Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: กรีฑา

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกจากประโยชน์ในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว จีนยังใช้ประโยชน์จากการกีฬาในด้านการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และอื่นๆ อีกด้วย เราไปคุยกันต่อเลยครับ …

อีกด้านหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญก็คือ การใช้การกีฬาเพื่อการเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ นอกเหนือจากการส่งนักกีฬาชั้นแนวหน้าเข้าร่วมการแข่งขันสำคัญในเวทีระดับโลกและภูมิภาคแล้ว จีนยังจัดการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬานานาชาติรวม 500-600 รายการต่อปี 

อาทิ โอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงปักกิ่ง “Olympic 2008” ที่รัฐบาลจีนเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการกำหนดเอาวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 เป็นวันเริ่มพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เพราะเล่นเลข 8 ที่มีความหมายว่า “มั่งคั่ง” ในวัฒนธรรมจีนเลยทีเดียว 

ในปีเดียวกันนั้นเอง เซี่ยงไฮ้-หังโจวก็จับมือกันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง ขณะที่ใน 2 ปีต่อมา นครกวางโจวก็คว้าโอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ “2010 Guangzhou Asian Games” และล่าสุดโอลิมปิกฤดูหนาว “Beijing 2022” เมื่อต้นปี 2022 ณ กรุงปักกิ่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 ที่หังโจว

นอกจากนี้ จีนยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเฉพาะประเภทนานาชาติอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ปิงปอง แบดมินตัน กรีฑา ฟุตบอล บาสเกตบอล และยิมนาสติก ภาพลักษณ์ของประเทศและความสามารถของนักกีฬาของจีนที่ดีทำให้สินค้าและบริการของจีนพลอยได้รับอานิสงค์ไปด้วย 

ในโอกาสที่จีนได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬานานาชาติดังกล่าว รัฐบาลจีนตั้งคำถามสำคัญว่า “เราต้องการอะไรจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา” ผมเชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงการเป็นแชมป์เหรียญทอง และประโยชน์จากการการหลั่งไหลของแฟนกีฬาทั้งในและต่างประเทศ 

แต่รัฐบาลจีนกลับมีมุมมองที่ลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคมจีนที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยได้ให้ความสนใจกับการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงของชาวจีน ซึ่งนำไปสู่มาตรการและกิจกรรมมากมาย อาทิ การสนับสนุนส่งเสริมการออกกำลังกายของประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาและอุปกรณ์กีฬาที่มีคุณภาพสูงในมาตรฐานเดียวกันกับของประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากการแข่งขันกีฬาระดับระหว่างประเทศแล้ว จีนยังจัดงานแข่งขันกีฬาภายในประเทศที่อาจดูเล็กลงอย่างถนัดใจ อาทิ ออลไชน่าเกมส์ (All China Games) ที่เน้นประเภทกีฬาที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในโอลิมปิก จัดขึ้น 4 ปีครั้ง และการแข่งขันกีฬาแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นกีฬาระดับมณฑล/มหานคร ซึ่งถ้าเทียบกับบ้านเราก็คล้าย “กีฬาเขต” ที่เสมือนการมี 30-40 ประเทศมาแข่งขันกันเป็นประจำในจีน 

นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการเฟ้นหาดาวรุ่งและการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการกีฬาก่อนไปสู่ระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งกระแสความห่วงใยสุขภาพแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬา และการมีปฏิสัมพันธ์ระดับมณฑล/มหานครภายในประเทศ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกมากมาย

ผลจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาและกระแสความห่วงใยในเรื่องสุขภาพที่กำลังขยายตัวในจีน ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑล/มหานครใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการกีฬาจีนอย่างกรุงปักกิ่ง มณฑลกวางตุ้ง เจ๋อเจียง เสฉวน และเหลียวหนิง 

นอกจากนี้ กีฬาก็ยังถูกใช้เพื่อการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การทูตกีฬา” (Sport Diplomacy) ภายหลังการทำสงครามโลกกันอย่างยาวนาน นานาอารยประเทศต่างมองหา “เครื่องมือใหม่” ในการประสานความสัมพันธ์ของรัฐบาลและประชาชนในแต่ละประเทศ 

หลายฝ่ายตระหนักดีว่า “กีฬา” สามารถเป็น “พลังละมุน” (Soft Power) ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสาธารณะประโยชน์และขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคหลังสงครามโลก และเปลี่ยนเวทีโลกไปสู่โมเมนตัมเชิงบวกบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมอย่างสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

เราจึงเห็นการพัฒนาการแข่งขันกีฬานานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นในเวทีใหญ่ระดับโลกอย่างโอลิมปิก หรือฟุตบอลโลก และระดับภูมิภาค อาทิ เอเชี่ยนเกมส์ กีฬาใหญ่ประจำทวีปเอเชีย ซีเกมส์ของมวลหมู่สมาชิกอาเซียน กีฬาเครือจักรภพอังกฤษ และฟุตบอลยูโรของสหภาพยุโรป

แต่กรณีศึกษาที่โด่งดังที่สุดและเป็นที่โจษขานจนถึงปัจจุบันก็เห็นจะได้แก่ “Ping-Pong Diplomacy” ที่จีนและสหรัฐฯ ใช้กีฬาปิงปองเป็นสื่อกลางในการสานสัมพันธ์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันและประธานเหมา เจ๋อตง เมื่อปี 1971

ในยุคนั้น จุดยืนและท่าทีทางการเมืองของสหรัฐฯ และจีนที่อยู่กันคนละขั้ว ทำให้เกือบทุกสิ่งแม้กระทั่งการแข่งขันกีฬาระหว่างกัน ก็ถูกหยิบยกเป็นประเด็นทางการเมือง

ข้อมูลจากหนังสือเล่มหนา “Henry Kissinger on China” ระบุว่า เหมา เจ๋อตงแปลง “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” โดยเชิญนักกีฬาปิงปองทีมชาติสหรัฐฯ ไปเยือนจีน และสื่อสารหลายสิ่งผ่านนักกีฬาปิงปองของสหรัฐฯ ในบริเวณห้องประชุมของมหาศาลาประชาชน 

เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการยืมมือ “กีฬาปิงปอง” เป็นสื่อกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้อย่างแยบยล จนทำให้สหรัฐฯ และจีนปรับท่าทีและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันจนถึงปัจจุบัน

นักวิเคราะห์ทางการเมืองแสดงความคิดเห็นว่า ความสำเร็จในครั้งนี้มี โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน และเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น ร่วมมือกันเตรียมงานอยู่เบื้องหลัง การเลือกกีฬา “ปิงปอง” เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ยังสะท้อนถึงความหมายเชิงลึกของ “การแข่งขัน” และ “การร่วมมือ” ระหว่างกันในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

เรายังเห็นกีฬาถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการทูตอื่นในเวลาต่อมา ในคราวเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นผู้นำที่คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2015 ฟุตบอลก็ถูกใช้เป็นสื่อกลางแห่งการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “Football Diplomacy” 

เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็สร้างความประทับใจด้วยการขายสุดยอดแห่ง “ซอฟท์พาวเวอร์” ของอังกฤษแก่ผู้นำจีน โดยนำคณะจีนไปเยี่ยมชมสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ และเชิญนักฟุตบอลชั้นแนวหน้า อาทิ เซอร์จิโอ “กุน” อเกวโร่ ดาวซัลโวสูงสุดของสโมสร มาร่วมให้การต้อนรับและถ่ายภาพเซลฟี่ด้วย ผลปรากฏว่า ภาพนี้ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทั่วไปและหนังสือพิมพ์กีฬาชั้นนำของอังกฤษในวันรุ่งขึ้น

เรือใบสีฟ้า” นับเป็นสโมสรอังกฤษที่มีความเชื่อมโยงกับจีน เพราะในครั้งหนึ่ง ซุน จีไฮ่ อดีตนักเตะทีมชาติจีนเคยไปค้าแข้งอยู่ด้วยหลายปีก่อนหน้านั้น 

การเยือนดังกล่าวเพิ่มกระแส “ฟุตบอลฟีเวอร์” ย่างกว้างขวางในจีน เพราะชาวจีนอยากเห็น “บอลจีนไปบอลโลก” อีกครั้งหลังจากห่างหายไปถึง 20 ปี และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “ฟุตบอลโลกชาย” เป็นครั้งแรกของจีน ตามรอยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

กิจการเอกชนรายใหญ่ต่างทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเป็นผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอล “ไชนีสซุปเปอร์ลีก” ในจีนเพื่อ “เอาใจ” ท่านผู้นำจีนกันแบบไม่กลัวเจ๊ง ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลจีนมีเงินทุนก้อนใหญ่และสามารถดึงเอานักเตะชั้นนำของโลกจำนวนมากมาโชว์ฝีเท้าให้ชาวจีนได้ชมกัน

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนานัปการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการทำงานอย่างหนัก คราวหน้าเราไปคุยกันต่อว่า รัฐบาล เอกชน และประชาชนจีนร่วมมือกันดำเนินการอะไร อย่างไรบ้างในการพัฒนาวงการกีฬาของจีนสู่เวทีโลก

 …

ภาพจาก  :  AFP

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.