บรรดาองค์กรกีฬาระหว่างประเทศอยู่ในระหว่างการกำหนดหรือพิจารณากฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการแข่งขันของนักกีฬาข้ามเพศ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ หรือ FINA ได้ประกาศนโยบายที่จะห้ามไม่ให้ผู้หญิงข้ามเพศส่วนมากเข้าร่วมการแข่งขัน โดยได้กำหนดให้กลุ่มคนข้ามเพศเริ่มเข้ารับการรักษาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพศก่อนอายุ 12 ปี
คนข้ามเพศบางคนใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเพศชายหรือเพศหญิง ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวนั้นส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาร่างกาย
หลังจากที่ FINA ประกาศการตัดสินใจของตนแล้ว องค์กรอื่น ๆ เช่น องค์กรที่จัดการแข่งขันกีฬาฮอกกี้ รักบี้ ไตรกีฬา และปั่นจักรยาน ก็กำลังตั้งกฎเกณฑ์ใหม่หรือดัดแปลงแก้แก้ไขกฎเดิมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ FIFA หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติยังกล่าวด้วยว่าทางองค์กรกำลังทบทวนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศใหม่อีกครั้ง
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC กล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า จะไม่ทำการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้ และโฆษกของ IOC ยังกล่าวด้วยว่า “ทางองค์กรไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับนักกีฬาทุก ๆ คนได้” และว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของแต่ละสหพันธ์และกีฬาแต่ละประเภท
อย่างไรก็ดี นโยบายโอลิมปิกที่ผ่าน ๆ มาอนุญาตให้สตรีข้ามเพศที่ได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนสามารถลงแข่งขันกับนักกีฬาหญิงได้
ทางด้านผู้จัดการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่และลาน หรือ World Athletics ดำเนินการโดยอดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกเซบาสเตียน โคว (Sebastian Coe) แห่ง Great Britain ซึ่งเขาได้กล่าวว่า World Athletics จะตรวจสอบนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับนักกีฬาข้ามเพศภายในสิ้นปี 2022 นี้
ทั้งนี้ หาก World Athletics ทำตามนโยบายของ FINA ก็อาจทำให้นักวิ่งอย่างแคสเตอร์ ซาเมนยา (Caster Semenya) จากแอฟริกาใต้และ คริสทีน เอ็มโบมา (Christine Mboma) จากนามิเบียไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ โดยทั้งสองเป็นนักวิ่งอันดับต้น ๆ ที่ลงแข่งขันกับผู้หญิง แต่มีความแตกต่างในเรื่องการพัฒนาทางเพศซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่
รอส ทัคเคอร์ (Ross Tucker) นักวิจัยของ World Rugby กล่าวว่า “ภายในสิ้นปีนี้ World Athletics จะประกาศนโยบายที่คล้ายกับกีฬาว่ายน้ำ และหากมีนักกีฬาคนไหนที่ผ่านเข้าสู่ช่วงที่ฮอร์โมนเพศชายเข้าสู่วัยหนุ่ม แล้ว และถ้ามีข้อได้เปรียบที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน พวกเขาจะไม่สามารถลงแข่งขันในกีฬาสตรีได้”
ทัคเคอร์ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า มีแนวโน้มว่าองค์กรการกีฬาทั้งหมดจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางด้านกฎหมายในเรื่องนโยบายใหม่ของพวกเขา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเป็นคดีความนั้นอาจทำให้องค์กรกีฬาที่มีขนาดเล็ก ๆ ไม่สามารถกำหนดนโยบายใหม่ตาม FINA ได้
เซบาสเตียน โคว กล่าวว่า FINA เสียค่าใช้จ่ายทางกฎหมายในการสร้างนโยบายใหม่ไปแล้วเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ และว่า World Athletics ยังพอมีงบประมาณที่จะรับมือกับการเป็นคดีความในศาล แต่องค์กรกีฬาขนาดเล็ก ๆ อาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ทางด้านผู้นำกีฬาโอลิมปิกได้เข้าร่วมประชุมที่โคโลราโดเมื่อเดือนที่แล้วในวันครบรอบ 50 ปีของกฎหมาย Title IX ของสหรัฐฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในโครงการการศึกษาหรือกิจกรรมใด ๆ ที่ได้รับเงินของรัฐบาลกลาง
ซูซาน ลายออนส์ (Susan Lyons) หัวหน้าคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกของสหรัฐฯ หรือUSOPC กล่าวว่า การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับคนข้ามเพศนั้นไม่ใช่หน้าที่ขององค์กร แต่ควรมีการนำเสนอ “มุมมอง” ที่ชัดเจน
และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง จะมีองค์กรกีฬาระดับนานาชาติมากกว่า 40 องค์กรที่จำเป็นจะต้องตั้งกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่นานนี้ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เสนอนโยบายใหม่ที่จะปกป้องนักเรียนเลสเบี้ยน เกย์ คนข้ามเพศ และเพศทางเลือกจากการถูกเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมาย Title IX โดยมิเกล คาร์โดนา (Miguel Cardona) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ กล่าวว่า “การยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยกนั้นยังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่เสมอ”
- ที่มา: เอพี, รอยเตอร์