การกลับมาเปิดให้บริการสาธารณประโยชน์ของ “สนามกีฬาคลองจั่น” ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและข่าวดีของสำหรับประชาชนในย่านบางกะปิและพื้นที่ใกล้เคียง ที่จะได้มีพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ เพื่อการออกกำลังกาย และทำกิจกรรมสันทนาการ
อ.ธีระ โพธิ์พานิช บุคคลที่คร่ำวอดอยู่ในวงการกีฬาไทย เผยว่า สนามกีฬาคลองจั่น ถือเป็นอีกหนึ่งสนามกีฬาประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างช้านานเคยใช้เป็นสนามฝึกซ้อมของนักฟุตบอลชาติต่างๆ เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 เมื่อปี ค.ศ.1966 หรือปี พ.ศ.2509 ที่ประเทศเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับจากวันนั้นถึงเวลานี้ ก็เป็นเวลา 50 ปีแล้ว
หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในปีดังกล่าว พื้นที่ของสนามกีฬาคลองจั่นทั้งหมด ถูกยกมให้เป็นสมบัติของชุมชน ซึ่งประชาชนก็ได้เข้ามาใช้ในการออกกำลังกาย แต่เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่ได้เป็นระบบ รวมถึงการที่ไม่ได้มีงบประมาณเข้ามา ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป สนามกีฬาแห่งนี้จึงชำรุดและเสื่อมโทรมลงไปตามกาลเวลา ทั้งส่วนของพื้นสนามฟุตบอล ลู่วิ่งรอบสนามฟุตบอล รวมไปถึงสระว่ายน้ำ และสนามบาสเกตบอล
อ.ธีระ เผยอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้มีแผนที่จะถูกปรับปรุงและเปลี่ยนโฉมให้เป็นคอนโดมิเนียมให้เข้ากับวิถีของประชาชนในเมือง ทว่าเมื่อมีการศึกษาผลดีและผลเสียกับหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงมีมติล้มเลิกโครงการไปก่อน และให้คงพื้นที่ส่วนสนามกีฬาเอาไว้เหมือนเดิม เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่และละแวกใกล้ ได้มีพื้นที่ออกกำลังกาย ซึ่งหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการพูดคุยหารือ เพื่อที่จะเดินหน้าแผนพัฒนามสนามกีฬาแห่งนี้ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่เพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วย
“ในส่วนของสนามฟุตบอล มีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมสันทนาการอยู่เรื่อยๆ แต่ด้วยอายุการใช้งาน ระบบพื้นสนามหญ้าไม่เรียบ ท่อระบายน้ำชำรุด ระบายน้ำไม่สะดวก ระบบรดน้ำ ที่เป็นสปริงเกอร์ก็ใช้ไม่ได้ ก็มีแผนที่คนในชุมชมอยากจะปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น หรือกระทั่งลู่วิ่งที่เป็นลู่ดินก็จะปรับให้เป็นลู่ยางสังเคราะห์ เพื่อบริการประชาชน และเปิดให้เยาวชน และนักกรีฑามาใช้ทำการฝึกซ้อม เช่นกันกับระบบ ไฟแสงสว่างที่จะมีการปรับปรุงใหม่”
“คิดว่าน่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนแหล่งเงินที่จะได้มา ยังไม่ทราบว่าการเคหะแห่งชาติ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือชุมชนในฐานะผู้ที่จะใช้ประโยชน์ จะขอมาจากที่ไหน ก็ต้องคุยกันอีกที และถ้าปรับปรุงเสร็จ ก็อยากจะเห็นการมีคณะกรรมการบริหารและดูแลรักษา เพื่้อให้สนามกีฬาคลองจั่นอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และคนภายนอกได้เข้ามาใช้ทำกิจกรรมออกกำลังกายและสันทนาการต่อไป” อ.ธีระ กล่าวทิ้งท้าย
ส่วน “ตุ่น” เรวดี ศรีท้าว ตำนานนักกีฬากรีฑา อดีตทีมชาติไทย ซึ่งเคยใช้พื้นที่ในสนามกีฬาคลองจั่นแห่งนี้ออกกำลังกาย เผยว่า สนามกีฬาคลองจั่น ถือเป็นสนามกีฬาประวัติศาสตร์ รวมถึงพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นหมู่บ้านนักกีฬา แต่ด้วยกาลเวลาทำให้สนามแห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุนหากจะมีการปรับปรุงพื้นที่สนามกีฬาแห่งนี้ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่้ดีและสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และละแวกรอบๆได้ใช้ประโยชน์ไปอีกนานๆ ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาคนพัฒนาประเทศ ซึ่งสนับสนุนและส่งเสริมให้คนในชุมชนและเด็กๆในพื้นที่ได้เล่นกีฬาและออกกำลังกาย
ด้าน ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เผยว่า จากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงมาดูพื้นที่เคหะชุมชนคลองจั่น เมื่อ 21 พ.ย.65 เพื่อร่วมพูดคุยและรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ได้มีโอกาสเดินทางมาเดินชมสนามกีฬาคลองจั่นด้วยตัวเองด้วย พร้อมพูดคุยกับประชาชนชาวคลองจั่นว่าต้องให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่ในชุมชน ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และก็อยากเห็นประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่สนามกีฬาคลองจั่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด
“ทางการเคหะฯในฐานะที่เป็นผู้ถือครองโฉนดผืนนี้อยู่เคยเสนอของบประมาณเพื่อมาปรับปรุงพื้นที่สนามกีฬาคลองจั่นแล้ว แต่รัฐบาลเองก็มีงบประมาณที่จำกัด รวมถึงภารกิจสำคัญของทางการเคหะฯ ที่ไม่ได้ชัดเจนในเรื่องของการกีฬา ก็ทำให้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงมา ซึ่งครั้งล่าสุดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุง ก็คือราวๆปี 2545-2546 ซึ่งก็เป็นงบเงินกู้ ที่รัฐบาลสมัยนั้นอนุมัติให้ใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เอามาใช้ในการปรับสภาพสนาม เพื่อให้ใช้งานได้ หลังจากนั้นร่วม 20 ปี ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมลงมา”
“ทางสำนักงบประมาณที่มาลงพื้นที่ ให้คำปรึกษากับเราว่า หากจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ คงต้องแบ่งงบประมาณออกเป็นเฟสๆ เฟสแรก คือ การปรับภูมิทัศน์เบื้องต้นเพื่อให้สนามสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย เพราะตอนนี้สนามเป็นหลุมเป็นบ่อและทรุดโทรมไปตามเวลา ส่วนระยะที่ 2 คือการยกระดับคุณภาพของสนามกีฬาให้ได้มาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถใช้ในการออกกำลังกาย รวมถึงใช้ในการแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสนามฟุตบอล และลู่วิ่ง”
ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ เผยว่า ตนหวังว่าการปรับปรุงสนามกีฬาคลองจั่น สามารถดำเนินการและทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในระยะเวลา 1-2 ปีต่อจากนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูถึงแหล่งที่มาของบประมาณที่จะนำมาใช้ราวๆ 100 ล้านบาทด้วยว่าจะสามารถขอจากส่วนมาใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่ในชุมชนส่วนนี้ได้ ส่วนเวลานี้ที่ทำได้ ทางการเคหะฯ อาจจะเจียดงบซ่อมแซมของหน่วยงานในปี 2566 บางส่วนเพื่อมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สนามกีฬา
“ภารกิจของการเคหะแห่งชาติ นอกจากการสร้างบ้านให้ผู้ที่มีรายได้น้อยแล้ว ในกฎหมายเขียนไว้ชัดว่า เราต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยด้วย ในมิติยั่งยืน สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ผมพยายามเชิญชวนคนเคหะให้กลับมาดูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่โครงการของการเคหะฯให้มากขึ้น” ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน สุรัตน์ เทียมเมฆา โค้ชทีมฟุตบอลสโมสรบางกะปิ รุ่นอายุ 10-12 ปี เผยว่า ทีมมีนักกีฬาตั้งแต่รุ่นเด็กฝึกหัด และเด็กๆตั้งแต่รุ่น 7-18 ปี รวมถึง ประชาชน รวมแล้วมีทั้งหมด 7 รุ่น เด็กๆเหล่านี้ เป็นเด็กพื้นที่ในบางกะปิ แต่ก่อนสโมสรจะซ้อมอยู่ในพื้นที่บางกะปิ มีไปฝึกซ้อมที่สนามฟุตบอลที่เป็นของเอกชนบ้างตามโอกาส ซึ่งก็ไปได้ไม่บ่อยนัก เพราะต้องเสียค่าเช่าสนามในราคาที่สูง ซึ่งตอนนี้ทีมมีเด็กๆและนักกีฬาทุกรุ่นในทีมรวมกันกว่า 100 คน
“ช่วงนี้เด็กๆได้กลับเข้ามาซ้อมที่สนามกีฬาคลองจั่นกันมากขึ้น ต้องขอบคุณผู้ใหญ่หลายๆฝ่ายที่ช่วยกันให้ความอนุเคราะห์ให้พื้นที่ฝึกซ้อมกีฬากับเยาวชนและทีมฟุตบอลบางกะปิเกือบทุกวัน เป็นโอกาสดีของเด็กๆที่ได้เล่นฟุตบอลกับพื้นสนามจริง ก่อนที่ออกไปทำการแข่ง ซึ่งนอกจากเด็กๆในอะคาเดมี่ของเราแล้วเราก็เปิดโอกาสให้น้องๆและผู้ปกครองพาลูกหลานเข้ามาฝึกฟุตบอลและเล่นฟุตบอลกับเราได้ด้วย ก็ถือเป็นเรื่องดีๆของเด็กที่จะได้มีพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เพื่อให้ห่างไกลยาเสพติดด้วย”
โค้ชหนุ่มของทีมสโมสรฟุตบอลบางกะปิ เผยล่าสุด สโมสรบางกะปิของเรา มีพี่ เอกพงษ์ มิดพล เป็นประธานสโมสรแม้เป็นสโมสรเล็กๆแต่ก็มีเป้าหมายที่จะสร้างและปั้นนักฟุตบอลสู่การแข่งขันระดับอาชีพ ผลงานที่ผ่านมาทีมส่งนักกีฬาลงแข่งขันตลอด ล่าสุดได้แชมป์ฟุตบอลสิงห์ จูเนียร์ รุ่น 11 ปี ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนไปชิงแชมป์ประเทศไทย ตอนนี้กำลังวางแผนส่งแข่งในรายการเซมิโปรลีก ที่เป็นลีกกึ่งอาชีพ รองจากไทยลีก 3 ซึ่งเราก็ใช้เด็กๆจากชุมชนของเราร่วมแข่งขัน”
“ที่ผ่านมาผลิตผลของสโมสรบางกะปิ เติบโตและก้าวขึ้นมาเล่นในลีกอาชีพแล้วหลายคนเลยครับ ที่เด่นๆก็จะมี กิตติพงษ์ แสนสนิท แนวรับดีกรีทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ตอนนี้เล่นให้กับ ชลบุรี เอฟซี, ธนา อิซอ ผู้เล่นปีก ทีมชาติชุดยู-17 ตอนนี้อยู่กับเชียงใหม่ ยูไนเต็ด รุ่นพี่ๆ ก็จะมี ธนะศักดิ์ ศรีใส อดีตทีมชาติไทย หรือ ชนสรณ์ โชคลาภ ทีมชาติไทยชุดยู-16 รวมถึงที่เล่นในไทยลีก 2 ไทยลีก 3 อีกหลายคน”
“รวมไปถึง พงศกร สังขโสภา ที่ตอนนี้เล่นอยู่กับทีมหัวหิน ซิตี้ โดยเจ้าตัวเป็นนักเตะอายุน้อยสุดที่ได้ลงเล่นในลีกอาชีพ และกำลังจะได้ไปฝึกฟุตบอลอาชีพที่ประเทศเบลเยียม กับทีมดังอย่าง อันเดอร์เลช ด้วยครับ ซึ่งเด็กๆกลุ่มนี้ก็เติบโต ลงเล่นและต่างก็ฝึกซ้อมฟุตบอลอยู่ในสนามกีฬาคลองจั่น”
“เชื่อว่าการที่เด็กๆได้เข้ามาซ้อมและเข้าเล่นในสนามจริงๆแบบนี้จะส่งผลดีหลายๆอย่างกับเด็กๆ ในละแวกนี้ที่ไม่ต้องเดินทางไปซ้อมไกลๆ หรือเสียค่าใช้จ่ายแพงในการเช่าสนาม ยิ่งมีสนามดีๆให้เด็กได้เล่น พวกเขาก็เกิดแรงบันดาลใจในการเล่น และช่วยกันดูแล ซึ่งก็จะเป็นรากฐานที่ดีในการสร้างและพัฒนาทักษะฟุตบอลของเด็กๆในชุมชม ซึ่งก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักให้กับสโมสร ที่มีความฝันร่วมกันในการที่จะก้าวขึ้นไปเล่นลีกอาชีพให้ได้ รวมไปถึงทีมชาติไทยต่อไปในอนาคต”