Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: กรีฑา

ลี้ภัยในแดนฟ้าขาว

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

    พวกเขาอาศัยอยู่ตามศูนย์อพยพในหลายจังหวัดภาคอีสาน ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าให้การช่วยเหลือประสานงานส่งต่อไปยังประเทศที่สาม อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา

    อาจจะไม่เคยได้ยินว่ามีอาร์เจนตินาอยู่ในบัญชีประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัยสงครามชาวลาว ผมเองก็ไม่ทราบจนกระทั่งก่อนหน้าเดินทางมายังอาร์เจนตินาไม่นาน

    ชาวลาวในศูนย์อพยพส่วนใหญ่อยากเดินทางไปตั้งรกรากในสหรัฐ แต่คิวเข้าสหรัฐนั้นยาวและการคัดกรองก็ค่อนข้างเข้มงวด หลายครอบครัวตกสัมภาษณ์ ขณะที่อาร์เจนตินาในเวลานั้นเป็นประเทศที่ผู้อพยพจำนวนมากไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตั้งอยู่ส่วนใดของโลก

    อาร์เจนตินาไม่มีเงื่อนไขมากนัก และว่ากันว่าเป็นเพราะรัฐบาลทหารที่เข้ายึดอำนาจจาก “อิซาเบล เปรอน” เมื่อ พ.ศ.2519 กำลังแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศ (แม้ว่าจะได้รับการยอมรับจากสหรัฐอยู่แล้ว) และความที่เป็นรัฐบาลทหารชาตินิยมจึงเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์ แถม UNHCR ยังมอบเงินให้ผู้ลี้ภัยครอบครัวละ 1 หมื่นเหรียญฯ ผ่านรัฐบาลอาร์เจนตินา

    ผู้ที่สมัครใจเดินทางมาอาร์เจนตินาส่วนมากลี้ภัยอยู่ที่ศูนย์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวนหนึ่งจากศูนย์ฯ จังหวัดหนองคาย และอีกไม่มากจากศูนย์ฯ จังหวัดเลย มีรถไปรับเพื่อเดินทางเข้าศูนย์พักคอยที่ย่านดินแดง กรุงเทพมหานคร ก่อนขึ้นเครื่องบินไปยังสหรัฐ แล้วต่อเครื่องมาลงที่สนามบิน Ezeiza กรุงบัวโนสไอเรส

    การเดินทางมีขึ้นรอบแรกเมื่อ พ.ศ.2522 และรอบที่ 2 พ.ศ.2523 รวมจำนวนผู้อพยพที่มาถึงอาร์เจนตินา 293 ครอบครัว แบ่งเป็นชาวลาว (รวมม้งจำนวนหนึ่ง) 262 ครอบครัว ชาวกัมพูชา 25 ครอบครัว และเวียดนาม 6 ครอบครัว

    ครอบครัวหนึ่งๆ จะมีพ่อแม่ในวัยทำงาน ลูกๆ อายุประมาณ 4-12 ขวบ สมาชิกครอบครัวหนึ่งมีอย่างน้อย 3 คน เมื่อถึงกรุงบัวโนสไอเรส ทางรัฐบาลอาร์เจนตินาก็จัดหาที่อยู่เป็นอาคารชั่วคราวในสนามขนาดใหญ่ ก่อนส่งไปตามเมืองต่างๆ ที่มีพืชผักผลไม้ให้เก็บเกี่ยว

    ผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่เป็นในผู้ลี้ภัยได้เล่าให้ผมฟังว่า ช่วงแรกทำงานโดยที่ไม่ได้รับค่าแรง และไม่ได้เรียนภาษาสเปนตามที่ตกลงกันไว้ เงินที่ UNHCR ให้มาครอบครัวละ 1 หมื่นเหรียญฯ ก็ได้รับครอบครัวละ 860 เหรียญฯ เท่านั้น รัฐบาลอาร์เจนตินาอ้างว่านำเงินที่เหลือไปจ่ายเป็นค่าที่อยู่และค่าอาหารหมดแล้ว ไม่นานคนลาวรวมตัวกันประท้วง UNHCR ทราบเรื่องก็เข้ามาแก้ปัญหาโดยการซื้อบ้านให้ครอบครัวละหลัง หางานให้ทำ และจัดครูมาสอนภาษา

     รัฐบาลอาร์เจนตินาตั้งเป้าจะรับผู้ลี้ภัยให้ได้ถึง 5,000 ครอบครัว แต่ UNHCR สั่งให้หยุดไว้แค่นั้น

    เวลาผ่านไปหลายครอบครัวก็ย้ายหลักแหล่งไปตามความถนัดในการประกอบอาชีพ ชาวลาวอาศัยอยู่มากที่สุดในเมืองโปซาดัส (Posadas) จังหวัดมิซิโอเนส ทางเหนือของประเทศซึ่งได้ชื่อว่า “ดินแดนของดินแดง” นั่นคือดินมีสีแดง ทำการเกษตรได้ดี ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่ต่างจากลาวมากนัก สามารถปลูกพืชแบบเดียวกับที่ลาวได้หลายชนิด

    ปัจจุบันชาวลาวผู้อพยพทั้งหมดได้รับสัญชาติอาร์เจนตินา เด็กที่เกิดใหม่อยู่ในรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 โดยรุ่นที่ 1 คือหัวหน้าครอบครัวเมื่อ 43 ปีก่อน เวลานี้บางคนเป็นทวดหรือไม่ก็ปู่ยาตายาย อายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 70 กลางๆ รุ่นที่ 2 คือบรรดาเด็กน้อยที่นั่งเครื่องบินมาเมื่อ พ.ศ.2522 และ 2523 ตอนนี้อายุประมาณ 50 ปี รุ่นที่ 3 อายุราว 10-20 กลางๆ และบางครอบครัวมีรุ่นที่ 4 แล้ว ส่วนมากเป็นเด็กก่อนวัยเรียน และเริ่มมีเด็กลูกครึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

    เมืองที่ชาวลาวอาศัยอยู่รองลงมาจากโปซาดัส อยู่ห่างลงมาทางใต้ประมาณ 1,100 กิโลเมตร ชื่อว่าเมืองจาโกมุส (Chascomus) อยู่ในเขตจังหวัดบัวโนสไอเรส ไกลจากเมืองหลวงกรุงบัวโนสไอเรส 130 กิโลเมตร และอีกเมืองที่มีชาวลาวอาศัยอยู่เป็นลำดับรองลงไป อยู่ห่างจากจาโกมุสประมาณ 30 กิโลเมตร ชื่อเมืองรันโจ (Rancho) โดยจาโคมุสมีคนลาวประมาณ 30 ครอบครัว เมืองรันโจมีประมาณ 20 ครอบครัว คนลาวในอาร์เจนตินารุ่น 1 และรุ่น 2 จะรู้จักกันทั้งหมดและมีการไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ

    สำหรับตัวเลขจำนวนประชากรเชื้อสายลาวในอาร์เจนตินาทั้งหมด ผมยังไม่พบใครที่สามารถให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดว่ามีอยู่เท่าไหร่ แต่เท่าที่ทราบคือแม้จะเป็นรุ่นที่ 3 และ 4 เข้าไปแล้ว จำนวนคนเชื้อสายลาวในอาร์เจนตินากลับเพิ่มขึ้นไม่มาก หลายคนเมื่อมีโอกาสก็จะย้ายถิ่นฐานหรือไปหางานทำในสหรัฐ บางคนไปฝรั่งเศส หรือดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส หรือแม้แต่กลับ สปป.ลาว สาเหตุหลักเพราะภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาย่ำแย่ลงทุกวัน พวกเขามาถึงอาร์เจนตินาตอนที่ค่าเงิน 1 เปโซมีมูลค่ามากกว่า 1 เหรียญสหรัฐ ต่อมาไม่นาน 1 เปโซเท่ากับ 1 เหรียญสหรัฐ จนปัจจุบันมากกว่า 200 เปโซถึงจะแลกได้ 1 เหรียญสหรัฐ

    ผมได้รับการบอกกล่าวว่า เมื่อ 13 ปีก่อนชาวลาวที่มีบ้านในเมืองจาโคมุสครอบครัวหนึ่งได้ย้ายไปอยู่สหรัฐ เจ้าของบ้านได้พบกับพระกิตติโสภณวิเทศ (พระเศรษฐกิจ สมาหิโต) หรือหลวงพ่อเศรษฐี เจ้าอาวาสวัดนาคปรก กรุงเทพมหานคร ตอนที่หลวงพ่อเศรษฐีเดินทางไปสหรัฐ ชาวลาวท่านนั้นเกิดศรัทธาต่อหลวงพ่อเศรษฐี ถวายบ้านและที่ดินที่เมืองจาโคมุสสำหรับดัดแปลงเป็นวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่งในอเมริกาใต้ทั้งทวีป ยังไม่มีวัดไทยแม้แต่แห่งเดียว (ส่วนวัดลาวนั้นมีแล้วที่เมืองโปซาดัส) ต่อมาหลวงพ่อเศรษฐีมอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนาคปรกท่านหนึ่งมาดูแลรับผิดชอบในตำแหน่งเจ้าอาวาส และตั้งชื่อวัดว่า “วัดหลวงอาร์เจนตินา”

    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวัดหลวงอาร์เจนตินามักจะว่างเว้นพระสงฆ์จำวัดครั้งละนานๆ ยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาพระไทยห่างหาย ปีนี้โควิด-19 ซาลง พระธรรมทูตสายต่างประเทศ 2 รูปจะมาจำพรรษา โดยผมจะขอเป็นเด็กวัด หรือที่ภาษาลาวเรียกว่า “สังกะลี” สักระยะหนึ่ง

    เราเดินทางด้วยรถบัสจากกรุงบัวโนสไอเรสมาถึงสถานีขนส่งเมืองจาโกมุสตอนเย็นวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ผู้ที่มารับเราชื่อ “อุ้ม วงวิจิต” อดีตทหารในกองทัพลาว บ้านเดิมอยู่แขวงสะหวันนะเขต ผมเรียกแกว่า “พ่ออุ้ม” ปีนี้พ่ออุ้มอายุ 73 ปีแล้ว เป็นหัวหน้าครอบครัวที่เดินทางมาอาร์เจนตินาพร้อมภรรยาและลูกๆ เมื่อ พ.ศ.2522 เวลานี้ได้รับเงินสวัสดิการผู้สูงอายุจากรัฐบาลอาร์เจนตินา สมัยที่ยังไม่เกษียณพ่ออุ้มทำงานสารพัดอย่าง

    ตอนหลังผมได้คุยกับแกบ่อย เล่าให้ฟังว่า สมัยที่อยู่ในกองทัพลาวนั้นแกเป็นทหารเสนารักษ์ ต้องเข้าไปในสมรภูมิเพื่อปฐมพยาบาลช่วยชีวิตทหารลาวที่ได้รับบาดเจ็บ แกได้รับปืนพก 1 กระบอก หากพบร่างบาดเจ็บที่พอขนกลับไปรักษาตัวได้ก็จะยกใส่เปลหาม หากพบร่างที่บาดเจ็บสาหัสชนิดที่ว่าไม่รอดแน่ แต่ยังไม่ตาย กำลังทุรนทุรายอย่างหนัก แกก็จะกล่าวขอขมาลาโทษต่อเพื่อนร่วมชาติผู้ชะตาอาภัพ แล้วใช้ปืนพกกระบอกนั้นช่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน และครั้งหนึ่งแกต้องยิงเพื่อนตัวเองแท้ๆ ทั้งน้ำตา

    ในค่ายผู้อพยพที่จังหวัดอุบลราชธานี แกเล่าว่าผู้ลี้ภัยที่เป็นสตรีอายุน้อยและยังไม่มีครอบครัวเมื่อเข้าไปช่วงแรกๆ จะเป็นที่หมายปองของเจ้าหน้าที่ไทยบางคน หลายรายถูกบังคับขืนใจ พ่ออุ้มเคยช่วยให้สตรีคนหนึ่งพ้นเงื้อมมือเจ้าหน้าที่ชั่วไปได้ด้วยการโกหกว่าเธอเป็นคนรักของตน

    พ่ออุ้มขับรถยนต์ยี่ห้ออัลฟาโรเมโอ แต่ในอาร์เจนตินา รถอิตาเลียนไม่ใช่รถหรู และรถของพ่ออุ้มก็ต้องมีอายุ 20 ปีเป็นอย่างต่ำ จากสถานีขนส่งถึงวัดหลวงอาร์เจนตินาระยะทาง 2.5 กิโลเมตร พ่ออุ้มจอดหน้าประตูวัดที่มองจากข้างนอกดูไม่ต่างจากบ้านคน มีพระสงฆ์ชาวลาว 3 รูปจาก “วัดรัตนรังสิยาราม (แก้วสว่าง)” หรือวัดลาวเมืองโปซาดัสได้รับกิจมนต์มายังจาโกมุสในช่วงเวลานี้พอดี พระลาว 2 รูปที่ยังหนุ่มช่วยยกกระเป๋าเดินทางของพวกเราลงจากรถพ่ออุ้มและนำเข้าไปในวัด แล้วจึงสนทนาทำความรู้จัก และดูจะสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

    สองวันต่อมาพระทั้ง 5 รูปได้รับกิจนิมนต์ไปยังบ้านชาวลาวหลังหนึ่งในเมืองรันโจ เป็นงานสวดบังสุกุลทำบุญกระดูกให้กับผู้ที่เพิ่งวายชนม์ไปไม่นาน โดยวิธีปฏิบัติของทางบ้านเมืองอาร์เจนตินานั้น เมื่อมีคนตายลงและได้รับใบมรณบัตรแล้วก็จะนำร่างไปเผา ญาติรับเศษกระดูกเถ้าถ่านกลับบ้าน ชาวคริสต์โดยทั่วไปนำเถ้ากระดูกไปฝังในสุสาน ส่วนชาวลาวเก็บไว้ที่บ้าน และตั้งแต่มีวัดลาวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2540 พิธีทางพุทธศาสนาก็ได้รับการรื้อฟื้น

    สำหรับการแต่งกายนั้นยังมีผู้หญิงไม่น้อยที่คงนุ่งผ้าถุงและแต่งตัวเหมือนอย่างอยู่ที่เมืองลาว มีผ้าแพรห่มเฉียงสะพายแล่ง ส่วนผู้ชายแต่งตามถนัด แต่ส่วนมากจะคาดผ้าข้าวม้าห่มสะพายแล่งเช่นกัน

    พอพระขึ้นบทสวดพุทธชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากา ญาติโยมก็เริ่มตักบาตร พื้นที่ตักบาตรจัดแยกส่วนออกไปจากห้องทำพิธี บาตรวางเรียงกัน เสริมด้วยพานสีทองและขันสีเงิน ของที่จะใส่บาตร ได้แก่ ข้าวเจ้านึ่ง ใส่ในถุงพลาสติกใบเล็กๆ (ไม่สามารถหาข้าวเหนียวได้) ขนมจำพวกเวเฟอร์ แครกเกอร์ อัลฟาฆอร์ หรือคุกกี้เคลือบคาราเมลแบบอาร์เจนตินา ผลไม้มีส้ม แอปเปิล และกล้วยเป็นหลัก ผู้ตักบาตรยกของที่จะใส่บาตรแต่ละชิ้นขึ้นจรดหน้าผากก่อนวางลงในบาตร ธนบัตรวางในฝาบาตร พวกเด็กๆ ก็ร่วมตักบาตร และทำเหมือนผู้ใหญ่ได้อย่างคล่องแคล่ว

    ตักบาตรเสร็จเจ้าภาพถวายพุ่มเงินทำบุญคล้ายพุ่มผ้าป่า ถวายข้าวพระพุทธ ถวายข้าวพระสงฆ์ เมื่อพระฉันเพลเสร็จ ญาติโยมก็ได้เวลามื้อเที่ยงของตัวเอง ส่วนใหญ่จับกลุ่มกินที่ลานหลังบ้าน นอกจากอาหารสำรับเดียวกับที่พระฉันแล้วก็ยังมีส่วนที่ทำเสริมขึ้นมา เพราะแขกมีจำนวนมาก ไม่เพียงแต่อาหารลาวทั่วไป ยังมีอาหารอาร์เจนตินาอย่างเนื้ออาซาโดหรือเนื้อย่าง บางทีใช้หมูแทน เรียกอาซาโดเหมือนกัน ซึ่งอาซาโดคือการย่างเนื้อใช้ไฟอ่อนๆ นิยมนำส่วนซี่โครงมาย่าง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เครื่องปรุงมีเพียงเกลือเท่านั้น นี่คือวิธีการของ “เกาโช” หรือคนขี่ม้าเลี้ยงวัวในสมัยก่อน

    ในบรรดาลูกหลานชาวลาวที่ร่วมวง คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาพูดลาวไม่ได้ เช่นเดียวกับหลายคนที่เกิดในอาร์เจนตินา แต่ฟังภาษาลาวพอเข้าใจ เพราะฟังพ่อแม่หรือปู่ยาตายายมาตั้งแต่เด็ก

    ตำรวจคนนี้เปิดพุงให้ผมดู สภาพเหมือนถูกคว้านท้องมา มีคนเล่าเป็นภาษาลาวให้ผมฟังว่า วันเกิดเหตุเขาประจำอยู่ที่ป้อมตำรวจแห่งหนึ่ง พอถึงเวลาออกเวรก็ถอดเสื้อกันกระสุนออก ทันใดนั้นมีวิทยุเข้ามาว่านักโทษแหกคุกกำลังขับรถมุ่งหน้าผ่านป้อมของเขา ไม่ทันกลับไปใส่เสื้อกันกระสุน เขาเรียกรถต้องสงสัย อีกฝ่ายไม่จอด แต่สาดกระสุนใส่ท้องของเขา 7 นัดแล้วไปต่อ ส่วนตำรวจหนุ่มถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์

    วันนี้แม้แดดจ้า แต่อากาศไม่ร้อน เดือนพฤษภาคมของซีกโลกใต้ตรงกับฤดูใบไม้ร่วง อีกเดือนเดียวก็เข้าสู่ฤดูหนาว เที่ยงๆ พวกผู้ชายเริ่มดื่มเบียร์กันแล้ว ทั้งรุ่น 1 รุ่น 2 และรุ่น 3 จำนวนหนึ่ง เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับอากาศแบบนี้มีแต่เบียร์

     แต่ไม่แน่ คนรุ่น 1 อาจกำลังคิดถึงเหล้าลาว.

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.