Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: กรีฑา

สรุปเหตุ นักวิ่งสาวขอลี้ภัย หวั่นอำนาจมืด หลังถูกบังคับกลับประเทศ เหตุวิจารณ์รัฐบาล – Kapook.com

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

          สรุปเหตุ นักกรีฑาเบลารุส ถูกบังคับกลับประเทศอย่างไม่เป็นธรรม หลังจวกการทำงานของโค้ช โร่ขอตำรวจญี่ปุ่นช่วย จ่อขอลี้ภัยต่างแดน โดยคาดอาจลี้ภัยไปโปแลนด์ 

ภาพจาก GIUSEPPE CACACE / AFP


          วันที่ 2 สิงหาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ส มีรายงานประเด็นร้อนที่จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สำหรับเรื่องราวของ คริสตินา ชิมานูยสกายา (Krystsina Tsimanouskaya) นักกรีฑาสาวชาวเบลารุส วัย 24 ปี ที่ต้องการขอลี้ภัยไปยังต่างแดนหลังถูกประเทศของเธอสั่งถอดจากการแข่งขัน โตเกียว โอลิมปิก 2020 และบังคับให้เดินทางกลับบ้านเกิดโดยด่วน ซึ่งเธอไม่ยินยอม และหันไปร้องขอการคุ้มครองจากตำรวจญี่ปุ่นแทน ทำให้ประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองภายในเบลารุส ที่อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก กลับมาเป็นที่สนใจของชาวโลกอีกครั้ง

          – คริสตินา ชิมานูยสกายา เป็นนักกรีฑาที่ฝึกซ้อมมาอย่างหนักเพื่อเตรียมเข้าร่วมการแข่งวิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตร หญิง ในการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น

ภาพจาก GIUSEPPE CACACE / AFP


         
– อย่างไรก็ตาม อยู่ ๆ เธอก็ถูกบังคับให้เข้าร่วมการแข่งวิ่งผลัด 4×400 เมตร โดยไม่ทันได้เตรียมตัว ซึ่งทำให้เธอไม่พอใจและออกมาวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสและรัฐบาล รวมถึงแฉสาเหตุว่าเกิดจากความเลินเล่อของทีมโค้ชที่ทำให้นักกีฬาที่ควรจะลงแข่งวิ่งผลัด ทำการทดสอบสารต้องห้ามไม่ครบ จนไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม

          – แต่แล้วอยู่ ๆ เธอก็ถูกเบื้องบนสั่งถอดตัวออกจากการแข่งขันที่เหลือทั้งหมดโดยไม่ทันตั้งตัว หลังเพิ่งลงแข่งวิ่ง 100 เมตรหญิง เสร็จสิ้นไป และยังมีโปรแกรมลงแข่งวิ่ง 200 เมตรหญิง ต่อในวันที่ 2 สิงหาคม รวมถึงการการแข่งวิ่งผลัด 4×400 เมตร ในวันที่ 5 สิงหาคม

          – คริสตินา ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้เธอถูกถอดออกจากทีม เกิดจากคำวิจารณ์ของเธอบนอินสตาแกรม

          – โดยอยู่ ๆ ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ (1 สิงหาคม) หัวหน้าโค้ชของเบลารุสก็มาหาคริสตินาที่ห้องพักในหมู่บ้านนักกีฬา และสั่งให้เธอเก็บของทันที

          “หัวหน้าโค้ชมาหาฉัน บอกว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ถอดฉันออก” คริสตินา เผยกับนักข่าว

          – จากนั้นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสก็นำตัวคริสตินาขึ้นรถ เดินทางไปยังสนามบินฮาเนดะ บังคับให้เธอเดินทางกลับประเทศในทันที แม้จะขัดต่อความยินยอมของเธอก็ตาม

          – คริสตินาที่หวั่นอำนาจมืด ไม่ยอมขึ้นเครื่องบิน ยืนกรานไม่ขอกลับไปยังเบลารุสเด็ดขาด และตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากตำรวจญี่ปุ่นที่สนามบินฮาเนดะ

          – เรื่องที่เกิดขึ้นนำมาสู่การประสานงานร่วมกับทางการญี่ปุ่น ผู้จัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 ตลอดจนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ให้การคุ้มครองนักกีฬาสาวให้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย

          – ต่อมามีฝ่ายกฎหมายจากทางญี่ปุ่นพยายามติดตามคริสตินา แต่ทางตำรวจญี่ปุ่นบอกเพียงว่าเธอไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว และปฏิเสธไม่ขอเผยที่อยู่ของเธอ

          – มีรายงานว่าคริสตินารู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว และกำลังเตรียมขอลี้ภัยไปยังเยอรมนีหรือออสเตรเลีย  

          – หลังจากรอยเตอร์สนำเสนอข่าวของคริสตินาที่ถูกบังคับให้กลับประเทศ คณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุสก็ออกแถลงการณ์ชี้แจง ยืนยัน โค้ชตัดสินใจถอดนักกีฬาออกจากเกม ตามคำแนะนำของแพทย์ สืบเนื่องจากสภาพอารมณ์และจิตใจของเธอ

ภาพจาก YUKI IWAMURA / AFP

          – ต่อมา พบว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของโปแลนด์ ออกมาเผยว่าคริสตินาจะได้รับวีซ่าเพื่อมนุษยธรรม และมีอิสระที่จะทำงานด้านกีฬาในโปแลนด์ หากเธอเลือกที่จะลี้ภัยมา

          – กระทั่งล่าสุดพบว่า ในช่วงเช้าวันที่ 2 สิงหาคม คริสตินาได้เดินทางไปยังสถานทูตโปแลนด์ ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยมีผู้หญิง 2 คนที่รายหนึ่งถือธงสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลเบลารุส มายืนให้กำลังใจนักกีฬาสาวที่หน้าสถานทูตด้วย

          – ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยของยูเครน เผยกับรอยเตอร์สว่า สามีของคริสตินาได้เดินทางไปยังยูเครนแล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าเขาอยู่ระหว่างเดินทางต่อไปยังโปแลนด์ เพื่อรอพบกับภรรยาที่นั่นหรือไม่  

          – ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รวมถึงการใช้อำนาจากทางการเบลารุส ทำให้ผู้คนมุ่งเป้าไปยังเรื่องสภาพการเมืองภายในประเทศ ที่อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก มาตั้งแต่ปี 2537 หรือตลอด 27 ปีที่ผ่านมา

          – ผู้คนในเบลารุสเกิดกระแสลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล มีการประท้วงเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งทางการมีคำสั่งปรามปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ขณะที่นักกีฬาซึ่งออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลและเข้าร่วมการประท้วง ถูกจับขังคุกไปหลายรายแล้ว

          – ทั้งนี้ พบว่าวงการกีฬาของเบลารุสนั้นยากที่จะหนีพ้นเรื่องการเมือง โดยพบว่าผู้ที่นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุส ก็คือ วิกเตอร์ ลูกาเชนโก ลูกชายของประธานาธิบดีนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก รอยเตอร์ส

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.