ถึงฤดูโยกย้ายหน่วยงานรัฐ ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้งโยกย้าย บริหารระดับสูง 4 คน เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงาน ซึ่งจะมีผล 1 ตุลาคม 2564
โดย 2 ใน 4 ตำแหน่ง ที่น่าจับตามองที่สุดคงหนีไม่พ้น “อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่” ที่ยังมีข้อพิพาทกรณี “เหมืองแร่ทองคำอัครา” ที่ยืดเยื้อมา 4-5 ปี ยังคงอยู่ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ คสช.มีคำสั่งปิดเหมืองทองตั้งแต่ปี 2560
“นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ารับตำแหน่ง “อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่” (กพร.) แทนนายวิษณุ ทับเที่ยงที่ถูกโยกไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง
ทั้งนี้ นายนิรันดร์ถือว่าเป็นลูกหม้อที่เคยเป็นรองอธิบดี กพร.มาก่อน ด้วยความสามารถและเชี่ยวชาญงานด้านกฎหมาย รวมถึงข้อมูลเชิงลึกในการเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่ต้องเจรจาข้อพิพาท “เหมืองแร่อัครา”
การหวนคืน กพร.ครั้งนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก การเดินหน้าสางข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด” สัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ต้องชะลอออกไป ช่วง “โควิด-19” จะกลับมาเดินหน้าอีกครั้งอย่างไร
และจะยุติข้อพิพาท โดยการ “แลก” กับการรับจดทะเบียนคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของ “บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด” บริษัทลูกของอัคราฯหรือไม่
อีกหนึ่งตำแหน่ง “นายวันชัย พนมชัย” เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ถูกโยกมารับเก้าอี้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แทนนายประกอบ วิวิธจินดา ที่เกษียณอายุราชการ
ถือว่าไม่ธรรมดาจากผลงานที่ผ่านมาเห็นการทำงานเชิงรุก ไล่จับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เช่น เหล็ก น้ำดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการเอาผิดผู้ค้าออนไลน์และร้านค้าสะดวกซื้อชื่อดังที่นำสินค้าไม่มี มอก.ไปจำหน่าย สามารถยึดอายัด บุกจับ ปรับ เป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท
ทั้งยังเร่งออก มอก.ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รองรับอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐ อาทิ มอก.ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 83 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มี 45 ฉบับลงนามในประกาศราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เหลืออีก 38 ฉบับที่ต้องส่งไม้ต่อให้ “นายบรรจง สุกรีฑา” ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้ามารับตำแหน่ง “เลขาฯ สมอ.” คนใหม่
ขณะที่ “วันชัย” ต้องรับงานเผือกร้อนของกรมโรงงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาคลัสเตอร์ฯโควิดในโรงงาน อุตสาหกรรม โดยเร่งจัดทำ “bubble and seal” และ “factory sandbox” ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ในกลุ่มโรงงานเป้าหมาย 70,000 โรงงาน และการประคองโรงงานขนาดเล็กที่ยังไม่มีศักยภาพที่ต้องแบกรับต้นทุนจัดซื้อ ATK เตียงโรงพยาบาลสนาม
และสุดท้ายภารกิจที่ยังต้องต่อจิ๊กซอว์ให้จบคือ การเปิดให้นำเข้า “ขยะพลาสติก” การแบน 3 สารเคมีอันตราย และกรณีการตรวจควบคุมโรงงานที่มีวัตถุอันตราย หลัง “โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด” ระเบิดที่สมุทรปราการ นี่อาจจะถือเป็นการวัดฝีมืออธิบดีป้ายแดงเลยก็ว่าได้
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.