เผยแพร่: ปรับปรุง:
ผู้จัดการรายวัน360 – “ซิซซ์เล่อร์” เดินหน้า แพลนท์เบส” เต็มอัตราศึก ดันเป้าแพลนท์เบสโ ต 30% ชี้เทรนด์มาแล้ว ซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้น คาดปี67 ตลาดแพลนท์เบสรวมพุ่งถึง 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมปรับลดราคาเมนูพรีเมียมเฟสติวัลหวังเพิ่มฐานลูกค้า เร่งผุดสาขาเพิ่ม
นายกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ใน เครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ ซิซซ์เล่อร์ กล่าวว่า จากนี้ไปซิซซ์เล่อร์พร้อมที่จะรุกตลาดแพลนท์เบส(Plant-Based Food) หรือนวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนทำจากพืชอย่างเต็มที่และจริงจัง หลังจากที่เริ่มทดลองตลาดมาประมาณ 2 ปี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเราเป็นฟู้ดเชนรายแรกๆก็ว่าได้ที่นำเสนอเรื่องอาหารแพลนท์เบสเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคคนไทย และไทยยังนับเป็นประเทศแรกของซิซซ์เล่อร์ทั่วโลกที่นำเสนอเมนูแพลนท์เบสด้วย
“ตอนแรกๆที่เราทำตลาดยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากเท่าใดนักว่าแพลนท์เบสคืออะไรเราก็ต้องค่อยๆทำตลาดปูพื้นตลาดไปเรื่อยๆ ว่าคืออะไร จนกระทั่งทุกวันนี้ตลาดเริ่มเปิดกว้างและให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งยอดขายของเราเติบโตมากขึ้น วางเป้าหมายภายในปีหน้า(2565) จะมียอดขายจากเมนูแพลนท์เบสเติบโต 30% อีกทั้งช่วงแรก มีซัพพลายเออร์วัตถุดิบแพลนท์เบส 2-3 รายเท่านั้น แต่ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 10-20 รายแล้วทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ และผูุ้ประกอบการร้านอาหารเองก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแพลนท์เบสกันมากขึ้นด้วย”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งทำให้พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นเป็นพิเศษทำให้อาหาร “แพลนต์เบส” จึงเป็นอีกหนึ่งประเภทอาหารที่ผู้บริโภคหันมาเลือกรับประทาน ซึ่งประมาณการณ์ว่าตลาดแพลนท์เบสโดยรวมในไทยทั้งที่ขายปลีกและที่จำหน่ายในฟู้ดเชน ปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% (อ้างอิง: Krungthai COMPASS)
ขณะที่การเติบโตของอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกเมื่อปี 2563 มีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา: Plant Based Meat Market Outlook 2025)
นางสาว นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดซิซซ์เล่อร์ได้เปิดตัวเมนูแพลนท์เบสรอบใหม่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยปรับกลยุทธ์เน้นเมนูที่เป็นแบบไทยมากขึ้น โดยยังคงซัพพลายเออร์หลัก 2 รายชั้นนำของเอเชียตั้งแต่แรก ได้แก่ “บียอนด์ มีท” และ “กรีนมันเดย์” ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพ สร้างเมนูใหม่คือ 1. เมนู “ออมนิมีท ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว” (OmniMeat Laab Tod with Sticky Rice) รสชาติเข้มข้นแบบฉบับอีสาน ราคา 299 บาท นอกจากนี้ ออมนิมีท ลาบทอด ยังเสิร์ฟเป็นเมนูทานเล่นราคา 99 บาท , 2. เมนู “สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา” (Beyond Steak with Guacamole & Salsa) – สเต๊กเนื้อที่ไร้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม สไตล์เม็กซิกัน ราคา 399 บาท จำหน่ายที่ร้านซิซซ์เล่อร์และการสั่งผ่านดีลิเวอรี่ทั้ง 30 สาขาตั้งแต่วันนี้
“ปรกติเราจะออกเมนูแพลน์เบสใหม่ รอบละ 3 เมนู และเปลี่ยนเมนูใหม่ ที่ผ่านมาออกมาแล้วรวม ประมาณ 12 เมนู ด้วย และรอบนี้เราปรับราคาลงมาเพื่อสร้างโอกาสและการเข้าถึงของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังได้ปรับราคาในกลุ่มของสเต๊กพรีเมียมเฟสติวัลลงมาเหลือระดับ 400กว่าบาทเท่านั้น จากเดิมสูงถึง 600-700 ล้านบาท หรือปรับลงมากกว่า 30-40%”
นายกรีฑากร กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด19ที่ระบาดทำให้ซิซซ์เล่อร์ได้เรียนรู้และปรับกลยุทธ์รับมือมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนขยายสาขาที่จะมากกว่าเฉลี่ย 4-5 สาขาต่อปีหากได้ทำเลดี จากเดิมเฉลี่ย 3 สาขาต่อปี จะขยายต่างจังหวัดมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องใช้พ้ืนที่มากเหมือนในอดีต 500 ตารางเมตรต่อสาขา แต่เปิดพื้นที่เพียง 300 ตารางเมตร ก็สามารถที่จะมีที่นั่งและยอดขายใกล้เคียงกับเพื้นที่่เดิมได้ ซึ่งจะมีโมเดลใหม่ด้วย แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ รวมทั้งการขยายโอกาสในการเปิดกว้างในทุกทำเล ใม่เน้นเปิดแต่ในศูนย์การค้าเท่านั้น
ในปี2564นี้จะเปิดอีก 3 สาขา คือที่โรบินสัน (สระบุรี-ฉะเชิงเทรา-ศรีสมาน) และอีก 2 สาขาเป็นการเปลี่ยนทำเล คือที่ศรีราชา ย้ายสาขาจากแปซิฟิคพาร์คมาเปิดที่เซ็นทรัลศรีราชา และที่เดอะมอลล์ท่าพระปรับเปลี่ยนทำเล ขณะที่ปีหน้าจะเปิดไม่ต่ำกว่า3 สาขาที่มีทำเลแน่นอนแล้ว
ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์มีสาขานั่งทานในร้านรวม 54 สาขา แต่เปิดบริการ 53 สาขา เพราะอีกแห่งคือที่่เอ็มบีเคยังไม่เปิดบริการ และยังมีคลาวด์คิทเช่นอีก 5 สาขา และมีซิซซ์เล่อร์ทูโกอีก 5 สาขา และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนรายได้จากดีลิเวอรี่ 15-20% ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ระบาดทำให้ดีลิเวอรี่เติบโตดี