11 ต.ค.64 – เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ.พร้อมด้วย พ.ต.ต.พงษ์พนา กรีฑา สว.กก.2 บก.ปคบ, นางสาวอัจฉรา ทองสวัสดิ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ.และกำลังเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกันนำหมายค้น ศาลจังหวัดชุมพร ที่ ค.50/2564 ลง วันที่ 11 ตุลาคม 2564 เพื่อมาตรวจค้น โรงงานเลขที่ 16/3 หมู่ที่ 10 ตำบลหาดพันไกร อ.เมือง จ.ชุมพร หลังจากได้รับจากสายข่าวว่าโรงงานดังกล่าวลักลอบผลิตเคมีเถื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในซอยหนองจันทร์หอม ห่างจากถนนสายเพชรเกษม เข้าไปประมาณ 300 เมตร เจ้าหน้าที่พบคนงานจำนวน 3 คน ทราบชื่อภายหลังคือ นายธนศักดิ์ แคว้นชัยภูมิ อยู่บ้านเลขที่ 276/1 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายโซ ตาน สัญชาติ เมียนมา และ นาย เตน คาย อู ชาว เมียนมา ทั้งสองอาศัย ที่อยู่ 100/6 หมู่ที่ 2 ตำบลตากแดด อ.เมือง จ.ชุมพร กำลังช่วยกันผสมปุ๋ยบรรจุใส่กระสอบ ก่อนนำไปจัดเรียงเป็นกองสูงอยู่ตามจุดต่างๆภายในโรงงาน
ต่อมานายภาณุกรณ์ เนียมเที่ยง อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100/6 หมู่ที่ 2 ตำบลตาก แดด อ.เมือง จ.ชุมพร เดินไปมาอยู่บริเวณหน้าเครื่องผสมปุ๋ย ซึ่งตั้งอยู่ติดด้านฝาผนังด้านในได้แสดงตนเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานพร้อมแสดงบัตรประจำตัวและแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดชุมพร ให้นายภาณุกรณ์ดูและได้อ่านข้อความในหมายค้นแจ้งความประสงค์เพื่อเข้าทำการตรวจค้นโดยมีนายภาณุกรณ์เป็นผู้นำตรวจค้น
จากการตรวจค้นพบวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ไม่พบเลขทะเบียนตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ อาทิผลิตภัณฑ์ สารปรับปรุงดิน จุลินทรีย์ดิน ตราซุปเปอร์มิกซ์ SUPERMIX BIO 12 PLUS ขนาดน้ำหนัก 50 กิโลกรัม จำนวน 70 กระสอบ ผลิตภัณฑ์ แคล-มิคพลัส 2020 วัสดุปรับปรุงดิน ตราซุปเปอร์มิกซ์ บรรยายสรรพคุณฟื้นฟูระบบรากที่มีปัญหา กระตุ้นการเกิดรากใหม่ Organnic Ajust Soil-Plus บรรจุในกระสอบพลาสติกสาน สีขาว-ส้ม-เขียว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม จำนวน 70 กระสอบ ผลิตภัณฑ์ ไฮโกร 552 แอลเอฟ อาหารผสมสำเร็จ รูปชนิดเม็ด บรรจุในกระสอบพลาสติกสาน สีขาว-น้ำเงิน น้ำหนัก 30 กิโลกรัม จำนวน 60 กระสอบ ผลิตภัณฑ์พอร์ค ไฟเตอร์ 1301 อาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป ลักษณะเม็ด บรรจุในกระสอบพลาสติกสาน สีขาว-แดง น้ำหนัก 30 กิโลกรัม จำนวน 70 กระสอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบสารตั้งต้นชนิดน้ำ และเครื่องมือ อุปกรณ์ ขวดพลาสติก ขนาด 1 ลิตร ฉลาก ผลิตภัณฑ์ ขนาด 1 ลิตร ฝาปิด 4 สี จำนวนมาก และที่ผลิตแล้วเสร็จบรรจุลงกล่องพร้อมจำหน่าย โดยระบุชื่อ ผลิตภัณฑ์ สารชีวภัณฑ์ organic acid บรรยายสรรพคุณ ดูดซึมไว พืชนำไปใช้ได้ทันที Silicate Carbon Compound ปริมาณสุทธิ 1,000 ซีซี บรรจุในขวดพลาสติกสีขาวขุ่น (ฝาสีเหลือง) ฉลากสีดำ เหลือง /ผลิตภัณฑ์ ฟายโต อะมิโน-โปร นวัตกรรมส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ช่วยทำให้เจริญเติบโตเร็ว ทั้งใบ ต้น ราก หรือหัว บรรจุในขวดพลาสติกสีขาวขุ่น (ฝาสีทอง) ฉลากสีเขียว ขนาดบรรจุ 1,000 ซีซี/ผลิตภัณฑ์ Enzume Stimulant ซุบเปอร์เอ็นไซม์ (สูตร 1) ขวดสีขาว (ฝาสีขาว) ฉลากสีดำฟ้า ปริมาณสุทธิ 1,000 ซีซี
เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์ปุ๋ย และวัตถุอันตราย (ไตรโคเดอร์มา) พร้อมแจ้งข้อกล่าวหากับนายภาณุกรณ์ ฐานความผิด ผลิตปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรี ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่ได้รับขึ้นทะเบียน ผลิตวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2(เพื่อขาย)โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. กล่าวว่าการลงพื้นที่มาตรวจจับโรงงานผลิตปุ๋ยเถื่อนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีชาวสวนได้รับความเสียหายจากการซื้อปุ๋ยของโรงงานเถื่อนแห่งนี้ ตนเองจึงได้ส่งสายเข้าทำการตรวจสอบโดยแฝงตัวเป็นชาวสวนเข้าทำการติดต่อขอซื้อปุ๋ยทั้งชนิดเม็ดบรรจุกระสอบ ชนิด 50 กก.และชนิดน้ำ บรรจุขวดพลาสติก ขนาด 1000 ซีซี ซึ่งระหว่างที่ได้ทำการติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์ ได้พบคนงานกำลังผสมปุ๋ยชนิดเม็ดและชนิดน้ำกันอยู่ จึงเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวนั้นผิดกฎหมาย จึงได้ประสานทางกรมวิชาการเกษตร จัดเจ้าหน้าที่ร่วมลงมาทำการตรวจสอบดังกล่าว
ด้านนางสาวอัจฉรา ทองสวัสดิ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าถึงแม้ทางผู้กระทำผิดจะอ้างอิงว่าไม่ใช่การผลิตปุ๋ย แต่เลี่ยงบาลีว่าเป็นสารปรับสภาพดินนั้น เป็นสิทธิที่จะอ้างได้ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆนำไปทำการตรวจหาส่วนผสมต่างๆในตัวผลิตภัณฑ์เพื่อจำแนกหาสารตั้งต้นว่ามีอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามการตรวจสอบเบื้องต้นถือว่าผลิตโดยไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับการอนุญาต
ขณะที่ทางนายภาณุภัณฑ์ เนียมเที่ยง เจ้าของโรงงานกล่าวว่าตนเองตั้งโรงงานและผลิตปุ๋ยจำหน่ายมานานแล้ว และได้ขอตั้งโรงงานอย่างถูกต้อง และวัตถุดิบที่นำมาผสมเพื่อบรรจุภัณฑ์จำหน่ายนั้นมีที่มาที่ไปอย่างถูกต้อง ตนเองเพียงนำมาผสมตามสูตรของตนเอง เพื่อให้เหมาะกับเกษตรกรที่ต้องการชนิดไหน แบบไหนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเกษรกรชาวสวนสั่งซื้อครั้งละหลายๆตัน และยังเคยส่งให้กับตามร้านจำหน่ายปุ๋ยในหลายๆร้านในจังหวัดชุมพรและต่างจังหวัดอีกด้วย