ถึงรัสเซียจะบอกว่าเป็นไปตามแผน “ปรับทัพ” จบปฏิบัติการทางทหาร “เฟสแรก” เพื่อมุ่งเน้นภารกิจในภูมิภาคดอนบาส จังหวัดโดเนตสก์และลูฮานสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน แต่แน่นอนย่อมถูกปรามาส ว่าพบกับความปราชัย พ่ายแพ้อย่างหมดรูป
ยูเครนมีปฏิบัติการด้านจิตวิทยา และเล่นสงครามสื่อได้อย่างเหนือชั้น แต่กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า ความสูญเสียของกองทัพรัสเซียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และหนักหน่วงเอาการ
ที่สำคัญถึงมียานเกราะ รถถังมากมายเพียงใด แต่การทู่ซี้บุกเอากำลังเข้าแลกในลักษณะการศึกล้างผลาญ (War of Attrition) จะสร้างปัญหาตามมามากมายไม่รู้จบหลังสงครามสิ้นสุดลง ไม่รวมถึงในเชิงการรบนั้น การสูญเสียกำลังไปเรื่อยๆ ย่อมตามมาด้วยขวัญกำลังใจตกต่ำ การดื้อแพ่ง หาข้ออ้างไม่ทำภารกิจ ไปจนถึงการทำร้ายตัวเองเพื่อจะได้ถูกส่งกลับบ้าน เหมือนที่ทหารอเมริกันเคยทำในช่วงปลายยุคสงครามเวียดนาม
ขณะที่สื่อสายชาตินิยมของรัสเซียเองก็ดูจะคาใจ เขียนวิจารณ์ในลักษณะว่า การถอนทหารยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้คนยูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มชาตินิยมและกระบวนการล่าแม่มดผู้ที่สนับสนุนเราจะคาดหวังกับเราได้อย่างไร เรากำลังทำตัวไม่ต่างอะไรกับชาติตะวันตก บอกว่ามาช่วยแต่สุดท้ายก็ทิ้งหนีไป พร้อมเรียกร้องให้กองทัพเลิกเล่นบทพระเอก ควรทำสงครามเพื่อบรรลุภารกิจ ไม่ใช่ทำสงครามเพื่อผดุงเกียรติ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การถอนกำลังภาคเหนือ-อีสานได้จบลงเรียบร้อย และก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า หลังจากนี้สงครามจะดำเนินไปเช่นไร จะมีการเจรจาหยุดยิงในเร็วๆนี้หรือไม่
ในเรื่องนี้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายที่พยายามประเมินสถานการณ์ เสียงแตกเป็นสองกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกที่เชื่อว่า สงครามครั้งนี้ จะถูก “ลากยาว” ต่อไป และอาจนานถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงเดือน ก.ย. เนื่องจากทันทีที่เกิดการถอนกำลัง ทางรัฐบาลยูเครน ก็ส่งสัญญาณในลักษณะ “ผู้ชนะ” พูดถึงการเจรจาน้อยลง และกลับไปแตะประเด็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้เสนอเงื่อนไขกับรัสเซียไปว่า หากให้หลักประกันความมั่นคงกับยูเครนได้ ยูเครนจะยอมอยู่ในสถานะ “เป็นกลาง” ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
และกองทัพรัสเซียเองก็ไม่ถือว่าพ่ายแพ้แต่อย่างใด วัดจากกำลังรบในยูเครนยังไม่บอบช้ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ หน่วยรบจากสมรภูมิตอนเหนือถูกโยกย้ายกลับไปปรับกระบวนทัพ เติมกำลังเสริมยุทโธปกรณ์ในรัสเซีย แต่หน่วยรบที่อยู่ในสภาพพร้อมรบ กำลังทยอยส่งเข้าไปในแนวรบภาคตะวันออก เฉียงเหนือ-ตะวันออก ในจำนวนนี้ประกอบด้วยกองพลผสมที่ 20 กองพลรถถังที่ 1 และหน่วยพลร่มวีดีวี
อีกทั้งในประวัติศาสตร์สงครามที่ผ่านมา โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ตราบใดที่ยังเจรจากันไม่ได้ การรบย่อมต้องดำเนินต่อไป หากบุกโจมตีไม่ได้ผล ก็รวบรวมกำลังตั้งตัวเพื่อบุกใหม่ ในช่วงปี 2485-2487 พื้นที่การรบระหว่างกองทัพเยอรมนี-รัสเซีย (ในดินแดนที่ปัจจุบันคือเบลารุส-ยูเครน) จะดำเนินไปเช่นนี้เสมอ นั่นคือยิงกันประปรายตามแนวรบ ก่อนบุกตีทะลวงขนานใหญ่ แต่พอโมเมนตัมชะลอ การบุกเริ่มฝืด ก็กลับไปยิงกันประปรายเหมือนเดิม
ที่น่าสนใจคือการบุกโจมตีขนานใหญ่ มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนเดือน มิ.ย.-ก.ค. สภาพอากาศเป็นใจ ทัศนวิสัยโปร่ง อย่างกองทัพเยอรมนีออกปฏิบัติการ “เคส บลู” หรือไฟล์ เบลา ปี 2485 ตีทะลวงแนวรบไครเมีย-คอเคซัส และพื้นที่ราบลุ่มภาคใต้รัสเซีย มุ่งสู่นครสตาลินกราด และปฏิบัติการ “ซิทาเดล” การบุกภาคกลางรัสเซียครั้งสุดท้ายของทัพเยอรมนี หรือกองทัพรัสเซียปฏิบัติการ “บากราติโอน” ปี 2487 ตีทะลวงเบลารุส และทำให้กองทัพเยอรมนี 4 กองพล ถูกบดขยี้จนสิ้นสภาพ
อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์กลุ่มที่สองเชื่อว่า สงครามอาจไม่ลากยาวอย่างที่คิด เพราะในวันที่ 9 พ.ค. นี้ คือ “วันแห่งชัยชนะ” หรือ “เดน ปาเบียดึย” เพื่อรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป ซึ่งรัสเซียเรียกว่า “สงครามผู้รักชาติ” เฉลิมฉลองความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนี รัฐบาลรัสเซียอาจต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ไว้ในวันที่สำคัญยิ่งของประเทศ
เหลือเวลาเพียง 1 เดือน ก่อนถึงวันเวลาดังกล่าว การที่รัสเซียจะสามารถพูดถึงชัยชนะได้อย่างเต็มปาก จำเป็นต้องมีความได้เปรียบทางการรบที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีนี้อาจหมายถึงการเข้าควบคุมจังหวัดโดเนตสก์และลูฮานสก์ ไปจนถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาซอฟ และเมืองยุทธศาสตร์ “มาริอูโปล”
และหากทำตามกำหนดเวลาได้ ก็ค่อยมาว่ากันว่าจะเอายังไงต่อ เป็นไปได้ทั้งการประกาศ “หยุดยิง” ชั่วคราว รักษาสถานะแนวรบภาคตะวันออกและภาคใต้เพื่อปฏิบัติการในอนาคต หรือบุกทะลวงต่อไปเพื่อมุ่งเป้าหมายภารกิจหลัก “ลดกำลังทหารยูเครน” และ “ขจัดความเป็นนาซีสุดโต่ง” ในยูเครน เพื่อให้ยูเครนยอมรับสถานะเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมนาโต.
วีรพจน์ อินทรพันธ์