จริงหรือไม่ ที่การใช้ขาเทียมในการแข่งขันกรีฑา นอกจากจะทำให้นักกีฬาเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่นักกีฬา โดยเฉพาะในเรื่องของความเร็ว?
เป็นความจริงที่การใช้ขาเทียมเช่นนี้ทำให้นักกีฬามีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น แต่บางครั้งก็อาจจะดีเกินไปจนทำให้หลายคนมองข้ามความสามารถของตัวนักกีฬาไป ?
อุปกรณ์ที่ตกเป็นประเด็นสำหรับการถกเถียงที่สำคัญที่สุดได้แก่ เทคโนโลยีขาเทียมสำหรับนักกีฬาประเภทลู่และลาน ที่ชื่อว่า “The Flex-Foot” หรือมีชื่อเล่นว่า “Running Blade” เพราะมีลักษณะเหมือนใบมีด และถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในการแข่งขันพาราลิมปิก
อุปกรณ์ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทหลายเจ้าและมีการนำมาใช้กันอย่างจริงจัง ถึงขนาดที่ในหมู่บ้านนักกีฬาในโตเกียวมีศูนย์ซ่อมบำรุงขาเทียม เพื่อคอยดูแล ปรับปรุง ให้อุปกรณ์มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
การนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ในการแข่งขันนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วการใช้ขาเทียมประเภทนี้ ทำให้การแข่งขันยุติธรรมหรือไม่ ? ชัยชนะที่นักกีฬาได้รับเป็นผลผลิตของความมุมานะหรือความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีกันแน่ ?
Main Stand ขอชวนมาหาคำตอบไปด้วยกัน
Work It, Make It, Do It, Makes Us
ว่ากันว่าขาเทียมชนิดนี้คือนวัตกรรมแห่งอนาคต ด้วยความที่สร้างมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ ประกอบกับลักษณะการออกแบบที่มีลักษณะโค้ง ทำให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว โดยประวัติความเป็นมาของ รันนิ่ง เบลด นั้นสามารถย้อนกลับไปดูได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1970s
วาน ยังคงโหยหาชีวิตแบบสปอร์ตไลฟ์สไตล์ เขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกายอุปกรณ์ ที่เป็นสาขาวิชาแยกย่อยในมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เขาเลือกที่จะไม่ออกแบบอวัยวะเทียมแบบจำลองโครงสร้างขามนุษย์ ในทางกลับกัน เขาเลือกที่จะรื้อดีไซน์ขาเทียมใหม่ทั้งหมด เพราะเขามองว่าขาเทียมที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น ทั้งใส่ไม่สบายและมีความเทอะทะ วานจึงอยากได้อะไรที่คล่องตัวมากกว่านั้น
ลักษณะของขาเทียมที่เขาสร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายกับใบมีดที่โค้งงอและสามารถสปริงตัวได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างขาเทียมชนิดนี้มาจากการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ อย่างเสือชีตาร์และจิงโจ้ อีกทั้งยังศึกษากลไกการทำงานส่วนขาของนักกีฬากระโดดน้ำและนักกีฬากระโดดค้ำถ่ออย่างละเอียด เพื่อดูว่าการดีดตัวโดยใช้ขาของผู้คนเหล่านี้ทำงานอย่างไร
งานประดิษฐ์ของวานยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในส่วนของวัสดุ วานเลือกใช้คาร์บอนไฟเบอร์เพราะมีน้ำหนักเบา เขาได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือจากเพื่อนที่ชื่อ เดล อบลิดสคอฟ (Dale Ablidskov) ที่เป็นวิศวกรในสาขาการบินและอวกาศ
“ในคืนที่ผมพบกับเดล ผมก็เริ่มร่างแบบขึ้นมาทันที ระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็ได้ลองสร้างขาใหม่ขึ้นตามคำแนะนำของเดล และติดเข้าไปที่ขาของตัวเอง เพื่อทดสอบโดยการลองวิ่งไปตามโถงทางเดินไปที่ห้องทำงานของเขา”
“ตอนนั้นผมรู้สึกเป็นอิสระอย่างแท้จริง”
หลังจากที่ทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี วานก็ออกจากงานประจำในปี 1984 แล้วหอบงานประดิษฐ์ของตัวเองออกมาสร้างบริษัท โดยใช้ชื่อว่า “เฟล็กซ์ ฟุต” (Flex-Foot) และสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ก็เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอวัยวะเทียมได้อย่างยิ่งใหญ่
แต่ในเวลานั้น วานยังไม่รู้ว่า งานประดิษฐ์ของเขาจะไปไกลถึงการแข่งขันพาราลิมปิก
Harder, Better, Faster, Stronger
“งานประดิษฐ์ของ วาน ฟิลลิปส์ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอวัยวะเทียมไปตลอดกาล มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก”
แพดดี้ รอสบาช ประธานและผู้บริหารของ Amputee Coalition of America องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการในสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงผลงานของวาน
ในเวลาต่อมา วานได้ขายลิขสิทธิ์เฟล็กซ์ ฟุตของเขาให้แก่บริษัท ออสเซอ (Ossur) บริษัทผู้ดูแลสุขภาพและพัฒนาอวัยวะเทียมจากประเทศไอซ์แลนด์ ในปี 2000 จากการเสนอขอเข้าซื้อโดยบริษัทเพื่อนำไปพัฒนาต่อ ส่วนตัวเขาก็ยังคงใช้เวลาว่างในการพัฒนาขาเทียมรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป และพยายามที่จะทำให้ขาเทียมใช้เล่นกีฬาได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโต้คลื่นหรือดำน้ำแบบตื้น
หลังจากออสเซอรับขาเทียมของวานไปดูแลต่อ พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อมันเป็น “เดอะ ชีตาห์” (The Cheetah) และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเพื่อการวิ่งและการกระโดดเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ออสเซอก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิตที่ผูกขาดการพัฒนาขาเทียมประเภทนี้เพียงเจ้าเดียว นอกจากออสเซอแล้วยังมี ออตโตบอค (Ottobock) บริษัทพัฒนาอวัยวะเทียมจากสหรัฐอเมริกา และ ไซบอร์ก (XiBorg) บริษัทอวัยวะเทียมจากญี่ปุ่น เป็นอีกสองผู้เล่น
ริชาร์ด มองว่าอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยให้เขาเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น เพราะอย่างน้อยเขาก็สามารถออกวิ่งได้อีกครั้ง
“ประโยชน์ของขาเทียมใบมีดแบบนี้เหรอ ? ผมว่ามันช่วยสร้างพื้นที่ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จให้กับผม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนพิการหรือไม่”
“ฉันรู้สึกว่าตัวเองกำลังสปรินต์อยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วฉันเพียงแค่วิ่งเหยาะ ๆ เท่านั้น มันรู้สึกต่างออกไป เพราะขามันมีความหนามากขึ้น”
“วันแรกที่ได้ลองใส่ ฉันรู้สึกว่าฉันสามารถวิ่งได้ตลอดไปแบบไม่มีวันหยุดเลย”
แต่ชื่อที่ดูจะสร้างการพูดถึงในตัวของ รันนิ่ง เบลด มากที่สุด คงหนีไม่พ้น ออสการ์ พิสโทเรียส (Oscar Pistorius) ที่ปัจจุบันถูกจำคุกจากคดีใช้ปืนยิง รีวา สตีนแคมป์ นักแสดงและนางแบบ แฟนสาวของตัวเองในห้องน้ำ โดยอ้างความเข้าใจผิด คิดว่าแฟนสาวเป็นคนที่บุกรุกเข้ามาในบ้านของตน (ซึ่งเราคงมีโอกาสได้พูดถึงเรื่องนี้ในภายหลัง)
ความสำเร็จของเขา ทำให้การใช้เทคโนโลยี รันนิ่ง เบลด เป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และได้รับชื่อเล่นจากสื่อว่า “เบลด รันเนอร์”
สิ่งที่ทำให้ชื่อของออสการถูกพูดถึงอย่างมาก คือความพยายามของเขาที่จะกระโดดเข้าไปแข่งขันร่วมกับนักวิ่งปกติในการแข่งโอลิมปิก ด้วยการใช้อวัยวะเทียม เขาเชื่อว่าเขาสามารถทัดเทียมความสามารถกับนักกีฬาปกติได้และเพื่อยกระดับการแข่งขันพาราลิมปิกขึ้นไปอีกขั้น
“ด้วยบุคลิกของออสการ์และความสามารถทางการกีฬาของเขาที่อยากจะเข้าไปลุยกับนักกีฬาโอลิมปิก ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่อยากสนับสนุนพาราลิมปิกให้ดีขึ้นกว่านี้”
และความสามารถของ เบลด รันเนอร์ สุดฉาวคนนี้เอง ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าเป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือไม่ที่จะมีการอนุญาตให้ใช้ รันนิ่ง เบลด ในการแข่งขันพาราลิมปิก เพราะมันดูจะไม่ค่อยยุติธรรมสำหรับนักวิ่งธรรมดาเท่าไรนัก
ส่งเสริมหรือลดทอน?
หลังจากที่ความนิยมของการใช้ รันนิ่ง เบลด จะเพิ่มขึ้นในการแข่งขันพาราลิมปิกตั้งแต่ปี 2012 เมื่อการแข่งขันจบลงได้เกิดการถกเถียงกันว่า มีความเหมาะสมแล้วหรือที่จะใช้ขาเทียมประเภทนี้ในการแข่งขัน ? คนที่ไม่เห็นด้วยมักจะมองว่าการใช้ขาเทียมประเภทนี้เป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างสบายเกินไป และไม่ยุติธรรมสำหรับนักกีฬาวิ่งที่ใช้ขาจริง
เรื่องนี้มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เดวิด มอร์เกนรอธ (David Morgenroth) ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ออกมาแสดงความเห็น โดยอธิบายถึงหลักการทำงานของ รันนิ่ง เบลด เอาไว้ว่า การทำงานของขาเหล่านี้ มีประโยชน์แม้กระทั่งในเรื่องการเผาผลาญ เวลาขาเหล่านี้ถูกดันออกจากพื้น กล้ามเนื้อส่วนอื่นอาจจะไม่ต้องทำงานหนักเท่ากับนักวิ่งปกติ นอกจากนี้ขาเทียมพวกนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกายของนักวิ่งแต่ละคน ทั้งความแข็ง ขนาดและรูปร่างของใบมีด
ในขณะเดียวกันการใช้ขาแบบนี้ก็เหมือนดาบสองคม เพราะการที่อุปกรณ์ถูกปรับแต่งมาแล้ว เวลาเร่งความเร็ว สปีดก็อาจจะไม่ได้ดีเท่ากับนักวิ่งปกติ เหมือนอุปกรณ์ถูกตั้งค่าไว้แบบหนึ่ง แต่ถ้าสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาไปไกลกว่าค่าที่ถูกตั้งไว้ อุปกรณ์ก็จะไม่ได้ช่วยส่งเสริมตามกันไป
นอกจากนี้ จุดประสงค์หลักของการพัฒนา รันนิ่ง เบลด นั้นมีไว้เพื่อการคืนค่าการทำงานของร่างกายให้เทียบเท่าคนปกติเป็นหลัก ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผลการศึกษาทางวิชาการที่ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์ AZO Materials การใช้ รันนิ่ง เบลด จะช่วยสะสมพลังงานของนักวิ่งไว้ได้ 90% ในขณะที่อวัยวะจริงจะเก็บสะสมได้ถึง 250%
ก่อนประเด็นเรื่องความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีจะหมดไป อีกคำถามสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นโดย เจสัน มาซานอฟ นักจิตวิทยาการกีฬา ความว่า
“ผลการแข่งขันที่ได้จากนักกีฬา เป็นผลที่ได้จากตัวนักกีฬาเองหรือจากเทคโนโลยี?”
หากมองอย่างเป็นกลางที่สุด ก็ย่อมเข้าใจได้ว่าที่เจสันไม่เห็นด้วยเป็นเพราะความสามารถสุดเทพของ รันนิ่ง เบลด ที่เราได้ทราบก่อนหน้า แต่เรื่องนี้ไปไกลกว่านั้น
การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีความเหลื่อมกันในเรื่องของงบประมาณในการลงทุนของแต่ละประเทศ ประเทศที่ร่ำรวยย่อมสามารถสนับสนุนนักกีฬาพาราลิมปิกของประเทศตัวเองได้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า ซึ่ง เคลลี่ คาร์ตไรท์ (Kelly Cartwright) นักวิ่งและนักกระโดดไกลพาราลิมปิก จากประเทศออสเตรเลียที่สวม รันนิ่ง เบลด ก็เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เมื่อถูกถามถึงขาที่เธอใส่
“มันมีราคาที่แพงมาก ซึ่งจริง ๆ มันก็อาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เราอาจจะใช้ขาอะไรก็ได้ที่ทำให้เราวิ่งได้ก็พอ”
ปัจจุบัน การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นักวิ่งกว่า 90% สวมใส่ รันนิ่ง เบลด ทั้งในระหว่างการแข่งขันและการฝึกซ้อม โดยอุปกรณ์ของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของขนาด ความยาว หรือวัสดุที่ใช้
เป็นการยากหากจะต้องตัดสินว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมหรือไม่ ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลว่าจะมองเรื่องดังกล่าวจากมุมไหนหรือจากหลักฐานการศึกษาประเภทใด ที่สำคัญคือ เราต้องอย่าลืมว่าการแข่งขันพาราลิมปิก เป็นการแข่งขันสำหรับผู้พิการ
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.