อุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV จ่อชงบอร์ด สมอ. ชงมาตรฐาน แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า – รถยนต์ไฟฟ้า-ถานีชาร์จเป็นสินค้าควบคุม หวังคุ้มครองผู้บริโภค
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้แล้วจำนวน 128 มาตรฐาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์ สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ EV เป็นต้น
ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการใช้พลังงาน และทั้ง 128 มาตรฐานนั้นยังเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง แต่เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลก ขณะเดียวกันแนวคิดการยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป รวมถึงกระแสการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเผยภายหลังการเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด ว่า “ในปีงบประมาณ 2566 สมอ. มีแผนการกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าอีกจำนวน 28 เรื่อง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า , รถกระบะไฟฟ้า , ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และสายไฟในรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ซึ่งการเข้าเยี่ยมชมบริษัทฯ ในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรฐานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการในการบังคับใช้มาตรฐานต่อไปในอนาคต เพื่อให้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนและไม่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)”
สำหรับมาตรฐานแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่ สมอ. เตรียมประกาศบังคับใช้มาตรฐานนั้น ข้อกำหนดในมาตรฐานจะมีการทดสอบโดยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ แบตเตอรี่จะต้องไม่เกิดการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์ (สารเคมีซึ่งอยู่ในแบตเตอรี่ที่อาจติดไฟได้) ไม่มีการแตกร้าว ไม่มีการปล่อยก๊าซออกมา และไม่มีไฟไหม้หรือการระเบิด เป็นต้น
ส่วนมาตรฐานสถานีชาร์จ จะมีการทดสอบความปลอดภัย เช่น สถานีชาร์จที่ได้มาตรฐานเมื่อชาร์จเต็ม 100% แล้ว แหล่งจ่ายจะไม่ปล่อยกระแสไฟเพิ่มอีก มีการทดสอบเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าช๊อตในขณะชาร์จ รวมถึงการรบกวนของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีชาร์จแล้วจำนวน 869 สถานี กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม “แบตเตอรี่ไฟฟ้า” และ “สถานีชาร์จ” เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริโภค ทั้งนี้ หากบอร์ด สมอ. มีมติเห็นชอบแล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการประกาศบังคับใช้มาตรฐานโดยเร็ว”
ที่มา กระทรวงอุตสาหกรรม
ภาพประกอบ กระทรวงอุตสาหกรรม
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.