เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค
“พระยาละแวก” เป็นคำที่พงศาวดารไทยเรียกกษัตริย์เขมรที่ครองราชย์เมืองละแวก ส่วนใหญ่แล้วเขมรจะตั้งเมืองหลวงอยู่ที่พนมเปญและอุดงมีชัย ในปี ๒๐๔๖ สมเด็จพระศรีสุคนธบท ครองราชย์อยู่เมืองพนมเปญ ถูกกบฏปลงพระชนม์ แต่ นักองค์จัน ผู้เป็นอนุชา หนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาและได้กองทัพไทยไปช่วยปราบปรามจนได้ราชสมบัติคืนใน พ.ศ.๒๐๕๙ สถาปนานักองค์จันขึ้นครองราชย์ เป็น พระบรมราชาที่ ๓ และได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่เมืองละแวก เหนือกรุงพนมเปญขึ้นไป
ใน พ.ศ.๒๑๐๙ นักพระสัตถา พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์ต่อ เป็น พระบรมราชา ที่ ๔ ใน พ.ศ.๒๑๑๙ ทรงสถาปนา พระราชโองการ พระราชโอรสขึ้นเป็นพระบรมราชาที่ ๕
จนถึง พ.ศ.๒๑๓๖ หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงจัดการกับพม่าเรียบร้อยแล้ว ก็หันมาชำระแค้นกับพระยาละแวกที่แอบเข้ามาตีท้ายครัวมาตลอด เผาเมืองละแวกจนย่อยยับ กลายเป็นแค่อำเภอหนึ่งในจังหวัดกำปงชนังของกัมพูชาขณะนี้
แม้ไทยจะช่วยกษัตริย์เขมรมาตลอด แต่ความไม่ไว้วางใจและความแค้นฝังใจที่ขอมเคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในย่านนี้มาก่อน แต่ถูกกรุงศรีอยุธยาทำลายจนย่อยยับมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามพระยา ซึ่งเขมรก็ไม่อาจแก้แค้นได้เพราะความเข้มแข็งต่างกันมาก จนเมื่อใดที่ไทยอ่อนแอลง เขมรจึงถือเป็นโอกาส อย่างสมัยที่เสียกรุงครั้งที่ ๑ ถูกพม่ายึดอาวุธไปหมด ผู้คนส่วนใหญ่หนีไปหลบซ่อนอยู่ในป่า ยังไม่ทันกลับเข้าเมือง จึงเป็นโอกาสดีของเขมร ในปี ๒๑๑๓ พระบรมราชาที่ ๔ ได้นำกำลัง ๓๐,๐๐๐ คนมุ่งมาตีกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายไทยเห็นว่าไม่มีกำลังจะสู้เขมรได้ คิดจะถอยขึ้นไปเมืองพิษณุโลก แต่มาทราบว่าเจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนเก่าตั้งกองโจรดักปล้นอยู่กลางทาง จึงต้องตัดสินใจปักหลักสู้พระยาละแวกที่กรุงศรีอยุธยา แต่พอสู้กันจริงๆ กองทัพพระยาละแวกก็แหยงฝีมือไทย ถอยกลับไปโดยกวาดต้อนผู้คนรายทางกลับไปมาก
ต่อมาอีก ๕ ปี พระบรมราชที่ ๔ เจ้าเก่า ได้ข่าวว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพไปช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวัดพนัญเชิง แต่เผอิญสมเด็จพระนเรศวรซึ่งติดตามพระราชบิดาไปทัพด้วย เกิดเป็นไข้ทรพิษกลางทาง พระเจ้าบุเรงนองเลยให้กองทัพไทยกลับมาก่อน มาเจอเอากองทัพของพระยาละแวกแอบเข้ามาตีท้ายครัวเข้าพอดี เลยตีเสียกระเจิง แต่ตอนถอยออกไปพระยาละแวกก็ถือโอกาสขนเอาเทวรูปสัมฤทธิ์ ๒ องค์ที่เมืองพระประแดงและกวาดต้อนราษฎรไทยตามหัวเมืองชายทะเลกลับไปอีก
รุ่งขึ้นอีกปี ใน พ.ศ.๒๑๑๔ พระบรมราชาธิราชที่ ๕ ขึ้นครองราชย์เมืองละแวก ได้ยกกองทัพเรือมีกำลังถึง ๗๐,๐๐๐ คนข้ามทะเลมาตีเมืองเพชรบุรี ล้อมถึง ๓ วันก็ไม่สามารถเข้าเมืองได้ เสียทหารไปเป็นจำนวนมาก พระยาละแวกต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ และตัดสินใจเข้าตีอีกครั้ง หากไม่สำเร็จก็จะกลับ แต่การตั้งรับศึกครั้งใหม่แม่ทัพไทยเกิดแตกคอกัน ต่างคนต่างตั้งรับด้านของตัวไม่ยอมประสานกัน พระยาละแวกเลยเข้าเมืองได้ ๓ แม่ทัพไทยที่แตกคอกันเองตายในที่รบ พระยาละแวกกวาดต้อนผู้คนไปอีกมาก
ต่อมาอีก ๒ ปี เขมรก็เอาอีก เพราะช่วงนั้นไทยยังไม่พ้นความอ่อนแอ พระยาละแวกก็ส่งกองทัพม้าทัพช้าง ๕,๐๐๐ คนมาลาดตระเวนด้านตะวันออกของไทย สมเด็จพระนเรศวรทราบข่าวขณะประทับอยู่เมืองพิษณุโลก รับสั่งให้กองทัพเมืองชัยบุรีและเมืองถมอรัตน์ (เพชรบูรณ์) ป้องกันด้านในด่านไว้ ส่วนพระองค์นำทหาร ๓,๐๐๐ คนเข้าขับไล่กองทัพพระยาละแวกจนถอยกลับไป
หลังการประกาศอิสรภาพ สมเด็จพระนเรศวรทรงปรับปรุงกองทัพไทยให้เข้มแข็ง เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงกรีฑาทัพมาปราบ ก็ต้องแตกพ่ายไป ในปี พ.ศ.๒๑๒๘ พระบรมราชาที่ ๕ ที่แอบเข้ามาตีท้ายครัวเป็นประจำ กลัวว่าจะถูกคิดบัญชีแค้น จึงแต่งราชทูตและถือศุภอักษรเข้ามาขอเป็นไมตรี สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่ากำลังเผชิญหน้าอยู่กับพม่า หากสงบศึกกับเขมรได้ ก็ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง จึงทรงรับเป็นไมตรี
เมื่อไทยเกิดศึกกับกรุงหงสาวดีครั้งที่ ๒ พระบรมราชาที่ ๕ ได้ส่งพระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชา คุมกำลังเข้ามาช่วย แต่พระศรีสุพรรณมาธิราชกลับแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง ตอนพระนเรศวรทรงเรือพระที่นั่งกลับมาจากชนะศึกที่เชียงใหม่ ขณะที่ผ่านกองเรือเขมร พระศรีสุพรรณฯก็นั่งอยู่ในเรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ยอมแสดงความเคารพ ทำให้พระองค์ดำทรงพิโรธ รับสั่งให้ตัดศีรษะเชลยศึกที่จับมาไปเสียบไว้ที่กราบเรือพระศรีสุพรรณฯ
ในปี พ.ศ.๒๑๓๐ ขณะพระเจ้ากรุงหงสาวดีส่งกำลังมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีก พระบรมราชาที่ ๕ ซึ่งเคยส่งกำลังมาช่วย ได้ส่งฟ้าทะละหะนำกำลังเข้ามาตีเมืองปราจีน สมเด็จพระนเรศวรทรงส่งพระยาศรีไสยณรงค์กับพระยาสีหราชเดโชชัยยกกองทัพไปป้องกัน พอถึงเมืองนครนายกก็ปะทะกับกองทัพเขมร จึงเข้าตีจนแตกพ่าย และตามตีจนพ้นเขตแดนไทย
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์แล้ว ศึกทางพม่าว่างเว้น ทรงเห็นว่าจะต้องกำราบเขมรที่คอยตีท้ายครัวให้เข็ดหลาบเสียที ทรงร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไป ให้พระราชมนูเป็นกองทัพหน้า พระยาละแวกยกมาสกัดที่เมืองโพธิสัตว์และพระตะบอง พระราชมนูถลำเข้าไปไม่รู้ตัว เลยถูกตีถอยมาถึงทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธจะให้ประหารชีวิตแม่ทัพเสีย แต่สมเด็จพระเอกาทศรถทูลขอชีวิตให้โอกาสแก้ตัว พระราชมนูจึงกลับไปตีเมืองโพธิสัตว์และพระตะบองได้ กองทัพหลวงเข้าล้อมเมืองละแวก แต่ก็ขาดเสบียงอาหาร จึงต้องยกกลับ
ในปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรทรงนำกองทัพไปตีเมืองละแวกเป็นครั้งที่ ๒ จับพระยาละแวกได้ แล้วทำพิธีกรรมให้ประหารชีวิตเอาโลหิตล้างพระบาท
แต่มีบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวว่า พระบรมราชาที่ ๕ ไม่ได้ถูกสมเด็จพระนเรศวรประหาร แต่ได้หนีข้ามแดนไปอยู่ที่เมืองเชียงแตงในลาวพร้อมกับพระราชบุตร ๒ องค์ กองทัพไทยได้เผาเมืองละแวกวอดและกวาดต้อนผู้คนมา ต่อมาพระบรมราชาที่ ๕ พร้อมพระราชบุตรทั้ง ๒ ได้สิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงแตง
การทำพิธีกรรมเอาโลหิตล้างพระบาท จึงอาจคลาดเคลื่อนมาจากพิธีกรรมอย่างอื่นก็เป็นได้ หรือเป็นรสชาติของประวัติศาสตร์ตามเจตนาของคนบันทึก