เสือตัวที่ 6
หลังจากกลุ่มกองทัพตาลีบันสามารถยึดทั้งอัฟกานิสถานได้แล้ว ทำให้หลายชาติตะวันตก ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการขึ้นสู่อำนาจของตาลีบัน ด้วยความสุดโต่งของแนวคิดเชิงศาสนาอันบริสุทธิ์ที่สะท้อนออกมาในช่วงที่กลุ่มตาลีบันเรืองอำนาจ ก่อนที่จะถูกกองทัพสหรัฐฯ กรีฑาทัพเข้าขับไล่ตาลีบันออกไปและตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ หลังเหตุการณ์ 9/11 หากแต่ความกังวลของชาติตะวันตกดังกล่าว เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อกลุ่มตาลีบันได้รุกไล่ยึดครองพื้นที่อัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็ว หลังจากการประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิงภายใน ส.ค.64 จนกระทั่งสามารถเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลที่รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ความเข้มงวดในหลักการความเชื่อทางศาสนาเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น อันเป็นแนวทางเดิมๆ ที่กลุ่มตาลีบันเชื่อและเคยทำมาในครั้งก่อนที่เคยมีอำนาจปกครองอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นการสวนทางกับความเชื่อของคนในโลกตะวันตกที่มุ่งมั่นในความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิมนุษยชน โดยสิ่งที่ปรากฏอันเป็นเค้าลางของความกังวลของคนตะวันตก อาทิ ล่าสุดมีภาพบรรยากาศการเรียนการสอนที่ถูกเผยแพร่ออกมาทางสื่อสาธารณะที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะให้ผู้หญิงเข้าเรียนได้ก็จริง แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเข้ามา คือต้องแบ่งแยกที่นั่งระหว่างชายหญิง ด้วยฉากกั้นระหว่างนักศึกษาทั้งสองเพศ และผู้หญิงต้องแต่งตัวมิดชิดห้ามเผยเนื้อหนัง โดยผู้หญิงที่ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยต้องสวมชุดอาบายะห์และคลุมนิกอบ ซึ่งเป็นผ้าคลุมที่ปิดทั้งใบหน้า ให้เห็นเฉพาะดวงตา นอกจากนี้ในการเรียน จะให้เฉพาะอาจารย์ผู้หญิงเท่านั้นที่สอนได้ หรือหากเป็นอาจารย์ผู้ชายต้องมีการสอบประวัติอย่างละเอียด หรือให้เป็นอาจารย์ชายอาวุโสที่มีประวัติความประพฤติดีมาสอนแทน
นอกจากความกังวลของชาติตะวันตกในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศแล้ว การเข้าเรืองอำนาจของกลุ่มตาลีบันครั้งล่าสุดนี้ ยังส่งผลกระทบข้างเคียงในด้านอื่นๆ อีก ซึ่งกำลังปรากฏให้เห็น อาทิ ด้านสาธารณสุข จากรายงานจากสหประชาชาติออกมาแสดงความกังวลว่า ระบบสาธารณสุขในหลายเมืองกำลังใกล้ที่จะล่มสลาย จากการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ปกติแล้วอัฟกานิสถานได้รับจากการบริจาคโดยนานาชาติ แต่หลังตาลีบันขึ้นสู่อำนาจ หลายชาติระงับความร่วมมือกับอัฟกานิสถาน รวมถึงระงับเงินทุนช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนว่า ผลที่เกิดขึ้นด้านความเป็นอยู่และสุขอนามัยของคนในอัฟกานิสถานนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อคนในโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเมื่อ 7 ก.ย. 2564 กลุ่มตาลีบันได้ประกาศชัยชนะ เหนือกลุ่มกองกำลังฝ่ายต่อต้านตาลีบันในพื้นที่จังหวัดปันจ์ชีร์ที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มต่อต้านได้สำเร็จ โดยธงใหม่ถูกชักขึ้นสู่ยอดเขาในปัญจชีร์ หน้าอาคารที่ทำการรัฐบาลของจังหวัดปัญจชีร์ บ่งชี้ถึงการยึดครองจังหวัดอย่างสมบูรณ์ ธงนั้นเป็นธงสีขาว ที่มีตัวอักษรอารบิกเขียนว่า “Islamic Emirates of Afghanistan” หรืออัฟกานิสถานของผู้เจ้าของนครรัฐ ในขณะที่นาย ซาบีฮุลลาห์ มูจาฮีด หัวหน้าโฆษกตาลีบัน ประกาศว่าพวกเขาได้รับชัยชนะ และถือว่าเป็นการปิดฉากปฏิบัติการยึดครองประเทศอัฟกานิสถานได้สำเร็จอย่างสินเชิง หลังจากยึดเมืองหลวงกรุงคาบูลได้ก่อนหน้านี้ แม้ว่ากลุ่มต่อต้านตาลีบันที่ชื่อว่า “แนวร่วมต่อต้านแห่งชาติ” (NRF) จะยังไม่ยอมพ่ายแพ้ โดยมีเสียงประกาศว่า กลุ่มของเขาจะต่อสู้กับตาลีบันอยู่ต่อไปในหุบเขาปันจ์ชีร์ โดยอาห์หมัด มาสซูด ผู้นำกลุ่มต่อต้านแถลงว่า พวกเขาอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ และจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อต่อต้านกลุ่มตาลีบันต่อไป ทั้งยังเรียกร้องให้ประชาชนชาวอัฟกานิสถานลุกขึ้นสู้เพื่อศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพและความเจริญของคนอัฟกัน
ท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่นที่เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอำนาจสำเร็จ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฟาอิซ ฮามีด หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองของปากีสถาน ได้เดินทางไปกรุงคาบูล เพื่อหารือกับกลุ่มตาลีบัน โดยปากีสถานเสนอตัวว่า จะช่วยตาลีบันจัดระเบียบกองทัพเสียใหม่ อันเป็นการบ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับตาลีบัน นี่เองจึงทำให้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปที่กาตาร์ ซึ่งมีสำนักงานผู้แทนตาลีบันตั้งอยู่ เพื่อหารือเรื่องผลข้างเคียงที่ตามมา หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนกองทัพออกจากอัฟกานิสถานโดยสิ้นเชิง โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ คาดหวังว่า ประเทศปากีสถาน จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางในอัฟกานิสถาน เพื่อลดผลกระทบข้างเคียงได้มากมายในการยึดครองของกลุ่มตาลีบัน แต่ก่อนหน้านี้ทางวอชิงตันเคยมีท่าทีในทำนองว่า พร้อมร่วมงานกับรัฐบาลตาลีบันได้ บนเงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลใหม่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ในขณะที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ได้ออกมาแสดงจุดยืนเช่นเดียวกับสหรัฐฯ
ขณะนี้ต่างชาติที่ตาลีบันให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ประเทศจีน เพราะจากการแถลงการณ์ของ ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบัน ระบุชัดเจนว่า จีนเป็นประเทศหลักที่อัฟกานิสถาน(ตาลีบัน) ตั้งเป้าหมายว่าจะร่วมลงทุนในด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน ไปจนถึงเศรษฐกิจ ด้านจีนเองก็ตอบรับความสัมพันธ์นี้อย่างดี เพราะที่ผ่านมา หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ว่ายังคงสถานทูตจีนในกรุงคาบูลตามปกติ รวมทั้งรัสเซีย ปากีสถาน และอิหร่านที่ยังคงสถานทูตไว้ในกรุงคาบูล เหล่านี้ บ่งบอกว่า ตาลีบัน ไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่คิด ในทางตรงข้าม กลุ่มตาลีบัน ผู้ทรงอำนาจในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ยังมีพันธมิตรระดับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและยังมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ซึ่งเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่ต้องคิดหนักหากใครคิดที่จะขัดแย้งจนถึงต้องใช้กำลังทหาร
การเปลี่ยนกลุ่มครองอำนาจในประเทศที่มีคนที่มีความเชื่อทางศาสนาอย่างเข้มข้นอย่างอัฟกานิสถาน ทั้งยังเป็นดินแดนที่เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในโลก ในการให้ได้มาและรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติตน บ่งบอกถึงความยุ่งเหยิงครั้งใหม่ของโลกใบนี้ที่ต้องจับตามอง ด้วยการเคลื่อนไหวของประเทศยักษ์ใหญ่ล้วนมีผลกระทบต่อประเทศเล็กๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญยิ่งคือ ดินแดนอัฟกานิสถานภายใต้กลุ่มตาลีบันหนนี้ แม้จะอยู่ห่างไกล แต่เป็นไปได้สูงที่จะเป็นแหล่งสร้างสมบ่มเพาะแนวคิดและทักษะที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงในหลายๆ ประเทศ นี่จึงเป็นผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการยึดครองของตาลีบันที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องจับตามอง
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.