หากกล่าวถึงนักบาสเกตบอลที่มาแรงที่สุดในโลกขณะนี้ “ยานนิส อันเททูคุมโป” นักบาสชาวกรีซแห่ง มิลวอกี บักส์ ย่อมเป็นใครคนนั้น เพราะนอกจากจะเพิ่งคว้าแชมป์ NBA เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา เขายังเป็นเจ้าของตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยม 2 ปีซ้อน
แต่กว่า ยานนิส จะก้าวมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาไม่เพียงเติบโตมาจากครอบครัวยากจน แต่พ่อแม่ของยานนิสยังเป็นผู้อพยพที่อาศัยอยู่แบบผิดกฎหมาย นั่นจึงทำให้เขาเป็นคนไร้สัญชาติ และต้องขายของอยู่ริมถนนจนอายุ 17 ปี
นี่คือเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจของ ยานนิส อันเททูคุมโป ที่ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีความฝันและความสามารถเท่าเทียมกัน แม้จะถูกกั้นขวางด้วยอุปสรรคทางเชื้อชาติก็ตาม
ลูกชายของแรงงานผิดกฎหมาย
หากคุณเดินไปตามท้องถนนในประเทศไทย แล้วพบเจอกับเด็กชายผู้เป็นลูกของแรงงานผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อคุณเริ่มสงสัยว่าเด็กที่อยู่ตรงหน้าคนนี้จะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้หรือไม่? นั่นคือวินาทีที่คุณมีความเห็นตรงกันกับชาวกรีซที่ได้พบเจอ ยานนิส อันเททูคุมโป ในวัยเยาว์
แม้จะเกิดในประเทศกรีซ แต่ ยานนิส และพี่น้องของเขาอีกสามคน กลับไม่ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองของประเทศกรีซ เนื่องจากพ่อแม่ของเขาถือว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย อนาคตซูเปอร์สตาร์แห่งวงการบาสเกตบอลรายนี้ จึงเติบโตขึ้นมาในฐานะบุคคลไร้สัญชาติ แต่นี่เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น หากเทียบกับสิ่งที่ครอบครัวอันเททูคุมโปต้องพบเจออยู่ทุกวัน
ทางการของกรีซยืนยันชัดเจนว่า แรงงานผิดกฎหมายจากทวีปแอฟริกาไม่มีสิทธิอยู่ในประเทศแห่งนี้อีกต่อไป แต่คำสั่งของรัฐบาลต้องต่อสู้กับความดื้อรั้นของผู้อพยพชาวไนจีเรีย ชาร์ลส์ และ เวโรนิก้า ยืนยันว่าพวกเขายอมเสี่ยงตายอยู่ที่นี่ดีกว่าจะกลับไปเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายในบ้านเกิด
ครอบครัวอันเททูคุมโปจึงหลบซ่อนอยู่ในแฟลตแห่งหนึ่งบริเวณตอนเหนือของเอเธนส์ ซึ่งเป็นย่านเสื่อมโทรม โดยชาร์ลส์ต้องออกไปทำงานแปลกๆมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงและรายได้ต่ำ ส่วนเวโรนิก้าทำหน้าที่เลี้ยงลูกๆ และคอยช่วยเหลือ ยานนิส เมื่อลูกชายของเธอทำงานด้วยการขายของละเมิดลิขสิทธิ์ข้างถนน
“ชีวิตในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อแนวคิดการทำงานของผม ผมเห็นพ่อแม่ทำงานหนักทุกวันเพื่อเลี้ยงดูพวกเรา มันเป็นภาพที่เหลือเชื่อและติดอยู่ในใจผมมาตลอดทั้งชีวิต ผมไม่ได้ทำงานเพราะผมต้องการชื่อเสียง แต่เป็นเพราะผมต้องการเงิน นั่นคือชีวิตที่ผมเติบโตมา และเป็นตัวตนที่ผมได้รับมาจากพ่อแม่ด้วยการทำงานหนักของพวกเขา”
เดินหน้าล่าฝันแม้ไร้สัญชาติ
ถึง ยานนิส จะมีพรสวรรค์อันเป็นเลิศในการขายของข้างถนน แต่ความฝันเดียวของเขาตั้งแต่เด็กคือการก้าวเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เนื่องจากคุณพ่อ ชาร์ลส์ เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าชาร์ลส์ไม่ใช่นักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จ แต่ความฝันบนเส้นทางลูกหนังก็ถูกส่งต่อมาให้ยานนิส
ยานนิสเติบโตขึ้นมาด้วยการเป็นแฟนบอลทีม โอลิมเปียกอส ที่มี จิโอวานนี (Giovanni Silva de Oliveira) ศูนย์หน้าของทีมเป็นไอดอล ความฝันของเขาในวัยเด็กจึงเป็นรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไม่ใช่การคว้าแชมป์โลกบาสเกตบอล และเจ้าของตำแหน่ง MVP แห่ง NBA อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
“มันไม่ใช่แค่ผมเห็นนักบาสที่มีทิศทางการเคลื่อนไหวและความเข้าใจอย่างยอดเยี่ยม แต่ผมเห็นนักกีฬาที่มีแพชชั่นในการคว้าชัยชนะ หากคุณเปิดตาให้กว้าง คุณจะพบนักกีฬาที่มีความสามารถ เมื่อเขาถือลูกบาสอยู่ในมือ ไม่ใช่ยามเลี้ยงลูกฟุตบอลอยู่กับเท้า” สไปรอส กล่าว
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สไปรอสจะเชิญชวนให้ยานนิสเปลี่ยนใจมาเล่นบาสเกตบอลได้ เหตุผลไม่ใช่แค่เรื่องแพชชั่นส่วนตัวของยานนิสที่เอียงไปทางเกมลูกหนังมากกว่า แต่ยังเป็นเรื่องของมุมมองของชาวแอฟริกันที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกีฬาบาสเกตบอลเท่ากับกีฬาชนิดอื่นที่โด่งดังในกาฬทวีป เช่น ฟุตบอล หรือ กรีฑา การเชิญชวนให้ครอบครัวครอบอันเททูคุมโปเห็นโอกาสในเกมยัดห่วงจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของแมวมองรายนี้
“พวกเขาคิดว่าหากเรานำเด็กแอฟริกันสัก 2-3 คนเข้ามา มันจะนำมาสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในทีม เพราะพวกเขารู้ดีถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในย่านของเด็กเหล่านั้น หากครอบครัวของพวกเขาต้องการให้เด็กไปทำงาน นั่นหมายความว่าเด็กอาจจะไม่ได้มาฝึกซ้อม นี่จึงไม่ใช้ปัญหาทางสีผิวเสมอไป แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม”
เพื่อจะมัดใจให้ยานนิสเปลี่ยนมาเล่นบาสเกตบอล ฟิลาธิลติกอส (Filathiltikos) ทีมในลีกระดับสามของกรีซ จึงเสนองานประจำให้ชาร์ลส์และเวโรนิก้า หากยานนิสและธานาสิส (พี่ชายของยานนิส) ยอมมาฝึกซ้อมบาสเกตบอลกับทางสโมสร ซึ่งทางครอบครัวผู้อพยพชาวไนจีเรียตอบตกลง
ยานนิสในวัย 17 ปี ยังคงช่วยแม่ขายของข้างถนนในประเทศกรีซเหมือนเดิม แต่ในขณะนี้ชีวิตอีกด้านของเขาเป็นนักบาสเกตบอลชุดเยาวชนของฟิลาธิลติกอส และทำแต้มนัดละ 50 คะแนนเป็นประจำ จนกระทั่งได้เซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับสโมสร
แต่ถึงอย่างนั้น หนทางสู่ NBA ของยานนิสยังอีกยาวไกล เพราะเขายังคงเป็นคนไร้สัญชาติ และยังคงเป็นคนชายขอบของสังคมโลก เหมือนกับในวันแรกที่เขาลืมตาดูโลกเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
แรงบันดาลใจของลูกหลานผู้อพยพ
กล่าวตามตรง พรสวรรค์ของยานนิสดีพอจะก้าวขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุดและติดทีมชาติกรีซได้สบาย แต่ด้วยสถานะของเขาที่ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ ส่งผลให้ประตูแห่งโอกาสของยานนิสถูกปิดกั้น แต่ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ ยานนิสเองก็เช่นกัน ชื่อเสียงของเขาเริ่มดังไปเข้าหูแมวมองของหลายทีมใน NBA ในที่สุด เรื่องอันน่าเหลือเชื่อจึงเกิดขึ้น
แต่ปัญหาติดอยู่ที่ว่า ยานนิส ไม่มีพาสปอร์ตที่ได้การรับรองจากประเทศใดในโลก และถ้าเขาไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ความฝันบนเวทีของยานนิสคงสิ้นสุดลงตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่ม
ยานนิสยื่นคำร้องขอสัญชาติกรีซมาแล้วนานกว่า 2 ปี ซึ่งคำร้องของเขาไม่เคยได้รับการตอบสนอง กระทั่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน ก่อนที่ NBA Draft ปี 2013 จะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายยานนิสก็ได้รับพาสปอร์ตของประเทศกรีซ ในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2013 และพร้อมจะเดินทางสู่เส้นทางใหม่ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงในสหรัฐอเมริกา
“ผมยังจดจำช่วงเวลานั้นได้ดีนะ แต่ผมไม่สามารถกลับไปดูสุนทรพจน์ของผมในวันนั้นได้อีกแล้ว” ยานนิส กล่าวถึงวันที่เขาคว้าตำแหน่ง MVP เมื่อปี 2019 ซึ่งเขาพูดความรู้สึกของตนทั้งน้ำตา
“ผมยังคงรู้สึกอ่อนไหวทุกครั้ง เมื่อผมมองออกไปยังผู้คนรอบกาย และย้อนกลับไปมองชีวิตของผมตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ ผมคิดเสมอว่า ตัวเองก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”
แต่ถ้าหากพูดถึงความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของยานนิส ถ้วยแชมป์หรือรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมอาจไม่มีความหมายเท่า การได้รับสิทธิเป็นพลเมืองสัญชาติกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 หลังรัฐบาลกรีซปรับข้อกฎหมายเพื่อเปิดทางให้เด็กทุกคนที่เกิดและเติบโตในกรีซสามารถได้รับสิทธิพลเมืองของประเทศ แม้จะมีพ่อแม่เป็นชาวต่างชาติก็ตาม
“มีเด็กจำนวนมากที่เกิดจากพ่อแม่ผู้อพยพและจะได้รับโอกาสเช่นเดียวกับผม เพราะมีเด็กอีกหลายคนที่จะเติบโตเป็นคนพิเศษในอนาคต ขอเพียงแค่ให้พวกเขาได้รับโอกาสเท่านั้นเอง”
เรื่องราวของ ยานนิส อันเททูคุมโป จึงกลายเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เพราะมันเป็นการเดินทางของนักสู้คนหนึ่ง แต่มันยังพูดถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมของมนุษย์ เพียงแค่พวกเขามีสีผิวต่างกัน แต่ยานนิสก็ทำลายกำแพงนั้นได้สำเร็จ และเขาได้เปิดเส้นทางแห่งโอกาสให้กับนักกีฬารุ่นหลังมากมาย
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.