และมีโอกาสขึ้นแตะ 2,000 ดอลลาร์ได้ หรือคาดการณ์ว่าราคาทองแท่งในประเทศอาจทะลุ 3 หมื่นบาทได้
โดยปัจจัยหลักที่กระทบต่อราคาทองคำยังขึ้นอยู่กับวิกฤตยูเครนเป็นหลัก กล่าวคือ ต้องดูว่าประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจนำสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียหรือไม่ จะทำให้วิกฤตในยูเครนรุนแรงมากขึ้น หรือชาติตะวันตกพยายามหาทางเจรจากับรัสเซียเพื่อให้เหตุการณ์ตึงเครียดลดน้อยลง ก็อาจจะทำให้มีแรงเทขายทำกำไรในทองคำออกมา
ไม่เพียงเท่านี้ยังต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 มีนาคม ซึ่งคาดการณ์ว่า เฟดจะมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรืออาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมทั้งคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ด้วย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่เร่งตัวสูงขึ้นในปีนี้ โดยคาดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากเดิมเฟดคาดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้รวมทั้งสิ้น 0.75% เปลี่ยนเป็นสูงถึง 1.50%-1.75% ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ โดยทองคำมีแนวรับที่ 1,880 ดอลลาร์ และ 1,850 ดอลลาร์
ขณะที่ “จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ แสดงความเห็นว่า หลังจากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนมีทิศทางที่คลี่คลายลง ราคาทองคำปรับตัวลดลงในรอบที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะเป็นเหตุการณ์หลักที่มีผลต่อราคาทองคำในช่วงนี้ โดยมองว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลงราคาทองคำจะทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งราคาทองคำในประเทศน่าจะทรงตัวอยู่ในช่วงระหว่างบาทละ 28,000 บาท โดยปัจจัยในระยะข้างหน้าที่ต้องติดตามคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวน
หุ้นไทยเม็ดเงินยังไหลเข้า
สำหรับตลาดหุ้นไทย “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ในยูเครนน่าจะจบเร็ว และประเมินว่าจะไม่มีการยิงขีปนาวุธ จากในฝั่งของสหรัฐฯ เนื่องจากไม่คุ้มค่า โดยหากยูเครนถอย หรือมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจคาดว่าเรื่องจะจบ
ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เชื่อว่าจะไม่ถึงขั้นคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซีย เนื่องจากยุโรปต้องพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซีย เพราะหากมีการคว่ำบาตรส่วนนี้จะทำให้เกิดปัญหาซัพพลายหายราคาน้ำมันสูง และเงินเฟ้อพุ่งไปอีก
ส่วนหุ้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบต้องหลีกเลี่ยง คือกลุ่มอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เนื่องจากมีโอกาสที่วัตถุดิบอย่างโลหะจะขาดแคลน และเวลาเกิดสงครามมักจะกำลังการผลิตที่ลดลง ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์เกษตรจะปรับตัวสูงจากภาวะสงครามอาจจะกระทบกับต้นทุนกลุ่มอาหาร เช่น CPF, GFPT ส่วนหุ้นในกลุ่มได้รับผลประโยชน์เชิงบวก จะเป็นกลุ่มน้ำมันและเดินเรือ ที่จะได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้น เช่น PTTEP, PSL รวมไปถึง WICE, LEO ขณะที่ TVO จะได้ประโยชน์จากราคาถั่วเหลืองขึ้น
ด้าน “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเชีย พลัส จำกัด แสดงความเห็นว่า นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกสถานการณ์รัสเซียประกาศสงครามกับยูเครนมากจนเกินไป ควรมองเป็นโอกาสในการเลือกซื้อหุ้นในธีมเศรษฐกิจฟื้น และคาดว่าเงินต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย โดยในระยะสั้นตลาดมีโอกาสปรับตัวลงบ้าง แต่หากหลุดระดับ 1,675 จุด ลงมา 1,650-1,630 จุด ทำให้คงเป้าหมายในปีนี้พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ดัชนีฐานอยู่ที่ 1,810 จุด และดีที่สุด 1,860 จุด นั่นเพราะ เชื่อว่าตลาดยังไปได้ดีอยู่ โดยให้น้ำหนักกลุ่มธนาคาร เพราะราคาตรงนี้ ยังมีส่วนลดเทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชี และสำรองที่มีมากพอแล้ว และเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงแนะนำธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KBANK, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL ส่วนหุ้นค้าปลีกก็น่าสนใจ ราคาต่ำกว่ามูลค่ามาหลายปี ได้ดีจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ชอบบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)หรือCPALL,บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)หรือ BJC บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)หรือ MAKRO
นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่ได้ประโยชน์จากรัฐทุ่มงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แนะนำบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)หรือ SCC และยังมีรายได้จากปิโตรเคมีเกิน 50% แนวโน้มธุรกิจเติบโตได้ดี และโครงการเวียดนามจะเปิดดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรฯ ในปี 2566
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.