Thailand Sport Magazine Sponsored
Categories: กรีฑา

“พระยาละแวก” นักตีท้ายครัวในประวัติศาสตร์! ถูกชำระแค้นจนเมืองละแวกหายไปทั้งเมือง!! – ผู้จัดการออนไลน์

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค


“พระยาละแวก” เป็นคำที่พงศาวดารไทยเรียกกษัตริย์เขมรที่ครองราชย์เมืองละแวก ส่วนใหญ่แล้วเขมรจะตั้งเมืองหลวงอยู่ที่พนมเปญและอุดงมีชัย ในปี ๒๐๔๖ สมเด็จพระศรีสุคนธบท ครองราชย์อยู่เมืองพนมเปญ ถูกกบฏปลงพระชนม์ แต่ นักองค์จัน ผู้เป็นอนุชา หนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาและได้กองทัพไทยไปช่วยปราบปรามจนได้ราชสมบัติคืนใน พ.ศ.๒๐๕๙ สถาปนานักองค์จันขึ้นครองราชย์ เป็น พระบรมราชาที่ ๓ และได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่เมืองละแวก เหนือกรุงพนมเปญขึ้นไป

ใน พ.ศ.๒๑๐๙ นักพระสัตถา พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์ต่อ เป็น พระบรมราชา ที่ ๔ ใน พ.ศ.๒๑๑๙ ทรงสถาปนา พระราชโองการ พระราชโอรสขึ้นเป็นพระบรมราชาที่ ๕
 
จนถึง พ.ศ.๒๑๓๖ หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงจัดการกับพม่าเรียบร้อยแล้ว ก็หันมาชำระแค้นกับพระยาละแวกที่แอบเข้ามาตีท้ายครัวมาตลอด เผาเมืองละแวกจนย่อยยับ กลายเป็นแค่อำเภอหนึ่งในจังหวัดกำปงชนังของกัมพูชาขณะนี้

แม้ไทยจะช่วยกษัตริย์เขมรมาตลอด แต่ความไม่ไว้วางใจและความแค้นฝังใจที่ขอมเคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในย่านนี้มาก่อน แต่ถูกกรุงศรีอยุธยาทำลายจนย่อยยับมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามพระยา ซึ่งเขมรก็ไม่อาจแก้แค้นได้เพราะความเข้มแข็งต่างกันมาก จนเมื่อใดที่ไทยอ่อนแอลง เขมรจึงถือเป็นโอกาส อย่างสมัยที่เสียกรุงครั้งที่ ๑ ถูกพม่ายึดอาวุธไปหมด ผู้คนส่วนใหญ่หนีไปหลบซ่อนอยู่ในป่า ยังไม่ทันกลับเข้าเมือง จึงเป็นโอกาสดีของเขมร ในปี ๒๑๑๓ พระบรมราชาที่ ๔ ได้นำกำลัง ๓๐,๐๐๐ คนมุ่งมาตีกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายไทยเห็นว่าไม่มีกำลังจะสู้เขมรได้ คิดจะถอยขึ้นไปเมืองพิษณุโลก แต่มาทราบว่าเจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนเก่าตั้งกองโจรดักปล้นอยู่กลางทาง จึงต้องตัดสินใจปักหลักสู้พระยาละแวกที่กรุงศรีอยุธยา แต่พอสู้กันจริงๆ กองทัพพระยาละแวกก็แหยงฝีมือไทย ถอยกลับไปโดยกวาดต้อนผู้คนรายทางกลับไปมาก

ต่อมาอีก ๕ ปี พระบรมราชที่ ๔ เจ้าเก่า ได้ข่าวว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพไปช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวัดพนัญเชิง แต่เผอิญสมเด็จพระนเรศวรซึ่งติดตามพระราชบิดาไปทัพด้วย เกิดเป็นไข้ทรพิษกลางทาง พระเจ้าบุเรงนองเลยให้กองทัพไทยกลับมาก่อน มาเจอเอากองทัพของพระยาละแวกแอบเข้ามาตีท้ายครัวเข้าพอดี เลยตีเสียกระเจิง แต่ตอนถอยออกไปพระยาละแวกก็ถือโอกาสขนเอาเทวรูปสัมฤทธิ์ ๒ องค์ที่เมืองพระประแดงและกวาดต้อนราษฎรไทยตามหัวเมืองชายทะเลกลับไปอีก

รุ่งขึ้นอีกปี ใน พ.ศ.๒๑๑๔ พระบรมราชาธิราชที่ ๕ ขึ้นครองราชย์เมืองละแวก ได้ยกกองทัพเรือมีกำลังถึง ๗๐,๐๐๐ คนข้ามทะเลมาตีเมืองเพชรบุรี ล้อมถึง ๓ วันก็ไม่สามารถเข้าเมืองได้ เสียทหารไปเป็นจำนวนมาก พระยาละแวกต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ และตัดสินใจเข้าตีอีกครั้ง หากไม่สำเร็จก็จะกลับ แต่การตั้งรับศึกครั้งใหม่แม่ทัพไทยเกิดแตกคอกัน ต่างคนต่างตั้งรับด้านของตัวไม่ยอมประสานกัน พระยาละแวกเลยเข้าเมืองได้ ๓ แม่ทัพไทยที่แตกคอกันเองตายในที่รบ พระยาละแวกกวาดต้อนผู้คนไปอีกมาก

ต่อมาอีก ๒ ปี เขมรก็เอาอีก เพราะช่วงนั้นไทยยังไม่พ้นความอ่อนแอ พระยาละแวกก็ส่งกองทัพม้าทัพช้าง ๕,๐๐๐ คนมาลาดตระเวนด้านตะวันออกของไทย สมเด็จพระนเรศวรทราบข่าวขณะประทับอยู่เมืองพิษณุโลก รับสั่งให้กองทัพเมืองชัยบุรีและเมืองถมอรัตน์ (เพชรบูรณ์) ป้องกันด้านในด่านไว้ ส่วนพระองค์นำทหาร ๓,๐๐๐ คนเข้าขับไล่กองทัพพระยาละแวกจนถอยกลับไป
หลังการประกาศอิสรภาพ สมเด็จพระนเรศวรทรงปรับปรุงกองทัพไทยให้เข้มแข็ง เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงกรีฑาทัพมาปราบ ก็ต้องแตกพ่ายไป ในปี พ.ศ.๒๑๒๘ พระบรมราชาที่ ๕ ที่แอบเข้ามาตีท้ายครัวเป็นประจำ กลัวว่าจะถูกคิดบัญชีแค้น จึงแต่งราชทูตและถือศุภอักษรเข้ามาขอเป็นไมตรี สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่ากำลังเผชิญหน้าอยู่กับพม่า หากสงบศึกกับเขมรได้ ก็ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง จึงทรงรับเป็นไมตรี

เมื่อไทยเกิดศึกกับกรุงหงสาวดีครั้งที่ ๒ พระบรมราชาที่ ๕ ได้ส่งพระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชา คุมกำลังเข้ามาช่วย แต่พระศรีสุพรรณมาธิราชกลับแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง ตอนพระนเรศวรทรงเรือพระที่นั่งกลับมาจากชนะศึกที่เชียงใหม่ ขณะที่ผ่านกองเรือเขมร พระศรีสุพรรณฯก็นั่งอยู่ในเรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ยอมแสดงความเคารพ ทำให้พระองค์ดำทรงพิโรธ รับสั่งให้ตัดศีรษะเชลยศึกที่จับมาไปเสียบไว้ที่กราบเรือพระศรีสุพรรณฯ

ในปี พ.ศ.๒๑๓๐ ขณะพระเจ้ากรุงหงสาวดีส่งกำลังมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีก พระบรมราชาที่ ๕ ซึ่งเคยส่งกำลังมาช่วย ได้ส่งฟ้าทะละหะนำกำลังเข้ามาตีเมืองปราจีน สมเด็จพระนเรศวรทรงส่งพระยาศรีไสยณรงค์กับพระยาสีหราชเดโชชัยยกกองทัพไปป้องกัน พอถึงเมืองนครนายกก็ปะทะกับกองทัพเขมร จึงเข้าตีจนแตกพ่าย และตามตีจนพ้นเขตแดนไทย

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์แล้ว ศึกทางพม่าว่างเว้น ทรงเห็นว่าจะต้องกำราบเขมรที่คอยตีท้ายครัวให้เข็ดหลาบเสียที ทรงร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไป ให้พระราชมนูเป็นกองทัพหน้า พระยาละแวกยกมาสกัดที่เมืองโพธิสัตว์และพระตะบอง พระราชมนูถลำเข้าไปไม่รู้ตัว เลยถูกตีถอยมาถึงทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธจะให้ประหารชีวิตแม่ทัพเสีย แต่สมเด็จพระเอกาทศรถทูลขอชีวิตให้โอกาสแก้ตัว พระราชมนูจึงกลับไปตีเมืองโพธิสัตว์และพระตะบองได้ กองทัพหลวงเข้าล้อมเมืองละแวก แต่ก็ขาดเสบียงอาหาร จึงต้องยกกลับ

ในปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรทรงนำกองทัพไปตีเมืองละแวกเป็นครั้งที่ ๒ จับพระยาละแวกได้ แล้วทำพิธีกรรมให้ประหารชีวิตเอาโลหิตล้างพระบาท

แต่มีบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวว่า พระบรมราชาที่ ๕ ไม่ได้ถูกสมเด็จพระนเรศวรประหาร แต่ได้หนีข้ามแดนไปอยู่ที่เมืองเชียงแตงในลาวพร้อมกับพระราชบุตร ๒ องค์ กองทัพไทยได้เผาเมืองละแวกวอดและกวาดต้อนผู้คนมา ต่อมาพระบรมราชาที่ ๕ พร้อมพระราชบุตรทั้ง ๒ ได้สิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงแตง

การทำพิธีกรรมเอาโลหิตล้างพระบาท จึงอาจคลาดเคลื่อนมาจากพิธีกรรมอย่างอื่นก็เป็นได้ หรือเป็นรสชาติของประวัติศาสตร์ตามเจตนาของคนบันทึก

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.