5 ปีในฐานะนักวิ่งระยะสั้นทีมชาติไทย “ใบพัน” ศิริพล พันธ์แพ ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2022 ด้วยการร่วมสร้างสถิติที่ดีที่สุดของประเทศไทย จากการวิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตรชาย ผลัดไม้ที่ 3 ที่เชื่อมต่อทุกคนในทีมไปจนถึงเส้นชัยจนสามารถสร้างสถิติใหม่ได้สำเร็จ นี่คือเรื่องราวเส้นทางชีวิตของพี่คนรองของทีมผลัดแห่งประวัติศาสตร์
อายุ 13 ปีคือจุดเริ่มต้นการเป็นนักวิ่งของใบพัน ตอนนั้นเขามีอาการภูมิแพ้ฝุ่นอย่างหนัก ต้องไปพบแพทย์อยู่เป็นประจำ มีอาการหายใจไม่สะดวกบ่อยครั้ง จนต้องพกยาพ่นจมูก ในพันเล่าว่า หมอบอกว่าเขาจะไม่หายจากโรคนี้ถ้าไม่ออกกำลังกาย
“ตอนเด็กผมเป็นภูมิแพ้ฝุ่นหนักมาก บางคืนถึงกับนอนไม่หลับเพราะหายใจไม่ออก พ่อกับแม่ต้องพาไปหาหมอ หมอบอกว่า ผมจะไม่มีทางหายถ้าไม่ออกกำลังกาย พ่อแม่เลยลองส่งผมไปคัดเข้าโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ปรากฏว่าคัดตัวผ่าน ก็เลยเข้าไปซ้อมที่นั่น จนถึงอายุ 15 ก็หายจากภูมิแพ้” ใบพันเล่าถึงอดีตในวัยเด็ก
กีฬาที่ใบพันเล่นในตอนนั้นก็คือการวิ่ง วิ่งอยู่นาน 2 ปี จนกำลังจะจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เป็นช่วงที่วัยรุ่นทุกคนต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางอนาคต “ตอนนั้นผมคิดว่าจะพอแล้วกับการวิ่ง ไปเรียนดีกว่า แต่โค้ช คือ โค้ชศิริโรจน์ ดาราสุริยงค์ อดีตทีมชาติซึ่งดูแลผมอยู่ บอกให้ใจเย็นๆ เพราะมองเห็นว่าผมกำลังจะพัฒนา เชื่อว่าจะไปทางนี้ได้ดี ผมจึงคิดว่าเหลืออีก 1 ปี จะลองตั้งใจดู”
“ความรู้สึกตอนนั้น ผมคิดว่า ผมก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย ผมเลยไม่หยุดและซ้อมต่อ แต่ที่โรงเรียนกีฬาเทษบาลนครสุราษฎร์ธานี มีแค่มัธยมปีที่ 3 ผมเลยเข้าไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ด้วยโควตานักกีฬา” และนั่นก็กลายเป็นอีก 1 ก้าวที่สำคัญมากในการเข้าสู่ทีมชาติไทย
ช่วงเรียนชั้นมัธยมปลาย ใบพันได้เจอกับโค้ชคนใหม่ คือ อาจารย์ธีโรจน์ ชัยงาม ผู้ผลักดันเขาสู่เส้นทางการเป็นนักวิ่งทีมชาติ โดยช่วงมัธยมปีที่ 6 ใบพันได้มีโอกาสได้คัดตัวเป็นนักวิ่งเยาวชนทีมชาติไทย จากการคัดตัวครั้งนั้นทำให้สมาคมเห็นแววและได้เข้ามาเก็บตัวในแคมป์ทีมชาติ ตั้งแต่อายุ 17 ปี
จากแดนใต้ สุราษฎร์ธานี ใบพันเก็บกระเป๋ามุ่งหน้าสู่แคมป์เก็บตัวนักวิ่งทีมชาติไทย ที่สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เป็นครั้งแรกของใบพันที่จะได้มาใช้ชีวิตในจังหวัดอื่น ทำให้มีอุปสรรคเกิดขึ้น เพราะต้องเก็บตัวไปด้วยและเรียนไปด้วย
ณ เวลานั้น ถือได้ว่าใบพันคือนักวิ่งระยะสั้นดาวรุ่งดวงใหม่ ด้วยวัยเพียง 17 ปี ถูกเรียกไปรับใช้ชาติในซีเกมส์ปี 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย แข่งในระยะ 200 เมตร วิ่งเข้าเส้นชัยอันดับ 6 ตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดทีมชาติ จึงมีโอกาสที่จะแข่งได้อีกไกล ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เขาต้องเลือกเส้นทางอนาคตให้ชีวิต ระหว่างการเป็นนักกีฬาทีมชาติต่อไป และการเข้ามหาวิทยาลัย
“ซีเกมส์ที่มาเลเซียตอนนั้น ผมตอนนั้นได้ลงแข่งวิ่ง 200 เมตรชาย จบอันดับ 6 แล้วก็ตอนนั้นยังเรียน ม.6 ที่สุราษฎร์ฯ มีปัญหาเรื่องเดินทาง เพราะต้องซ้อมกับสมาคมที่ มธ. เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะเข้ามหาลัย จนคิดว่าจะเล่นต่อหรือเลิก เพราะเรียนก็ต้องเรียน ซ้อมก็ต้องซ้อม แต่ดีที่โรงเรียนเข้าใจ สุดท้ายจบ ม.6 มาเรียนต่อที่กรุงเทพธนฯ เลยซ้อมได้ต่อเนื่อง”
และต่อด้วยการวิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตรชาย รายการกรีฑาที่ทีมชาติไทยเป็นเจ้าเหรียญทองมาทุกยุคทุกสมัย และใบพันซึ่งเป็นน้องเล็กที่สุดของทีมได้รับบทที่กดดันที่สุด คือ “ผลัดไม้ที่ 4” รับไม้จากตำนานนักวิ่งไทย “มิ้ว จิระพงษ์ มีนาพระ” ฝ่าความกดดันมหาศาล พาทีมเข้าเส้นชัยอันดับ 1 ป้องกันแชมป์ให้กับทีมชาติไทยได้สำเร็จ
ใบพันเล่าว่า “ตอนนั้นดีใจมากๆ คือ ซีเกมส์เป็นการแข่งที่มีแค่ 10 ประเทศก็จริง แต่กดดันมากกว่าตอนแข่งชิงแชมป์เอเชียอีก เพราะซีเกมส์เป็นกีฬาที่คนไทยคาดหวังมาก เป็นรายการที่คนไทยติดตาม บวกกับทีมชาติไทยเป็นแชมป์เก่า 4 คูณ 100 ด้วย รุ่นพี่เก่าๆ ทำไว้ดีมาก ไม่เคยแพ้เลย พอผมมีโอกาสและผมเป็นน้องใหม่คนเดียวในทีมผมกดดันมาก”
ทีมผลัด 4 คูณ 100 เมตรชายชุดซีเกมส์ฟิลิปปินส์นั้น ประกอบด้วย ไม้ที่ 1 รัตนพล โสวัณ, บัณฑิต ช่วงไชย ไม้ที่ 2, มิ้ว จิระพงษ์ ไม้ที่ 3 และใบพัน ศิริพล ไม้ที่ 4 ซึ่งความรู้สึกของเขาคือต้องไม่พลาด “ถ้าพลาดก็คือจบเลย ตอนวิ่งเข้าเส้นชัย รู้สึกบอกไม่ถูกเลย ดีใจมากๆ วิ่งเข้าไปกอดพี่มิ้ว บอกว่าผมทำได้แล้ว ผ่านไปได้แล้ว” นั่นคือเรื่องราวเหรียญทองซีเกมส์แรกของใบพัน
ซีเกมส์ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะจากการวิ่ง และใบพันคือ 1 ในผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ลงแข่ง 3 รายการ และคว้าเหรียญทองทั้ง 3 รายการ ซึ่งการแข่งครั้งนี้ใบพันต้องเอาชนะอุปสรรค์สำคัญคือ โรคโควิด-19
“กว่าจะไปถึงฮานอย มีโควิด ก็หนัก 2 ปีที่ซ้อมอย่างเดียว ไม่ได้แข่ง มันจะไม่กระหายในการแข่ง แรงบันดาลใจในการซ้อมหายไป ตอนนั้นลำบากมาก ออกมาซ้อมก็ลำบาก อยู่ก็ลำบาก แต่พอได้แข่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก” ใบพันเล่าถึงช่วงล็อกดาวน์ที่สร้างความลำบากในการรักษาสภาพของนักกีฬาทั่วโลก
แต่เมื่อการแข่งมาถึง นักกีฬาอาชีพก็พร้อมเสมอ โดยใบพันไม่ได้ลงแข่งประเภทเดี่ยว แต่ได้รับโอกาสสำคัญจากพล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทย ในการให้ลงวิ่งผลัดถึง 3 รายการ ทั้งผลัดชาย และผลัดผสม ในระยะ 400 เมตร และ 100 เมตร
“เกินคาดหมายมากที่ได้ทองทั้งหมดเลย 3 ทอง ผมก็วิ่งทั้งระยะ 100 และ 400 ตอนแรกก็ไม่คิดจะกลับมาวิ่ง 400 แต่มีโอกาสที่การแข่งไม่ซ้อนกัน และโค้ชมองว่าเราวิ่งได้ และตอนทดสอบก็ทำได้ดี ก็เลยลงแข่งเพื่อให้ทีมประสบความสำเร็จ มันก็เป็นโอกาสที่ดีของเราด้วย”
ใบพันเล่าว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะเขาทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และกลายมาเป็นนักวิ่งแนวหน้าของระยะ 100 และ 200 เมตร “ถามว่า มันสนุกกว่ามั้ย พูดตรงๆ ตอนเด็กไม่อยากวิ่ง 400 เพราะเหนื่อย ยิ่งสั้นยิ่งชอบ วิ่งน้อยกว่า พอโตขึ้นมาถึงรู้ว่า 100 เมตรก็เหนื่อย ใช้พลังเยอะ ซ้อมหนัก แข่งอาจไม่เหนื่อย แต่ซ้อมหนักมาก ต้องใช้พลัง และฝึกหลายอย่าง”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใบพันวิ่งได้ดีทั้ง 3 ระยะมาจากพื้นฐานร่างกาย ความอึด ทนทาน และระบบการหายใจ โดยการวิ่ง 100 เมตรจะเน้นความแข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้อ ที่ต้องเวทหนัก ส่วน 400 เน้นระบบหายใจ ซึ่งใบพันบอกว่าเขาได้เปรียบเรื่องนี้เพราะชอบวิ่งทางไกล ทั้ง 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตรด้วย
4 คูณ 100 เมตรชายที่ฮานอย “ใบพัน” พร้อมกับ “ไอซ์ ชยุตม์”, “ต้า สรอรรถ” และ “บิว ภูริพล” ได้สร้างสถิติใหม่ประเทศไทยเอาไว้ แต่แล้วไม่ถึง 1 เดือนให้หลัง ทั้ง 4 คนก็ทำลายสถิติของตัวเองอีกครั้ง ในการคัดตัวไปแข่งกรีฑาชิงแชมป์โลก ที่ประเทศเกาหลีใต้
วันนั้น ใบพันยังยืนที่จุดเดิมของสนาม คือ ที่เส้น 200 เมตร รับไม้ผลัดจากต้า เพื่อส่งต่อให้กับบิว โดยมีไอซ์เป็นผลัดไม้ที่ 1 ทีมเวิร์กที่ยอดเยี่ยมทำให้เกิดสถิติใหม่ประเทศไทย ด้วยเวลา 38.56 วินาที วันนั้น ณ เมืองเคอซอน พวกเขาก้าวเข้าใกล้จุดที่ไกลที่สุดในชีวิต แม้จะไม่สำเร็จกับเป้าหมายการไปกรีฑาชิงแชมป์โลก แต่พวกเขาคือทีมผลัด 4 คูณ 100 เมตรชายที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
“ผมคิดว่าเลือกถูกแล้ว ผมไม่เคยเสียใจเลยที่เลือกทางเดินชีวิตมาในทางนี้ ผมดีใจด้วยซ้ำที่ไม่เลิกไปซะก่อนในตอนนั้น ถ้าผมเลิก ผมก็เป็นแค่นายใบพัน นิสิตนักศึกษาที่ต้องหางานทำทั่วไป นี่เป็นความภูมิใจของผมและครอบครัว ผมมาถึงจุดที่ทำให้คนไทยมีความสุขได้ ผมรู้สึกภูมิใจมากๆ” ใบพันเล่าด้วยความภูมิใจ
ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้นจากคำวิจารณ์ได้ โดยเฉพาะนักกีฬาซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคม ในวันที่สำเร็จมีคนชื่นชมแค่ไหน ในวันที่พลาดก็มีเสียงวิจารณ์ได้เช่นกัน ซึ่งในการคัดตัวไปกรีฑาชิงแชมป์โลกครั้งที่ 2 ของทีมผลัด 4 คูณ 100 เมตร ที่คาซัคสถาน ผลที่ออกมาคือเวลาไม่ดีเท่าครั้งก่อน กระแสในโซเชียลบางส่วนจึงออกมาในทางลบ
และเสียงวิจารณ์ก็ดังมาถึงใบพันด้วยเช่นกัน แต่สปิริตนักกีฬาของเขา คำวิจารณ์เหล่านั้นกลับเป็นพลังให้กลับมาพัฒนาตัวเอง “คอมเมนต์ในทางที่ไม่ดีต่างๆ ผมอ่านทั้งหมด ทั้งดีไม่ดี คนที่ไม่ดี ผมก็รับฟัง และมองย้อนตัวเองว่าถูกไหม บางทีมันก็จริง สิ่งที่เขาพูดเขาก็อยากให้เราพัฒนา ถ้าเราปรับแล้ว ครั้งหน้าเขากลับมาเห็นว่าเราดีขึ้น ก็จะกลับมาชมเรา”
ตอนนี้ใบพันอายุ 23 ปี ยังถือว่ารับใช้ชาติได้อีกไกล ทั้งซีเกมส์ครั้งต่อไป และอาจหมายถึงเอเชี่ยนเกมส์ครั้งแรกของเขา ใบพันยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระหายในการแข่งขัน พร้อมกับความศรัทธาในตัวเอง ศรัทธาในการวิ่ง มีความสุขในฐานะนักวิ่งทีมชาติไทย เส้นทางที่เขาเลือก และยังคงเดินอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไป โดยมีครอบครัวที่สนับสนุนเสมอมา
“เรายังอยู่จุดนี้ได้เพราะครอบครัวที่สนับสนุนตลอด เวลาที่ท้อหรือบาดเจ็บ เขาก็คอยดึงให้เรากลับมา บอกเราว่า เรายังดีขึ้นได้กว่านี้ อีกอย่างคือผมชอบซ้อมกีฬา เลยตั้งใจซ้อม ผมชอบที่จะอยู่ตรงนี้ มีความสุขกับมัน มีความสุขกับการวิ่ง”
ซีเกมครั้งหน้าที่กัมพูชา เป้าหมายของใบพันก็คือการประสบความสำเร็จให้ได้เหมือนซีเกมส์ที่ฮานอย “ขอบคุณที่ให้กำลังใจผมเสมอ ช่วงนี้กรีฑาคนสนใจมาก ผมชอบและรู้สึกดีมาก ก่อนหน้านี้ผลงานเราไม่ได้ดีขนาดนี้ ตอนนี้เรามีคนเชียร์เยอะขึ้นมาก ผมขอบคุณมาก”
และไม่ว่าจะลงแข่งในระยะใด สายตาของใบพันยังคงมองไปที่เส้นชัยเสมอ นั่นทำให้เขายังไม่หยุดพัฒนาตัวเอง “ผมคิดว่า ผมยังไปได้ไกลกว่านี้อีก บางทีเราอาจจะอายุมากขึ้น แต่ผมจะไม่มองว่าเราจะพัฒนาไม่ได้ ถ้าเราคิดอย่างงั้น เราจะไปต่อไม่ได้ ผมจะมองว่าผมจะทำได้อีก ผมจะมองไปข้างหน้าเสมอ”
5 ปีในฐานะนักวิ่งทีมชาติ และ 10 ปีในฐานะนักวิ่ง ใบพัน ศิริพล พันธ์แพ ได้ขึ้นสู่การเป็น 1 ในนักวิ่งระยะสั้นที่ดีที่สุดของประเทศไทย ทุกอุปสรรคตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงจุดที่ประสบความสำเร็จในฐานะทีมชาติ ก้าวต่อไปของใบพันยังคงเดินต่อไปด้วยวินัยและศรัทธา
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.